แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องทางการไทยสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ชี้ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (17 เม.ย. 2561) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 4 ปี การหายตัวไปของพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 เขาหายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกควบคุมตัวในวันเดียวกันโดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่า พวกเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจาก “การมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย” แต่ได้ปล่อยตัวเขาไปในวันนั้น
อย่างไรก็ตาม มีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า บิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ
แอมเนสตี้ฯ จึงเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยทำการสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่อย่างเป็นอิสระ เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเยียวยาครอบครัวของเขาและผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และถึงเวลาแล้วที่ทางการไทยต้องกำหนดให้มีกรอบและสถาบันทางกฎหมาย เพื่อป้องกันและส่งเสริมการเยียวยากรณีการสูญหายโดยไม่สมัครใจและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และยอมรับสิทธิของผู้เสียหาย รวมทั้งครอบครัวของผู้สูญหายและบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว การสูญหายของบุคคลเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องและเป็นสาเหตุของความทุกข์อย่างยิ่ง
ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ฯ พบว่าครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ความล้มเหลวในการสอบสวนเพื่อหาตัวบิลลี่ ไปจนถึงความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทางการยังแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว กลับลดหย่อนมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญหายของบุคคล และลดทอนมาตรการป้องกันทางกฎหมายที่สำคัญไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนั้นขึ้น
แอมเนสตี้ฯ จึงเรียกร้องทางการไทยเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยเร็ว
นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2560 เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว
แถลงการณ์ฉบับเต็ม (ภาษาไทย)
ประเทศไทย: ครอบครัวยังคงเฝ้ารอความยุติธรรม สี่ปีหลังการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
สี่ปีนับแต่พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหายตัวไป หลังการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ภาคตะวันตกของประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเสียใจกับความล้มเหลวของทางการไทย กับการที่ครอบครัวยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของบิลลี่ รวมถึงอุปสรรคในขั้นตอนทางราชการต่าง ๆที่มี ขัดขวางการแสวงหาความยุติธรรมของครอบครัวของเขา
โอกาสครบรอบการหายตัวไปของบิลลี่ เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ทางการไทยต้องกำหนดให้มีกรอบและสถาบันทางกฏหมาย เพื่อป้องกันและส่งเสริมการเยียวยากรณีการสูญหายโดยไม่สมัครใจและการบังคับบุคคลให้สูญหาย และยอมรับสิทธิของผู้เสียหาย รวมทั้งครอบครัวของผู้สูญหายและบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญหาย ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว การสูญหายของบุคคลเป็นการละเมิดที่ต่อเนื่องและเป็นสาเหตุของความทุกช์อย่างยิ่ง
ครอบครัวของบิลลี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ตั้งแต่ความล้มเหลวของรัฐที่ไม่สามารถสอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายอย่างดีพอ ไปจนถึงความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ที่ผ่านมาทางการยังแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว กลับลดหย่อนมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการสูญหายของบุคคล และลดทอนมาตรการป้องกันทางกฎหมายที่สำคัญไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนั้นขึ้น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยประกันให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ ไม่ลำเอียง เป็นผลและรอบด้าน ต่อการสูญหายของบิลลี่ รวมทั้งสนับสนุนให้การดำเนินงานดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จนกว่าจะทราบว่าบิลลี่อยู่ที่ไหน ประกันให้มีการเยียวยาครอบครัวของเขาและผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ รวมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งรัดการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายของประเทศไทย รวมทั้งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยไม่ชักช้า นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปฏิบัติตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเดือนมีนาคม 2560 เพื่อให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองอนุสัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว
พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ มีอายุ 30 ปีขณะที่หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวในวันเดียวกันโดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่า พวกเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจาก “การมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย” แต่ได้ปล่อยตัวเขาไปในวันนั้น อย่างไรก็ตาม มีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า บิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ในช่วงที่หายตัวไป บิลลี่อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลร่วมกับชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนักกิจกรรมอื่น ๆ ในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านในปี 2553 และ 2554
ความพยายามของญาติที่ต้องการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ทำคดีนี้ล้มเหลวด้วยเหตุผลทางเทคนิค รวมถึงการที่ทางการไม่ยอมรับสิทธิของพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาและแม่ของลูกห้าคนในฐานะผู้เสียหาย ทำให้เธอไม่สามารถกระทำการในนามของสามี เนื่องจากเธอไม่ได้สมรสตามกฎหมายกับบิลลี่ ยังมีรายงานซึ่งระบุข้ออ้างของทางการไทยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายได้ เนื่องจากไม่พบศพ ซึ่งถือว่าตรงข้ามกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสอบสวนการเสียชีวิตอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องและกระตุ้นทางการไทย ให้แก้ไขการดำเนินงานที่ล่าช้าและยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการสอบสวนการหายตัวไปของบิลลี่ ซึ่งเน้นให้เห็นความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย ในการช่วยให้เหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการเยียวยาและการชดเชยอย่างเป็นผล ความล้มเหลวเช่นนี้ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมาก อันไม่อาจยอมรับได้ ต่อการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในอนาคต จากการทำงานอย่างชอบธรรมเพื่อเยียวยาและเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในประเทศไทย