“พื้นที่เรียนรู้” คืออะไร ? : เครือข่ายการศึกษาร่วมสร้างและขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้สู่สาธารณะ

“พื้นที่เรียนรู้” คืออะไร ? : เครือข่ายการศึกษาร่วมสร้างและขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้สู่สาธารณะ

เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของเราทุกคน เป็นเรื่องของสังคม และการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องของห้องเรียนสี่เหลี่ยม รั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่โลกของการเรียนรู้กว้างมาก และทุกคนสามารถที่จะออกแบบโลกของการเรียนรู้ การศึกษาของตนเองได้

เวทีร่วมสร้างและขับเคลื่อนเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องประชุม โรงแรม M2 De Bangkok Hotel จึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) และสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา (ภาคี 9 เครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายการศึกษาทางเลือก เครือข่ายการศึกษาบนฐานชุมชน เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายโรงเรียนสังกัด อปท. เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก เครือข่ายโรงเรียนเอกชน เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง เครือข่ายธุรกิจเอกชน และเครือข่ายเด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่)

เราทุกคนจึงกลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยกันประกอบ ต่อเติม ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราว ปักหมุดหมายพื้นที่เรียนรู้ทุกรูปแบบ เพื่อแบ่งปันเปิดโลกการเรียนรู้สู่สาธารณะ

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ เริ่มจากที่ สสย. มีเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ที่ทำงานเรื่องการศึกษา อยู่หลายพื้นที่ และทำงานในเรื่องของสื่อใหม่ การเท่าทันสื่อในยุคของดิจิทอล จากงานขับเคลื่อนของ สสย. นำมาสู่วงแลกเปลี่ยนพูดคุยและหาภาคีเครือข่ายทำงานร่วมขับเคลื่อนสร้างพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ เพื่อสร้างพลเมืองในอนาคต

“จริง ๆ แล้วการศึกษาไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม แค่เราเข้าไปในสื่อออนไลน์ก็มีสิ่งต่าง ๆ ให้เราค้นคว้าหาความรู้ ไม่มีใครผูกขาดข้อมูลได้อีกต่อไป จากการทำงานเราพบว่า ภาคประชาชน ภาคสังคมจำนวนไม่น้อย มีการขับเคลื่อนกระบวนการในการสร้างการเรียนรู้ มีรูปธรรมที่ความหลากหลายกันออกไป แต่ยังไม่เคยมีการเชื่อมร้อย สานพลังความร่วมมือ สร้างเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้เพื่อสื่อสารกับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม จึงเกิดการรวมตัวกันในครั้งนี้ขึ้น” เข็มพรกล่าว

“เด็กเบื่อห้องเรียนที่ต้องทนรับการยัดเยียดความรู้มากมายทุกวัน” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.)

ชัชวาลย์ เล่าถึงการศึกษาในระบบของรัฐ การเรียนในห้องท่องจำ แล้วนำไปสอบ ไม่ตอบโจทย์การสร้างพลเมืองในอนาคตอีกต่อไป การศึกษาที่เป็นอยู่ ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ การเรียนรู้ที่ให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข และตอบโจทย์อนาคตจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในการสร้างพลเมืองอนาคต

ยุทธชัย เฉลิมชัย อุปนายกสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) กล่าวว่า วิธีการเรียนรู้แบบเก่า ในระบบชั้นเรียน รายวิชา การสอนแบบเฉี่อยชา การวัดประเมินที่ตายตัวในสาระหลักสูตร และการศึกษาแบบบังคับอื่น ๆ จะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ใหม่ในกำหนดอนาคตของผู้เรียน

“พหุวัฒนธรรม พหุปัญญา ประสบการณ์และเครือข่าย จะเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่” ยุทธชัยกล่าว

วรพจน์ โอสภาพิรัตน์ กลุ่มดินสอสี เล่าถึง การเปิดพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ (Active – Activity-Action) ที่มีการขับเคลื่อนโดยเกิดจากคนในพื้นที่เอง และทำการสื่อสารกับสาธารณะ ยกตัวอย่าง ห้องเรียนชายหาด ของกลุ่ม Beach for life โดยสงขลาฟอรั่ม เกิดการศึกษาสาธารณะที่เริ่มจากการรวมกลุ่มกันของเยาวชนในพื้นที่ ทำงานเก็บข้อมูลสภาพชายหาด โดยการนำแอปพลิเคชั่น C-Site ปักหมุดสภาพแวดล้อมของบริเวณชายหาด กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา นำข้อมูลนั้นมาพูดคุยและออกแบบการใช้ประโยชน์ของชายหาดร่วมกัน

จากตัวอย่าง ทำให้เห็นรูปแบบการเชื่อมโยงข้อมูล เห็นพื้นที่เรียนรู้สาธารณะ มีผู้คน มีลมหายใจ มีชีวิต เห็นการเปลี่ยนร่างของการเปิดพื้นที่เรียนรู้ มีคนในทำกระบวนการเรียนรู้ และมีคนนอกเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงนิเวศชุมชน ถ้าสามารถเชื่อมโยงได้ เรากำลังสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของกระบวนการเรียนรู้สู่อนาคต

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ในตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมาก เศรษฐกิจก็เปลี่ยน เห็นฐานอาชีพของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน เราอยู่ในสังคมที่เป็น Digital Native คำถามคือ แล้วการศึกษาที่เป็นอยู่คือคำตอบของการสร้างคนเพื่ออนาคตหรือเปล่า

“เมื่อการศึกษาหมายถึงที่ไหนก็ได้ และทุกคนทั่วโลกเข้าถึง ต่อยอดสร้างฐานความรู้ใหม่ จึงชวนกันมาทำเวที พูดถึงเรื่องการศึกษาในอนาคต มองเรื่องการเปลี่ยนแปลงของห้องเรียน โรงเรียน ครู เด็กที่จะโตไปเป็นพลเมืองในอนาคต มีเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกัน หนุนความเข้าใจและสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนร่วมกัน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