นอกจากจะลุกขึ้นมาเผยสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพจฮากะเหรี่ยง เพื่อขอติดตามทวงเพจคืนอย่างไม่ลดละ เพราะพื้นที่นี้สำคัญต่อชุมชนคนกะเหรี่ยงแล้ว แอดมินเพจฮากะเหรี่ยง ยังยินดีเปิดใจกับทีมข่าวพลเมือง จ.เชียงใหม่ แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองเจอเพื่อเป็นอุทธาหรณ์แก่พวกเราชาวโซเชียลที่เรื่องแบบนี้อาจมีสิทธิ์เกิดขึ้นกับเราก็ได้ และที่สำคัญ โซเชียลมีเดียที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้มีอะไรที่เรายังไม่รู้จักอีกบ้าง
ทีมข่าวพลเมือง :หนูนาแนะนำตัวหน่อยค่ะ
หนูนา : หนูชื่อหนูนา สุดาพร ศิริวนาธร เรียนอยู่ปี 2 มจร. เชียงใหม่ค่ะ หนูเป็นหนึ่งในแอดมินเพจฮากะเหรี่ยง เพิ่งเข้ามาเป็นแอดมิน ปกติหนูจะถ่ายรูปและเป็นแบบเกี่ยวกับแฟชั่นกะเหรี่ยง และโพสต์ภาพที่หนูไปถ่ายแบบบ้าง ต่อมาก็มาร่วมเป็นแอดมิน หน้าที่ของหนูคือโพสต์ภาพและเรียบเรียงข้อความ อ่านและตอบคอมเม้นท์ลูกเพจ เนื้อหาที่หนูโพสต์จะเป็นภาพสวยงาม เครื่องแต่งกาย วิถีชีวิต ธรรมชาติ หรือคำคมน่าสนใจ หนูก็จะเรียบเรียงโพสต์ไปให้สนุก มีเฮฮาด้วย เพราะว่าส่วนตัวเราเป็นคนตลกเฮฮาอยู่แล้ว ภาพส่วนใหญ่ก็มาจากลูกเพจตามที่ต่างๆที่ส่งมาในกล่องข้อความของเพจให้ฝากโพสต์ เป็นภาพวิถีชีวิต เรื่องสวยงามจากที่ต่างๆ
ทีมข่าวพลเมือง : ความรู้สึกที่ได้เป็นแอดมินเพจฮากะเหรี่ยง
หนูนา : รู้สึกว่ามีความสำคัญในระดับสูงมาก กับเราชาวกะเหรี่ยง เพราะว่าเพจเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องชาวกะเหรี่ยงทั่วโลก เพราะว่าเพจนี้เป็นเพจใหญ่ของกลุ่มชาวกะเหรี่ยง มีคนติดตามเยอะ ประมาณ 2 แสน 4 หมื่นคน แล้วเวลามีงานบุญหรือว่ามีงานทีไหน เกี่ยวกับกะเหรี่ยงเราก็จะเอาไปโพสลงในเพจ แล้วคนที่ติดตามเพจทั่วโลกเขาก็จะมาดูมาทำความรู้จักกันในเพจ แล้วเวลามีงานที่จะไปช่วยเหลือเด็กๆบนดอย เราก็จะโพสลงเพจ แล้วก็จะมีคนเข้ามาสมทบทุน บางครั้งก็มีการประมูลเสื้อกะเหรี่ยงแล้วเอาเงินไปสมทบทุนด้วยค่ะ
ทีมข่าวพลเมือง : เล่าเหตุการณ์ที่เพจหายไปให้ฟังหน่อย
หนูนา : เช้าวันที่ 28 สิงหาคม 2561 มีผู้หญิงฝรั่งที่ลิซ่า ทักเข้ามาในกล่องข้อความเพจ มาในแนวขอซื้อหน้าเพจค่ะ เราก็ ปรึกษาคุยกันว่า เราจะไม่ขาย ก็เลยตอบเขาไปว่า เราไม่ขายเพจนะ สักพักหนึ่งเขาก็ทักกลับมาอีกว่า ถ้าไม่ขายหน้าเพจ งั้นช่วยโพสข้อความให้เขาได้ไหม เขาจะจ้างเราโพสอ่ะค่ะ เดือนละ 1 โพส โพสละ200 ดอลล่าร์ เราก็เลยคุยกันว่าไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย เพราะก่อนหน้านี้เราก็มีการรับโพสต์ข้อความหรือภาพ โดยเงินจากการโพสต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปช่วยเหลือเด็กๆ บนดอยอยู่แล้ว เราเลยตอบไปว่าโอเค จากนั้นหนูนาก็ได้คุยกับลิซ่า ว่าจะให้ลิซ่าส่งข้อมูลที่จะให้โพส ทางเฟสบุ๊ค หรือว่าลิซ่าจะโพสในเฟสบุ๊คก่อน แล้วเราจะไปก็อปปี้มาโพสให้ในเพจของเราแล้วก็ให้เครดิต ลิซ่าบอกว่าทำอย่างงั้นไม่ได้ แล้วก็ขออีเมลหนูนา เมื่อหนูนาเอาอีเมลให้เขา สักพักเขาก็บอกว่า ไม่สามารถที่จะส่งรายละเอียดเข้ามาในเมลได้และบอกว่าขอส่งทางเฟสส่วนตัวหนูนาได้ไหม หนูนาก็บอกโอเค แล้วหนูนาก็ทักเฟสส่วนตัวเข้าไปถามว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แล้วลิซ่าเขาก็ส่งลิ้งค์มาให้ลิงค์หนึ่ง ให้หนูนาเปิดเข้าไปในลิ้งค์ แล้วก็เจอตัวหนังสือภาษาไทยเขียนว่า ตัวจัดการธุรกิจเกี่ยวกับเพจ แล้วพอหนูนากดเข้าไปในลิ้งค์ปุ๊ป ลิซ่าก็จะส่งลิ้งค์ของหน้าเพจฮากะเหรี่ยงให้หนูนาวางลงไป แล้วก็ให้เปิดไฟล์ พอเปิดเข้าไปปุ๊บ ไม่ถึงครึ่งชม. เพจฮากะเหรี่ยงก็หายไปเลย แล้วหนูนาและแอดมินทุกคนก็ถูกปลดออกจากการเป็นแอดมินเพจ แล้วลิซ่าก็บล็อกเฟสบุ๊คหนูนา แบนหนูนา แบนแอดมิน ออกจากเพจ ไม่ให้แอดมินส่งข้อความและแสดงความคิดเห็นได้
ทีมข่าวพลเมือง : คนกะเหรี่ยงใช้เฟสบุ๊คกันเยอะเหรอ
หนูนา :เยอะค่ะ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์นะคะ แต่ว่ามีไวไฟเขาก็จะใช้ไวไฟเล่นเฟสบุ๊ค แล้วเขามาเห็นเพจฮากะเหรี่ยงที่น่าสนใจเขาก็กดติดตาม คนกะเหรี่ยงก็มีทั้งในเมืองไทย และที่มีอีกส่วนก็คือที่อยู่ศูนย์อพยพแล้วได้ไปอยู่ต่างประเทศก็มี กลุ่มนี้เขาจะเล่นโซเชียลอยู่แล้ว เขาก็จะมากดติดตามดูข่าวสารของพี่น้องกะเหรี่ยง เพราะว่าคนที่ต้องอยู่แดนไกล เขาก็อยากกลับมาบ้าน แต่เขาก็ไม่มีโอกาสค่ะ เลยมาติดตามข่าวสารที่นี่
ทีมข่าวพลเมือง : ตอนนี้เราสร้างเพจใหม่ แต่ยังอยากได้เพจเดิมคืนอยู่
หนูนา :ค่ะเพราะว่า เพจฮากะเหรี่ยงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของพี่น้องกะเหรี่ยง มันมีความสำคัญกับเรา อีกอย่างก็คือ เพจนี้มีคนรู้จักเยอะ มีคนติดตามเยอะ แล้วก็สร้างกันมาหลายปี ถ้าเราจะสร้างใหม่ เราก็ต้องใช้เวลาพอสมควรค่ะ เพราะว่ากว่าเราจะได้ผู้ติดตามมาเยอะ เราใช้เวลา 3 ปีกว่าๆ เหตุการณ์ครั้งนี้หนูกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถือเป็นบทเรียนสำคัญค่ะ
