เลือกตั้ง62 : มองการศึกษาให้เข้าใจ ก่อนคิดจะปฏิรูปอย่างไร

เลือกตั้ง62 : มองการศึกษาให้เข้าใจ ก่อนคิดจะปฏิรูปอย่างไร

พูดเรื่องการศึกษาใครนึกภาพการศึกษาออกบ้าง?

แต่เล็กจนโตเราเลยเรียนมาแบบไหน เชื่อหรือไม่ วันนี้การศึกษาไทยก็ยังเหมือนในวันที่เราเรียนเมื่อหลายปีก่อน มีเพียงกระบวนการบางอย่างที่ปรับเปลี่ยนเท่านั้น เช้ามาเรายังเห็นแด็กนักเรียนแต่งชุดนักเรียน สะพายกระเป๋า ไปโรงเรียนอยู่ เย็นกลับบ้านบ้างคนก็ถูกกล้อนผมกลับบ้าน ในยุคที่โลกเปลี่ยน การศึกษาไม่เพียงแต่ต้องท่องจำ การเรียนรู้ไม่เพียงแต่อยู่ในหนังสือ ในชั้นเรียนอีกต่อไป

#10วัน1000นาที ชี้อนาคตประเทศไทย (4 มี.ค. 62) เปิดเวลา 100 นาที ให้พรรคการเมืองได้คุยถึงวิสัยทัศน์ “การศึกษาไทย ปฏิรูปอย่างไร จึงจะสำเร็จ” เปิดเวลา 100 นาทีเทียบนโยบายการศึกษาจาก 5 พรรคการเมือง โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม5ท่าน จาก 5 พรรคคือ วิทิตนันท์ โรจนพานิช พรรคชาติพัฒนา, วิทยา ศรีชมภู พรรคชาติไทยพัฒนา,กนก วงษ์ตระหง่าน พรรคประชาธิปัตย์, นพดล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย, พะโยม ชิณวงศ์ พรรคภูมิใจไทย

คลิปคุยสดถามสดบนเวที

เมื่อการศึกษามีมากกว่าการเรียนในระบบ ระหว่างที่บนเวทีคุยสดถามสดบนเวที เราจึงชวนคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษามาล้อมวงคุยเล็กที่ศูนย์ไทยพีบีเอสภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้เขาเหล่านั้นเป็นตัวแทนประชาชน ที่พอจะมองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อน จุดสลบ ของระบบการศึกษาไทย พร้อมกันนี้ เราได้ถามถึงแนวทางการศึกษาในอนาคตจากพวกเขาด้วย ….แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่ครอบคลุมทั้งหมด หากท่านใดอ่านแล้วอยากมีเพิ่มเติม สามารถส่งแนวทาง วิธีคิดมาทางคอมเม้นท์ได้เลย

 

คนเเรกที่เราได้คุยด้วยเเล้วมีมุมน่าสนใจ ณัฎฐ์พล ภูติศานติสกุล นักศึกษาชั้นปี4 คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ว่าที่ครูคนใหม่ ในอนาคต

มองการศึกษาไทยอย่างไร ?

“ผมมองว่าการศึกษาไทย เปลี่ยนผ่านมาหลายรุ่นแล้ว  แล้วก็เปลี่ยนผ่านมาหลายวิธีการมาก ตั้งแต่ในสมัยที่เราถ่ายทอดความรู้ ที่เน้นการถ่ายทอดแบบ ส่งต่ออย่างเดียว แต่ในยุคสมัยต่อมา ก็มีการประยุกต์ใช้มากขึ้น แต่คำถามก็คือว่า การศึกษาในปัจจุบันนี้ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หรือเปล่า ในยุคที่สื่อไอทีก้าวหน้า ผมมองว่าการศึกษาไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถขยับตัวได้เท่าทันโลก ตอนเรียนยังเน้นไปที่การเข้าใจเนื้อหาและนำไปสอบ เช่นการสอนคณิตศาสตร์ในปัจจุบัน ยังเป็นการสอนแบบการคำนวณ ซึ่งในปัจจุบัน แทบจะไม่ต้องคำนวณอะไรแล้ว เพราะว่าในทุกวันนี้ ไม่มีคนที่คิดเลขด้วยกระดาษอีกต่อไปแล้ว ใช้เครื่องคิดเลขหมดแล้วหรือโทรศัพท์ ดังนั้นผมมองว่า การศึกษาในปัจจุบัน ไม่เอื้อประโยชน์ในการใช้ชีวิต เป็นการศึกษาเพื่อให้ผ่านไป เพื่อก้าวพ้นข้อบังคับบางอย่างของสังคม ดังนั้นเราต้องมานั่งคิดกันแล้วว่า การศึกษาแบบไหน ที่เหมาะสมในปัจจุบัน และเหมาะที่จะสืบทอดความรู้  ต่อไปในอนาคต เพื่อให้อนาคตนำความรู้ ชุดนี้เป็นฐานต่อไปได้ เพราะว่าการศึกษาในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถที่จะเป็นฐานในการ ในอนาคตได้ ในยุคที่ AI จะมีบทบาทในชีวิตมนุษย์จริงๆ ในยุคที่คนไม่ต้องออกแรงงาน

