ถ้าเราได้พูดคุยกันทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ทีมสื่อพลเมืองTheNorthองศาเหนือ ร่วมเดินทางไปกับ “ฟังเสียงประเทศไทย” เดินทางไปสร้างบทสนทนากับคนในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปักหมุดผ่าน Application C-Site เพื่อให้เราได้เดินทางไปคุยกับคุณถึงพื้นที่
หมุดเเรก เราเดินทางมาคุยกับคนจังหวัดน่านเมืองเนิบๆ ที่ไม่เนิบ
เดินทางไปที่บ้านสบยาว ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง หมู่บ้านต้นน้ำยาวที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านเรียกว่าบ้านสบยาว หมู่บ้านนี้มีอยู่ประมาณ 200 ครัวเรือน แต่มีหนี้ครัวเรือนรวมถึง 21 ล้านบาท ปัญหาของนี่ไม่ได้มาจากไหนก็เป็นหนี้จากภาคการเกษตร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่นี่คือป่าต้นน้ำและปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่นี่ก็คือที่ดินทำกินของชาวบ้าน อะไรคือความพอดีของแหล่งกำเนิดต้นน้ำ เพราะนี่คือ 45% ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงคนในภาคกลาง
แต่ในขณะเดียวกันที่นี่คือผืนดิน ที่ทำกินที่หล่อเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน คนที่นี่ทำการเกษตรมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ พื้นที่ดินที่เขาทำกินทุกวันก็เหมือนที่อื่นๆในภาคเหนือที่ส่งตกทอดกันมา และปัญหาที่เราคุยกันมานานนมไม่ต่ำกว่า 10 ปี คือ “ชาวบ้านบุกรุกป่า ชาวบ้านทำลายป่า” ทั้งที่แรกเริ่มเดิมทีทรัพยากรป่าไม้เหล่านี้ภาครัฐเองก็ไม่ได้หวงห้าม หากย้อนดูในอดีตรัฐไทยเปิดให้มีการสัมปทานป่าไม้ในจังหวัดน่านด้วยซ้ำ เมื่อทรัพยากรป่าต้นน้ำลดลง กฎหมายไทยเริ่มเปลี่ยนตามกาลเวลาประกาศทับลงมาว่าที่ดินที่เคยเป็นที่ทำกินหล่อเลี้ยงคนมาหลายชั่วอายุคน คือกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมของรัฐ
แน่นอนว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อที่จะเพาะปลูกหารายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อภาพและเสียงสังคมนอกเมืองน่าน ส่งเสียงดังให้คนน่านต้องตระหนักเพราะนี่คือป่าต้นน้ำ ผ่านมา 4 ปีกับเรื่องราวที่บอกว่าป่าน่านโดนทำลายคนหน้าไม่ได้นิ่งเนิบ ใช้ทุกกระบวนท่าหลายเครื่องมือในการฟื้นคืนป่าให้กลับมาสมบูรณ์ให้น้ำหล่อเลี้ยงคนตอนล่างต่อไป
จากการพูดคุยของคนในพื้นที่ที่น่าจะเป็นตัวแทนอธิบายเรื่องราวของความพยายามของคนน่านที่รีบเร่งไม่ได้เนิบนาบฟื้นฟูป่ากลับมา คนแรกเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านสบยาว “ไพโรจน์ กันฟัน” บอกว่าที่นี่เคยมีการพูดคุยจากหน่วยงานหลายหน่วยงานทั้งหน่วยงานรัฐ องค์การพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่มาบอกว่าชาวบ้านต้องรีบฟื้นฟูป่า ชาวบ้านก็เชื่อ ทำตามทุกอย่าง มาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชอื่นแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบข้าวโพดที่ใช้พื้นที่เยอะและต้องมีการเผา พืชเศรษฐกิจอื่นเช่นไม้ผล ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เสริมอาชีพให้กับชาวบ้านได้ ชาวบ้านก็ทำ หรือโครงการคืนป่าแลกกับนา ที่จะให้ชาวบ้านไม่มีข้าวไว้เลี้ยงครอบครัวชาวบ้านก็ทำ และไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าการฟื้นฟูป่าพวกเขาจะมีสิทธิ์ที่จะใช้มันต่อไปและส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานของเขาได้หรือไม่ เมื่อ 3 ปีก่อนเริ่มมีการพูดคุยกันเมื่อพื้นที่นี้จะมีการคืนป่าปลูกไม้ผลเช่นมะไฟ มะขาม กลับมาครั้งนี้ในพ.