“ทวงคืนผืนป่า” บนความทุกข์ยากของคนจน กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง

“ทวงคืนผืนป่า” บนความทุกข์ยากของคนจน กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง

ปมคดีและความเดือนร้อนจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กับความหวังที่ว่าท้ายที่สุดกระบวนการยุติธรรมจะช่วยคลายปมปัญหาในพื้นที่พิพาท พร้อมการยืนยันว่าชาวบ้านมีการตั้งถิ่นฐานมานานก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

 

รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน

ความจนทำให้จำต้องดิ้นรนจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าในเมืองหลวง หลังจากบริษัทล้มละลาย เธอเป็นหนึ่งในอีกจำนวนหลายพันคนที่ถูกนายจ้างลอยแพ เมื่อหวนคืนสู่ถิ่นอีสานก็ได้ยึดอาชีพเกษตรกร เมื่อลุกขึ้นสู้เรียกร้องสิทธิจากผลกระทบนโยบายทวงคืนผืนป่า ความทุกข์ยากจากการถูกคดีความได้ซ้ำเติมเธอและครอบครัวอีกครั้ง

นิตยา ม่วงกลาง หรือกบ อายุ 34 ปี เล่าว่า เธอเดินทางเข้าเมืองหลวงไปเป็นแรงงานในโรงงานเย็บผ้าตั้งแต่ปี 2542 ต่อมาในช่วงเดือน พ.ค.2549 หลังจากถูกเลิกจ้างเธอตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่บ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งผู้เป็นแม่ (ทองปั่น ม่วงกลาง) มีที่ดินทำกินที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จำนวนกว่า 60 ไร่ และได้แบ่งที่ดินทำกินให้กบกับน้องสาวอีก 2 คน คนละ 10 ไร่ ต่างยึดอาชีพทำการเกษตรกรไร่มันสำปะหลังเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

นิตยา เล่าถึงปัญหาที่กำลังประสบว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2558 มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ประมาณ 25 คน เข้ามาหาแม่ในไร่และบอกว่าครอบครัวทำผิดกฎหมาย บุกรุกพื้นที่ของอุทยาน พร้อมกับให้แม่เซ็นเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ทำกินทั้งหมด เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการข่มขู่บังคับว่าหากไม่เซ็นจะถูกจับกุมดำเนินคดีหมดทั้งครอบครัว และจะไม่ให้เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่ปลูกไว้ ซึ่งตอนนั้นมีแม่อยู่คนเดียว ด้วยความกลัวว่าจะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตและจะไม่มีเงินใช้หนี้ จึงตัดสินใจยอมเซ็นคืนพื้นที่ให้กับทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ให้แม่เซ็นเอกสารแทนน้องสาวอีก 2 คน รวมทั้งตัวเธอด้วย

“ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2556 เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาหาแม่ในไร่มันสำปะหลังเพื่อขอคืนพื้นที่ทำกินไปแล้วครั้งหนึ่ง แม่ก็ให้ไปจำนวน 3 ไร่ โดยมิได้กลับเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ที่คืนให้อีก แต่กลับมาถูกผลพวงจากการทวงคืนป่ามาซ้ำเติมชีวิตอีก ครั้งนี้จะมาทวงคืนที่ทำกินทั้งหมด แล้วชีวิตกบกับครอบครัวจะเป็นยังไง ถ้าไม่ต่อสู้เรียกร้อง ก็ต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่กลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ชีวิตในอนาคตของครอบครัวต้องกลับไปเป็นลูกจ้างแรงงานทั้งหมดอีกนั้นหรือ” นิตยาตั้งคำถามต่อการต่อสู้เพื่ออนาคตในสิทธิที่ดินทำกิน

ด้วยความกังวลต่ออนาคตของครอบครัวที่จะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน รวมทั้งในละแวกบ้านของเธอก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาข่มขู่ในเซ็นเอกสารในลักษณะเดียวกันรวมกว่า 70 ราย นิตยาจึงได้ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำชุมชนเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินของตนและของเพื่อนบ้าน และเข้าร่วมกลุ่มกับอีก 5 ชุมชน 2 ตำบล ประกอบด้วย ต.ห้วยแย้ และ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ด้วยการเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงและร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างถูกต้องเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ทางเจ้าหน้าที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน

นิตยา บอกอีกว่า เริ่มจากครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2559 ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เนื่องในวันสตรีสากล พร้อมกับเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้อำนวยการสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี) และเดินทางไปยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเข้ายื่นหนังสือต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์เขต 7 (นครราชสีมา) และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยภูมิ

ตำรวจเรียก 3 แม่ลูกรับทราบข้อหารุกป่า

นิตยา แม่ของเธอ และน้องสาวคือนางสาวนริสรา ม่วงกลาง เป็น 3 รายแรกที่ได้รับหมายเรียกให้เข้าพบ ร.ต.ท.เนาวรัตน์ ซ้ายเขว้า พนักงานสอบสวนเวรสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อหา ในวันที่ 18 ก.ค. 2559 ตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง แจ้งข้อหาร่วมกันบุกรุกเขตพื้นที่อุทยาน เข้ายึดถือครอบครองเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้

