กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เฮ! ศาลยกฟ้องคดีชาวบ้านรวมตัวค้านประชุมสภา อบต.เขาหลวง พิจารณาต่ออายุเหมืองทองใช้ที่ป่า-ส.ป.ก. ทำ 7 แม่หญิงเมืองเลย ถูกฟ้องผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทั้งโดนข้อหาร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง ทนายเผยศาลชี้ชาวบ้านร่วมการประชุมของหน่วยงานราชการไม่ได้จัดชุมนุม
วันนี้ (19 เม.ย. 2561) ศาลจังหวัดเลยอ่านคำตัดสินคดีที่อัยการและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง (ส.อบต.เขาหลวง) เป็นโจทก์ร่วมยื่นฟ้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย รวม 7 คน ความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม, ร่วมกันชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) มาตรา 8, 10 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 จากการเข้าร่วมประชุมสภา อบต.เขาหลวง ตามที่ได้รับเชิญจากประธานสภาฯ
ธีรพันธ์ พันธ์คีรี ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวสรุปผลของคดีว่า วันนี้ศาลยกฟ้องคือชาวบ้านไม่มีควาามผิดเลยทั้งสองข้อหา โดยเหตุผลที่ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า ในวันที่ อบต.เขาหลวงจัดให้มีการประชุมสภาฯ และเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้ามาร่วมรับฟังนั้นไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านและจำเลยทั้ง 7 คนเป็นผู้จัดการชุมนุมขึ้น แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยหน่วยงานราชการ
การประชุมของ อบต.เขาหลวง เป็นการประชุมตามอำนาจหน้าที่ จัดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จะไม่ถูกใช้บังคับแก่การประชุมในลักษณะเช่นนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อกฎหมายดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับการประชุมตามกฎหมาย การที่ชาวบ้านเข้าไปร่วมรับฟังซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม จึงไม่มีความผิดฐานผ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ส่วนข้อหาเกี่ยวกับการข่มขืนใจส.อบต.เขาหลวงให้เกิดความหวาดกลัว ศาลเห็นว่าการที่พยานโจทก์บางปากอ้างว่าชาวบ้านมีการปราศรัยว่า “หากใครขึ้นประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัย” ขณะที่ ส.อบต.บางคนไม่ได้ยินคำปราศรัยดังกล่าวเช่นเดียวเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาเบิกความ ศาลเชื่อว่าการที่ชาวบ้านไปร่วมรับฟังการประชุมในวันนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญ ไม่ปรากฎว่าจะมีการใช้ความรุนแรงใดๆ
ประกอบกับชาวบ้านเป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ อยู่ในเขตพื้นที่ที่ทาง อบต.จะมีการอนุมัติอนุญาต การที่มีชาวบ้านบางคนใช้โทรโข่งปราศรัยขอให้เลื่อนการประชุมของ อบต.เขาหลวงออกไปก่อน ศาลเห็นว่าเป้นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้ง 7 จึงไม่เป็นความผิด ให้ยกฟ้องในข้อกล่าวหานี้ด้วย
ธีรพันธ์ กล่าวด้วยว่า กระบวนการทางคดีต่อไป ทางโจทก์ร่วมมีสิทธิอุทรณ์คดีภายในเวลา 1 เดือน
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 ชาวบ้านกว่า 150 คน ได้ร่วมประชุมสภา อบต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตามคำเชิญ เพื่อติดตามการประชุมสภาในวาระพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งชาวบ้านได้เรียกร้องให้ถอนวาระดังกล่าวออกจากการประชุม และนำไปสู่การยกเลิกการประชุมดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2559 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทั้ง 7 คน ได้เดินทางไปยัง สภ.วังสะพุง จ.เลย ตามหมายเรียก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดย พ.ต.อ.สุจินต์ นางาเรือน ผกก.วังสะพุง เป็นผู้แจ้งข้อหา กับนางพรทิพย์ หงชัยเพียง โดยอ้างว่านางพรทิพย์เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งถูกตั้งข้อหาพร้อมชาวบ้านอีก 6 คน คือ ร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบน 16 คน ให้กระทำหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพธิ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.วังสะพุง จ.เลย ได้ออกหมายเรียกชาวบ้านผู้หญิงทั้ง 7 คน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันที่ 18 มิ.ย. 2560 ตามที่ทางอัยการได้ร้องขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เพิ่มข้อหากับชาวบ้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
– ‘7 แม่หญิงเมืองเลย’ รับทราบข้อหาเพิ่ม ‘ร่วมกันชุมนุมสาธารณะ’ หลังประชุมสภา อบต.เขาหลวงล่ม
– ระอุไม่ต่างจากอากาศ! ‘อบต.เขาหลวง’ ยึดเวที คุมประชุมแทนประธานสภาฯ ทำชาวบ้านฮือฝ่าแนวทหาร-ตร.ค้าน
– กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ พบ ตร. หลัง ’16 อบต.เขาหลวง’ แจ้งความขืนใจ-ทำร้ายร่างกาย เหตุขวางจัดประชุม
– คุยกับ ‘สมัย ภักดิ์มี’ ประธานสภา อบต.ที่ถูกยึดเวทีประชุม และความขัดแย้งเหมืองทองเลย