การศึกษาไทย 4 เปลี่ยน 4 เพิ่ม ในมุมมอง’ครูรุ่นใหม่’

การศึกษาไทย 4 เปลี่ยน 4 เพิ่ม ในมุมมอง’ครูรุ่นใหม่’

 

‘การปฏิรูปการศึกษา’ เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก แจ่มเลยถือโอกาสทักไปคุยกับครูรุ่นใหม่ ถ้ามี 4 สิ่งที่อยากเปลี่ยน – 4 สิ่งที่อยากเพิ่ม ในระบบการศึกษาไทย ‘ครูรุ่นใหม่’ จะเปลี่ยนและเพิ่มอะไร

“อยากให้ทุกคนเห็นว่าตัวเองก็มีบทบาททางการศึกษาเช่นกัน”

ครูโอ – ปราศรัย เจตสันต์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม กทม.

4 สิ่งที่อยากให้เปลี่ยน

1. รูปแบบวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาไม่ควรใช้การรวมคะแนนจากการสอบต่าง ๆ มาคัดเลือก เพราะการเปลี่ยนระบบการศึกษาที่ได้ผลที่สุดควรเปลี่ยนปากทางในการเลือกศึกษาต่อ เด็กควรได้เลือกสอบเฉพาะทาง คัดเลือกตามทักษะความเฉพาะที่สนใจ การสอบโอเน็ตอาจจะยังจำเป็นหากใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาโรงเรียน
.
2. ระบบที่เอื้อต่อครู ให้ครูได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ เป็นนักการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะตอนนี้ครูกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชการไปแล้ว ไม่ได้ทำหน้าที่สอนอย่างจริงจัง
.
3.วัฒนธรรมการบริหาร ควรดึงการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ให้ทุกฝ่ายได้มีบทบาทในการออกแบบนโยบายร่วมกัน ไม่ใช่กระทรวงกำหนด… แล้วโรงเรียนมาปฏิบัติตาม จากนั้นทางส่วนกลางจึงค่อยมาเช็คลิสต์ว่าโรงเรียนเรามีตามที่กำหนดไว้ไหม ซึ่งมันไม่ใช่การสำรวจอย่างลึกซึ้ง ส่วนกลางเป็นเพียงผู้คอยกำหนดและเช็คเองเท่านั้น
.
4.ค่านิยมในสังคม การศึกษาไม่ใช่เรื่องของโรงเรียน ของครู มันต้องทำร่วมกัน อาศัยความร่วมมือกันของส่วนต่าง ๆ ครอบครัว ชุมชน สื่อมวลชน อยากให้ทุกคนเห็นว่าตัวเองก็มีบทบาททางการศึกษาเช่นกัน
.
ไม่มีข้อเสนอให้เพิ่มอะไร เพราะถ้าเปลี่ยนตามที่เสนอไว้ 4 ข้อได้ ทุก ๆ อย่างมันจะเพิ่มขึ้นมาเอง ทั้งโรงเรียน ครู และตัวนักเรียนที่มีคุณภาพ

“ระบบการศึกษาสมควรที่จะคืนครูให้แก่นักเรียนจริง ๆ ได้แล้ว”

