อาสาที่ท้ายถ้ำ …ผนึกความรู้ อีกหนึ่งความหวังช่วยทีมหมูป่า

อาสาที่ท้ายถ้ำ …ผนึกความรู้ อีกหนึ่งความหวังช่วยทีมหมูป่า

 

มาเฝ้าติดตามปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย  ที่แต่ละวินาทีล้วนมีความหมายอย่างยิ่ง

สรรพกำลัง สรรพความรู้ เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างระดมมา บริเวณหน้าถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอนจึงเต็มไปด้วยทีมงานผู้ปฏิบัติงานหลายส่วนเป้าหมายที่ต้องต่อสู้กับธรรมชาติ คือปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในถ้ำ กับฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความพยายามหาทางเข้าสู่ถ้ำตามแนวดิ่งก็ถูกประเมินจัดการบริเวณโซนด้านหน้าและส่วนกลางของเทือกเขาโดยมองหาพิกัดที่เหมาะสม

ห่างออกไป ประมาณ 10 กม.บริเวณบ้านดง ต.โป่งงาม อ.แม่สาย ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับปลายเทือกเขาที่ประเมินว่าอาจเป็นจุดท้ายของถ้ำหลวง  มีกลุ่มอาสาสมัครอิสระ นักวิชาการจากหลายสถาบันค่อยๆทะยอยมาแลกเปลี่ยน แบ่งปันความรู้ด้านแผนที่ ภูมิสารสนเทศ และเชื่อมประสานกับหลายๆส่วนกัน เป้าหมายเพื่อการช่วยเหลือ ทีมหมูป่าให้เร็วที่สุด … 

พิกัดนี้ประเมินว่าเป็นความหวัง จากข้อมูลของนักสำรวจถ้ำชาวต่างชาติ และการวิเคราะห์ของทีมนักภูมิศาสตร์อาสา โดย คุณอนุกูล สอนเอก  นักภูมิศาสตร์ที่มีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศและทีมนักภูมิศาสตร์อาสา ที่พยายามจะหาเส้นทางปล่องที่เชื่อมต่อกับโถงถ้ำด้านในสุดที่เป็นทางลัดเข้าไปหาทีมหมูป่าโดยไม่ผ่านโถงน้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญ 

ศาลาเอนกประสงค์บ้านดง จึงเป็นเหมือนเบสย่อมๆ เสื่อผืน หมอนใบ โต๊ะทำงานง่ายๆ กับความรู้แบบปัญญารวมหมู่ …อนุกูล และทีมนักภูมิศาสตร์รุ่นน้องจาก ม.ช. ที่ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มาร่วมกันปักหลักที่นี่

ภารกิจที่เขาพยายามคือจับพิกัดที่แม่นยำ เพื่อหาทางเข้าสู่ถ้ำในแนวดิ่ง 

ขณะที่ในพื้นที่เชียงราย คนที่ทำงานด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว หมอกควัน ไฟป่า อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ อ.นิอร สิริมงคล จาก ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พาน เชียงราย โจ้ ณัฐพล สิงห์เถื่อน มูลนิธิกระจกเงา  อ.โจ ประดิษฐ์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ ได้พยายามประสานการจัดการเรื่องพิกัดแผนที่จากหลายส่วนงานเพราะเห็นความสำคัญและพยายามส่งต่อให้ได้หน่วยงานที่ปฏิบัติงานทุกวิถีทางเผื่อใช้วิเคราะห์หรือทำอะไรที่พอเป็นประโยชน์ พร้อมสื่อสารสาธารณะ โพสต์เฟซบุ๊คเพื่อประโยชน์ในการให้ใครต่อใครมาร่วมกันต่อยอดความรู้

ใครทำอะไรได้ต่างพยายามกันอย่างเต็มที่จริงๆ

2 วันหลังการเข้าพื้นที่ สังเกตุเห็นการเชื่อมต่อ และจูนเข้าหากันของเหล่าอาสาที่พยายามร่วมผนึกความรู้หลายลักษณะ  เช่น ในวันที่ต้องการนักธรณีฟิสิกซ์ เริ่มมีจากบางหน่วยเข้ามาเสริม ต้องการการบินโดรนในพิกัดท้ายถ้ำเพื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม ม.ราชมงคลล้านนา เชียงใหม่เดินทางมาเสริมที่หน้างานร่วมบินโดรน. กรณีทีมต้องเดินเท้าสำรวจ หน่วยทหารร่วมสนับสนุน ปราชญ์ชาวบ้านคนในท้องถิ่นอบต.ร่วมนำทาง. ทีมขับเคลื่อนสี่ล้อจากเชียงใหม่ก็มาร่วมเสริมด้านการเดินทาง. พรุ่งนี้ ทีมนักสำรวจถ้ำ ทีมปีนหน้าผา และทีมเทคนิคแผนที่ ค่อยๆทะยอย

ปัญญารวมหมู่จากประชาชนที่ร่วมมือกันและพยายามทำงานแข่งกับเวลา เริ่มขยายผล  เป้าหมายอีกหนทางที่จะส่งต่อข้อมูลและช่วยกันช่วยทีมหมูป่าโดยเร็ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