ต่อมาช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2559 คือวันที่ 23 ต.ค.ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 9 คน และเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ชาวบ้านถูกแจ้งข้อหาอีก 2 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ทั้งหมดได้เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแสดงตนและรับทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งให้การปฏิเสธ โดยยืนยันในความบริสุทธิ์ใจเพราะชาวบ้านอาศัยทำกินมาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน

นิตยา บอกว่า หลังจากถูกฟ้องดำเนินคดีได้ร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการจังหวัดชัยภูมิ และได้ขออนุญาตให้เลื่อนระยะเวลาในการยื่นส่งฟ้องศาลออกไปถึง 3 ครั้ง กระทั่งวันที่ 20 ก.ค.2560 อัยการจังหวัดชัยภูมิได้ยื่นฟ้องชาวบ้านจำนวน 14 ราย 18 คดี (ครอบครัวของกบถูกฟ้องคนละ 2 คดี) ต่อศาลจังหวัดชัยภูมิ และช่วงบ่ายในวันเดียวกันผู้ถูกคดีทั้งหมด ได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดชัยภูมิ เพื่อยื่นหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 1,900,000 บาท ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรมจังหวัดชัยภูมิ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 14 ราย ในระหว่างการพิจารณาคดี

ต่อมาเมื่อถึงกำหนดศาลจังหวัดชัยภูมินัดพร้อม คือ 23 ส.ค.2560 ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ และในวันที่ 24 ส.ค.2560 จะมีการประชุมร่วมกันของคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐกับตัวแทนของชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดพร้อมออกไปในวันที่ 22 ก.ย.2560

เมื่อถึงกำหนดนัดพร้อม ศาลให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อให้จำเลยกับโจทก์ร่วมกันลงตรวจสอบพื้นที่เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหากับทางอุทยานแห่งชาติไทรทอง

“ศาลนัดพร้อมทั้งโจทก์และจำเลยอีกครั้งในวันที่ 6 พ.ย.นี้ และจะมีการนัดสืบพยานคดีดังกล่าว” นิตยา กล่าวเพิ่มเติม

 

กระบวนการติดตามและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า

นายไพโรจน์ วงงาน แกนนำชุมชนบ้านหินรู ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า หลังจากมีนโยบายทวงคืนผืนป่า แต่การดำเนินการกลับเข้ามาแย่งยึดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนคนยากจน สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนทั่วภูมิภาค รวมทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง กว่า 6 หมู่บ้าน ใน ต.วังตะเฆ่ และ ต.ห้วยแย้ ได้รับผลกระทบหนักขึ้น เช่นห้ามมิให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ และถูกบังคับให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านก็ต้องยอมเซ็นไปก่อนเนื่องจากกลัวเพราะเจ้าหน้าที่มากันเยอะและประกบตัวต่อตัว จึงได้รวมกลุ่มกันเดินทางเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

โดยมีข้อเสนอเพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณา ดังนี้

1. ให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่พิพาทอุทยานแห่งชาติไทรทอง

2. ให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อน กับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน โดยมีสัดส่วนของราษฎรที่เดือดร้อนในจำนวนที่เท่ากัน

3.ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อราษฎรในพื้นที่ และผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ตามปกติสุข

ไพโรจน์ เพิ่มเติมอีกว่า จากที่เคยยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานและร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ มอบหมายให้นายนิพนธ์ สาธิสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิเป็นประธานในที่ประชุม และที่ประชุมมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านเข้าใช้ประโยชน์ได้ตามปกติสุข

ต่อมาวันที่ 17 พ.ค. 2559 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุมพร้อมตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (กกล.รส.จว.ชย.), รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ, นายอำเภอหนองบัวระเหว, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดชัยภูมิ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง เข้าร่วมประชุมที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน

“หลังจากได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน และมีการลงตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวแทนชาวบ้านมาหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งถือว่าเป็นความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ส่งผลให้ชาวบ้านถูกคุกคาม และถูกดำเนินคดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนมองว่าหากกระบวนการแก้ไขปัญหายังคงล่าช้าไปมากกว่านี้ จะมีชาวบ้านถูกฟ้องดำเนินคดีตามมาอีกหลายราย” ไพโรจน์ กล่าว

ที่ดินของชาวบ้านนั้นคือชีวิต เป็นมรดกที่บรรพบุรุษตกทอดมาให้เพื่อดำรงชีพหารายได้มาเลี้ยงปากท้องของคนทั้งครอบครัว แต่ผลพวงจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และจากความล่าช้าในการร่วมกันไขปัญหาปัญหา ส่งผลกระทบให้ชาวบ้านต้องเผชิญอุปสรรคและการถูกข่มขู่ คุกคาม ในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อถูกดำเนินคดี กลับยิ่งซ้ำเติมคนจนต้องผจญความทุกข์ยากหนักขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นความปกติสุขของชีวิตจากหายไป สุขภาพจิตที่สูญเสียและรายจ่ายในระหว่างการเดินทาง ค่าน้ำมันไปโรงพักหรือไปศาล รวมทั้งเสียเวลาทำมาหากิน ดังนั้นรัฐควรมีหน้าที่ในการช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

ท้ายที่สุดแล้วหวังอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมอาจจะพิจารณาว่าชาวบ้านเข้ามาอยู่โดยไม่มีเจตนาบุกรุก อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับการดำเนินคดี เพราะปมคดีในพื้นที่พิพาทนั้น ชาวบ้านมีการตั้งถิ่นฐานมานานก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง เมื่อปี 2535

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