ทีมข่าวพลเมือง : พฤ พยายามสื่อสารกับสังคมเกี่ยวกับกะเหรี่ยงในหลายวิธีการ ทั้งเป็นนักข่าวพลเมือง ทั้งไลฟ์ในเฟสส่วนตัว แล้วพื้นที่แฟนเพจฮากะเหรี่ยงนี้ สำคัญอย่างไร
พฤ โอโดเชา :เพจฮากะเหรี่ยงพิเศษตรงที่ เป็นพื้นที่ของการสื่อสารและศึกษาของคนชนเผ่ากับคนในสังคมเมืองที่สนใจมาติดตามแลกเปลี่ยนกันหลายปีแล้ว ผมดูจากคอมเม้นท์นะ มีคนที่ไม่ใช่กะเหรี่ยงเข้ามาถามไถ่แลกเปลี่ยนกันก็มาก เดิมที ตั้งขึ้นมาให้คนรู้จักความเป็นปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง มีความสนุกสนาน คำว่าฮา ภาษาไทยก็จะหมายถึงสนุกสนานเฮฮา ส่วน คำว่า “ฮา”ในภาษาเหนือ แปลว่าฉัน หรือว่ากู ฮากะเหรี่ยงก็คือ ฉันคือกะเหรี่ยงก็ได้ ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะสื่อสารเรื่องราวของคนป่า คนดอย วิถีชีวิตทั้งสวยงาม หรือทั้งมีความลำบากหลายๆเรื่อง หรือว่ามีงานบุญงานกุศลบนดอย จะนัดกันไปช่วยเหลือกันได้อย่างไร เรียกว่าเป็นสะพานบุญ ที่คนในเมืองก็สามารถนัดกันไปทำบุญวัดนั้น วันนี้บนดอย บนที่ห่างไกล หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติ น้ำท่วม หรือต้องการความช่วยเหลือ ก็เข้ามาสื่อสารกันที่เพจนี้กัน อีกเป้าหมายหนึ่งก็คือให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต เพราะจะมีเรื่องของการใช้ชีวิตของคนกับป่า พิธีกรรม การทำมาหากิน ความเชื่อ การแต่งกาย เราก็หวังว่าให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ บางทีคนรุ่นใหม่เขาไม่รู้จักภูมิปัญญาดั้งเดิม ก็ต้องมีภาพ มีตัวอย่าง มีพิธีกรรมที่ทำสืบทอดกันมาให้เห็น บางทีคนภายนอกก็มองอย่างไม่เข้าใจ ถามมาว่าเราบูชาผีเหรอ เราก็ได้มาอธิบายว่าไม่ใช่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าที่เข้าทางที่เราเคารพเป็นต้น เราไม่อยากให้ คนรุ่นใหม่ปกาเกอะญอ โตมากับความไม่รู้ แล้วมาปะทะกับวัฒนธรรมทางสังคมไทย เราก็จะใช้พื้นที่เพจฮากะเหรี่ยงนี้ในการสื่อสารให้คนรุ่นใหม่ก็เขามาเข้าใจด้วย
อีกเรื่องหนึ่งก็จะเกี่ยวกับนโยบายที่คนปกาเกอะญอจะต้องตระหนัก เพราะว่าส่วนมากพวกผมอยู่ในป่าในเขา จะอยู่ในเขตป่าที่มีนโยบายมาเกี่ยวข้อง เช่นมีข้อบังคับอะไร อุทยานคืออะไร ป่าสงวนคืออะไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ไปจนถึงต่อมามีการการประกาศเขตอุทยานเพิ่ม กลไกหรือคำสั่งอะไร ข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเรามีอะไรที่เราต้องรู้และติดตามความคืบหน้า เดิมทีเวลามีประกาศเขตหรือมีคำสั่งอะไรที่ทับกับพื้นที่ที่พวกเราอยู่ ผมเคยคิดว่าเป็นโชคชะตา แต่ที่จริงมันคือเรื่องของสิทธิและข้อกฏหมาย ที่เราต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจว่า ถ้าเราอยากได้สิทธิของการอยู่ในชุมชนของเราต้องทำอย่างไร ซึ่งพื้นที่เพจนี้มันทำให้พวกเรามีพื้นที่สื่อสารติดตามและเรียนรู้และรวมกลุ่มกันของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงครับ
ทีมข่าวพลเมือง : ตอนนี้ไม่มีเพจแล้วเกิดอะไรขึ้นกับพฤหรือชาวกะเหรี่ยงบ้าง
พฤ: สำหรับผม มันเหมือนกับ เราต้องรับผิดชอบนะครับ เพราะว่ามันมีคนตั้ง 2 แสนคนกว่าที่ไว้ใจเราในเรื่องนี้ แล้วก็ติดตามเรา พอหายไปเราต้องหาคืน ความผิดพลาดมันขึ้นได้ ผมคิดว่าโจรมันมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แล้วก็ทีนี้ พอมันหาย มันก็ว่างเปล่า ปกติผมจะทำหน้าที่ Live เรื่องราวสำคัญๆ กับชีวิตชาวกะเหรี่ยง วันหนึ่งเราจะโพสเรื่องนี้ที่สำคัญกับพวกเรา เราก็เอ๊ะ ทำไม เพจของเราหายไป เข้าไม่ได้ ถามกันไปมาก็พบว่า หนึ่งในทีมแอดมินของเราไปกดลิงค์บางอย่างที่มีคนส่งเข้ามาแล้วก็หายไปเลย ทำให้พวกผมต้องกลับมาศึกษาว่า มันหายไปได้อย่างไร ใครเอาไป แล้วก็วิ่งเต้นหากัน อดหลับอดนอนขอความช่วยเหลือ แชร์โพส แชร์ไลน์ ถามคนโน้น ถามคนนี้เป็นคืนเป็นวัน หลับคาโทรศัพท์ คิดตลอดเวลาว่าจะได้คืนมายังไง มันเหมือนกับเราต้องรับผิดชอบ เครดิตของเราที่ชาวบ้านเขาให้เรามา 2 แสนกว่าจะสร้างมาได้มันยากมาก และก็มันเหมือนกับ มันเป็นชุมชนใหม่แบบหนึ่งนะครับ วันหนึ่งชุมชนนั้นหายไป มันเหมือนกับว่าหมู่บ้านเราจะมีสัก 100 หลังคาเรือนใช่ไหม แต่นี่เรามีสักแสนคน เป็นหนึ่งชุมชนอยู่ในนั้น อยู่ๆชุมชนนี้หายไป เราเป็นผู้นำหมู่บ้านอย่างงี้ ที่เราบอกว่า เรามารวมชุมชนอย่างนี้ก็ต้องหาวิธีรับผิดชอบ ผมก็ทุกข์ใจมากครับที่เพจมันหายไป ไม่รู้จะทำยังไง ก็โพสก็แชร์ก็มีเพื่อน ก็อาสาเข้ามาช่วย มีนักข่าวที่ช่วยเขียนลงข่าวก็มี และก็มีผู้ที่สนใจเรื่องความปลอดภัยของอินเตอร์เน็ต อย่างคุณมัจฉาเขาเห็นโพสต์ก็ขอเขามาช่วย
แต่ปัญหาที่มันเกิดขึ้นมันต้องไปติดต่อกับเฟสบุ๊คซึ่งเป็นใครอยู่ที่ไหน เหมือนเราอยู่กับรัฐบาลเฟสบุ๊คระดับโลก มันไม่เหมือนระดับรัฐบาลไทย ที่เรารู้ว่าคือพลเอกประยุทธ แต่รัฐบาลเฟสบุ๊คอยู่ที่ไหน จะเข้าไปเจอเขายากกว่าเข้าไปหาพลเอกประยุทธก็ได้นะ เพราะฉะนั้น เลยมีคนช่วยเราเขียนภาษาฝรั่ง เขาเขียนแล้วส่งติดต่อไปอยู่ และแนะนำศึกษาขั้นตอนเทคโนโลยีและเข้าใจถึงความอันตรายของโซเชียลมีเดียด้วย