เราต้องเปลี่ยน แนวคิดเรื่องการสอน เปลี่ยนจากการสอนเพื่อนำไปสอบ เป็นการสอนเพื่อนำไปวิเคราะห์ อย่างเช่นการเรียนคณิตศาสตร์ เรามองว่า เด็กทุกคนต้องได้คำตอบที่เหมือนกันเป็นเรื่องที่ผิด ทุกๆคนไม่สามารถที่จะได้คำตอบเหมือนกันในสังคม  เหมือนอย่างในโรงงาน การที่โรงงานโรงงานหนึ่งจะสร้างเครื่องจักร ไม่จำเป็นต้องทำให้กลไกของเครื่องจักรทุกชิ้นเหมือนกัน เด็กก็เหมือนกัน เขามีความต้องการที่แตกต่างกัน ก็มีความคิดของเขา แต่ความคิดของเขาไม่ได้ถูกให้คุณค่า วิธีคิดที่ต่างของเขาถูกตีความออกไป มันเป็นชุดความคิดที่ผิด ชุดความคิดนั้นไม่ตรงกับความคิดของครู หรือชุดความคิดของหนังสือที่ตั้งไว้

คนรุ่นใหม่หวังอะไร หลังการเลือกตั้ง?

คาดหวังอย่างยิ่งว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งผู้นำที่เห็นคุณค่าของคุณครูมากขึ้น การพัฒนาครู ดูการพัฒนาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่การสอนคำนวณเลขด้วยกระดาษ หรือเทคนิคการท่องจำ แต่เป็นการสอนการใช้เครื่องคิดเลข หรือโปรแกรมที่จะทำให้อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ครูในปัจจุบัน ต้องสามารถที่จะจัดการความหลากหลายของเด็กได้ เด็กคนนึงเก่งในด้านหนึ่ง เก่งในด้านหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้ยกศักยภาพเด่นเหล่านั้นของเด็ก ออกมาได้ ไม่ใช่การสอนแบบเด็กที่เรียนไม่ดีให้เรียนให้ดีเท่าเด็กเก่ง ทั้งๆที่ความสนใจของพวกเขาต่างกัน

คนต่อเป็นพ่อที่ออกแบบการศึกษากับลูกตัวเอง คุยเบื้องหลังกันเเล้วคงไม่ชอบใจในระบบการศึกษาไทยเท่าไร  จึงออกแบบและจัดการศึกษาแบบ Home School พี่อ็อต อุทาน นามเสนา 

มองการศึกษาไทยอย่างไร ?

“การศึกษาในปัจจุบัน มันสร้างให้คนเข้าไปอยู่กรอบ  แล้วก็สร้างให้พวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีความใกล้เคียงกัน โดยไม่ได้คิดเลยว่า ทุกคนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน ถ้าจะให้การศึกษาที่ดี มันต้องมองเจาะลงไป ถึงความชอบแต่ละบุคคล  แต่ละคนควรที่จะมีสิทธิ์เลือก ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราก็จะได้คนที่ไม่มีคุณภาพ ที่เข้ามาอยู่ในสังคม คุณจะได้คนที่ไม่รักในอาชีพของตัวเอง  เพราะว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองรักและเลือกที่จะเรียนตั้งแต่แรก คุณจะได้หมอที่ไม่มีจรรยาบรรณ หมอที่จ่ายยาที่มีราคาสูงเพื่อที่จะได้เปอร์เซ็นสูง คุณจะได้ครูที่จะคอยจะทำเรื่องวิทยฐานะของตัวเอง เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง  ถ้าการศึกษายังดำเนินไปแบบนี้ เราก็จะได้คนแบบนี้เข้ามาอยู่ในสังคม

แล้วอย่างไรดี ?