ศ ใหม่ ต้นกล้วยที่ชาวบ้านเริ่มปลูกในสมัยนั้น ต้นใบหม่อนที่ปลูกไว้ มะขาม ก็ให้ผลผลิตกับชาวบ้าน ชาวบ้านที่นี่ลดการปลูกข้าวโพดลงมากเพราะมีพืชอื่นที่มาทดแทนสร้างรายได้ให้กับคนที่นี่ ชาวบ้านหลายคนคืนพื้นที่ และปลูกต้นไม้ให้กลับมาเป็นมาป่า ใช้พื้นที่น้อยลงแถมยังมีรายได้ตลอดทั้งปี ลดการใช้สารเคมี แม่น้ำยาวกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง จะมาที่นี่สร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลามาหลายปีจนทำให้ปลาที่นี่เชื่องมาก ในหน้าแล้งช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แม่น้ำยาวถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำสามารถเล่นกับปลาที่แหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำยาว รายได้จากการท่องเที่ยวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ชาวบ้านมีรายได้ในหน้าแล้งในยามที่ผลผลิตในไร่สวนไม่ได้สร้างรายได้ให้กับคนที่นี่ รายได้รวม 3 เดือนในปี 2561 รายได้ของชุมชนรวมแล้วเกือบสี่เเสนบาท รายได้ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนถูกแบ่งสรรปันส่วนเพื่อนำมาเป็นสวัสดิการให้กับคนในชุมชน เป็นสวัสดิการเยี่ยมไข้เมื่อเจ็บป่วย ฯลฯ อ่านมาสัก คุณผู้อ่าน สังเกตได้เหมือนผมไหมครับ เมื่อชาวบ้านมีโอกาส เขาเองก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและทำเพื่อส่วนรวมได้เช่นกัน นี่คือ 3 ปีของการปรับเปลี่ยนอย่างจริงจังของคนที่บ้านสบยาว
แต่เรื่องของคนบ้านสบยาวอาจจะไม่ได้เหมือนหรือมีต้นทุนที่พื้นที่อื่นจะสามารถเลียนแบบได้ทั้งหมด เราจึงได้คุยกับ “ปวรวิช คำหอม” ชาวบ้านน้ำพาง อำเภอแม่จริม ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ของคนที่นี่ก็คล้ายกับคนที่สบยาวแต่ว่า ชาวตำบลน้ำพาง อยู่ในเขตพื้นที่ของกรมป่าไม้ ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ แม้ว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่นี่จะเป็นเพียงแค่ 10% ของพื้นที่ทั้งหมดก็ตาม ‘น้ำพาง’ เป็นชุมชนที่สามารถรักษาป่าได้มากถึง 2.6 แสนไร่ และยังมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกกว่า 4.8 พันไร่ ที่ผ่านมาเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เคยใช้วิถีการผลิตแบบการเกษตรเชิงเดี่ยว และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นรายได้หลักของชุมชน แต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ที่ดินทำกินเดิมของตนเองเป็นที่ปลูกข้าวโพด ก่อนที่จะมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ที่ดินเดิมนั้นผิดกฎหมายทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนฯ เขตอุทยานฯ ซ้อนทับ จึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นพื้นที่ปลูกข้าวโพด 10% จึงเป็นที่ดินเดิมที่มีการเพาะปลูกอยู่แล้ว ทำให้มากกว่า 90% ของพื้นที่เป็นป่าที่ชาวบ้านได้เคยรักษาไว้โดย ต.น้ำพาง มีประชากร 1,332 ครัวเรือน หรือ 5,312 คน และมีพื้นที่ทั้งตำบลจำนวน 284,550 ไร่ และตั้งใจจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 4,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเดิม และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีการปลูกข้าวโพดจะเหลือ 0%
น้ำพางโมเดล จึงกลายเป็นความคิดที่ชาวบ้าน ต.น้ำพาง ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงความรับผิดชอบในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เกษตรกรชาวน่าน ตกเป็นจำเลยในทัศนคติของคนที่อยู่ห่างไกลว่าเป็นผู้ทำลายป่า เป็นสาเหตุของหมอกควันและภูเขาหัวโล้นจากการทำไร่ข้าวโพด
