แม่ฮ่องสอนขานรับข้อเสนอแก้หมอกควันภาคประชาชน

แม่ฮ่องสอนขานรับข้อเสนอแก้หมอกควันภาคประชาชน

25 มีนาคม 2562 เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ยื่นข้อสรุปและแถลงการณ์ต่อสถานการณ์หมอกควัน ซึ่งร่วมกันระดมเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในเวที “วิกฤติหมอกควันกับทางออกของแม่ฮ่องสอนจากมุมมองภาคประชาชน” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยในแถลงการณ์ระบุความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน-ระยะกลาง-และระยะยาวของพื้นที่. โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้เปิดเวทีหารือและรับข้อเสนอทั้งหมดเพื่อไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนดำเนินการตามขั้นตอน โดยจะรีบนำวาระเร่งด่วนเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมไฟป่าประจำจังหวัด และได้วางแผนสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง 3 อำเภอ คือ ปางมะผ้า ปาย และอำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน

และในช่วงบ่ายวันนี้ สาธารณสุขจังหวัดก็ได้ประกาศจัดตั้งEmergency Operation Center (EOC)​กรณีหมอกควันของแม่ฮ่องสอน​

สำหรับข้อสรุปและคำแถลงการณ์แนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอนระบุว่า

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันไฟป่ามาเป็นระยะเวลานานหลายปี ทุกๆ ปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงวิกฤติฝุ่นหมอกควันขนาดเล็กที่ปกคลุมจังหวัดเป็นวงกว้าง 

ความแตกต่างของแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดอื่นๆ คือมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีควันไฟจากการเผาไหม้พัดเข้ามาเพิ่มความรุนแรง จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีแอ่งที่ราบที่คล้ายกับแอ่งกระทะหลายแห่ง ทำให้เกิดปัญหาการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศจากฝุ่นขนาดเล็ก เมื่อมีหมอกควันประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ผู้สูงอายุ หรือประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงประสบภาวะความเจ็บป่วยจากโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักในทุกพื้นที่ โรงพยาบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยเป็นเงินจำนวนไม่น้อยต่อปี นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาคสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว 

สถานการณ์หมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละปียังส่งผลต่อทัศนวิสัยและความปลอดภัยของการเดินอากาศ สายการบินต้องยกเลิก ข่าวสารที่ออกไปทำให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัว เกิดความไม่มั่นใจ และหลีกเลี่ยงการเดินทางมาจังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงฤดูกาลแห่งการเผาป่า ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 4 เดือนในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขรับมือสถานการณ์อย่างฉับพลัน จริงจังและเป็นระบบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากวิกฤติของ PM2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงในช่วงเดือนมกราคม 2562 ทำให้รัฐบาลและประชาชนเกิดการตื่นตัว และเริ่มตระหนักถึงผลร้ายของฝุ่นควันต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ จึงได้มีการขับเคลื่อนด้านการจัดการมลพิษ และเริ่มเข้าใจถึงภาวะที่ประชาชนในจังหวัดภาคเหนือต้องประสบมาอย่างต่อเนื่องทุกปี

หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และเครือข่ายสาธารณสุข ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน และเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะหาทางออกร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และต้องการสะท้อนเสียงของคนแม่ฮ่องสอนให้รัฐบาลได้รับรู้ ถึงภาวะที่ประชาชนต้องอดทนต่อภาวะเสี่ยงภัย ต่อสู้กับความเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่อง และยอมจำนนต่อความถดถอยของเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เกิดขึ้นทุกปีอย่างไม่มีทางเลือก ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างจริงจัง และจริงใจ สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงความพยายามในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ประชาชนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นั่นคือต้องมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้

ข้อเสนอที่ได้จากการการประชุมระดมความคิดเห็น “วิกฤติหมอกควันกับทางออกของแม่ฮ่องสอนจากมุมมองภาคประชาชน” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นจำนวนกว่า120 คน โดยได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขในระยะเผชิญเหตุ ระยะฟื้นฟู และระยะพัฒนา ดังนี้

ระยะเผชิญเหตุ : ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะสั้น

1. สร้างความตระหนัก เผยแพร่ข่าวสารเรื่องผลร้ายของฝุ่นพิษเมื่อเกินมาตรฐาน แจ้งวิธีป้องกันตัวเองให้ประชาชนรับรู้ ผ่านช่องทางการสื่อสารของหน่วยงานที่ชัดเจน ออกเอกสารเป็นประกาศของจังหวัดอย่างเป็นทางการ

2. บริหารจัดการระบบของภาครัฐในพื้นที่เป็นแบบ Single Command มีการบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการเรื่องหมอกควันไฟป่า หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องต้องมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนมาดำเนินการในพื้นที่ในภาวะวิกฤติได้

3. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ครู เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชน สวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นแบบอย่างเมื่อเกิดภาวะที่ฝุ่นควันเริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และหน้ากากอนามัยต้องเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกคน (ราคาไม่แพง สามารถซื้อได้)

4. ปรับวิธีการแจ้งเตือนปริมาณ PM 2.5 ให้เข้าถึงง่าย เพื่อให้ชุมชนชาวบ้านได้เข้าใจและเข้ากับบริบทของพื้นที่ เช่น ใช้การมองเห็นยอดดอยที่รู้จักให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง เป็นต้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นทางมือถือ

5. จัดทำแผนปฏิบัติการรับภาวะวิกฤติจากปัญหาหมอกควัน ในสถานพยาบาลที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย และ อำเภอเมือง

6. จัดหาอุปกรณ์ลดฝุ่นควันขนาดเล็ก หรือนวัตกรรมดัดแปลง ให้กับพื้นที่เสี่ยง อย่างรวดเร็ว  เช่นสถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก

7. ประกาศเขตภัยพิบัติด้านสุขภาพ มีแถลงการณ์เตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและชัดเจน กรณีค่า PM 2.5 อยู่ในระยะวิกฤติ

8. ผ่อนผันมาตรการและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการหาของป่า เช่น อนุญาตให้การเก็บของป่าที่เป็นต้นเหตุของเชื้อเพลิง (ใบไม้แห้ง ขอนไม้แห้ง เป็นต้น) สามารถกระทำได้ในช่วงฤดูกาล สร้างผู้นำชุมชนให้เข้มแข็งและคอยดูแลเป็นหูเป็นตาร่วมกับเจ้าหน้าที่

9. สนับสนุนการลดการเผาในพื้นที่เกษตร ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่นกรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร) ให้ความรู้ด้านการทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษวัสดุพืช ขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่มีเครื่องย่อยสลายใบไม้ และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมกิจกรรมแปลงใบไม้ให้เป็นเงิน เช่น รับซื้อใบไม้จากชุมชน นำใบไม้เข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ยหมัก /ปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตภาชนะ หรือสินค้าอื่นๆเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป

10. จัดเวทีสาธารณะทุก 3เดือน และกระตุ้นให้ภาคเยาวชน นักเรียน นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมมากขึ้น

11. ขอความร่วมมือภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ไม่สนับสนุนเมนูที่มีผลพวงจากการเผาป่า เช่นเห็ดเผาะ ผักหวานป่า ไข่มดแดง เป็นต้น

12. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เสบียงและสิ่งจำเป็น แก่ชุมชนอาสาสมัครดับไฟป่า

13. รณรงค์การลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง สร้างความตระหนักและขอความร่วมมือทุกภาคส่วน

14. ทำสัญญา MOU กับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหมอกควันแม่ฮ่องสอน และต้องบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

15. มีนโยบายจากภาครัฐสนับสนุนชุมชนต้นแบบ เช่น  จัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม พื้นที่ต้นแบบที่ความเข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาสำเร็จ

ระยะฟื้นฟู :  ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะกลาง

1. จัดให้มีหลักสูตรท้องถิ่นด้านหมอกควัน-ไฟป่า บรรจุในการศึกษาวิชาพิเศษของพื้นที่ สร้างความตระหนักและความเข้าใจทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้ความรู้และปลูกฝังความรับผิดชอบ รู้เท่าทัน ร่วมแก้ไขปัญหา

2. มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพแก่ชุมชน ( แยกรายอำเภอ รายหมู่บ้านให้ชัดเจน)  ข้อมูลสถิติการเกิดโรคต่างๆโดยเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับหมอกควัน ต้องเป็นข้อมูลที่เข้าถึงง่าย ให้ประชาชนได้รับรู้และเห็นถึงความอันตรายของหมอกควันต่อสุขภาพและชีวิตของพวกเขา

3. สร้างความตระหนักด้านการดูแลสุขภาพของลูกจ้างแก่นายจ้าง ผลักดันกฎหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (Occupational Health and Safety) ที่นายจ้างต้องทราบและถือปฏิบัติ

4. สนับสนุนให้องค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จัดทำแผนการบริหาร การสร้างสำนึก สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อขยายผล

5. เน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชนหมู่บ้าน จัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยใช้ฐานทรัพยากรชุมชนเป็นตัวตั้ง มีองค์กรที่เกี่ยวข้องและมีประสิทธิภาพ ไปให้ความรู้กับชาวบ้าน ชุมชนต้องสามารถจัดการตนเอง จัดการหมู่บ้านโดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว

6. รัฐบาลต้องออกมาตรการอย่างจริงจัง ในการควบคุมบริษัทและธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่มีการเผาเศษซากของผลผลิต เช่นซังข้าวโพด เป็นต้น

7. ส่งเสริม สนับสนุน และแนะแนวทางให้ชาวบ้านในการทำ “Clean Air Products” มีการจัดตั้งคณะกรรมการรับรองผลผลิต โดยผลผลิตที่มาจากการไม่เผาป่าสามารถมีตลาดรองรับ ขายได้ราคา และเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน

8. มีมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะผลผลิตนั้นได้รับการรับรองว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์อากาศสะอาด” เพื่อช่วยสนับสนุนและสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชาวบ้าน ลดการทำไร่หมุนเวียน และสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมในการช่วยเหลือพื้นที่ และช่วยดูแลสังคม

ระยะพัฒนาและเตรียมการอนาคต : ข้อเสนอการแก้ปัญหาระยะยาว

1. ผลักดันให้เรื่องหมอกควันเป็นวาระแห่งชาติ ทุกจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องได้รับการจัดการอย่างทั่วถึงกัน มีการวางแผนปฏิบัติงาน ตั้งเป้าประสงค์ในการลดการเผาและลดมลพิษอย่างชัดเจน มีตัวชี้วัดและสามารถวัดความสำเร็จได้อย่างเป็นที่ประจักษ์

2. มีการทำข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันร่วมกัน ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเห็นผลอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

3. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมบริษัทของประเทศไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน (เช่นธุรกิจถ่านหิน เหมืองแร่ และอื่นๆ) ให้ทำสัญญากับรัฐบาลของประเทศนั้นๆในการบริหารจัดการและร่วมดูแลการเผาไหม้ในพื้นที่ หมอกควันต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศตนเองและประเทศอื่นๆ

4. สนับสนุนให้มีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องลุ่มน้ำ สภาพป่า และประเภทป่า การจัดการพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร ผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ รวมทั้งนำข้อมูลและผลการวิจัยไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และให้มีการพัฒนาระบบการบูรณาการข้อมูลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