ในปัจจุบันศูนย์กลางการศึกษา มันอยู่ที่ผู้ใหญ่ การที่จะให้สังคมเป็นยังไงผู้ใหญ่เป็นคนบงการทั้งนั้น เรามองว่า การที่นำส่วนกลางมาไว้ที่ตัวเด็ก ให้เขาได้คิด และตัดสินใจที่จะทำในสิ่งที่เลือก…เรายังมองเด็ก 40 คน ที่จะต้องเรียนในวิชาเดียวกัน โดยที่เราไม่ได้หันกลับไปมองว่า เด็ก 40 คนนี้ ไม่ได้ชอบวิชาเดียวกัน เด็กที่ชอบวิชาศิลปะวิชาดนตรี ควรที่จะถูกผลักขึ้นมาให้อยู่บนหน้าห้องด้วย ไม่ใช่แค่เด็กที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เท่านั้น ครู หรือสถาบันการศึกษาควรสร้าง มองอาชีพโดยเท่าเทียมกัน และให้เขาได้เรียนรู้อาชีพที่มันหลากหลาย  แล้ววันหนึ่งเขาจะสามารถทำอาชีพอะไรก็ได้ โดยไม่รู้สึกว่า น้อยเนื้อต่ำใจ และเขาจะทำมันได้ดี เพราะเขาไม่รู้สึกว่าการทำ มันคนละชั้นกับอาชีพอื่น ดังนั้นต้องสอนให้มองอาชีพให้เท่าเทียมกัน

สถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่ควรที่จะถอดบทเรียนของตัวเอง ที่ตัวเองเป็นนักเรียนมาก่อน  เราที่เคยผ่านช่วงเวลานั้นมาก่อน ถ้าหันกลับมาถามตัวเองได้ว่าตัวเองไม่รักไม่ชอบอะไร เราต้องทนเรียนและทรมานกับมันไหม พี่เชื่อว่าถ้าเราสรุปบทเรียนกับตัวเองก่อน แล้วต้องมาคุยกับลูก เราไม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญลูก ลูกไม่จำเป็นต้องได้ที่ 1 เรียนยังไงให้มีความสุข รู้ไม่จำเป็นต้องไปเรียนกวดวิชา เพราะว่าในโรงเรียนก็หนักอยู่แล้ว อย่าผลักให้ลูกออกไปจากอกตัวเองด้วยการไปเข้าโรงเรียนประจำ หรือไปเรียนกวดวิชา ทั้งๆที่ลูกต้องการครอบครัว  อย่างที่ผมทำอยู่ตอนนี้ เรื่องในสิ่งที่ลูกอยากที่จะเรียน ออกแบบบทเรียนให้เหมาะสมกับลูก ทุกวันนี้เขามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน  ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือความสุขของลูก

ต่อมาคนที่เป็นหัวหอกสำคัญของเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา ที่พยายามผลักดันเเนวทางการศึกษาทางเลือกมาโดยตลอด ชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้ที่ไม่เพียงเเต่สนับสนุนแนวทางการศึกษาทางเลือก แต่ทดลองลงมือทำเเล้วผ่าน “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” 

ในมุมของคนที่ผลักดันการศึกษาทางเลือกมานาน เห็นอะไรในระบบการศึกษา?

จริงๆการศึกษาใน ยุคนี้ เรียกว่าการศึกษาในยุคอนาคต  สังคมในปัจจุบันนี้ ซับซ้อน  มันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องการ คนที่มีคุณภาพมากๆ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รู้จักตัวเองด้วย รู้จักการเปลี่ยนแปลงด้วย  อยู่กับความซับซ้อน ได้  ดังนั้น ทักษะการเรียนรู้ในยุคนี้ จะเป็น การเรียนรู้ด้วยตัวเอง  และเรื่องเทคโนโลยี และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  หรือแบบพหุวัฒนธรรม   แต่ว่า ดูอาการการศึกษาของเรา มันไม่เปลี่ยน มันเหมือนเดิม เหมือนศตวรรษที่ 18-19 ไม่ถึง 20 ด้วยซ้ำ มีข้อจำกัดคิดว่ายังไงก็ตาม การศึกษาของเรา ยังคงพัฒนาช้ามากๆ ในบริบทของสังคมไทย  ความช้า  เพราะมีระบบการศึกษา ที่ค่อนข้างใหญ่ และก็ เป็นระบบ Top Down ในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเรียกว่ายุค 4.0 นี้ ยุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับคนในสังคม เพราะฉะนั้น เด็กจะต้อง รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เด็กจะต้องมีหลักคิดที่ชัดเจนของตัวเอง เพื่อที่จะสามารถแยกแยะ ข้อมูลที่ได้มา ที่หลากหลาย และสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตได้ รวมไปถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีความหลากหลายของผู้คน ดังนั้น การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย ดังนั้น ความคิดต้องชัดเจน

ทำไมเชื่อในเเนวทางการศึกษาทางเลือก?

คิดว่าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เอื้อ  ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบัน ก็ไม่ สามารถสร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงได้ ดังนั้น ควรที่จะกระจายอำนาจ กระจายให้ท้องถิ่น หรือเอกชน ให้ชุมชนให้พ่อแม่ เพราะว่า ผู้คนในสังคมเรามีความหลากหลายที่สูงมาก เราไม่สามารถที่จะนำหลักสูตรเดียว ไปสอนคนทุกคนได้  ดังนั้น ก็ควรที่จะกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถออกแบบการเรียนรู้ ให้เขาถึงกับ การเรียนรู้ที่แท้จริง กลับแต่ละสังคม ชุมชน หรือบุคคล

คิดอย่างไรกับการเลือกตั้งในครั้งนี้?

ในครั้งนี้มีนโยบายที่น่าสนใจของหลายๆพรรคการเมือง ให้ประชาชนคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ให้เลือกการศึกษาที่ค่อนข้างที่จะเปลี่ยนมากหน่อย ไปให้ไกลกว่าปัจจุบัน แต่ว่า ในปัจจุบันนี้ ระบบการศึกษาของเรา ติดอยู่ที่ระบบหรือโครงสร้างของราชการ ซึ่งล้าหลังมาก การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ดื้อครั้งที่ผ่านผ่านมา ก็จะมีแรงเฉื่อย เพราะเป็นระบบแบบ หลังจากข้างบนลงมา ซึ่งต้องปฏิบัติตามอำนาจที่อยู่สูง  ดังนั้น ถึงแม้จะ นโยบายดีขนาดไหน ก็จะต้องเจอแรงเฉื่อยนี้

เช่นเดียวกับครูตั้ม เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ศูนย์การเรียนรู้ม่อนเเสงดาววิชชาลัย จ.เชียงราย ผู้ที่หนุนและลงมือทำการศึกษาทางเลือกผ่านศูนย์การเรียนรู้มานาน

มองการศึกษาไทยอย่างไร?

การศึกษาไทยยังผูกขาดอยู่ฝ่ายรัฐอย่างเดียว ยังไม่กระจายอำนาจให้ผู้มีสิทธิ์จัดการศึกษาตามกฎหมาย เช่น ภาคสังคม สถาบันสังคม เข้ามาจัดการศึกษา อย่างเเท้จริง ทั้งที่ตามกฎหมายไทยระบุให้หลายภาคส่วนเข้ามามีสิทธิ์การจัดการศึกษาไม่ใช่เเค่ รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชน ธุรกิจเอกชนเท่านั้น เเท้จริงเเล้วพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542 ร่วมถึงพระราชบัญญัติที่ กำลังจะออกใหม่ ให้หมดเลยทั้ง บุคคล ครอบครัว องค์กรวิชาชีพ องค์กรเอกชน องค์กรชุมชน สถาบันทางสังคม สถาบันวิชาการ สถาบันศาสนา และสถาบันทางสังคมอื่น มีสิทธิ์จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยกระจายอำนาจให้กับองค์กรเหล่านี้มีสิทธิ์จากการศึกษาเลย ตอนนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 5,000 กว่าคนที่อยู่ในระบบการจัดการศึกษาแบบนี้และมีประมาณ 2,500 คนเท่านั้นที่ได้ทุนสนับสนุน และมีอีก 2,500 คนที่ยังไม่ได้รับทุนสนับสนุนตั้งแต่มี พ.ร.บ. ปี 2555 *5,000 กว่าคน หมายถึง เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาทางเลือกของสถาบันสังคม(มาตรา12)ที่จดทะเบียนรับอนุญาตแล้วจากระทรวงศึกษฯ ประเภท บ้านเรียน(Home school) ,ศูนย์การเรียน ตามมาตรา18(3)ของบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน สถานประกอบการ นอกจากนี้ยังมี ศูนย์การเรียนครูภูมิปัญญา สถานประกอบการ วัด สถาบันศาสนาที่จัดการศึกษาวิชาชีพ ศิลปะ วัฒนธรรม และคุณธรรม จริยธรรม ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสถานศึกษาแต่ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนอีกจำนวนมาก ซึ่งแหล่งเรียนรู้ สถานศึกษานอกระบบเหล่านี้ควรสามารถเทียบโอนวิชาเรียนให้กับเด็ก ผู้เรียนที่ต้องการได้

