“เลือกตั้ง 62? : ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้งและอภินิหารทางการเมือง”
นี่คือหัวข้อเสวนาในวันที่ 21 มกราคม 62 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จัดขึ้นโดยมี 3 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ร่วมแลกเปลี่ยน คือ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพระปกเกล้า และ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์
การเลือกตั้งปี 2562 ถูกมองว่ามีลักษณะของการทำลายศาสตร์และศิลป์การเลือกตั้งเนื่องจากมีการลิดรอนและจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ของการเลือกตั้งโดยเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งหน้าใหม่ ทำให้เสียเปรียบพรรคใหญ่หรือพรรคการเมืองเดิมที่เคยถูกเลือกตั้งมาก่อน
ในเวทีเสวนายังตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดอภินิหารทางการเมืองหากมีการเลื่อนเลือกตั้งและยังตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญและเรียกร้องต่อกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกหรือกลุ่ม New Voter ให้ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ในปี 62 หรือไม่?
มีทางที่จะเป็นไปได้ทั้งสองทาง ทั้งมีและไม่มี การเลื่อนระยะเวลาออกมาไม่มีความชัดเจน สิ่งที่ต้องจับตามองคือหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.ควรจะมีความชัดเจนไม่เกินสัปดาห์หน้า แต่ถ้าหากจะเลื่อนก็อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้
ศาสตร์และศิลป์ของการเลือกตั้ง
คิดว่าผู้สมัครและพรรคการเมืองจะเจอหิน หลุมพราง และกับระเบิดโดยการใช้อำนาจรัฐสอยพรรคเล็กๆ ออกไป ทำให้ลิดรอนและกำจัดโอกาสในการที่จะรู้จักพรรคการเมืองหน้าใหม่ ทำให้เกิดการสร้างโอกาสในการหาเสียงของพรรคใหญ่
New Voter เป็นคะแนนเสียงสำคัญ
กลุ่มคนที่ถูกคาดการณ์ได้ยากในการลงคะแนนเสียงครั้งนี้คือ New Voter เพราะเป็นกลุ่มคนที่เลือกตั้งครั้งแรกและกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ได้อยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง โดย New Voter มีจำนวนอยู่ 7-8 ล้านเสียง นับเป็นคะแนนเสียงสำคัญ
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องมีความบริสุทธิ์ เป็นธรรม ทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งการเลือกตั้งที่ดีต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน คะแนนเสียงของประชาชนต้องเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน เคารพคะแนนเสียงของประชาชนที่ตัดสินใจลงคะแนนและผลการเลือกตั้งผู้ชนะจะต้องได้จัดตั้งรัฐบาล
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ สถาบันพระปกเกล้า
ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่
การเลือกตั้งรอบนี้ปรับเป็นแบบใหม่ จาก 2 บัตรเป็นบัตรเดียว เป็นความพยายามที่ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าพรรค ใช้วิธีดูดตัวบุคคล มีความเชื่อว่ากระแสตัวบุคคลดีกว่า โดยพรรคที่ตั้งใหม่มีความเสียเปรียบ เพราะไม่มีกระแสตัวบุคคลหลักในพรรค และใครที่สามารถดึงตัวเองเข้ามาเป็นมวยคู่เอกได้จะทำให้ได้คะแนนเยอะมากกว่า
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งปี 62 และหลุมดำทางการเมือง
วันที่ 24 มีนาคมมีความเป็นไปได้ในการเลือกตั้ง แต่ถ้าภายในสัปดาห์นี้ไม่ประกาศราชกิจจานุเบกษาการเลือกตั้งที่แน่นอนถือว่าน่ากลัวแล้ว หากจะเกิดการเลื่อนเลือกตั้ง หลังจากนี้จะเป็นการลงหลุมดำทางการเมืองหมายความว่านับหนึ่งใหม่ทั้งหมด และถ้ารัฐใช้ ม.44 แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นอภินิหารทางการเลือกตั้ง ทำให้ไม่มีกฎเกณฑ์ เป็นการเปิดความหวังให้ประชาชน-นักลงทุนแล้วไปปิด มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ซึ่งในทางจิตวิทยาเป็นการทิ้งความหวังของประชาชน
ถ้าการเลือกตั้ง Free and Fair ประชาชนก็จะยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะทุกคนคาดหวังถึงการเลือกตั้ง ถ้ามองว่าการจัดการเลือกตั้งทำให้ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมก็จะเป็นการเลือกตั้งเสียเปล่า ประชาชนไม่ยอมรับ สังคมเสียเวลา และในที่สุดก็ทำให้ไปสู่วิกฤต การประท้วงและการรัฐประหารอีกรอบ
เรียบเรียงโดย พิมพกานต์ จันทร์มี นักศึกษาฝึกงาน
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พิษณุโลก