นักวิชาการชี้ บ้านป่าแหว่ง ลาดชัน ปาดสันปันน้ำ ไม่เหมาะเป็นที่อยู่อาศัย

นักวิชาการชี้ บ้านป่าแหว่ง ลาดชัน ปาดสันปันน้ำ ไม่เหมาะเป็นที่อยู่อาศัย

การเข้าพื้นที่สำรวจและศึกษารายละเอียดในโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561  ของทีมนักวิชาการตัวแทนคณะอนุกรรมการศึกษาดำเนินการในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์และคณะอนุกรรมการศึกษาการฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับเป็นป่าสมบูรณ์ฯ กลับออกมาพร้อมรูปภาพและชุดข้อมูลเชิงประจักษ์จำนวนหนึ่งที่พอจะทำให้เป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลในการตัดสินใจต่ออนาคตของโครงการนี้ ฯ ซึ่งหมายถึงอนาคตของป่าดอยสุเทพด้วยว่าจะคงสภาพมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ต่อไป หรือจะมีการรื้อถอนให้เป็นป่าสมบูรณ์ดังเดิม

ไปติดตามชุดข้อมูลและการวิเคราะห์จาก รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว 

“ภารกิจของผมคือเข้าสำรวจพื้นที่ที่มีการก่อสร้างในพื้นที่ป่าและมีความลาดชัดค่อนข้างมากว่ามีผลกระทบอะไรบ้างทางด้านวิศวะกรรม รวมถึงผลกระทบในภาพรวมของพื้นที่ป่า เราได้แบ่งการมองพื้นที่ตามกลุ่มบ้านคือกลุ่มบ้านเดี่ยว 45 หลัง และกลุ่มของอาคารชุดในพื้นที่ตอนล่าง  ซึ่งเป้าหมายแรกของผมอยู่ที่กลุ่มบ้านเดี่ยวเนื่องจากสร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง เราจะต้องดูว่าการเลือกพื้นที่นั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะโครงการระดับหลายร้อยล้านนั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ หากเลือกพื้นที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการใช้พื้นที่เกินความจำเป็น เมื่อโครงการเสร็จแล้วยังต้องมีการปกป้องพื้นที่อีกมากซึ่งเป็นการสิ้นเปลือง และมีความเสี่ยงที่จะมีอุบัติเหตุได้ง่าย  สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องเอามาวิเคราะห์”

“นอกจากนั้นในปัจจุบันการเลือกพื้นที่ จะต้องวิเคราะห์เรื่องของสังคม และนิเวศน์สังคมประกอบกันด้วย กรณีนี้ชัดเจนว่ามีภาคประชาสังคมออกมาต่อสู้เรียกร้องให้รื้อถอนอยู่  ซึ่งในเชิงสังคมย่อมประจักษ์ว่าโครงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งเราไม่ได้สนใจว่าจะมีสถานะเป็นป่าสงวนหรือไม่ได้เป็นป่าสงวน แต่ในที่นี้ถือว่าเป็นป่าที่รักษามานานแล้ว ซึ่งจุดนี้มันประจักษ์แล้วว่าเป็นการปลูกสร้างเข้าไปในพื้นที่ป่า”

