ภาพ/บทความ : พลรวัฒน์ ดวงเข็ม
ตามข้อมูลการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 20 นั่นหมายความว่า ใน 100 คน จะมีผู้สูงอายุอยู่ถึง 20 คน
ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปดูวิถีการรับมือสังคมสูงวัยในชุมชนโนนทองอินทร์ วิถีสโลไลฟ์ที่เกิดขึ้นกับที่นี่ คงไม่ต่างจากชุมชนอื่น ๆในภาคอีสาน ที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุและเด็ก ที่กลุ่มหนุ่มสาว วัยกลางคนต่างออกเดินทางไปทำงานยังเมืองใหญ่ ด้วยความหวังทางด้านทรัพย์สิน เงินทองและความอยู่ดีกินดี สืบเนื่องจากปัจจัยหลายๆด้าน ความเงียบสงบของชุมชน พร้อมกับการเดินเนิบๆของผู้สูงอายุ คือสิ่งที่เห็นชัด
“ผู้สูงอายุที่นี่ยังคงทำงานหนัก ยังคงต้องเลี้ยงหลาน กรีดยางหรือยังทำนาอยู่ นัยหนึ่งคือผู้สูงอายุมีความแข็งแรง แต่อีกนัยคือสุขภาพของผู้สูงอายุกำลังใช้งานหนักพังลงเรื่อย ๆ และอาจจะเป็นสาเหตุของความซึมเศร้า อ้างว้าง จนสภาวะทางจิตใจถดถอยได้ ” บางส่วนในบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เขียนกับหมอมี่ ณญาดา ขันธวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนทองอินทร์ ต.โนนทองอินทร์ อ.กู่แก้ว จ.อุดรธานี พี่เลี้ยงโครงการครอบครัวอบอุ่น โดยการสนับสนุนทุนจาก สสส. ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มีอยู่ในชุมชนโนนทองอินทร์ ที่มีมากถึง 86 คน จาก 143 หลังคาเรือน ประชากร 731 คน มีเยาวชนประมาณ 120 คน โดยถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มสูงวัยติดเตียง ติดบ้าน และติดสังคม
เสียงพูดหยอกล้อพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะระหว่างแม่ล้วนและแม่สรวญ ที่ทั้งคู่อายุย่างเข้า 68 ขวบในปีนี้ ดังขึ้นจากวงสนทนา ที่บัดนี้ได้กลายเป็น “คู่ฮักแพง” อันเป็นผลมาจากการออกแบบกิจกรรม ที่เปิดโอกาสให้คนรู้ใจได้จับคู่เป็นคู่หูหรือบัดดี้ ที่จะไปไหนมาไหนก็ไปด้วยกัน ลงทุ่งนาขุดปู หาปลา ขัวหอยก็จะไปด้วยกัน ไปฟังลำก็จะไปด้วยกัน ทำให้รู้สึกไม่เหงาหรืออ้างว้าง ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่มีอาการอ้างว้าง เหงา คิดถึงลูกหลาน ปวดหัว เป็นโรครุมเร้า แต่พอมามีคู่ฮักแพง และมีโรงเรียนผู้สูงอายุทำให้อาการเหล่านั้นหายไป และมีความสุขมากขึ้นที่ได้พบเจอเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง นอกจากนี้แม่สรวลยังเล่าเสริมว่า “จะคอยดูแลกันทุกสิ่งทุกอย่าง มีอะไรจะคอยถามไถ่ คอยเตือน คอยด่ากัน แต่ไม่โกรธกันนะ บอกกกันก็ได้ ด่ากันก็ได้ ให้ดูแลกันจนกว่าจะตายจากกัน ฮักแพงกัน”
บุญลือ จันทรเสนา ผู้เป็นกำลังหลักในโครงการนี้ เล่าว่า “พิธีผูกฮักผูกแพง เกิดจากรากฐานความคิดที่มีอยู่ในชุมชนอีสาน คือการผูกเสี่ยว แต่การจะผูกเสี่ยวได้ จะต้องมีอายุที่เท่ากัน มติของหมู่บ้านจึงให้ใช้ชื่อว่า “ผูกฮักผูกแพง” โดยเป้าหมายหลักคือการสร้างเพื่อนให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขจัดความเหงาของผู้สูงอายุ สำหรับคนที่เป็นคู่ฮักคู่แพงนั้น จะต้องทราบข้อมูลของกันและกันทุกอย่าง โดยหลักๆคือข้อมูลด้านสุขภาพ เช่นหากคนไหนมีอาการป่วยอะไร หมอนัดวันไหน กินยาอะไร เวลาไหน คู่ที่เป็นบัดดี้จะทราบข้อมูล ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูลกับหมอหรือผู้นำ หรืออื่น ๆที่อยากทราบข้อมูลได้ โดยมีวิธีการคือ นำผู้สูงอายุมาเข้าพิธีบายศรีคู่ฮักคู่แพง ผูกข้อต่อแขนเหมือนกับพิธีผูกเสี่ยว ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจับคู่ผูกไปแล้ว 30 คู่ เหลืออีกไม่กี่คู่เท่านั้นที่ยังไม่ได้ทำพิธี ซึ่งที่ผ่านมาเราจะสังเกตว่าผู้สูงอายุในชุมชนเริ่มเปลี่ยนไป อยากร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น มีรอยยิ้มกันมากขึ้น” หัวหน้าโครงการครอบครัวอบอุ่นบ้านโนนทองอินทร์กล่าว
ณญาดา ขันธวิชัย ได้สรุปข้อมูลจากการตรวจสุขภาพทั้งจากเครื่องมือวัดทางสาธารณสุขและจากการสังเกต พบว่า สุขภาวะทางจิตใจของผู้สูงอายุในชุมชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น หรือภาษาอีสานเรียกว่า “มีความฮ่าว”มากขึ้น ซึ่งอาการเช่นนี้ของผู้สูงอายุมันคืออาการที่น่ารักและสะท้อนถึงสุขภาพทางจิตใจ เมื่อมีกิจกรรมอะไรจะรีบไปร่วมทันที หรือเมื่อกิจกรรมของชุมชนเสร็จก็จะถามว่ามีอะไรให้ทำร่วมกันอีกไหม ซึ่งตนมองว่า มันเป็นผลมาจากสุขภาพทางจิตใจ เหมือนที่คำกล่าวบอกว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว เมื่อสุขภาพทางใจดี สุขภาพทางกายก็จะดีตามไปด้วย
ทั้งสองคนได้กล่าวเพิ่มเติมกับผู้เขียนก่อนจากกันว่า เมื่อผู้สูงอายุมีเพื่อนเป็นคู่ ก็จะขายสู่เป็นกลุ่ม จากกลุ่มก็จะขยายออกไปเป็นก้อน จากก้อนจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งในแผนที่ชุมชนวางไว้ จะมีการดึงเยาวชนที่เป็นลูกหลาน เข้ามาผูกเป็นคู่ฮักคู่แพง เพื่อให้การดูแลผู้สูงวัย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไป มีเพื่อนคลายเหงาคอยดูแลกัน ก็ต้องมีเยาวชนลูกหลานคอยช่วยเหลือ ซึ่งเป็นขั้นต่อไปที่เราจะทำซึ่งจะช่วยเสริมให้ครอบครัวอบอุ่นเกิดขึ้นในชุมชนโนนทองอินทร์ อย่างแท้จริง มั่นคงและยั่งยืน ดังคำพญาอีสานโบราณกล่าวไว้ “ให้ฮักกันไว้คือข้าวเหนียวหนึ่งใหม่ อย่าสุเพพังม้างคือน้ำถึกข้าวเหนียว”