(2 มีนาคม 2562) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โดยฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสื่อพลเมือง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาจากภูมิภาครวม 12 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดประชุม“กองบรรณาธิการเครือข่ายสื่อพลเมือง” Digital Newsroom NexC report ณ โรงแรมหลุยส์ แทรเวิล กรุงเทพฯ เพื่อสร้างเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ เพื่อร่วมผลิตสื่อและสื่อสารวาระทางสังคมผ่านพื้นที่สื่อของแต่ละสถาบันการศึกษาและไทยพีบีเอสในหลายลักษณะ โดยเฉพาะวาระเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562
“พลังอยู่ในของที่ถูกและแม่นยำ”
นายพิภพ พานิชภักดิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. และนักผลิตสารคดีอิสระที่เป็นต้นแบบการผลิตข่าวและสารคดีแบบ One man journalist และ Backpack journalist ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงมุมมองการทำงานและพลังของสื่อพลเมืองเพื่อเปิดมุมมองการสื่อสารของเยาวชนผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำว่ามักเกิดจากคนมีอำนาจกำหนด ว่า ถ้ามีใครสักคนที่มีนาฬิกาเพียงเรือนเดียว อาจจะเป็นคนที่มีอำนาจกำหนดบอกว่าเวลาเท่าไร เช่น “เวลาเที่ยง” ก็จะถูกกำหนดจากเขาคนเดียว แต่เมื่อในยุคที่ทุกคนมีนาฬิกา “เวลาเที่ยง” ก็จะถูก Balance ถูกตรวจสอบจากนาฬิกาหลาย ๆ คน ให้ “เวลาเที่ยง” มีความแม่นยำ และเราจะลดความเหลื่อมล้ำได้
“การทำหน้าที่ ในยุค Digital transformation เครื่องมือกำหนดพฤติกรรมในการสื่อสาร” พร้อมย้ำถึงสถานการณ์สื่อในยุคดิจิทัลที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และทิศทางในการปรับตัวของนักสื่อสารที่ต้องเติมเรื่องการรายงานจากพื้นที่ “การสื่อสารในยุคใหม่ เรื่องสำคัญคือเรื่อง Location base คุณอยู่ตรงไหน ตรงนั้นสำคัญ”
นอกจากทักษะการผลิตสื่อ สารคดี และผลงาน ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อส่งสารไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นอีกวิธีการที่มีความสำคัญ ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ น.ส.สีตลา ชาญวิเศษ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงกลยุทธ์การสื่อสารออนไลน์ให้โดนใจ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยจะต้องเข้าใจหลักการตลาด รู้จักกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ออกแบบเนื้อหาให้เข้าถึงคน หรือวิธีการในการทำสื่อออนไลน์ว่าจะมีวิธีการเขียนคำบรรยาย (Caption) อย่างไรให้คนกดดูเนื้อหานั้น ๆ โดยทั้งสองอย่างคือไอเดียจุดเริ่มต้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ตั้งต้นคิดแผนฝึกปฏิบัติการสื่อสารในช่วงเลือกตั้งครั้งนี้
น.ส.นันธารา ธุลารัตน์ อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้แลกเปลี่ยนถึงมุมมองต่อการมาแลกเปลี่ยนในการปฏิบัติการครั้งนี้ ว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้ของนักศึกษาจากภูมิภาคร่วมกัน
“การมาเจอกันของนักศึกษาต่างสถาบันก็ได้ทำให้เขานำเอาสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียนที่เป็นทฤษฎีมาปรับใช้ มาปฏิบัติจริง เพราะการเรียนในสายสื่อสารมวลชนเป็นศาสตร์แห่งการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เขาใจและเกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งปกตินักศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดก็จะอยู่ห่างไกลศูนย์กลาง แต่การมาเจอเพื่อน ๆ ครั้งนี้จะช่วยให้เขารู้ถึงคุณค่าของตัวเอง และทำให้เขาได้เกิดมุมมองใหม่ เกิดประสบการณ์ร่วมกับเพื่อน ๆ ต่างสถาบัน”
หลังจากประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทีมงาน กอง บก.เครือข่ายสื่อเยาวชนได้วางแผนการสื่อสารในพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อร่วมจับตาการเลือกตั้ง โดยเชื่อมโยงการทำงานผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ร่วมกัน