“ส่วนผลกระทบเรื่องอยู่ในพื้นที่ลาดชันนั้น  พบว่าส่วนที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างบ้าน 45 หลังใช้พื้นที่กว่า 40 ไร่ เฉลี่ยแล้วบ้านหนึ่งหลังใช้พื้นที่ 1 ไร่ รวมถนน ถามว่าเกินความจำเป็นหรือไม่นั้น แน่นอนว่าเกินความจำเป็นอยู่แล้ว เพราะว่าบ้านเดี่ยวในเชียงใหม่ ราคา 30,000,000 บาท ที่ดินก็ไม่ถึง 1 ไร่ด้วยซ้ำ  หากผมยกบ้าน 45 หลัง มาสร้างบนพื้นที่ราบด้านล่าง จะใช้ที่ดินไม่เกิน 20 ไร่เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง  ยืนยันได้เลยว่าทำเหมือนกัน แบบเดียวกันเลย มีสวนสาธารณะพร้อมถนนด้วย  ดังนั้นผมมองว่าเป็นการใช้ที่ดินเกินความจำเป็น ซึ่งผิดที่ผิดทางมาตั้งแต่เริ่มต้น   ยกตัวอย่าง แค่การก่อสร้างถนนหนึ่งเส้นก็ใช้ที่ดินมากพอควร เพราะไม่ใช่แค่สร้างถนน แต่ต้องมีการปรับผืนดินตามพื้นที่ลาดชันให้เป็นแบบขั้นบันไดจากพื้นที่เดิมที่เป็นเนินตามร่องเขา การไปตัดเขาต้องเอาหน้าดินออกมากขนาดไหน หลักฐานเชิงประจักษ์เห็นเลยว่าปรับหน้าดินออกไปเยอะมากเพื่อทำขั้นบันได การตัดหน้าดินออกไปทำให้ปัจจุบันผิวดินที่เหลือมีสภาพเป็นดินแข็งปนหิน ซึ่งโดยปกติการปรับหน้าดินของผู้รับเหมาไม่มีใครปรับได้พอดีมันต้องเกินหรือขาดอยู่แล้ว ซึ่งหากขาดก็ไม่เป็นไรแต่จะต้องถม การถมกลับจะต้องใช้ดินอัดแน่น ถ้าดินอัดไม่แน่นก็จะมีเศษตะกอนไหลลงมาได้แม้เกิดฝนตกเพียงนิดเดียว สิ่งแบบนี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราป้องกันดินได้ไม่ดีพอ”

“วันนี้ถ้าหากผมจะต้องพิจารณาบ้าน 45 หลัง ซึ่งอยู่ในพื้นที่โซนสีแดง เป็นโซนความเสี่ยงสูง ผมจะใช้หลักพิจารณาว่าควรมีอาคารสิ่งปลูกสร้างอยู่หรือไม่ควรมี   จะไม่พิจารณาว่ามันมีแล้ว ควรจะอยู่ได้หรือไม่ได้  เพราะถ้าผมจะทำให้อยู่ได้ ก็แค่ไปปิดหน้าดินด้วยคอนกรีต ไปปรับปรุงฐานรากให้ดีก็ได้ แต่นี่ไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่ภาคประชาชนออกมาสู้ เพราะว่า ตราบใดที่เขาเห็นไฟสว่าง เช่นวันที่ในหมู่บ้านทดลองไฟ เข้าเห็นไฟปุ๊บเขาเจ็บทันที เห็นคนเข้าไปอยู่ เขาเจ็บทันที ถามว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไหม มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับภาคประชาชนที่เขาหวงแหนป่า ยิ่งไปกว่านั้นป่าดอยสุเทพเป็นแลนมาร์คของเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่ป่าทั่วไป”

“ฉะนั้นในส่วนที่เป็นพื้นที่โซนสีแดง  สิ่งที่พิจารณาคือมันควรที่จะมีหรือไม่มีอาคาร ก็คือควรรื้อหรือไม่รื้อ ข้อสรุปของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิศวะกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเหนือ 1 จ.เชียงใหม่  คือ เรามองว่าเป็นพื้นที่มีผลกระทบสูง  ควรที่จะเอาสิ่งปลูกสร้างออกไป เพราะว่าการจะดูแลต่อไปต้องใช้งบประมาณสูง ทั้งทำแนวกันไฟ ดูแลดินที่ต้องกัดเซาะทุกปี ไหนจะอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นเขาลงเขาของประชากรที่อยู่อาศัย และที่สำคัญคือผลกระทบทางจิตใจคนที่ประเมินค่าไม่ได้”

“ส่วนโซนที่สอง บริเวณกลุ่มอาคารชุด ที่วัดจากแนวลำน้ำลงมาด้านล่าง  พื้นที่โซนนี้มีความลาดชันต่ำ รุกล้ำไปในพื้นที่ป่าน้อย อยู่ในแนวเดียวใกล้ๆกับหมู่บ้านสวัสดิการทหาร หากจะพิจารณาว่าควรทำอย่างไรต่อ ตรงจุดนี้ความเห็นส่วนตัวคือยังสามารถหาแนวทางร่วมกันได้หลายลักษณะ ทั้งในกรณีที่ต้องการจะรื้อออกหรือหากจะปรับปรุงพื้นที่เพื่อที่จะให้อยู่อาศัย เนื่องจากผลกระทบอยู่ในระดับปานกลาง”

“เรากำลังทำแผนอยู่ เป็นแผนที่จะสรุปให้กับทางรัฐบาล ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งจากเครือข่ายประชาชน  และนักวิชาการ ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้ข้อมูลสรุปเล่มนี้ตัดสินใจได้   แนวทางข้อสรุปของเราจะระบุว่าให้มีหรือไม่ให้มี  จะไม่ใช่เสนอให้เอาไปทำอย่างอื่น เช่นก่อนหน้านี้ที่มีข้อเสนอว่าจะทำอาคารสำนักงานหรือแหล่งเรียนรู้ ที่หมายถึงมีการเข้าอยู่อาศัยในอาคารส่วนด้านบน ซึ่งเป็นคนละประเด็น  เพราะวิธีการที่จะฟื้นฟูป่าได้ ในทางปฏิบัติต้องขุดสิ่งปลูกสร้างออกให้หมดรวมถึงถนนด้วย ถามว่าจะใช้เงินมากไหม ตอบได้เลยว่ามาก แต่คุ้มที่จะทำ ซึ่งเรามีข้อเสนอให้ทางรัฐบาลด้วยว่าจะใช้วิธีไหนที่น่าสนใจได้ เช่น  ให้ผู้รับเหมาหรือหน่วยงานบางหน่วยงานมาสำรวจดูว่าจะสามารถเอาวัสดุชิ้นไหนไปใช้ต่อได้บ้าง และอีกข้อเสนอที่น่าสนใจ คือ รัฐเสนอให้ CSR ของบริษัทใหญ่ๆ มาช่วยคนเชียงใหม่อนุรักษ์ป่าด้วยการรื้อบ้านและปลูกป่า ซึ่งมีวิธีการมากมายที่ให้รัฐบาลได้ตัดสินใจถ้ารัฐจะเอาสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ออกไป”

รศ.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง นักวิชการที่มีบทบาทสำคัญใน วิศวะกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภาคเหนือ 1 จ.เชียงใหม่ เคยกล่าวถึงโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการไว้ใน “เวทีสาธารณะ มองไปข้างหน้า ฟื้นฟูป่าบ้านพักตุลาการ” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561

“ต้องแบ่งเป็นสองมิติ  คือด้านจิตใจ และด้านสิ่งปลูกสร้าง หากมองทางวิศวะกรรมว่าคือผู้สร้าง การสร้างจะมีทั้งบวกและลบ คือเกิดประโยชน์และเกิดปัญหา ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะอยู่คู่กัน อยู่ที่ว่าจะมีการวางแผน ศึกษา และเตรียมการมากน้อยเพียงใด หากทำตามขั้นตอนมีการรับฟังความคิดเห็นมาดี ผลกระทบก็มีจะมีน้อย  สำหรับโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการแม้จะมีการออกแบบฐานรากแบบแผ่ยึดแนวหินแนวดิน แม้จะแน่นหนา แต่เมื่อดูปริมาณน้ำฝนปีนี้เหมือนในปี 2554 ก็มีโอกาสที่ทรุดได้ แม้ ตอนนี้ฝนตกลงมาเล็กน้อย ร่องหรือรางระบายน้ำก็เริ่มลอยตัวขึ้นแล้วแบบนี้คือชำรุดแน่นอน ทั้งนี้ตามหลักวิศกรรมคือ สร้างได้ก็รื้อได้และก็ย้ายได้ แต่อีกมิติหนึ่งที่เราต้องคำนึงคือ ต้นทุนในการดำเนินการทั้งทางตรงทางอ้อม หรือจะใช้อีกทางเลือกคือถอดชิ้นส่วนที่จำเป็นหรือใช้งานได้ เพื่อใช้งานต่อในอนาคต”

รศ.อรทัย มิ่งธิพล นักวิชาการด้านการจัดการลุ่มน้ำจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  กล่าวใน “เวทีสาธารณะ มองไปข้างหน้าฟื้นฟูป่า บ้านพักตุลาการ” เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ว่า  “พื้นที่ก่อสร้างโครงการนี้เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังระดับต่ำที่อยู่ใกล้เมืองที่ทำหน้าที่เป็นปอดให้กับเมือง  เมื่อดูสภาพของดิน เป็นลักษณะดินที่เก็บน้ำได้ต่ำเมื่อเทียบกับป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา เพราะฉะนั้นในช่วงหน้าฝน ก็จะเกิดป่าไหลหลากตามธรรมชาติอยู่แล้ว”

“พื้นที่ก่อสร้างโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการเป็นพื้นอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำชะเยือง และท้ายลงมาคือลุ่มน้ำแม่หยวกที่จะมีอ่างเก็บน้ำที่คนเชียงใหม่รู้จักคือ อ่างเก็บน้ำนวมินทร์ โดยมีลำน้ำจะไหลตัดผ่านโครงการเพื่อลงลำห้วยชะเยือง ซึ่งนี่คือการระบายน้ำตามธรรมชาติแต่เมื่อมีการสร้างโครงการ ตามหลักภูมิสถาปัตยกรรม คือการปาดสโลป ซึ่งทำให้แนวสันเขาที่ทำหน้าที่เป็นสันปันน้ำหายไป ซึ่งทำผิดหลักที่จะต้องรักษาแนวสโลปเอาไว้เพื่อให้ยังคงอยู่ของระบบระบายน้ำ”

“ดังนั้นเมื่อมีการปรับเปลี่ยนแนวลาดชันแล้ว เราลองคำนวณปริมาณน้ำฝนซึ่งในภาคเหนือทั่วๆ จะอยู่ที่ 60 มิลลิเมตรต่อ 1 ชั่วโมง แน่นอนว่ามีความเปลี่ยนแปลง คือ หากฝนตกหนัก 1 ชั่วโมง ในสภาพพื้นที่ปกติ น้ำจะอยู่ที่ 9,000 กว่าคิว และในพื้นที่โครงการจะมีอยู่ประมาณ 400 กว่าคิว แต่พอมาเป็นโครงการแล้ว น้ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000กว่าคิว ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า ซึ่งดินที่ถูกเปิดผิวหน้าออกจะไม่สามารถอุ้มน้ำได้ ทำให้ไหลตามน้ำมาลงมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดโคลนถล่มเลยทีเดียว แต่สิ่งที่เกิดคือดินผสมน้ำ ที่สำคัญคือ จากเดิมที่น้ำจะไหลออกหรือหลากลงลำห้วยด้านข้างสองข้างนั้น น้ำจะไหลลงผ่านโครงการ ซึ่งส่วนล่างของโครงการก็คือพื้นที่รับน้ำ ถามว่าเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติไหม ก็เสี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่โครงการเองและรอบข้าง แต่สามารถป้องกันได้ แต่นี่เข้าสู่หน้าฝนแล้ว และโดยธรรมชาติของฝนในช่วง 6-7 ปีจะมีทั้งฝนหนักและฝนแล้ง แต่ถ้าเราเช็คดูดีดี คือ ปี 2552 ปี 2553 ฝนจะเริ่มหนัก ปี 2554 แล้ง ปี2560 ฝนเยอะ และปี 2561 ฝนก็จะเยอะมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ฝนจะหนักขึ้น อันนี้คือเงื่อนไขธรรมชาติที่เราจะต้องวางแผนจัดการ”

อาจารย์จุลพร  นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ในช่วงหน้าฝนนี้สิ่งที่ต้องรีบคิดคือจะต้องรีบทำระบบรักษาน้ำผิวดินไว้ และการระบบดักตะกอนดิน เพื่อว่าในอนาคตที่เราจะพูดถึงเรื่องการฟื้นฟู เนื่องจากป่าบริเวณนั้นเป็นป่าเต็งรัง เราปลูกป่าเต็งรังใช้เวลา และต้องใช้ธรรมชาติในการฟื้นฟูตัวเองด้วย ตระกอนด้านบนที่ไหลลงมาจึงสำคัญที่จะช่วยในฟื้นฟู”

รศ.ปรานอม ตันสุขานันท์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอแนวทางออกว่า “ด้วยเหตุผลของการออกแบบเมือง และอัตลักษณ์ของเมือง เราควรเริ่มต้นจากการสำรวจ และแบ่งโซนตามความลาดชัน และตามแนวการไหลของน้ำ เพื่อที่จะกำหนดความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา ส่วนการเลือกพื้นที่ในการก่อสร้างนั้น ข้อมูลจากสถาบันวิจัยทางสังคม มหาวิทยลัยเชียงใหม่ได้มีข้อมูลว่า พื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ มีความลาดชันถึง 70 % จากการคำนวณของแนวระนาบและแนวดิ่ง (ความชัน 100 % = 45 องศา) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่แนะนำให้มีการก่อสร้าง”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