‘สวาท อุปฮาด’ หนึ่งในราษฎรบ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น แกนนำสมัชชาคนจน ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ ซึ่งติดตามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นป่าไม้ที่ดินและเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ภาคอีสาน วันนี้เขาและคนในหมู่บ้านเป็นหนึ่งในผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม ที่ลมหนาวพัดมาทักทายและเม็ดฝนหยดสุดท้ายห่างหายไปกว่า 1 เดือน เกิดอะไรขึ้น!!
สถานการณ์น้ำท่วมที่บ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ถนนในหมู่บ้านบางจุดลึกประมาณ 2 เมตรครับ แม้จะเป็นถนนในหมู่บ้านก็ถือว่าหนักมากครับ เพราะน้ำเริ่มท่วมหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ส่วนคนในหมู่บ้านที่นี่มีประมาณ 40 หลังคาเรือน ท่วมมาแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ความเสียหาย 100 %
น้ำที่ท่วมตอนนี้มาจากไหน?
น้ำมาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ครับ เพราะหมู่บ้านอยู่ใต้เขื่อนซึ่งห่างจากเขื่อนอยู่ประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งถือก็ว่าไกลจากเขื่อนพอสมควร แต่ที่ท่วมเพราะที่หมู่บ้านเป็นปากน้ำ คือ ลำน้ำห้วยทรายจะมาบรรจบกันกับลำน้ำพอง ทีนี้ทำให้น้ำไหลเข้ามาท่วมที่หมู่บ้านซึ่งชาวบ้านเรียกว่า บึงปากเขื่อน ลำห้วยหนองปลา
ในอดีตเคยท่วมแบบนี้ไหม?
ก็ท่วมครับ อย่างครั้งนั้นที่ท่วมใหญ่จะเป็นปี 2521 และ ปี 2554 ซึ่งก็ท่วมหนักเหมือนกัน เพราะหมู่บ้านเราจะเป็นพื้นที่ต่ำที่สุด แล้วก็ท่วมหนักอีกครั้งในปีนี้ 2560 ซึ่งความต่างของปี 2554 และปีนี้ ระดับน้ำไม่ได้ต่างกันครับ และเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนไม่ใช่น้ำจากป่า
เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหมือนกับปี 2554 คือ มาจากการระบายน้ำของเขื่อน ที่ทำให้น้ำท่วมระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนความเสียหายนี้นับเป็น 100 % เลยครับ เพราะผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ เสียหายทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็น หมู เห็ด เป็ด ไก่ หรือนาข้าว พอน้ำมาทุกอย่างสูญเสียหมด รวมไปถึงไม้ผลยืนต้น ตอนนี้ต้นไม้กำลังจะตายใบเริ่มเหี่ยวเฉาลง เริ่มใบแห้งเหี่ยวแล้ว
ตอนนี้คนในชุมชนต้องจัดการตัวเองและใช้ชีวิตกันอย่างไรบ้าง
คือ ตอนนี้ก็จะลำบากทุกส่วนครับ เนื่องจากบ้านชาวบ้านไปรวมกันอยู่บ้านหลังที่ยกสูง เพราะหลังที่ต่ำๆเราก็ อยู่ไม่ได้เราจึงต้องรวมกันอยู่ ส่วนถ้าเราจะลงจากบ้านเราต้องนั่งเรือไปตอนนี้เรือก็มีไม่เพียงพอ เรามีเรือท้องแบนอยู่ 2 ลำ นอกจากนั้นก็จะเป็นเรือเล็กในชุมชน ก็จะมีเพียง 7-8 ลำ ซึ่งไม่เพียงพอ การใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นการทำภารกิจส่วนตัว ทุกอย่างมีปัญหาหมดครับ แต่เราก็ไม่หนีไปไหนเราก็ต้องอยู่ ส่วนสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางในหมู่บ้านน้ำท่วมหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลากลางบ้าน วัด เราจึงจำเป็นต้องมาอยู่รวมกันที่บ้านหลังยกสูง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน บ้านหนึ่ง หลัง ก็อยู่กัน 2-3 ครอบครัวครับ คนในชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันคอยให้ที่พักอาศัย
แนวทางการจัดการหลังจากนี้จะเป็นไปอย่างไร
ตอนนี้ปัญหาระยะสั้นก็คือเรื่องของการเดินทางของเด็กๆไปโรงเรียน ซึ่งจะเปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ และยังมีปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่กังวลที่สุดในระยะยาวหลังน้ำลดตอนก็คือ ไม่รู้ว่าคนในชุมชนจะใช้ชีวิตกันยังไง เพราะเราต้องใช้เวลาในฟื้นฟูกันอีกนาน เราก็อยากเห็นว่าหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยเหลือยังไง และจะหาวิธีการมาฟื้นฟูชุมชนที่ต่อไปยังไง
ส่วนเด็กๆที่จะเปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายน โรงเรียนก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร คือโรงเรียนบ้านโนนเชือก และมีโรงเรียนที่อยู่ไกลออกไปอีกคือโรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคม เด็กๆต้องนั่งเรือออกไปเพื่อไปขึ้นรถที่บ้านโนนเชือก ซึ่งเป็นจุดที่เรานำรถของชุมชนไปรวมกันที่นั่น
ความต้องการเร่งด่วนตอนนี้คืออะไร?
ตอนนี้เรากำลังคุยกันเรื่องการวางแผนการจัดการบริหารภายใน โดยการจัดสรรเครื่องบรรเทาทุกข์ เราจัดแบ่งเป็นกลุ่ม เราก็ร้องขอบางส่วนที่เราไม่สามารถจัดการเองได้ นั่นคือ เรื่องของทุนในการเดินทางของเด็กไปโรงเรียนเพื่อเป็นกองทุนน้ำมัน เพราะ 1 วันในการเดินทางของเด็กไปโรงเรียนและคนที่ต้องไปทำงานข้างนอกต้องใช้เรือ และเป็นเรือจากหน่วยงานราชการ เราใช้ค่าน้ำมัน 1 วันประมาณ 800 บาท ซึ่งทางชาวบ้านก็ไม่มีทุนทรัพย์จึงจำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้ก็มีกองทุนที่เขาบริจาคมาให้เบื้องต้นบ้างแล้วครับ แต่ถ้าระยะยาวนี้คิดว่ามีปัญหาแน่นอน เพราะประเมินไม่ได้ว่าน้ำจะลดวันไหน และเราไม่มีรายได้มาจากไหน
ส่วนต่อจากนี้ อยากให้จัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชุมชน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการระยะยาว เพราะว่าประสบการณ์ในปี 2554 ทำให้คนในชุมชนล่มสลาย ทำให้ครอบครัวจำนวน 8 ครอบครัวสูญเสียที่นา สูญเสียการรักษาที่ดินเอาไว้เป็นของตัวเองไม่ได้ และปีนี้มีแนวโน้มไม่แตกต่างกัน เพราะเป็นหนี้สะสมมาก่อนแล้วและเราไม่สามารถใช้หนี้ได้ เนื่องจากไม่สามารถนำผลผลิตมาเลี้ยงยังชีพตัวเองได้ ทำให้ต้องขายที่ดิน นี่เป็นข้อกังวลของคนในชุมชน