ประเด็นใหญ่ที่สำคัญคืออำนาจจัดการศึกษาที่ยังผูกขาดอยู่ที่กระทรวงศึกษายังไม่กระจายอำนาจออกมาให้ภาคสังคมได้จากการศึกษา

ในยุคศตวรรษที่ 21 การปฏิวัติ Digital ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการเรียนมากขึ้นผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างกว้างขวางทุกที่ทุกเวลา การจัดการศึกษายังผูกขาดอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการระบบยังโบราณอยู่อันนี้คือเรื่องใหญ่จะทำอย่างไร . ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาอาชีพที่กว้างขวางขึ้น ผู้เรียนไม่อยากเสียเวลากับการเรียนในระบบ ผู้เรียนไม่อยากจมอยู่กับเรื่องที่ไม่ตรงตามความต้องการที่จะประกอบอาชีพของผู้เรียน เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาเเห่งชาติ ก็ให้ความ สำคัญแบบนั้นอยู่แล้ว แต่กลไกภาครัฐยังไม่ได้มีการสนับสนุน ขณะที่ยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ให้ความสำคัญกับการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ซึ่งการจัดการศึกษาของรัฐบาลยังวัดผลเหมือนเดิม โรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนในชนบทไม่สามารถที่จะวัดผลแบบเดียวกับโรงเรียนในเมืองได้เพราะฉะนั้นจึงให้สิทธิ์เขาในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทชุมชน

มองการศึกษาแบบนี้แล้ว หากได้ถามผู้จะบริหารประเทศ อยากจะถามอะไร?

1.พรรคการเมืองของท่านจะสนับสนุนการกระจายอำนาจทางการศึกษาที่ขยายตัวอย่างมาก มีทางเลือกการศึกษาอย่างกว้างขวางอย่างไร?

2.จะให้ความสำคัญอย่างไรกับการจัดการศึกษาทางเลือกที่มีสถาบันทางสังคมจัดการศึกษาอยู่ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ให้การสนับสนุน คำถาม พรรคการเมืองของท่านจะมีแนวทางของจะจัดการเงื่อนไขตรงนี้อย่างไร รัฐบาลก่อนหน้านี้มองว่า การจัดการศึกษาคือองค์กรของรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เท่านั้นเอง?

3.ณ ตอนนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่มีกลไกที่จะรับผิดชอบ ดูแล จัดการการศึกษาทางเลือกของสถาบันสังคมตามมาตรา 12 ,มาตรา18(3)และสถาบันสังคมอื่นๆที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัยและตลอดชีวิตที่ชัดเจน เป็นระบบ พรรคการเมืองที่จะดูแลการศึกษาชาติ มีนโยบาย แผนงาน กลไกอย่างไรที่จะดูแล สนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันสังคมและผู้เรียน/เด็ก/เยาวชนที่จะเรียนรู้ตามความสนใจ ถนัด สอดคล้องกับทุน ศักยภาพของตนเองได้อย่างไร? ทั้งๆที่มีกฎกระทรวงออกมารับรองฉบับแรกตั้งแต่ปี 2547 (Home school) และทะยอยออกมาเรื่อยๆ บุคคล สถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ สถานบันศาสนา จนฉบับสุดท้ายกฏกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชน องค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 (จำนวน 6 กฏกระทรวงภายใต้มาตรา12)

4. ข้อมูลงานวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พบว่าปีการศึกษา 2556/2557 มีเด็กอายุ 4-17 ปีตกหล่น หลุดรอด จำนวนกว่า 1.4 ล้านคน พรรคการเมืองหากได้เป็นรัฐบาล จะมีนโยบาย แผนงานอย่างไรในการป้องกัน แก้ไขปัญหาเด็กที่หลุดรอด ตกหล่น ออกจากระบบการศึกษาปกติ

“มองการศึกษาไทยว่าอยู่ในกรอบเกินไป ไม่ยืดหยุ่น” นี้คือคำตอบเเรกที่ ศรัญญา กาตะโล ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง สมาคมศูนย์รวมการศึกษา และวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ตอบเป็นประโยคเเรกๆที่ถาม ศรัญญา กาตะโล เธอผลักดันเรื่องการศึกษา ผ่านศูนย์การเรียน เน้นการเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองมาโดยตลอด

เมื่อถามมองการศึกษาอย่างไร?

การศึกษาในปัจจุบันเรามองว่าอยู่ในกรอบมากเกินไป กล้าที่จะคิดนอกกรอบ เขาคิด ผู้ใหญ่ก็ไม่ให้การสนับสนุน เด็กที่คิดนอกกรอบ ก็ถูกมองว่าแตกต่างแตกแยก คำว่าอยู่ในกรอบ หมายถึงเรื่องของโครงสร้าง โครงสร้างที่ Top Down ลงมา เป็นคำสั่งจากข้างบนลงมาข้างล่าง ทำให้เด็กไม่กล้าที่จะออกนอกกรอบ และในทุกวันนี้ เด็กก็ตั้งหน้าตั้งตาเรียนโดยไร้จุดหมาย ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ แล้วยังมีเรียนพิเศษเสาร์อาทิตย์เพิ่ม ทำให้ไม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ เกิดจากความคิดของผู้ใหญ่ที่ว่า เขาต้องได้เกรดที่ดี เรียนดี
การศึกษาในปัจจุบันต้องเปิดให้หลากหลาย อย่างเช่น เรากำลัง ขับเคลื่อนในเรื่องของ ศูนย์การเรียนชุมชน มากที่จะจัดการแล้วก็เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ร่วมกับผู้รู้
ในปัจจุบันเราก็กำลังขับเคลื่อนในเรื่องของ การเรียนที่หลากหลาย อย่างเช่นการเรียนการสอนแบบทวิภาษา หรือพหุวัฒนธรรม และอีกเรื่องหนึ่งที่เรากำลังขับเคลื่อน คือเด็กชาติติพันธุ์ ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งการไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เข้าถึงการศึกษาได้ยากยิ่งขึ้น

“การศึกษาไทย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงตามรัฐมนตรีด้วย” สุนันท์ เหมะธุลินทร์ กลุ่ม Home School บ้างครั้งเราก็ตั้งคำถามว่า เรามองภาพการศึกษาตรงกันไหม 

มองการศึกษาอย่างไร ?

ในฐานะที่ตัวเองก็เคยอยู่ในระบบการศึกษา และในปัจจุบัน ก็ส่งลูกเข้าในระบบการศึกษา ดูเหมือนว่าการศึกษาในปัจจุบัน จะย่ำอยู่กับที่ บางมุมบางอย่าง จะถอยไปจากที่เดิมด้วยซ้ำไป ทั้งที่เห็นว่ามีหลายองค์กร หลายหน่วยงาน ทำงานหนักมาก ทั้งผลักดันนโยบาย ผลักดันกฎหมาย หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่จะสามารถทำให้การศึกษาของเราดีขึ้น

การศึกษาที่ดีควรจะเป็นอย่างไร?

ที่นี้นิยามของคำว่าการศึกษาที่ดี เราอาจจะนิยามไม่ตรงกัน การศึกษาที่ดี คือการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เรียนได้ทุกที่ทุกแห่ง ซึ่งนำมาซึ่งองค์ความรู้ ที่เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เอาตัวรอดได้ ไม่ใช่ว่าได้เกรดดี เป็นที่ยอมรับ มีฐานะในสังคม จริงๆการศึกษาถูกปรับมาเรื่อยๆ ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะว่า ไม่เข้าใจคำว่าการศึกษาที่ดี คือมองถึงการจัดลำดับในระดับ เอเชีย หรือโลก หรือว่าสอบแข่งขันอะไรก็ได้ดี กลับมาถามว่ามันใช่การพัฒนาการศึกษาที่ดีจริงๆหรือเปล่า เรากำลังเดินไปในทางที่ถูกต้อง หรือกำลังเดินไปหาแก่นแท้ของการศึกษาจริงๆหรือเปล่า

จะมีรัฐมนตรีการศึกษาคนใหม่ในเร็วนี้ มองอย่างไร?

