การเรียนรู้ด้วยการเล่นเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็ก ทำให้ช่วยในการสร้างเสริมพัฒนาสมอง ความคิด จินตนาการ และช่วยสร้างความผูกพันในครอบครับได้ การเล่นจึงเปรียบเสมือนการเยียวยาจิตใจของเด็กอีกด้วย
11 มี.ค. 2561 วงเสนา “เรียนรู้ด้วยการเล่น” จากงานสัปดาห์เทศกาลหนังการศึกษา จัดโดย Documentary Club ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ด้วยการสนับสนุนของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), ThaiPBS, Jam, MThai และ SeeMe ระหว่างวันที่ 10 – 11 มี.ค. 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
วิทยากร
1.เข็มพร วิรุณราพันธ์ : ผู้จัดการสื่อเด็กและเยาวชน
2.ปณิสรา จุนทนิเทศ : MagicYears International School
ดำเนินรายการโดย ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต โรงเรียนราชวินิตมัธยม
เข็มพร วิรุณราพันธ์ : ผู้จัดการสื่อเด็กและเยาวชน
ในระดับในนานาชาติ “การเล่น” ถือเป็นสิทธิของเด็ก ที่ควรจะได้รับตั้งแต่เขาเกิด ในปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องการเล่นของเด็ก ก็เพราะว่าการศึกษาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งอุปสรรคของการที่เด็กจะได้เล่น เพราะว่ามีการแข่งขันเยอะมาก อาจจะทำให้พ่อแม่คาดหวัง ยกตัวอย่าง เด็กอนุบาลก็ยังมีการติวสอบเข้า ป.1 ทำให้เด็กมีเวลาเล่นน้อยลง เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับสังคมมากขึ้น ก็ทำให้การเล่นของเด็กที่มีอยู่ในตัวหายไปด้วย หรือค่านิยมของพ่อแม่ที่มองว่าเด็กควรใช้เวลากับกิจกรรมบ้างอย่าง เช่น การไปประกวด แข่งขัน ซึ่งจริง ๆ เด็กก็อาจจะไม่ต้องการก็ได้ เมื่อเด็กในปัจจุบันมีเวลาเล่นน้อยลง คำถามคือ เด็กเครียดมากขึ้นหรือเปล่า มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณะสุขบอกว่า ในประเทศไทยมีตัวเลขของเด็กที่ต้องเข้าไปรักษาทางด้านจิตเวช และมีเด็กฆ่าตัวตายมากขึ้น
ถ้าเป็นในสมัยก่อนเราอาจจะไม่ต้องถามเรื่องการเล่นของเด็กเลย เพราะเราเล่นของเราด้วยตัวเราเอง สภาพแวดล้อมในครอบครัวเต็มไปด้วยธรรมชาติ เราก็จะใช้เวลาสนุกสนานอยู่กับการเล่น ในระดับสากลมีหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ ให้หลายประเทศทั่วโลกเข้าไปลงนามสัญญาที่เราเรียกว่า “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ซึ่งมีมาตรา 31 พูดถึงเรื่องการเล่น คือการที่เด็กจะได้พักผ่อน เด็กจะได้มีเวลาร่วมศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ กิจกรรมนันทนาการ มีการศึกษาเพิ่มเติมบอกเลยว่า การเล่นคือสิ่งที่เด็กเป็นคนเล่นเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่บอกว่า เอ้า! เข้าแถวนะ เอ้า! 1 2 3 เพราะว่าการเล่นเด็กจะเป็นคนเล่นเอง ไม่มีใครบังคับเขา จะมาจากแรงจูงใจภายในของเด็ก และมีแรงขับจากภายในว่าเขาจะทำแบบนี้นะ เขาจะกระโดด เขาจะวิ่ง ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกทีทุกเวลา
นักวิจัยในต่างประเทศชื่อ Stuart Brown ศึกษาเรื่องการเล่นของเด็ก บอกว่าการเล่นมีส่วนต่อการพัฒนาสมองของเด็กมาก ทั้งเรื่องการสร้างจินตนาการ และการเพิ่มพลังให้กับจิตวิญญาณ ช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัวทั้งพ่อแม่ลูก จะช่วยสร้างความประทับใจที่อยู่ในความทรงจำของชีวิตมีผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กต่อไปในอนาคต การเล่นไม่ใช่เรื่องของความฟุ่มเฟือย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เด็กเล่น ทั้งสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต เรื่องการเคลื่อนไหว การเล่นจึงเปรียบเสมือนการเยียวยา ซึ่งเด็กทุกคนต้องผ่านจุดนี้
สมาคมการเล่นนานาชาติ international play association มีสมาชิกอยู่มากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ทำงานเรื่องการเล่นของเด็กซึ่งมองว่า การเล่นเป็นรากฐานของชีวิต ไม่ใช่ทางเลือก โดยเด็กต้องได้รับสิทธิการเล่นอย่างอิสระ เด็กสามารถออกแบบการเล่นเองได้ โดยสร้างนักสังคมสงเคราะห์ที่เรียกว่า Social Worker หรืออีกชื่อคือ Play Worker เก็บข้อมูลเรื่องการเล่นของเด็กกับของที่เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ให้เด็กได้คิดเอง แถมยังช่วยสร้างจินตนาการของเด็กมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดวัน Play day ที่นำนักวิชาชีพต่าง ๆ มาออกแบบเมืองของเล่น ทำให้พื้นที่การเล่นของเด็กเกิดขึ้นจริง ๆ
จากภาพยนต์เรื่อง Childhood มองการเล่นของเด็กคือ การเอาขยะ เอาสิ่งที่อยู่ในบ้านมาเล่น และพ่อแม่ก็ให้ความสำคัญมาก ๆ จะเห็นในหนังเขาก็ให้เล่นเลื่อย เล่นค้อน เล่นตะปู เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย เด็กจะได้เรียนรู้ และค้นพบตัวเอง ส่วนความปลอดภัยคือความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ที่จะต้องดูแล นานาชาติให้ความสำคัญกับเรื่องเล่นของเด็กมาก เพราะการเล่นทำให้เด็กต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง เขาต้องเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง เขาจะค้นพบว่าเขามีความสามารถที่จะก้าวพ้นความกลัว ซึ่งได้จากกระบวนการการเล่น จริงๆ เราเล่นได้ตลอดชีวิต แต่การเล่นจะแตกต่างกันออกไป อย่างวัยรุ่น จะเล่นในแนวกีฬาและการผจญภัยที่มีความเสี่ยงมาก ผู้ใหญ่เองก็เล่น
นอกจากเรื่องช่วงวัย ยังมีเรื่องบริบทของการเล่น อย่างเด็กที่เขาต้องการเล่นเป็นพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เด็กที่มีความเครียด เด็กที่จะต้องทำงานทั้ง ๆ ที่วัยเด็กของเขาหายไป เพราะว่าพ่อแม่ให้ทำงานในบ้าน หรืองานที่ต้องส่งตัวเองเรียน ทำให้ความเป็นเด็กของเขาหายไปโดยธรรมชาติ การเล่นจึงยิ่งมีความสำคัญต่อเขามาก ๆ เพราะจะช่วยเยียวยาความรู้สึกที่อยู่ภายในของตัวเขาได้ ไม่อย่างนั้นจะถูกปล่อยหรือระบายในรูปแบบอื่น ๆ
ยกตัวอย่างการเล่นของเด็กที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ที่แม่สอด จังหวัดเชียงราย พ่อแม่ห้ามให้เด็กออกไปเล่นนอกบ้านหรือที่ไกล ๆ เพราะกลัวว่าจะโดนตำรวจจับ เด็กจึงเลือกที่จะเอาขยะที่อยู่ใกล้ ๆ บ้านมาเล่น ทำเป็นกลอง เป็นเครื่องดนตรี การเล่นทำให้เด็กรู้จักศักยภาพของตัวเอง ผู้ใหญ่ค้นพบความสามารถของเด็กและสนับสนุน เป็นการเยียวยาที่เด็กเป็นคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ใหญ่ ความคิดของผู้ใหญ่ที่ไม่ให้ออกไปเล่นที่อื่น คือกระบวนการของการพัฒนาการเล่นที่เป็นมิติของการเยียวยาปัญหาสังคม
ส่วนใหญ่การเล่นของเด็กจะขาดอิสระ เพราะผู้ใหญ่ตั้งเป้าหมายเรื่องการเล่น เป็นเป้าหมายของตัวเอง ไม่ได้มองความต้องการของเด็ก ทางสากลบอกว่า การเล่นมีเป้าหมายของตัวเอง นั้นคือความสุข สนุก ท้าทาย และตื่นเต้น ที่ให้เด็กพัฒนาผ่านกระบวนทางธรรมชาติ ตอนได้ทำงานกับเด็กในชุมชนแออัด มีปัญหาค่อนข้างรุนแรง เด็กมีลักษณะก้าวร้าว มีเด็กคนหนึ่งเล่นกันเพื่อนวงไหนก็แตก ไม่สามารถอยู่กับเพื่อนคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นการออกแบบการเล่นให้เขาที่มีอารมณ์รุนแรง ก็ต้องทำให้เขารู้สึกสงบ เช่นพาเขาไปดูปลาหางนกยูง หรือฟังเสียงกระดิ่งเวลาอยู่กับธรรมชาติ เขาก็จะเริ่มค้นพบตัวเองว่า เวลาที่เขารู้สึกโกรธตอนอยู่กับเพื่อน ก็จะไปเล่นคนเดียวเงียบ ๆ ก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาดีกับเพื่อนใหม่ เพื่อนก็ยอมรับเด็กเพราะเขาเกิดการปรับตัว
