“มหัศจรรย์ข้าวใหม่อินทรีย์ วิถียโสธร” ออนซอนพันธุ์ข้าวท้องถิ่น

“มหัศจรรย์ข้าวใหม่อินทรีย์ วิถียโสธร” ออนซอนพันธุ์ข้าวท้องถิ่น

มหกรรมข้าวใหม่

(9 ก.พ.61) บริเวณโดมวิถีอีสาน หน้าศาลากลางเก่า จังหวัดยโสธร ถูกออกแบบประดับตกแต่งด้วยกองฟางเพื่อสร้างและจำลองบรรยากาศจากท้องทุ่งมาไว้ ณ กลางเมืองบั้งไฟโก้ เพื่อยืนยันถึงความงดงามและความหลากหลายของวิถีชาวนาอีสาน หลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว และเข้าสู่มหกรรมการเฉลิมฉลองข้าวใหม่

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จ.ยโสธร ร่วมกันจัดงาน “มหัศจรรย์ข้าวใหม่อินทรีย์ วิถียโสธร” เพื่อสร้างความเข้าใจและขยายเครือข่ายผู้บริโภคอาหารปลอดภัยให้ใกล้ชิดกับผู้ผลิตมากขึ้น พร้อมเปิดมิติใหม่ในการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อสร้างทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น

“เจตนารมณ์ คือ การนำเอาการเฉลิมฉลองของชาวบ้านมาปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไป กับคนเมือง โดยหวังว่าจะสร้างความเข้าอกเข้าใจ ลดช่องว่างในการรับรู้ของพี่น้องคนเมืองและคนชนบท เพื่อสร้างความเป็นพี่น้องเชื่อมโยงกันต่อไปในวันข้างหน้า…”

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน อธิบายถึงที่มาที่ไปของการจัดงาน

อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน

“ในงานนี้มีทั้งการเอาข้าวใหม่มาเผาทำข้าวหลาม การแต่ง“พาข้าว” การจัดสำรับอาหารการกินในวิถีชนบท ตามนิเวศต่างๆในอีสาน 4 นิเวศ คือ ภู โคก ทุ่ง ทาม และยังมีอีกพื้นที่ คือ เมือง ซึ่งในแต่ละสำรับจะมีอาหารตามฤดูกาลที่บ่งบอกและแสดงถึงความโดดเด่นของนิเวศนั้นๆ และยังนำเอาข้าวหลากสายพันธุ์มาให้ดู มาให้ชิม ว่ามีข้าวพันธ์อะไรบ้าง ทุกคนจะได้ชิมข้าวใหม่ที่ยังมีความหอม ความนุ่ม”

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจในการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ วาฟเฟิลและขนมปังเฟื่องฟุ้ง เมนูข้าวช่วยชีวิตด้วยเมนูอาหารธรรมชาติบำบัด  โดนัทข้าวหอมมะลิ คุกกี้ข้าวไรซ์เบอรี่ และชอกโกแลตข้าวพอง ซึ่งวัตถุดิบในการผลิตและแปรรูปยังคงคำนึงถึงและใช้วัตถุดิบจากข้าวที่ปลูกด้วยระบบอินทรีย์

ตลาดสีเขียว

“กระแสการบริโภคของคนในสังคมมีความตื่นตัวขึ้นในการที่จะบริโภคอาหารปลอดภัย แต่ก็ยังมีความไม่มั่นใจในระบบตลาดทั่วไป คนที่แสวงหาอาหารที่ปลอดภัยก็พยายามเชื่อมโยงตัวเองกับแหล่งผลิตกับเกษตรกร ที่มีแหล่งเพาะปลูกที่ปลอดภัย ที่กระบวนการผลิตมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นไป กำลังเกิดขึ้น แม้จะยังไม่เห็นภาพรวมของสังคมแต่ก็กำลังเกิดขึ้น  ซึ่งการผลิตข้าวในยโสธรเปลี่ยนไปพอสมควร หลังจากที่เคยผลิตในปริมาณมากๆ แต่เกษตรกรชาวนาโดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำเกษตรอินทรีย์ก็มีการปลูกข้าวทางเลือก คือ ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านต่างๆให้มีที่ยืน มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดง ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ ไม่ได้มีเพียงข้าวที่อยู่ในระบบตลาด ซึ่งถ้าพันธุ์ข้าวที่หลากหลายมีบทบาททางเศรษฐกิจมันจะช่วยให้การทำนา การปลูกข้าวไม่ได้ไปเบียดเสียดกันอยู่ในแค่ตลาดหลัก ยังเป็นการสร้างตลาดที่หลากหลาย”

“ข้าวไม่ใช่พืชอาหารธรรมดา แต่เป็นธัญพืชที่อยู่ในวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนไทยทุกภูมิภาค และสำหรับพี่น้องเกษตรกร “ข้าว” จะเป็นพืชที่มีเทพที่เขานับถือคอยปกปักรักษา นั่นทำให้เขาปฏิบัติต่อข้าวด้วยความอ่อนโยน ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ก็ยังไม่ถึงกับสูญหายไป ยังคงมีอยู่ แต่เป็นการปฏิบัติในชุมชนชนบท คนในเมืองอาจจะไม่ค่อยได้เห็น ซึ่งการนำเอากิจกรรมจากชนบทเข้ามาในเมืองก็จะเป็นที่แปลกตาและได้รับความสนใจ และหวังว่าจะช่วยสื่อสารซึมซับรับรู้ด้วยกัน”  อุบล อยู่หว้า กล่าวทิ้งท้ายถึงมุมมองการสื่อสารจากข้าวใหม่ควบคู่ไปกับวิถีเกษตรอินทรีย์ของชาวนาจังหวัดยโสธร

ปลาช่อนนา
ตลาดสีเขียว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