“ทวงคำสัญญา”ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

“ทวงคำสัญญา”ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

วันนี้ (30 มิถุนายน 2561) เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้นัดรวมพลกันที่หอประชุมโรงเรียนนวมินทราชูทิศ (พายัพ) จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าต่อคำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีข้อยุติของกรรมการ และต้องรื้อบ้านพักศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งได้รุกล้ำพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นอกจากนี้ยังได้ร่วมส่งพลังใจต่อการค้นหากลุ่มนักฟุตบอลทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวง จ.เชียงราย

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพส่งใจขอให้น้องทีมหมูป่า 13 ปลอดภัยและกลับมาโดยเร็ว

จากกรณีการสร้างบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยใช้งบประมาณไปมากกว่าพันล้านบาทบนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการใช้ที่ดินอย่างถูกกฎหมาย (เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้กันพื้นที่ออกมาจากความดูแล) แต่เห็นรอยแหว่งเว้าของผืนป่าขนาดใหญ่อย่างชัดเจน จนประชาชนพากันเรียกว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง”  และได้มีการแชร์ภาพถ่ายอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย กระทั่งนำไปสู่กระแสต่อต้านอย่างหนัก โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2561 คนรักดอยสุเทพทุกกลุ่มอาชีพทุกวัยก็ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการรื้อทิ้ง และคืนผืนป่าดอยสุเทพให้กับคนเชียงใหม่ ที่ข่วงประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นจำนวนหลายพันคน

หลังเหตุการณ์เดินรณรงค์ขอคืนป่าดอยสุเทพ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมิให้มีผู้ใดเข้าพักอาศัยในแนวเขตป่าดั้งเดิม จนกว่าจะมีข้อยุติของคณะกรรมการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและคณะกรรมการดำเนินการกับสิ่งก่อสร้าง แต่กลับกลายเป็นว่าได้มีเจ้าหน้าที่ของทางศาลเข้าไปพักอาศัยบ้างแล้วส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ไม่อนุญาตให้คณะทำงานเรื่องนี้เข้าไปสำรวจพื้นที่ อันเป็นการขัดคำสั่งนายกรัฐมนตรีและมติของคณะกรรมการฯ

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ รวมตัวกันที่หอประชุมโรงเรียนนวมินทราชูทิศ (พายัพ) จ.เชียงใหม่

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา หนึ่งในผู้นำในการรณรงค์ครั้งนี้ได้กล่าวว่า “เรายืนยันว่า เราจะสู้จนกว่าจะมีการรื้อ  บ้านพักตุลาการจะต้องมีการลงมาจากดอยศักดิ์สิทธิ์ของคนเชียงใหม่ และของคนทั้งประเทศ”

ขณะที่ ปัณรส บัวคลี่ กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ ก็ได้ยืนยันเช่นกันว่าต้องรื้อ “การออกมารวมพลครั้งนี้เพื่อบอกให้ผู้คนได้รู้ว่า ทางเครือข่ายยังมีเจตนารมณ์ยังคงเดิม ยืนยันว่าต้องรื้อ ซึ่งการที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ หลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงนี้โดยเฉพาะเรื่องของน้องๆ ทีมหมูป่าที่ยังติดอยู่ในถ้ำหลวง ทำให้ทุกคนใจจดจ่อมุ่งอยากให้เด็กๆ ปลอดภัย แต่ทุกคนยังมารวมพลกันมากขนาดนี้ ก็เป็นการบ่งบอกว่า ถ้าต้องดีเดย์จริงๆ จะต้องเยอะกว่านี้มาก ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของภาครัฐด้วยซ้ำที่จะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง อันใดก็ตามที่พลาดไปแล้ว สามารถกลับมาแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องได้ เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานของภาครัฐให้กับสังคม”

นิคม พุทธา นักอนุรักษ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยืนยันเช่นเดียวกันว่า “อยากให้มีการคืนผืนป่าให้ดอยสุเทพ ซึ่งที่สุด ก็ต้องรื้อ เพราะความผิดพลาดมันเกิดขึ้นแล้ว ก็อยากให้ยอมรับความผิดพลาด ไม่อย่างนั้นก็จะฟื้นฟูสภาพป่าไม่ได้ และก็หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้กับทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าภาครัฐหรือประชาชน เพราะมีหลายอย่างมากที่ควรจะได้พูดถึง รวมถึงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย”

เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการล้านนาคดี ได้กล่าวเช่นกันว่า “ขอให้รื้อ เพราะนี่คือบาดแผลของคนเชียงใหม่ เป็นความเจ็บปวดของคนเชียงใหม่”

นอกจากคนในพื้นที่แล้ว มีหลายคนที่มาจากจังหวัดอื่นๆ เช่น อุบลราชธานี ลำปาง ลำพูน กรุงเทพ ก็เดินทางมาร่วมด้วย ซึ่งหนึ่งในนี้คือ นายจตุรงค์ สมงาม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ ได้บอกกับนักข่าวพลเมืองว่า ตนเองเห็นว่าการจัดทำบ้านพักข้าราชการศาลภาค 5 นั้นไม่เหมาะสมทั้งเรื่องของพื้นที่และงบประมาณ

“ผมเป็นประชาชนคนหนึ่งที่เสียภาษีให้รัฐทุกปี ผมไม่เห็นด้วยที่จะนำเอาภาษีของผมมาทำแบบนี้ ต้องรื้อสถานเดียวเท่านั้น”

พิธีอัญเชิญเทวดามาสถิตยังผืนป่าเดิมที่ถูกถางทำลาย

ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ นอกจากได้แสดงเจตนารมณ์และบอกเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากเกิดคณะกรรมการขึ้นมาให้กับประชาชนที่มาเข้าร่วมรับฟังในห้องประชุมแล้ว หลังจากนั้นทางกลุ่มเครือข่ายทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพก็ได้เคลื่อนตัวออกจากโรงเรียนนวมินทราชุทิศ ไปยังด้านข้างของบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งบัดนี้ได้มีผู้อยู่อาศัยบางส่วนแล้ว โดยทางกลุ่มผู้เคลื่อนไหวได้เดินทางขึ้นไปประกอบพิธีอัญเชิญเทวดามาสถิตยังผืนป่าเดิมที่ถูกถางทำลายไปเพื่อเป็นบ้านพักตุลาการ และได้ขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากพื้นที่นี้

พิธีอัญเชิญเทวดามาสถิตยังผืนป่าเดิมที่ถูกถางทำลาย

นอกจากนี้ทางเครือข่ายยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงแจตนารมณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา (หลังการเดินรณรงค์เรียกร้องรื้อบ้านพักเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2561) ดังรายละเอียดด้านล่างนี้

แถลงการณ์เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

30 มิถุนายน 2561

เรื่อง ศาลยุติธรรมต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่เสียคำสัตย์ ร่วมแก้ปัญหาป่าแหว่งอย่างจริงใจ

ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เมื่อ 6 พฤษภาคม 2561 เกิดขึ้นหลังจากโฆษกศาลยุติธรรมประกาศย้ำต่อนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารที่จะต้องแก้ปัญหาว่า จะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งหากได้ผลประการใด ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง

แต่คำแถลงของโฆษกศาลยุติธรรมดังกล่าว ไม่เกิดขึ้นจริง !

ด้วยยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและธุรการจำนวนหนึ่ง ไม่ปฏิบัติตามมติ ก.บ.ศ. เพิกเฉยไม่ร่วมมือกับแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการมิให้มีผู้ใดเข้าพักอาศัยในแนวเขตป่าดั้งเดิม ทั้งไม่ให้ยอมให้อนุกรรมการภาคประชาชนเข้าสำรวจพื้นที่ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ รวมถึงไม่ร่วมมือส่งเอกสารตามที่คณะกรรมการร้องขอ

โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการที่ล้ำผืนป่าสมบูรณ์ขึ้นไปเป็นทัศนะอุจาดต่อดอยสุเทพและนิเวศวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วประเทศ แต่ทว่าสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมจงใจเพิกเฉย ไม่ประกาศบอกกล่าวหลังจากครบกำหนดสัญญาก่อสร้าง 18 มิถุนายนที่ผ่านมาทั้ง ๆ ที่มีการต่ออายุสัญญามาก่อนแล้วเกือบ 3 ปี – ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

อบต.ดอนแก้ว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แทนประชาชนในท้องถิ่นขอแบบแปลนก่อสร้าง  ก็ยังไม่ได้ ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงออกตามพรบ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้ต้องส่งแบบแปลนแจ้ง อบต. ท้องที่ล่วงหน้าก่อนการก่อสร้าง

ไม่บอกกล่าวประชาชน ไม่แยแสสนใจว่าสาธารณะคิดเช่นไร  แถมยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง !!

สังคมเริ่มไม่มั่นใจต่อคำประกาศว่าโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ “บ้านป่าแหว่ง” ดำเนินอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น ที่แท้…ถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ ? … หรือว่ายังปิดบังซุกซ่อนหรือมีความผิดพลาดปิดบังซ่อนอยู่ ?

คณะบุคคลบางกลุ่ม-บางคนในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมที่ยังขัดขวางกระบวนการแก้ปัญหาป่าแหว่ง กำลังทำให้สถาบันตุลาการเสื่อมเสียภาพลักษณ์ ก่อให้เกิดความมัวหมอง และอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงจากการดำเนินการผิดพลาดของตน

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้โปรดตรวจสอบ สั่งการ และ ดำเนินการ  ดังต่อไปนี้

ประการแรก – ให้สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมตลอดถึงฝ่ายปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้จัดส่งแบบแปลนก่อสร้างและเอกสารแผนผังเกี่ยวข้องต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติโดยเร็ว ไม่ยื้อ ไม่ถ่วงเวลา และให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าหลังสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ เพราะนี่เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้รู้ตามกฎหมายบัญญัติ

ศาลต้องไม่ละเมิดกฎหมายเสียเอง !

ประการที่สอง – ขอให้สั่งการสำนักงานเลขาธิการและผู้เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมติ ก.บ.ศ.อย่างเคร่งครัดตามที่โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรมแถลงต่อสื่อไว้ เป็นคำสัตย์-เป็นสัญญาประชาคม  เนื่องเพราะยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนธุรการบางคน จงใจฝ่าฝืนมติก.บ.ศ.และเป็นปฏิปักษ์กับแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลอย่างชัดเจน  การพยายามขัดขวาง ยื้อ และ สร้างอุปสรรคต่างๆ ในระยะที่ผ่านมา รังแต่จะทำให้ข้อปัญหานี้ขยายวง ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสำนักงานศาลยุติธรรมเอง

ศาลต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างของการรักษาคำสัตย์ คำสัญญาต่างๆ ให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์!

ประการที่สาม – เครือข่ายประชาชนขอให้ ก.บ.ศ. ได้พิจารณาสอบสวน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ก่อความผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรและงบประมาณแผ่นดิน ทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการอันเป็นสถาบันหลักของชาติเสื่อมเสีย รวมถึงภาพลักษณ์ที่ส่อว่าสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ธำรงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายบ้านเมืองเสียเอง อาทิเช่น การไม่ปฏิบัติตามพรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 การไม่แจ้งเจ้าพนักงานในการตัดฟันต้นไม้ และไม้หวงห้ามในพื้นที่โครงการ การเข้าไปเปลี่ยนแปลงทางน้ำโดยเจ้าพนักงานไม่รับทราบ

นอกจากนั้นการที่โครงการนี้ต้องขยายเวลาให้ผู้รับเหมาเกือบ 3 ปี จนบัดนี้ไม่แล้วเสร็จ การทรุดพัง ไม่สมบูรณ์ ตลอดจนข้อปัญหาต่างๆ คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากระบวนการวางแผน กำหนดผังก่อสร้างไม่รอบคอบ หรืออาจไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ฝืนและขัดกับสภาพข้อเท็จจริงของระบบนิเวศ การดำเนินการดังกล่าวอาจจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดแบบแปลนที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ เหตุใดจึงพยายามปกปิดรายละเอียดแบบแปลนไม่เปิดต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง

ก.บ.ศ. ควรจะไต่สวน หาข้อเท็จจริงของกระบวนการดำเนินโครงการนี้ว่ามีเหตุผลกลใดถึงมีผู้ขัดขวางการเนินการของฝ่ายบริหาร ทั้งยังปกปิดไม่เปิดข้อมูล ว่ามาจากเหตุจูงใจใด มีความผิดปกติไม่ชอบมาพากลตรงจุดใดหรือไม่ เนื่องจากยิ่งปล่อยไป การกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คนดังกล่าวจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของสถาบันตุลาการเสียหายลงไป

ศาลต้องตัดไฟแต่ต้นลม ธำรงหลักการใหญ่ ยอมตัดเนื้อร้ายและยอมรับความผิดพลาดของระดับบุคคล !

ภาคีประชาชนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เคยมองสถาบันตุลาการเป็นคู่กรณี ความผิดพลาดและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาจากบุคคลหรือคณะบุคคลจำนวนหนึ่ง เราจึงขอเรียกร้องให้ ก.บ.ศ.ในฐานะองค์กรบริหารสูงสุดของฝ่ายตุลาการ ได้โปรดสะสาง แก้ไข และตรวจสอบการกระทำของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ว่า เพื่อมิให้กระทบต่อภาพลักษณ์ภาพรวมของสถาบันตุลาการ อีกทั้งเพื่อให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ดอยสุเทพอันเป็นที่รักที่หวงแหนของประชาชนชาวไทย ได้ลุล่วงลงโดยเร็ว

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ประกาศ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