แม้วันนี้หน่วยงานรัฐจะผ่อนปรนในการอยู่ร่วมกับป่าโดยให้ชุมชนสามารถร่วมออกแบบได้แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจใดที่จะทำให้ชาวบ้านที่นี่นอนอยู่ในบ้านทำกินอยู่ในที่ที่เคยทำกินได้อย่างสบายใจ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ได้เนิบ รีบจัดการตัวเอง รักพยายามต่อรองกับหน่วยงานรัฐสิ่งที่ต้องการคือไม่ต้องการโฉนดไม่ต้องการสปกเพียงแต่ต้องการสิทธิ์ที่ยืนยันโดยรัฐ ที่พวกเขาสามารถที่จะอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์ทำมาหากินทำ และส่งต่อให้กับลูกหลานได้แค่นั้นก็พอ “แล้วผืนป่านี้พวกเขาอาสาที่จะปกป้องและดูแลให้เป็นป่าต้นน้ำเอง”
จากบ้านสบยาว ถึงบ้านน้ำพาง เราไปคุยต่อกันอีกพื้นที่ ที่บ้านป่าแลวหลวง อ.สันติสุข ในพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดขนาดใหญ่ของจังหวัดน่าน เป็นภาพภูเขาหัวโล้นได้ชัดเจน พื้นที่นี้มีทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 ชั้น 4 และเหมือนกันกับทุกพื้นที่ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดพืชเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพหลัก พื้นที่ลาดชันขนาดนั้นไม่มีน้ำแต่ข้าวโพดเป็นพืชชนิดเดียวที่ทนและสามารถให้ผลผลิตได้ จะให้ชาวบ้านเปลี่ยนแล้วอะไรคือคำตอบที่จะให้พวกเขาตัดสินใจ
“ ธนกร รัชตานนท์ นายกสมาคมไผ่ไทย” เขาเล่าว่าหากจะให้ชาวบ้านเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น แล้วจะให้ปลูกพืชอะไรในเมื่อที่นี่ไม่มีน้ำ แล้วคำถามคือพืชอะไรที่จะปลูกได้โดยที่ไม่ใช้น้ำหรือใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูฝน คำตอบที่พอจะเห็นไม่ชัดเจนจากบทเรียนจากประเทศจีนก็น่าจะเป็น “ไผ่” ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและศึกษาด้วยตนเอง เลยมาสนับสนุนให้ชาวบ้านทดลองปลูก ไผ่เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและใช้ฝนหรือเทวดาช่วยเลี้ยงตลาดของไผ่คุณผู้อ่านสามารถค้นหาได้ว่าไปไกลขนาดไหน แต่อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรหลายคนที่ทดลองปลูกแล้ว ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านสามารถใช้ผลผลิตจากหน่อขายและกินในครอบครัวได้ แต่ได้กลัวที่ไผ่จะเป็นวังวนของพืชเชิงเดี่ยว คนที่นี่เลยคุยกันว่าให้แบ่งที่ดินที่มีอยู่ทยอยปลูกพืชอื่นที่ให้ผลผลิตเร็ว โดยมีบทเรียนเดิมคือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาจจะไม่ใช่คำตอบของภาคการเกษตรของคนที่นี่อีกต่อไป
“ลำไพ วงค์ขัติ”เป็นเกษตรกรในพื้นที่บ้านป่าแลวหลวง ปลูกข้าวโพดมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี และยืนยันว่าที่ดินที่เธอทำไร่ข้าวโพดอยู่นั้นเป็นที่ที่ส่งต่อมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทำกินมาอย่างยาวนานแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำก็ตาม จะทำอย่างไรเมื่อสังคมตั้งคำถามจากภาพภูเขาหัวโล้น เมื่อเสียงจากสังคมดังขึ้นเรื่อยๆตัวเองจำเป็นที่จะต้องปรับตัว ปรับวิธีการปลูกลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน วันนี้เธอทดลองปลูกไผ่แล้ว จำนวน 10 ไร่ แต่พื้นที่ที่เหลือก็ปลูกข้าวโพดอยู่เพื่อให้เป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงครอบครัว และเธอสัญญาว่าหากพืชอื่นที่จะมาทดแทนและสร้างป่าได้เธอเองก็พร้อมที่จะลดการใช้ที่ดินและปลูกต้นไม้อื่นให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นสีเขียว
การได้ลงพื้นที่พูดคุยกับคนน่านในรอบนี้ ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น และสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น คือการปรับตัวเอง ตามเสียงจากคนภายนอกที่เขาเองก็ไม่รู้จักคนเหล่านั้น แต่รู้เพียงว่าเสียงที่ดังขึ้นนั้น พวกเขาต้องแก้ ซึ่งไม่ได้เพียงแค่แก้เพื่อตัวพวกเขาแต่แก้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ที่จะมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีในอนาคต