ยังไม่จบ ! ศาลอุทธรณ์รับฟ้องไทยพีบีเอสหมิ่นเหมืองทองเมืองเลย

ยังไม่จบ ! ศาลอุทธรณ์รับฟ้องไทยพีบีเอสหมิ่นเหมืองทองเมืองเลย

ศาลอุทธรณ์รับฟ้อง บริษัททุ่งคำ จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตทำสัมปทานเหมืองทองจังหวัดเลย ฟ้องไทยพีบีเอสฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีออกอากาศข่าวพลเมือง ตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ นัดพิจารณาต่อกลางเดือนพฤษภาคมนี้  ขณะที่ก่อนหน้า ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล และได้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่บริษัทยื่นอุทธรณ์ต่อ

วันนี้ (20 มี.ค.2561) เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาคดี 812 ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษา คดีดำที่ 2355/2560 คดีแดงที่ 887/2561ในคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย โดยนายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสและบุคลากรรวม 5 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารและโทรทัศน์

จากกรณีการออกอากาศรายการข่าวพลเมือง ตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เมื่อเดือน ก.ย.2558 ซึ่งพูดถึงกรณีลำน้ำฮวยซึ่งเป็นน้ำในพื้นที่ชุมชนอาจปนเปื้อนสารพิษจากกิจการเหมืองแร่ โดยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2559 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล และได้มีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยศาลอุทธรณ์รับเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2560

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 23 ม.ค. 2561 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กับรับฟ้องโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา นอกจากที่ให้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ให้ความเห็นว่าข้อเท็จจริงตามมูลฟ้องของโจทก์ ถ้อยคำที่ว่า “6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง แห่งนี้เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อนทำให้ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้” มีลักษณะในการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ประชาชนทั่วไปที่รับชมทางโทรทัศน์เข้าใจได้ว่าเหมืองแร่ทองคำของโจทก์เป็นต้นเหตุ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนเป็นการติชมโดยสุจริตหรือไม่ต้องรับฟังในชั้นพิจารณาต่อไป

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ โจทก์ไม่มีหลักฐานเพียงพอให้รับฟังว่าเป็นการกระทำของจำเลย  คดีนัดพร้อมอีกครั้งวันที่ 21 พ.ค. 2561 เวลา 9.00 น.ให้ออกหมายเรียกจำเลยให้มาในวันนัด

กรณีนี้ สืบเนื่องจากการออกอากาศรายการนักข่าวพลเมือง ตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ โดยออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ซึ่งรายงานข่าวเกี่ยวกับการออกค่ายเยาวชนฮักบ้านเกิดเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2558 ที่วัดโนนสว่าง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จัดโดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2558   บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องไทยพีบีเอสและบุคลากรของไทยพีบีเอสในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและโทรทัศน์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 พร้อมความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 และ 16 เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จำเลยในคดีนี้มีทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วย น.ส. วิรดา แซ่ลิ่ม ผู้ดำเนินรายการช่วงข่าวพลเมือง, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.),นาย สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ส.ส.ท., นาย ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว, นายโยธิน สิทธิบดีกุล ผู้อำนวยการสำนักโทรทัศน์และวิทยุ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ

โดย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด อ้างว่า การรายงานข่าวดังกล่าวเป็นไปในลักษะหมิ่นประมาท ใส่ความบริษัทฯ ว่า “ลำน้ำฮวยได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ โดยลำน้ำฮวยมีสารปนเปื้อน ทำให้ใช้ดื่มใช้กินไม่ได้” โดยระบุว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ เพราะเหมืองแร่ดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีสารปนเปื้อนและลำน้ำฮวย ไม่ได้ไหลผ่านเหมืองแร่

ทั้งนี้    เมื่อ 16 พ.ย. 2559  ศาลอาญา ได้พิพากษายกฟ้องคดีเหมืองทองทุ่งคำ ฟ้องหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมฯ รายการนักข่าวพลเมือง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  ชี้ว่าคดีไม่มีมูล จำเลยนำเสนอผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามข้อเท็จจริง ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เกินขอบเขตวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้

ประเด็นที่ศาลพิพากษาวินิจฉัยยกฟ้องคือ ศาลได้วิเคราะห์ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า หน่วยราชการได้ตรวจพบว่าพนังบ่อกักเก็บกากแร่ทำให้สสารต่างๆในบ่อไหลลงสู่บ่อน้ำธรรมชาติ แม้จะไม่ได้อยู่บริเวณเดียวกัน แต่มีการตรวจพบสารไซยาไนด์ สารหนู และสารแมงกานีส เกินค่ามาตรฐานในบ่อน้ำธรรมชาติ จนถูก กพร.สั่งหยุดประกอบกิจการให้แก้ไขปรับปรุง แม้ต่อมาจะเปิดดำเนินกิจการต่อได้ แต่ก็มีการตรวจสอบข้อมูลการปนเปื้อนทุก 3 เดือน นอกจากนี้ศาลระบุถึง ข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย ระบุเรื่องการปนเปื้อนไซยาไนต์ แมงกานีส แคดเมียม ในธรรมชาติและลำน้ำที่ชุมชนใช้อุปโภคบริโภค เกินมาตรฐาน และระบุถึง ข้อมูลของสาธารณสุขจังหวัดเลย ที่มีการเตือนไม่ให้บริโภคหอยขมในลำน้ำ

ในประเด็นข้อกฎหมายศาลได้วินิจฉัยว่า เรื่องปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ฉะนั้นการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส หรือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเผยแพร่รายการนักข่าวพลเมือง ตอนค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และในฐานะผู้สื่อข่าวได้มีการนำเสนอข่าวไปตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นเอง และเป็นการนำเสนอที่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน ประชาชนมีสิทธิที่จะติชมวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้   ศาลจึงได้ชี้ว่าคดีดังกล่าวไม่มีมูล และพิพากษายกฟ้องฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและโทรทัศน์ และยกฟ้องในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ 16 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อ    เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2560 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสมชาย ไกรสุทธิวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลส่งหมายลงวันที่ 20 ก.ค. 2560 ถึงจำเลยทั้ง 5 คน โดยระบุว่าโจทก์ยังไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และไม่อาจรับฟังได้ จึงขออุทธรณ์คำพิพากษา ในประเด็น 1.สารปนเปื้อนในลำน้ำฮวยเกิดจากผลกระทบการทำเหมืองแร่ของโจทก์ 2.การกระทำของจำเลยทั้ง 5 ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท จากกรณีคำให้สัมภาษณ์ของเยาวชนนักข่าวพลเมือง

สำหรับ  เหตุการณ์ บ.ทุ่งคำฟ้อง นักข่าวพลเมือง เมื่อปี 2558  ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลสะเทือนทั้งด้านสิทธิเด็กและเสรีภาพสื่อมวลชน ที่เกิดกระแสสังคมในประเทศไทยและนานาชาติ  วิพากษ์วิจารณ์และติดตามอย่างต่อเนื่อง  อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

http://news.thaipbs.or.th/content/257785

https://www.facebook.com/mekimmim/videos/10155459924366453/

https://freedom.ilaw.or.th/case/706#circumstance_of_arrest

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