เชียงใหม่เปิดสภายางนา ถกแนวทางจัดการดูแลยางนาถนนเชียงใหม่-ลำพูน

เชียงใหม่เปิดสภายางนา ถกแนวทางจัดการดูแลยางนาถนนเชียงใหม่-ลำพูน

เชียงใหม่เปิดสภายางนาครั้งแรก เสนอตั้งทีมสภายางนา และกองทุนยางนาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาหากเกิดผลกระทบและอุบัติเหตุ รวมถึงจะเป็นทุนในการพัฒนาพื้นที่ให้ชุมชน  เพื่ออยู่รวมถึงอยู่ร่วมกับยางนาได้ พร้อมเสนอแผนการฟื้นฟูระบบรากยางนา ถนนเชียงใหม่-ลำพูน และยกระดับถนนขึ้นในอนาคต ชี้หากต้องการสร้างสิ่งปลูกสร้างเชื่อมถนนต้องขออนุญาต อบจ.เชียงใหม่ และหน่วยงานท้องถิ่น

ช่วงเช้าวันนี้(15พ.ย.61)มีการเปิดเวทีประชาคม สภายางนาครั้งที่ 1 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปรับปรุงฟื้นฟูยางนาโดยรอบถนนเส้นยางนาเชียงใหม่-ลำพูน ด้วยการบูรณาการแผนร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมีนายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกอบจ.เชียงใหม่เป็นประธานเปิดพิธี  ณ เทศบาลตำบลหนองผึ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ม.แม่โจ้  กล่าวว่า: ที่ผ่านมาคนสองข้างทางได้ช่วยกันดูแลต้นยางนากันมา รวมถึงมีเป็นพื้นที่ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอาศัย อำนาจตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในปีพ.ศ.2558 เป็นระยะเวลา 5 ปี ที่กำลังประเมินผลและมีแนวโน้มว่าจะต่ออายุไปอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งถนนเส้นนี้ถูกคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นถนนสายสำคัญของประเทศ เป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ซึ่งได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ในการให้คำแนะนำ แผนการพัฒนา บำรุงรักษาให้ถนนสายนี้มีการขับเคลื่อน กลุ่มอนุรักษ์ดูแลยางนาเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของคนที่อยู่กับต้นยางและสัญจรไปมา ที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของต้นยาง แลต้องมีรุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญร่วมการดูแลด้วย

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม ม.แม่โจ้

อ.บรรจง ยังกล่าวอีกว่า จากการสำรวจพบว่ายางนาบางส่วนมีความเสี่ยงจึงจำเป็นต้องดูแลฟื้นฟู และปลูกเพิ่มจำนวน 160 ต้น แต่การดำเนินทำได้ล่าช้าเพราะส่วนหนึ่งต้นยางถูกทับด้วยซีเมนต์ หรือเป็นมุมเลี้ยว หน้าบ้าน รวมถึงคนยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องปลูกเพิ่ม ในการทำกิจกรรมช่วงที่ผ่านมาปลูกเพิ่มได้เพียง 49 ต้น  เพราะทีเหมาะสมช่วงนี้ก็ไม่ใช่ฤดูปลูก แต่ได้ออกแบบมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งการขนน้ำ และระบบการให้น้ำระยะยาว เพื่อช่วยกันดูแลให้ที่ปลูกแล้วรอดด้วย

แผนในการจัดการถนนทั้งสายในระยะยาวจะต้องทำให้เห็นคุณค่าของต้นยางไม่ใช่แค่การชื่นชม ต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสร้างให้คนอยากมาศึกษาเรียนรู้ ตอนนี้มีการกำหนดจุด และจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ยางนา ที่เป็นที่รอบรวมความรู้ ให้คนได้มาศึกษาเรื่องยางนาในอนาคต อาจจะเป็นจุดตรงแดนเมือง

นอกจากนี้ควรจะมีหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับยางนา ให้ลูกหลานโรงเรียนในพื้นที่ได้เรียนรู้ ได้ร่วมกันสื่อสารให้ภายนอกรับรู้ ส่วนที่ชุมชนจะได้ประโยชน์ก็จะมาจาก การท่องเที่ยว เราต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศมาถ่ายทอดความรู้และออกแบบการทำงาน และต้องทำให้รู้ว่าคนในพื้นที่จะได้อะไรนอกจากการรักษามรดกของแผนดิน ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากการค้าขาย ทำให้เกิดการท่องเที่ยวแบบครบวงจรได้

นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.กองการช่าง อบจ.เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างอบจ.เชียงใหม่

นายสมชาติ วัฒนากล้า ผอ.กองการช่าง อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า:สำหรับแผนการปรับปรุงและฟื้นฟู ถนนสาย 106 เชียงใหม่ลำพูน เกิดจากปัญหาผลกระทบของอาคารและสิ่งก่อสร้างที่มีผลกระทบต่อระบบราก  ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ก่อนมีกฎหมายควบคุม รวมถึงพื้นที่โดยรอบก็เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน และเรื่องความปลอดภัยด้วย

ที่ผ่านมาอบจ.เชียงใหม่มีงบดูแล ตัดแต่งกิ่งแห้งประมาณ 9 ครั้งต่อปี โอกาสกิ่งแห้งตกใส่คนน้อยมาก ส่วนกิ่งดิบต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันดู จัดการอย่างเป็นระบบ  ให้ต้นยางสามารถอยู่กับเราได้ และผนที่จะสร้างฐานรากให้กับต้นที่กำลังมีปัญหาจำนวน 8 ต้น โดยใช้งบอบจ.ที่จะทำภายในปีนี้ ซึ่งจะให้ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันดูแล เพื่อให้ไม่มีโอกาสที่จะล้ม และในระยะยาวจะมีการจัดงบอบจ.เชียงใหม่เพื่อดูแลต่อไป

ด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างอบจ.เชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาที่ทำให้ยางนาเสื่อมโทรมว่ามาจาก หนึ่งการเทคอนกรีตทับ ทำให้น้ำซึมลงไปไม่ได้ ยางนากินน้ำไม่ได้ รากจึงเน่า สองปลวก กินไส้ใน สามร้านขายเหล็กในบริเวณโดยรอบ  สี่การทำท่อหรือรางระบายน้ำไปตัดรากต้นยาง และความตั้งใจทำลายของคน จะนำปัญหาต่อเนื่องมาให้เพราะ เมื่อแห้งกิ่งก็ตกใส่บ้านเรือน

ด้านตัวแทนอบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่าสำหรับแนวทางในการทางในการดูแลฟื้นฟูยางนาทางอบจ.เชียงใหม่ ได้มีแผนที่จะฟื้นฟูระบบราก โดยเปิดพื้นที่รอบโคนต้นให้มากที่สุด ให้สามารถดูดน้ำ เพิ่มดินที่มีสารอาหาร  โดยเบื้องต้นออกแบบเป็นบล็อกพรุนซึมน้ำได้ 15 ลิตรต่อนาที รวมถึงออกแบบให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม  ส่วนระยะที่สอง จะทำถึงถนนด้วยการยกระดับพื้นถนนขึ้นมา โดยเปลี่ยนเป็นบล็อกตัวหนอนขนาด 10 เซนติเมตร เพราะปัจจุปันเป็นแอสฟอลต์คอนกรีต รางยางจึงโป่งขึ้นมา ควรจะยกระดับถนนขึ้น ปรับเป็นทางราบเชื่อมเข้าบ้าน โดยจะเสนอทำถนนทั้งเส้น สร้างพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ให้ภูมิทัศน์สวยงามมากขึ้น

ทั้งนี้สำหรับชุมชน หรือครัวเรือนที่ต้องมีการเชื่อมทาง หรือทำสิ่งก่อสร้างต้องมาขออนุญาตทางอบจ.เชียงใหม่หากเป็นสิ่งก่อสร้างต้องแจ้งทางอบต. และทำตามมาตรฐานที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีความผิด และมีโทษทางกฎหมาย ถึงขอให้ทางท้องถิ่นช่วยในการสอดส่องดูแลด้วย

อาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ได้ทำร่วมกันในขณะนี้เป็นการจัดการช่วยบรรเทา แต่ต้องดูสาเหตุที่ทำให้ต้นยางเสื่อมโทรมด้วย และต้องทำการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ชวนมาเป็นภาคีทำงานส่วนการฟื้นฟูทำได้หลายวิธี แต่ต้องคำนึงถึง เรื่องโครงสร้างของดินข้างใต้ด้วย ดินต้องมีชีวิต ซึ่งอาจจะต้องเติมจุลินทรีย์ เชื้อราไมคอเรซ่า เพื่อให้ต้นยางสามารถดึงอาหารไปใช้ได้ สองต้องดูเรื่องโครงสร้าง ต้องเผื่อระบบที่อยู่ใต้ดิน สาธารณูปโภค ระบบน้ำ ระบบระบายน้ำ ระบบการเก็บน้ำ ต้นไม้จะสามารถนำมาใช้ได้ในหน้าแล้ง หรือจะเป็นน้ำสำรองสำหรับสูบขึ้นมาใช้ก็ได้ ทั้งยังย้ำว่าเทคนิคที่ใช้ต้องไม่ใช้การขุดเจาะ ที่ทำให้รากเสียหาย ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะ เช่น ใช้เสียมลม หรือแรงน้ำเป่า เป็นต้น

ภาพแสดงแนวทางการฟื้นฟูระบบรากของอบจ.เชียงใหม่

ตัวแทนกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ยางนา กล่าวถึงการตั้งกองทุนยางนา ชดเชยความเสียหาย ดูแลคนที่อยู่รอบต้นยาง พร้อมเสนอร่าง และที่มาของของเงินทุน คือ หนึ่งกองทุนสมัครสมาชิก รายครอบครัวในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลตำบลหนองหอย เทศบาลตำบลหนองผึ้ง เทศบาลตำบลสารภี ครอบครัวละ 30 บาท/เดือน  สองขอสนับสนุนจากเทศบาล สามจากรัฐบาล กระทรวงทรัพย์ และสี่การระดมทุน ซึ่งมีแผนจะจัดวิ่งมาราธอนปี 2562 จัดปั่นจักรยาน และโครงการด้านจัดการท่องเที่ยวเพื่อจะไปช่วยคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของสมาชิกสามัญ สองอุบัติเหตุที่เกิดจากต้นยางนา และพื้นฟูสภาพยางนา หากแข็งแรงแล้วกองทุนนี้จะไปช่วยพัฒนาชุมชนต่อไป

นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกอบจ.เชียงใหม่เป็นประธานเปิดพิธีสภายางนาครั้งที่1

นายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกอบจ.เชียงใหม่ กล่าวหลังจากมีคำถามจากชุมชนในพื้นที่ว่าจะแก้ปัญหาการไม่ทราบข้อประกาศของชาวบ้านในชุมชน โดยเสนอให้มีการประชุมชี้แจงเรื่องประกาศคุ้มครองยางนาในทุกหมู่บ้าน ให้ลูกบ้านทุกครัวเรือนรับทราบ พร้อมทำเอกสารเพื่อให้เกิดการรับรู้ ส่วนเรื่องป้ายเตือนจำกัดความเร็วในการใช้ถนนเส้นจะประสานกับทางตำรวจจราจรเพื่อติดตั้งเพิ่มเติม และเสนอให้เก็บสถิติรถที่ผ่านมาในพื้นที่แยกประเภทเพื่อหาทางในการดูแลจัดการต่อไป นอกจากนี้ยังสนับการจัดตั้งองค์กรสภายางนาอย่างเป็นทางการอีกด้วย

นอกจากนี้ในเวทียังมีการเสนอถึงการสร้าง Sky Walk เลียบต้นยางนา เพื่อเป็นจุดเช็คอิน กิมมิคในการมาเรียนรู้ เรียนรู้ระบบนิเวศ และทิวทัศน์ แต่ต้องคำนึงถึงการออกแบบที่สวยอิงทัศนียภาพ และต้องมีการจัดการตามมาอย่างเหมาะสม รวมถึงการกล่าวถึงประโยชน์ในการผลักดันให้เกิดกองทุนยางนาที่จะหนุนเสริมการทำกิจกรรมในพื้นที่ให้ต่อเนื่อง สามารถระดมทุน หรือให้ต้นยางสามารถสร้างประโยชน์ได้หลายอย่าง  เช่น ขยายพันธุ์ได้ต้นกล้า ปุ๋ยหมักจากยางนา ทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น โดยมีกองทุนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