ครูอ้อม – ฤทัยรัตน์ ศักดิรัตน์ ครูคณิตฯ จบใหม่ รอสอบบรรจุในภาคใต้

4 สิ่งที่อยากเปลี่ยน

1. การจัดระบบการศึกษาและหลักสูตร – ระบบการศึกษาของไทยยังดูเหมือนพัฒนาไม่ตรงจุด บางครั้งเราคิดว่าจำเป็นหรือที่เราจะต้องพัฒนาคนให้เท่ากับต่างชาติ ทั้งที่ต้นทุนและศักยภาพกระบวนการต่างๆ นั้นยังไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนต่อให้กี่ปีถ้ายังไม่คิดจะจัดระบบพัฒนาให้ตรงจุดมันก็ไม่มีทางที่จะก้าวทันคนอื่น ๆ ได้ ระบบการศึกษาที่มีมันอาจจะดูเอื้อกับนักเรียนทุกคนในประเทศ แต่มันก็ไม่ได้ใช้ได้จริงกับนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่าพัฒนาไม่ได้อยู่ดี สภาพสังคมที่ดูแตกต่าง เด็กในเมือง เด็กชนบท ได้รับการศึกษา ครูผู้สอน ยังได้ไม่เท่ากันเลย เหมือนมันยังมั่ว ๆ ไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง เหมือนกับไปเรียนรู้จากเพื่อนเขามาแล้วมาปรับเปลี่ยนของตัวเอง โดยไม่ได้ดูพื้นฐาน ศักยภาพหรือความเป็นจริงเลย
.
2.ระบบการบริหาร – บางครั้งพวกคนใหญ่คนโต ก็สมควรที่จะลงมาดูจริง ๆ ว่าระบบการศึกษามันอยู่อย่างไร จำเป็นไหมที่ต้องมีฝ่ายบริหารมากแต่ก็พัฒนาไม่ได้อยู่ดี ลำดับขั้นตอนของไทยมันดูเยอะไปหน่อย ระบบการดำเนินงานของราชการดูล่าช้า และทุกครั้งเราจะได้ยินคำพูดว่ามันต้องเป็นไปตามระบบ การบริหารทรัพยากรบุคคล ครูผู้สอน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ เลย การอำนวยความสะดวก ระบบบริหาร การได้รับอะไรต่าง ๆ มากมายก็ต่างกัน
.
3.หน้าที่ของครู – ปัจจุบันครูไม่ได้มีเฉพาะหน้าที่สอน เน้นการประเมินเป็นส่วนใหญ่ ประเมินมันก็ดีเข้าใจถึงการติดตามพัฒนาการ แต่บางครั้งมันดูเยอะเกินไป จนทำให้เวลาสอนของครูที่จะต้องใช้เวลาอยู่กับนักเรียนหายไปอย่างมาก การประเมินแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อให้คนใหญ่คนโตมาตรวจงานผักชีโรยหน้าอย่างชื่นใจ แต่เบื้องหลังต้องแลกกับการที่ต้องบริหารงาน บริหารเวลาในการสอน ที่ไม่ใช่จะมีแต่งานอย่างเดียวเท่านั้น ครู 1 คน งานนู้นนั่นนี่เยอะมาก มันไม่ใช่หน้าที่จริง ๆ ของครูหรือเปล่า หน้าที่ของครูคือการสอน การเตรียมการสอนที่จะให้นักเรียนได้รับศักยภาพได้รับความรู้และนำไปใช้ได้มากที่สุด ไม่ใช่มานั่งประเมินเอาหน้าเพราะกลัวว่าโรงเรียนจะไม่ผ่านการประเมิน ฉันจะไม่ได้ขั้นเงินเดือน ผู้อำนวยการจะไม่ได้ขั้นตำแหน่ง ระบบการศึกษาสมควรที่จะคืนครูให้แก่นักเรียนจริง ๆ ได้แล้ว ไม่ใช่เอาแต่สร้างนโยบายแต่พัฒนาและทำไม่ได้จริง ๆ สักที
.
4. การส่งเสริมและสนับสนุน – อยากให้ไทยมองเห็นถึงการพัฒนาคนมากกว่า ให้ออกมาในรูปแบบที่เด็กรัก ที่อยากจะเป็น ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเดินเข้ารั้วมหาวิทยาลัย แล้วออกมาโดยไม่รู้ว่าตัวเองมีเป้าหมายอย่างไรในการที่จะเริ่มทำงาน การใช้ชีวิต เด็กบางคนมีศักยภาพมาก แต่ไม่ได้รับการส่งเสริม ใช่ว่าเด็กชนบทจะไม่มีความสามารถ แต่เพียงเพราะเขาไม่ได้รับการส่งเสริมที่ถูกทาง เด็กมีสิทธิที่จะรับการสนับสนุนตั้งแต่แรกเกิดจนตัวเองค้นพบว่าชอบอะไร อยากทำอะไร จำเป็นไหมที่จะต้องเรียนในระบบเสมอไป ในเมื่อระบบมันมีปัญหาขนาดนี้

4 สิ่งอยากเพิ่ม

1. อัตราของบุคลากรทางการศึกษา – บุคลากรทางการศึกษาในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะในโรงเรียนชนบทคุณครูคนเดียว เหมือนจะทำงานทุกอย่าง ซึ่งแตกต่างจากครูในเมือง แต่ก็ไม่วายที่จะรับหน้าที่ต่าง ๆ มากมายในการดูแล การจัดสรรคืนครูให้นักเรียนอย่างแท้จริง จำเป็นที่จะมีครูให้แกนักเรียนตรงตามสายวิชานั้น ๆ และยังพบปัญหาอีกมายที่ครู 1 คนสามารถสอนนักเรียนได้หลายวิชา ซึ่งแน่นอนครู 1 คน จะให้ถนัดในทุกสายวิชา มันเป็นไปไม่ได้
.
2. ความสำคัญ – การให้ความสำคัญของครูในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากครูในต่างประเทศที่เป็นอาชีพอันดับต้น ๆ ครูไทยยังไม่ได้รับการยกย่องในสายวิชาชีพอย่างจริงจัง ค่านิยมของคนไทยในการเรียนกวดวิชาทั้ง ๆ ที่เด็กสามารถที่จะเรียนในโรงเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคม
.
ครูควรเป็นอาชีพที่น่าจะได้รับการส่งเสริมและยกย่อง การฟังสียงของครูบ้าง โดยไม่ยึดถือนโยบายของท่านผู้ใหญ่ต่าง ๆ ฟังจากครูทุกภาคส่วน ทั้งในเมืองและชนบท พื้นฐานของการพัฒนาก็มีต้นกำเนิดจากแรงงานคนตำแหน่งเล็ก ๆ ที่ค่อยผลักดันตามความต้องการของนโยบาย
.
3. การตรวจสอบบุคลากรทางการศึกษา – ยังมีคนที่ทุจริตและละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม รวมไปถึงการทุจริตตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนถึงระดับองค์กร อยากให้มีการตรวจสอบทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง เพราะจากข่าวปัจจุบันได้มีการพบเห็นการทุจริตของระบบการศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่อง
.
4. รูปแบบการเรียนการสอนที่ตรงกับสภาพการดำเนินชีวิตของผู้เรียน สามารถจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพของบริบทสังคม ชุมชน แต่ละท้องถิ่น ตอบสนองต่อความต้องการของตัวนักเรียนในด้านที่นักเรียนสนใจ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงไม่เพียงแค่เรียน ๆ ไปอย่างไม่มีเป้าหมาย จบมาก็พัฒนาทักษะได้ไม่ดีเท่าที่ตนเองมุ่งหวัง

“ให้นักเรียนเป็นผู้มีอำนาจในโรงเรียน ไม่ใช่จุดเล็ก ๆ ในระบบ”

ครูกุ๊กกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย รร.มัธยมวัดดุสิตาราม

4 สิ่งที่อยากเปลี่ยน

1. นโยบาย การประกาศใช้นโยบาย ควรจะศึกษาให้ดีก่อน ให้ครูได้ทดลอง เพื่อกำหนดโครงสร้าง – เป้าหมาย
.
2. ต้องการผู้อำนวยการไม่ใช้ผู้บัญชาการ
.
3. ครูเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน ไม่ยกครูเป็นศูนย์กลาง หลักสูตรที่มีแต่เนื้อหาตีกรอบครู ทำให้ครูไม่สามารถนำความรู้ที่ตัวเองมีออกมาได้ เราไม่ควรแบ่งเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่เราต้องนำเรื่องที่เรียนมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ทำให้การเรียนมันเป็นจริง วิชาพื้นฐานควรเป็นเรื่องจริงที่จับต้องได้ แต่วิชาเพิ่มเติมควรใช้เพื่อเป็นวิชาเลือก เช่น เด็กอยากไปแข่งโอลิมปิกวิชาการ ก็สอนเด็กที่สนใจไปเลย ให้เขาได้เรียนอย่างเดียวไปเลย ไม่ต้องทำกิจกรรมก็ได้ เพื่อมุ่งเน้นไปให้ตรงเป้าหมายของเด็ก
.
4. นักเรียน ให้นักเรียนเป็นผู้มีอำนาจในโรงเรียน ไม่ใช่จุดเล็ก ๆ ในระบบ

4 สิ่งที่อยากเพิ่ม

1. เพิ่มผู้บริหารที่จบบริหารมาจริง ๆ ไม่ใช่จบการศึกษา เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่บริหารโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะจบหมอมา ไม่ได้มีทักษะบริหารเฉพาะด้านจริง ๆ
.
2. หน่วยที่ช่วยเรื่องการศึกษา องค์กรข้างนอกที่จะไปเสริมให้ระบบข้างในแข็งแรงขึ้น
.
3. เพิ่มครู เพิ่มจำนวนครูที่สอนหน้าชั้นเรียน เพราะสอนคนเดียวมันไม่สนุก ยกตัวอย่างเวลาไปค่ายมีครูอีกคนที่คอยส่ง คอยเสริม ทำให้เด็กได้ความรู้ที่เจ๋งขึ้น
.
4. พื้นที่การเรียนรู้ จัดให้เด็กเข้าไปใช้พื้นที่จริง ๆ เช่น โรงพยาบาลศิริราช เปิดให้เด็กสามารถเข้าไปเรียนด้านสุขภาพ ให้เด็กไปเรียนกับของจริง ดีกว่าเรียนในหนังสือ เรียนในห้อง ต้องเชื่อมโยงการศึกษากับสิ่งรอบตัวมันถึงจะเป็นการศึกษาตลอดชีวิตได้

“ในห้องเรียนยังมีเด็กอีกหลายแบบ ไม่ได้มีเฉพาะเด็กเก่ง อยากให้ครูพาเด็กเดินไปข้างหน้าด้วยกัน”

ครูนิว – พีระศิน ไชยศร ครูผู้ช่วย รร.เทศบาลวัดโขดทิมทาราม สังกัดกองการศึกษา เทศบาลนครระยอง

4 สิ่งที่อยากเปลี่ยน

1. วัฒนธรรมการเรียนรู้ของเด็ก เด็กคุ้นชินกับการเรียนรู้แบบเดิมที่อยู่ในห้องเรียน มาโรงเรียนคือได้ความรู้ ฟังครู จดและจำ ซึ่งจริง ๆ แล้วความรู้นั้นหาได้จากสิ่งรอบตัว และตลอดเวลาไม่จำกัด

2. วัฒนธรรมการทำงานของครู การสอนแบบเดิมหน้ากระดาน สอนเสร็จแล้วก็จบ ในยุคนี้สอนแบบเดิมไม่ได้แล้ว ครูต้องมีการติดตามหรือต่อยอดสิ่งที่สอนไปกับเด็กด้วย มีการทบทวนประเมินตนเองตลอดเวลา การสอนแบบเดิมมาสิบยี่สิบปีไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป

3. ระบบค่าตอบแทน ก่อนที่จะสอบบรรจุ ไปทำงานครูเอกชน หรือเพื่อนที่เป็นอัตราจ้างในโรงเรียนรัฐก็โดนกดค่าตอบแทนเหมือนกัน ตั้งแต่หลักพัน หรือ 10,000 – 13,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก ขณะที่ครูบรรจุค่าตอบแทนอยุ่ที่ 15,800 บาท ทั้งที่จริงหน้าที่ก็ไม่ต่างกันเลย ควรทำให้เกิดความเหมาะสม ให้ค่าแรงที่สมเหตุสมผลตามวุฒิการศึกษา หน้าที่ภาระงานและปริมานงาน

4. ครูทำหน้าที่ครูอย่างแท้จริง ทุกวันนี้ครูมีหน้าที่อื่นนอกจากการสอน อย่างงานเอกสาร งานธุรการ การเงิน พัสดุ หรือแม้แต่ยามเฝ้าโรงเรียน จนครูไม่ได้ทำหน้าที่ครูจริง ๆ ที่ควรอยู่กับเด็ก ออกแบบการสอนให้เด็ก สอนเด็ก สัดส่วนการสอนกับงานจัดการเกือบจะเท่ากันแล้วในตอนนี้ เราควรมีบุคลากรที่มาทำหน้าที่เหล่านี้แทนครูงานธุรการ การจัดการต่าง ๆ ซึ่งเขาทำได้ดีกว่าครูอีก ควรดูโมเดลของมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์ทำหน้าที่ของตนเองคือสอนและวิจัย ไม่ต้องทำงานธุรการ ซึ่งครูกลับต้องมาใช้เวลาส่วนตัวในเวลาการเตรียมการสอน ซึ่งควรจะได้ทำที่โรงเรียนในเวลางานแต่กลับทำไม่ได้