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีการเปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีการศึกษา มาเยอะมาก แต่ 40 50 ปีที่ผ่านมา มันก็ยังเห็นว่าแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็เลยยังไม่ค่อยมั่นใจว่า ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า หรือว่าจะย่ำอยู่กับที่เหมือนที่ผ่านมา โชคดีที่อย่างน้อย การศึกษาไทยก็เปิดโอกาสให้กับ การศึกษานอกระบบ เพราะตัวเองไม่ เชื่อในระบบการศึกษาของไทย และเชื่อว่าตัวเอง สามารถที่จะออกแบบการศึกษา ตามความต้องการของลูกได้ เรามองว่า หลักสูตรที่เราออกแบบให้ลูก คือสิ่งที่ลูกจะได้นำไปใช้จริงในชีวิตจริง ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิต อาชีพ ถามต่อนักการเมือง อยากจะถามว่า ห้ามของคำว่าการศึกษาที่ดีในความคิดของท่านคืออะไร แล้วถ้าในความคิดของท่าน การศึกษาในปัจจุบันยังไม่ดี ท่านคิดว่าเกิดจากปัญหาอะไร ได้ควรจะแก้ปัญหายังไง

ทั้งหมดคือบทสนทนาส่วนหนึ่งของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับการศึกษา ทั้งอาจารย์ผู้ผลิตครูจากคณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ,กลุ่มตัวเเทนชนเผ่าพื้นเมืองที่มองเรื่องการศึกษาของคนชายขอบ , กลุ่มการศึกษาทางเลือก ,Home School, และว่าที่ครูในอนาคต นั่งคุยกันพร้อมกับนั่งฟังนโยบายของพรรคการเมืองที่เเสดงวิสัยทัศน์ ก่อนจะได้ถามพรรคการเมือง ตัวเเทนนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ได้พูดขึ้นว่า ในห้องเรียนของผมตลอดสี่ปี ไม่เคยรู้เลยว่ามีคนที่มุมมองต่อการศึกษาหลากหลายขนาดนี้ และระบบการศึกษามาปัญหาเยอะขนาดนี้…

พรรคการเมืองเเสดงวิสัยทัศน์เสร็จสิ้น ตัวแทนประชาชน สุนันท์ เหมะธุลินทร์ กลุ่ม Home School ที่กำลังส่งลูกเข้าเรียนในระบบ1คน และจัดการศึกษาแบบ Home School เองอยากจะตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองว่า

“การศึกษาที่ดีในทัศนะของคุณคืออะไร และคุณมองว่าอะไรคือปัญหาของการศึกษาไทย แล้วพรรคของคุณอยากจะเเก้เป็นอันดับเเรก หรือต้องการปฏิรูป”

เราย้อนถามกลับว่า ทำไม? ถึงอยากถามคำถามนี้…เธอตอบว่า …พรรคการเมืองที่มาไม่รู้ว่าตัวเเทนที่มาร่วมจะได้เป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการหรือไม่ แต่อยากจะฟังเพื่อตรวจคำตอบว่า แต่ละคนที่เป็นตัวเเทน เข้าใจระบบและปัญหาที่เกิดขึ้นกับการศึกษาหรือไม่ และการแก้ไข เขาจะเริ่มจากอะไร ประโยคเเรกของคำตอบทำให้เรารู้ว่าลึกๆ เขาคิดอะไรอยู่

คำถามที่ 2 ศรัญญา กาตะโล ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง สมาคมศูนย์รวมการศึกษา และวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ที่อยากจะถามเเทนกลุ่มคนชายขอบ เธอจึงตั้งคำถามเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ

“เราเป็นชนเผ่าพื้นเมือง นโยบายแต่ละพรรคพูดถึงเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ
อยากจะถามว่า หากคุณได้เป็นรัฐบาลจะมีวิธีหนุนเสริมการศึกษา กับ ชนเผ่าพื้นเมือง ลูกหลานแรงที่อพยพ เข้ามาในไทยทั้งมีสัญชาติและไม่มีสัญชาติอย่างไร และวัดผลอย่างไร”

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