16 ม.ค.62 มีเเถลงการณ์เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ หลังจากที่ประชุม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 15 ม.ค.62 ที่จังหวัดลำปาง ได้รับทราบและเห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาบ้านพักข้าราชการตุลาการ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตามที่จังหวัดเชียงใหม่เสนอแผนงานโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยรอบอาคารที่พัก เป็นแผนระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมงบประมาณ 17.55 ล้านบาท ครอบคลุมการปลูกต้นไม้ แผนดำเนินการฟื้นฟูทั้งหมด นั้น ซึ่งในรายละเอียดของเเถลงการณ์เครือทางเครือข่ายฯ เรียกร้องให้น่วยงานเกี่ยวข้องประกาศรายละเอียดของแผนงานดังกล่าวออกสู่สาธารณะ ให้เกิดความชัดเจนภาคประชาชนพร้อมที่จะร่วมกับทุกภสาคส่วนในการร่วมมือฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ส่วนการแก้ปัญหาบ้านป่าแหว่งตามคำเรียกร้องของประชาชนนั้นขณะนีรัฐบาลจัดการได้เพียงครึ่งทาง ซึ่งยังไม่ตรงตามเจตนาของประชาชนที่ต้องการให้รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไป เพื่อคืนพื้นที่ป่ากลับมา และพร้อมกันนี้ ท้ายของเเถลงการณ์ ยังประกาศพร้อมจะเดินหน้าจัดกิจกรรมรณรงค์ในลักษณะต่างๆ ต่อเนื่อง “จนกว่าจะรื้อ”
รายละเอียดเเถลงการณ์6 ข้อจาก เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ:
1.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่ารัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 17.55 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโครงการ ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องประกาศรายละเอียดของแผนงานดังกล่าวออกสู่สาธารณะเพื่อให้เป็นที่กระจ่างทั่วกัน ว่าโครงการฟื้นฟูดังกล่าวมีรายละเอียดเช่นไร
2.โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) ได้ยืนยันว่าจะไม่ให้มีผู้เข้าใช้ประโยชน์พักอาศัยในบ้านพักเดี่ยว ส่วนกรณีอาคารชุด 9 หลังที่ยังมีผู้เข้าพักอาศัยต้องรอให้การก่อสร้างโครงการสำนักงานและที่พักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชียงรายแล้วเสร็จ ผู้พักอาศัยจะย้ายออกไปทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณะมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องคือ จังหวัดเชียงใหม่ ได้โปรดประสานกับสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อได้ประกาศรายละเอียดแผนการฟื้นฟูระยะเบื้องต้นระหว่างที่รอคอยการย้ายออกและระยะยาวหลังจากการย้ายออกให้กับสาธารณะได้รับทราบ
3. ตามที่ปรากฏในข่าวว่านายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการฟื้นฟูในทันทีโดยให้ประสานทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง จากการที่เครือข่ายฯ เคยได้รับการประสานงานทาบทามให้เข้าเป็นคณะกรรมการร่วมฟื้นฟู มีความเห็นชอบให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อให้ปรากฏว่ามีภาคประชาชนได้เข้าไปร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง เป็นสัญลักษณ์ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นหวงห้ามดังที่เคยเป็นมา แต่อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ขอยืนยันให้จังหวัดเชียงใหม่ประสานงานกับสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อประกาศแผนและเริ่มดำเนินการรังวัดคืนพื้นที่บ้านพัก 45 หลังให้กับกรมธนารักษ์ เมื่อการคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์แล้วเสร็จ เครือข่ายฯ ยินดีจะเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูทุกกิจกรรมกับหน่วยราชการ
4.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาบ้านป่าแหว่งตามคำเรียกร้องของประชาชนได้เพียงครึ่งทาง กล่าวคือ ได้แค่พื้นที่บ้าน 45 หลังไม่มีผู้อาศัย มีแผนฟื้นฟูขั้นต้น และแนวทางให้กับหน่วยราชการเจรจาหรือดำเนินการต่อ ซึ่งยังไม่ตรงตามเจตนาของประชาชนที่ต้องการให้รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไป คืนพื้นที่ป่ากลับมาดังเดิม แต่ก็ได้เปิดช่องไว้ว่า การรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย ดังนั้นทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จะยังคงเดินหน้าเรียกร้องและหาช่องทางผลักดันเพื่อให้บรรลุเจตนาดังกล่าวต่อไป
5.เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เห็นว่า มาตรการที่คณะกรรมการแก้ปัญหาที่มีนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ มีมติมาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ในส่วนที่ไม่ปรากฏในข่าวสารว่าด้วยการนำเสนอต่อครม.ในครั้งนี้ อาทิ เรื่องที่ให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐที่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นบทเรียนบทใหญ่ของสังคมไทยที่ไม่ควรละเลย ควรทำให้กระจ่างและเป็นอุทาหรณ์ต่อทั้งภาคราชการ ภาคการเมือง และภาคประชาชนโดยรวม ขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ กรมธนารักษ์ และหน่วยงานที่ปรากฏในขั้นตอนการดำเนินการได้จัดเวทีเพื่อถอดบทเรียน ศึกษาข้อเท็จจริงและนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงช่องโหว่ที่มี ไม่ให้กรณีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำ
6.นับจากนี้ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจะยังมีกิจกรรมรณรงค์ในลักษณะต่างๆ ต่อเนื่อง “จนกว่าจะรื้อ” และกระทำทุกวิธีทาง เพื่อให้ได้ป่าสมบูรณ์ดังเดิมกลับคืนมา