4 สิ่งที่อยากเพิ่ม

1. แนวการสอนใหม่ ๆ ที่ครูรุ่นใหม่ก็เริ่มทำอยู่ พาเด็กออกมานอกห้องสี่เหลี่ยม ล้อมวงคุยกัน เล่น แก้ปัญหา เผชิญสถานการณ์ ลงมาในแปลงผัก นั่งวาดรูป เรียนใต้ต้นไม้ ในสวน หรือเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับครู หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แค่การฟังครู ดู จดตาม เขียนคำตอบ

2. งบประมาณสื่อการสอน ปกติในโรงเรียนจะมีงบให้ แต่เป็นงบครุภัณฑ์ พวกกระดาษ อุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้ในรายปี ไม่ได้ลงมาที่ครูโดยตรง ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ ครูรุ่นใหม่ในปัจจุบันถูกเทรนด์ให้สามารถสอนโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งก็สามารถพัฒนาสื่อการสอนเองได้ เป็นสิ่งที่โรงเรียนควรสนับสนุน เพราะทุกวันนี้ครูก็ทำด้วยกำลังทรัพย์ของครูเอง

3. พื้นที่เรียนรู้และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน หลายแห่งมีแหล่งเรียนรู้ที่ดีมากและหลากหลาย แต่กลับกลายเป็นแค่เครื่องประดับ เพราะครูไม่นำมาใช้ ยังคงสอนในห้องสี่เหลี่ยม ด้วยตัวเองซึ่งคิดว่าคือผู้เชี่ยวชาญต่อไป

4. ความเป็นมนุษย์ของครู เห็นคุณค่าของเด็กทุกคน ไม่ทอดทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง ในห้องเรียนยังมีเด็กอีกหลายแบบ ไม่ได้มีเฉพาะเด็กเก่ง อยากให้ครูพาเด็กเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ไม่ใช่ครูที่ปกครองนักเรียนในฐานะผู้มีอำนาจเหนือกว่า ยินดีกับเด็กเก่ง ยินร้ายและตีตราเด็กที่ไม่ได้เรื่อง ในสายตาของครู

“ระบบราชการไทยกำลังทำลายการศึกษา ควรมีการปรับระบบใหม่”

ครูโตน – นภัส ลีฬหพงศ์ อดีตข้าราชการครู จ.ระนอง

4 สิ่งที่อยากเปลี่ยน

1. ระบบราชการไทยกำลังทำลายการศึกษา ควรมีการปรับระบบใหม่ เพื่อตัวครูเองมีเสรีภาพทางความคิดมากขึ้น ทั้งการจัดการเงินงบประมาณและการวางแผนนโยบายที่ไม่ได้มาจากครู แต่มาจากนักวิชาการที่ไหนไม่รู้ ที่แทบไม่เคยลงมาสอนจริงๆ
.
2. ระบบของใบประกอบวิชาชีพที่กำลังขีดกรอบการศึกษาให้ถอยหลัง ตลอดหลายปีมานี้ ควรสร้างความเท่าเทียมแก่คนที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้จบครู
.
3. ลดการประเมินขั้น ครูมุ่งหวังผลงาน จนไม่มีเวลาสอนจริง กลายเป็นระบบผักชีโรยที่มีอยู่เต็มไปหมด สัดส่วนการประเมินควรมาอยู่ที่ตัวเด็ก
.
4. นโยบายการศึกษา ควรคิดให้รอบครอบและศึกษาข้อมูลเชิงลึกก่อนที่จะนำมาใช้ ไม่ใช่คิดได้แล้วใช้เลย และทำให้กลายเป็นนโยบายขยะที่กองไว้และแทบไม่ได้ใช้

4 สิ่งที่อยากเพิ่ม

1.เพิ่มบุคลากรที่จัดการเรื่องอื่น ๆ ในโรงเรียนนอกจากการสอน เพื่อให้ครูมีเวลาในการสอนมากขึ้น
.
เท่าที่ได้อยู่ในระบบมา จริง ๆ แล้วไม่ต้องไปเพิ่มอะไรหรอก มีแต่ต้องปรับ แค่นี้นโยบายของเบื้องบน จะทับครูตายหมดแล้ว ส่วนมากสิ่งที่เพิ่มมาแทบไม่ได้ศึกษาข้อมูลว่าจะใช้ได้จริงแค่ไหน แค่คำพูดและหลักสูตรสวยหรู แต่ใช่ไม่ได้ ปรับให้ฐานมันดีขึ้นก่อนแล้วเราควรจะเพิ่มเติมหลังจากที่มันดีขึ้นแล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