คือผมก็ยอมรับว่าผิดพลาดตรงที่เราก็นึกว่าเพจนั้นคือการเปิดพื้นที่ให้กับคนเราได้สื่อสารกัน และก็ได้เรียนรู้เบื้องต้นว่าโพสอันนี้ถูกนะ โพสต์แบบนี้ไม่ได้นะ หยาบ อนาจาร โพสต์อันนี้สงวนลิขสิทธิ์นะ แต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันจะมีคนเข้ามาหลอกเราได้ เรานึกว่าเฟสบุ๊คจะเป็นคนดูแลเราไม่ให้โจรเข้ามาบ้านเราได้ เพราะว่าเราไปอยู่อาศัยห้องเช่าของเฟสบุ๊คใช่ไหม แต่ปรากฏว่าเฟสบุ๊คปล่อยให้คนเข้ามาในบ้านได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เหมือนกับเฟสบุ๊คไม่ได้ดูแลผู้อยู่อาศัยไหม อันนี้เป็นข้อสังเกตของผมนะ คือเราไม่รู้ เพราะว่าเราอยู่ในบ้านเขา เขาอาจจะต้องวางมาตรการให้เราบางอย่างไหม เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเหมือนกับเราไม่รู้เรื่อง แต่ในขณะเดียวกันเป็นเรื่องของเฟสบุ๊คที่ไม่สร้างความปลอดภัยให้เราเพียงพอด้วยไหม และเมื่อเกิดเหตุขึ้นในบ้านหลังนี้แล้วจะต้องทำอย่างไร
ตอนนี้ผมต้องไปค้นจากลิงค์จากคลิป คนนี้เขาว่าอย่างไร เขาทำอย่างไร เจอคนที่เขาเสียเฟสไป เขาสามารถได้คืนกลับมา หรือไม่ได้คืน ก็ตามหาความรู้ ตามหาไทยพีบีเอสช่วยหน่อย ไปหาองค์กรที่ดูแล ตามหาเพื่อนฝูงให้เขามาช่วย เพราะว่า ปกาเกอะญอเราไม่เคยมีชุมชนระดับคนแสนๆ ที่มาร่วมดูเรื่องเดียวกัน เรียนรู้ร่วมกัน มีเพื่อนต่างเผ่าด้วยในนั้น เพจฮากะเหรี่ยงจึงเป็นหัวใจในยุคใหม่ของเรา ที่เราได้สื่อสารกัน เพราะเมื่อก่อนเราจะต้องข้ามเขาแต่ละลูกไปหากัน มันเป็นหัวใจที่สำคัญสำหรับเราจริงๆ ครับ
ทีมข่าวพลเมือง : การติดตามเพจไปถึงไหนแล้ว
พฤ: ตอนนี้แอดมิที่แชตคุยกับลิซ่าซึ่งเป็นคนที่แฮกเพจไป ได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ก่อนแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะแจ้งว่าใครเป็นคนผิด เพราะเราก็ไม่รู้ แล้วทางคุณมัจฉา ได้มาช่วยแปลภาษาส่งไปให้ทางเฟสบุ๊ค แล้วก็รวบรวมข้อมูลหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ร่อยรอยที่เขาเอาไปต่างๆ ให้กับทางเฟสบุ๊ค เพื่อว่าเฟสบุ๊คเขาจะเชื่อ เราก็ส่งไป แล้วก็รอคำตอบ ตอนนี้คือรอ แล้วตัวเองก็คิดว่า จะต้องมาศึกษาเรื่องนี้ครับ ก็เลยต้องมาหาผู้รู้ต้องมานั่งคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรให้ได้เพจคืน ขณะเดียวกัน เราก็อยากจะให้คนอื่นรับรู้ด้วย ว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดกับเรา อยากจะแบ่งปัน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หรือคนที่ยังไม่ถูกแฮ็ก ได้เข้าตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น
มันน่ากลัว เพราะว่าเฟสบุ๊ค มันอยู่ที่ไหนไม่รู้ มันอยู่ในมุมมืดมาก ไกลมาก สมมติว่าเราเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน มีเจ้าของบ้านอยู่ เกิดอะไรขึ้น เราจะไปเคาะประตูขอเจอ แต่ในหมู่บ้านเฟสบุ๊คเราเกิดปัญหา เราไปหาผู้ใหญ่บ้านไม่เจอ ไปหานายอำเภอไม่เจอ อยู่ที่ไหนๆ อยู่โลกไหนนู้น เบื้องต้นเราส่งข้อมูลและส่งแจ้งเหตุ แล้วก็เจอใครไม่รู้ตอบมาว่าปกติ งองแงงๆ จะเป็นหุ่นยนต์ที่เขาเรียกว่า AI ตอบมาก่อนหรือเปล่า ยังไม่ได้เจอเจ้าของอีก ใช้เวลาหลายวัน อย่างนี้คนที่คิดไม่ดี เอาไปทำในทางไม่ดี ก็กินไปจนรวยแล้ว อีกข้อหนึ่งที่สำคัญซึ่งผมต้องศึกษาให้ชัดเจนว่า เวลาเขาเอาลิ้งค์โน่นนี่มาให้เรา เราไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้หรือเปล่า เท่าที่ฟังดูจากคนที่รู้มา บ้างก็ว่าไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายเขาได้เพราะว่า เราไปเปิดสถานะว่าสาธารณะ เรายอมรับเงื่อนไขที่เฟสบุ๊คออกแบบมาให้หรือเปล่า อันนี้ผมก็อยากจะถามผู้รู้ว่าจะมีมาตรการอย่างไร เหมือนกับมือถือหรือของเล่นที่ลูกเราเล่นที่ไม่ปลอดภัย เมื่อเด็กเล่นแล้วบาดเจ็บไม่ได้รับความปลอดภัย สรุปแล้วของเล่นไม่ผิดเช่นนั้นหรือ จริงๆแล้ว คนผลิตของเล่นต้องออกแบบให้ปลอดภัยด้วยไหม สุดท้ายก็กลายเป็นความผิดของเด็กเอง ที่เล่นแล้วเป็นเหยื่อเองเช่นนั้นหรือ อันนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากนะครับ
ทีมข่าวพลเมือง : ตอนนี้สร้างเพจใหม่
พฤ : ครับ ระหว่างรอติดตาม เพื่อให้การสื่อสารต่อเนื่อง และมีพื้นที่ขอคืนเพจฮากะเหรี่ยงด้วย ตอนนี้เราเปิด 2 เพจคือ เพจฮากะเหรี่ยง2 และเพจกอดกะเหรี่ยง ฝากติดตามและเป็นสมาชิกด้วยครับ
ทีมข่าวพลเมือง : เข้ามาช่วยติดตามเพจได้อย่างไร
มัจฉา: เราไม่ได้รู้จักเพจฮากะเหรี่ยงเป็นการส่วนตัว แต่รู้จักจากพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง เพราะว่าตัวเองทำงานโครงการสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และทำร่วมกับเยาวชนกะเหรี่ยงด้วย และเราก็ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการรณรงค์เพื่อให้สังคมตระหนักถึงสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของเด็กและเยาวชน รวมถึงความเป็นธรรมทางเพศ และเราสนใจเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ออนไลน์ เริ่มมีการฝึกเยาวชนให้ตระหนักถึงการใช้พื้นที่ออนไลน์ในการสื่อสารกับสังคมอย่างสร้างสรรค์ ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เลยคิดว่าเราควรที่จะรณรงค์ให้กับเยาวชนเข้าใจ เข้าถึงและใช้มันอย่างปลอดภัย
เราช่วยประสานข้อมูลด้วยความหวังให้เพจฮากะเหรี่ยงคืนมาสู่เจ้าของเดิมเพื่อทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์เดิม โดยขณะนี้ ได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แปลเป็นภาษาอังกฤษแจ้งไปยังเฟสบุ๊คเพื่อยืนยันว่า แอดมินเพจ “ฮากะเหรี่ยง” คือกลุ่มชนเผ่าที่ร่วมกันสร้างเพจรวมใจใช้สื่อสารในเชิงวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยง แต่ถูกลวงไปเป็นเพจชื่ออื่นและใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้เฟสบุ๊คมีมาตรการควบคุมการกระทำที่ไม่ถูกต้องบนพื้นที่ออนไลน์ ให้มั่นใจได้ว่าสิทธิการเป็นส่วนตัวของเราต้องได้รับการปกป้อง หรือสิ่งที่เป็นสมบัติของเราต้องได้รับการปกป้องเช่นกัน
ที่ผ่านมา เราติดต่อไปยังเฟสบุ๊ค แต่เฟสบุ๊คเป็นระบบที่เราต้องรอเขาตอบกลับ เขายังไม่ตอบกลับ วันนี้เราพยามที่จะได้ช่องทางติดต่อเจ้าหน้าที่ของเฟสบุ๊ค และรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อจะทำใน 3 ระดับคือ
1.ยืนยันว่า แอดมินเพจ “ฮากะเหรี่ยง”คือ พี่น้องชนเผ่าที่ร่วมกันสร้างเพจขึ้นมาจริงและเพจนี้ถูกลวงไปและล่าสุดมีการเปลี่ยนชื่อและใช้งานไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์การก่อตั้ง
2.ข้อมูลเพียงพอที่จะเอาผิดเขาหรือไม่หรือมีช่องว่างทางกฎหมายที่จะเอาความผิดเขาได้หรือไม่
3.อยากให้สังคมรู้ว่าเรากำลังมีโลกเสมือนจริงที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมกันในวันนี้ แต่หากเราไม่เข้าใจเราอาจจะละเมิดสิทธิคนอื่นได้เหมือนกันหรือไม่กระทั่งเราไม่ตระหนักเอง ก็อาจถูกละเมิดหรือแสวงหาผลประโยชน์ได้เหมือนกัน
ทีมข่าวพลเมือง : อะไรที่คนยังไม่รู้เกี่ยวกับเฟสบุ๊ค
มัจฉา: เฟสบุ๊ค เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและรณรงค์ทางสังคมที่ดีได้ แต่ก็มีอีกบางอย่างที่คนใช้งานไม่รู้ และเฟสบุ๊คก็ ไม่ได้เปิดเผยให้คนเข้าใจระบบของเขาอย่างแท้จริงด้วย เมื่อเราไม่รู้ก็อาจจะเกิดอะไรขึ้นกับเราก็ได้ เช่น อาจจะถูกฟ้องร้อง ถ้าโพสต์ข้อความโดยไม่ตระหนักแล้วไปละเมิดลิขสิทธิ์ของคนอื่นก็ได้ หรือการที่กฎหมายในบ้านเมืองอาจจะคับแคบจนเกินไป จนมีนักเคลื่อนไหวหลายคนถูกฟ้องจากการโพสต์เฟสบุ๊ค ฉะนั้นเราจึงสนใจเรื่องของพื้นที่ออนไลน์ว่าจะทำอย่างไรให้คนใช้งานอย่างปลอดภัย แล้วทำอย่างไรที่จะ ทำให้เราได้รับการปกป้องคุ้มครองในทางกฎหมายด้วย
ในเชิงเทคนิค เฟศบุ๊คเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่ซับซ้อน แต่เรากระโดดลงไป เราเข้าใจว่า เมื่อเราเขียน หรือส่งข้อความ คนที่เห็นจะคือคนที่เราอนุญาตเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเหมือนสมุดเล่มหนึ่ง ที่เฟซบุ๊คเข้าถึงได้ทั้งหมด ไม่ได้ปลอดภัยทั้งหมด หรือเรื่องเราคุยกัน ลับระหว่าง 2 คน แต่โอกาสของการแคปและส่งไป ไม่ใช่เรื่องลับก็เป็นไปได้ เราตั้งค่าเฉพาะเพื่อนไว้ แต่โอกาสคนอื่นเห็นหรือการลบข้อความในแชทที่เราคิดว่ามันหายไปแล้วแต่ความจริงแล้วมันแค่เหมือนเราเอามือมาปิดตาเราไว้ไม่เห็นข้อความของเราที่เราลบ แต่แท้จริงแล้วมันคือคนอื่นเห็นก่อนหน้าเราและข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในโลกออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคที่คนใช้งานยังไม่เข้าใจทั้งหมดด้วย เรารู้แต่เบื้องหน้า แต่ข้างหลังซ่อนอะไรไว้บ้าง ต้องผลักดันให้เปิดเผย เพื่อตระหนักมากขึ้น
ในเชิงพฤติกรรม เราจะมีพฤติกรรมใช้สื่อออนไลน์อย่างไรให้ต้องปลอดภัย เช่น เราก็ไปรับแอดคนแปลกหน้า เราไปพูดคุยกับคนแปลกหน้า เราให้ข้อมูลส่วนตัวเข้าไป เขาเข้ามาให้ผลประโยชน์กับเรา เราก็ไม่รู้ว่าเขามีตัวตนอยู่จริงไหม อาจจะมีหน้าตา แต่จะมีตัวเขาอยู่จริงหรือไม่ มันใช่ผลประโยชน์ที่ถูกกฎหมายไหม เราได้ผลประโยชน์นั้นจริงไหม เรามีพฤติกรรมในการใช้ออนไลน์อย่างปลอดภัยมากน้อยเพียงใด
ในเชิงนโยบาย เราอยากเรียกร้องให้เฟสบุ๊คจัดการมีมาตรการควบคุมการกระทำที่ไม่ถูกต้องบนพื้นที่ออนไลน์ ให้มั่นใจได้ว่าสิทธิการเป็นส่วนตัวของเราต้องได้รับการปกป้อง สิ่งที่เป็นสมบัติของเราต้องได้รับการปกป้องเช่นกัน ช่วยกันทำให้พื้นที่อินเตอร์เน็ตได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายด้วย โดยเฉพาะกฏหมายกับสิทธิบางอย่างที่เป็นส่วนตัว เช่น อายุ เพศ น่าจะปกป้องไว้ได้ ไม่ปล่อยให้เข้าถึงและนำไปหากำไร โปรโมทสินค้า ยิงโฆษณามาหาเรา และเรายังสนใจเรื่องข่าวปลอมในพื้นที่สื่อออนไลน์ว่าจะมีการจัดการได้อย่างไร
“เราคิดว่าการที่เจ้าของเรื่องเผชิญกับปัญหา ลุกขึ้นมาสื่อสาร จะเป็นการช่วยเฟสบุ๊คประเทศไทยด้วยเพื่อบอกว่าต้องการอะไร และควรจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อเฟสบุ๊คจะได้เปิดรับข้อเสนอ เพื่อปรับปรุงออกแบบบ้านไม่ให้มีรูรั่ว”