ผู้ใหญ่ก็สามารถออกแบบสิ่งแวดล้อมให้เด็กที่มีความแตกต่างกันได้ เรียกว่า exclusive play คือการออกแบบให้เด็กที่มีความแตกต่างหลากหลายได้เข้าถึงการเล่นด้วยตัวเขาเอง แต่ผู้ใหญ่เองก็มีบทบาทในการรับผิดชอบรวมถึงผู้ใหญ่ของรัฐบาล และประเทศด้วย ที่จะออกแบบสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงการเล่นเพื่อการพัฒนาต่อของเด็ก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ว่าเด็กควรจะได้อะไร เพราะส่วนนั้นก็เป็นเรื่องของกิจกรรมทางกระบวนการจัดการศึกษาที่ลึกลงไปอีก
จริง ๆ แล้วสิ่งที่เด็กอยากได้คือความสุข พ่อแม่ก็อยากได้ความสุข มีบทความบทหนึ่งเขียนว่า ถ้าอยากให้ลูกมีงานที่ดีต้องให้เขาเล่นมาก ๆ ให้เขาได้เลือกเล่นอย่างอิสระ เหมือนกับการที่เขาเลือกอาชีพ แล้วมีความสุขกับงานที่ทำ การเล่นทำให้เด็กสามารถค้นพบตัวเอง รู้จักคุณค่า และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ คิดว่าปัญหาของสังคมไทยการอยู่ร่วมกับคนที่หลากหลายแตกต่างจากเราสำคัญมาก ๆ สำหรับสังคมไทย เพราะการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้ คิดว่าการเล่นน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมในอนาคตด้วย
ปณิสรา จุนทนิเทศ : MagicYears International School
เรามีประสบการณ์เรื่องของ Play Worker ส่วนหนึ่งอยู่ เพราะโรงเรียนได้นำมาใช้สอนเด็กชั้นอนุบาล ที่ให้ความสำคัญกับการเล่นมากที่สุด โดยกระบวนการสอนทางโรงเรียนก็มีหลักสูตรที่เน้นการเล่นเป็นตัวขับเคลื่อนในโรงเรียน เน้นให้เด็กมีคุณลักษณะทั้งด้านจิตใจ ด้านร่างกาย อารมณ์สังคมของเด็ก ให้เด็กกล้าคิดกล้าลงมือทำ สภาพแวดล้อมของโรงเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะคอยเอื้อให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยธรรมชาติที่สุด
หัวใจหลักของโรงเรียน คือเน้นการมีส่วนร่วมกับเด็ก ในการพูดคุยกับเด็กว่าเด็กต้องการอะไร อยากให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นแบบไหน อยากให้โรงเรียนมีสิ่งแวดล้อมอย่างไร โรงเรียนจะต้องมีความสุข เด็กจะต้องมาแล้วเป็นที่ที่อบอุ่นแล้วจะต้องอยู่ได้ตลอดทั้งวัน เน้นการสอน lost class คือสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เด็กสามารถเล่นโดยหยิบจับอุปกรณ์ในห้องเรียนแล้วนั่งเล่นในมุมต่าง ๆ ได้ คุณครูปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างอิสระ ให้เด็กได้มีความสุข ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการคิด กระบวนการทางด้านสังคม พูดคุยกันในชั้นเรียนด้วย ที่สำคัญคุณครูจะเน้นให้เด็กช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด
ยกตัวอย่าง โดยที่เราให้เด็กในห้องเรียนรวมกลุ่มคิด ของเล่นด้วยตัวเอง เราจะสังเกตได้ว่าเด็กชอบเล่นอะไร สมมติเด็กชอบเล่นขายของ มีการเล่นค้าขายเกิดขึ้น เด็กมีความสุข ครูก็จะจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็ก เช่นจัดเป็นมุมของเรื่องคณิตศาสตร์ มีการใช้เงินปลอม ซื้อของบวกเลขถอนเงิน เขาจะเรียนรู้ผ่านกิจกรรมแบบนี้ ครูก็จะคอยส่งเสริม โรงเรียนให้ความสำคัญ
ถ้าเด็กไม่ได้เล่น มีปัญหาแน่นอน เพราะเคยอ่านหนังสือเล่าถึงครอบครัวหนึ่ง ที่สนับสนุนให้ลูกเรียนพิเศษอย่างเดียวโดยที่เด็กไม่ได้เล่น ตอนเป็นเด็กเขาถูกบังคับให้เรียนมาตลอด โตขึ้นเขามีปัญหากับเพื่อน จึงตัดสินใจใช้ปืนไปยิงเพื่อนในห้อง นักวิจัยประเมินว่าเขาไม่ได้ผ่านกระบวนการความรักเพราะถูกบังคับมาตั้งแต่เด็ก
ชมคลิปเสวนา “เรียนรู้ด้วยการเล่น”
https://goo.gl/ernPKD
[Live] สด 11.30 น. เสวนา "เรียนรู้ด้วยการเล่น" (11 มี.ค. 61)
[Live] สด 11.30 น. เสวนา "เรียนรู้ด้วยการเล่น" (11 มี.ค. 61).พูดคุยกับสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.).ในงานสัปดาห์เทศกาลหนังการศึกษา ณ หอศิลปกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 ค่ะ.นักข่าวพลเมือง ThaiPBS#Jamชวนแจม #รู้เท่าทันสื่อ
โพสต์โดย JAM เมื่อ วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2018