ความไม่มั่นคงของคนชุมชนท่านเลี่ยม เมื่อเจตนารมณ์การใช้ที่ดินผืนนี้ถูกเปลี่ยนไป จากการให้ชาวบ้านอยู่อาศัยกลับกลายเป็นธุรกิจการศึกษา และที่สำคัญแผนการไล่รื้อชาวชุมชนท่านเลี่ยมไม่มีมาตรการช่วยเหลือแต่อย่างใด
คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
หลังจากสถานการณ์แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 7 จังหวัดสุดท้าย ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้รัฐบาลจะเพิ่มจำนวนวงเงินในเดือนแรกให้มาชดเชย เนื่องจากได้รับบัตรช้ากว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ปัญหาการใช้บัตรยังคงเหมือนกันคือ “มีบัตร แต่ไม่มีที่ใช้บัตร” สุดท้ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ไม่ได้ตอบโจทย์การช่วยเหลือลดค่าครองชีพของคนจนเมืองได้เท่าไหร่นัก
ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2560 ซึ่งถือเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก สถานการณ์ความมั่นคงที่อยู่อาศัยในประเทศไทยก็ยังคงสั่นคลอน ยังมีการปฏิบัติการรื้อย้ายชุมชนออกนอกเมืองอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคูคลองที่เดินหน้าการย้ายชุมชนออกนอกเมือง สภาพการณ์นี้เองการช่วยเหลือ ปกป้องชุมชนคงจะเป็นใครไม่ได้ถ้าไม่ใช่ตัวชาวชุมชน ชาวบ้าน ที่จะต้องลุกขึ้นมารวมกลุ่มปกป้องที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง
หากจะพูดถึงชุมชนเมืองโบราณหลายท่านคงจะนึกถึงชุมชนย่านเมืองเก่าต่างๆ เช่น ย่านเยาวราช ที่มีอาคารเก่า ที่สร้างมาอย่างยาวนานจนกระทั่งปัจจุบันยังคงอยู่และเป็นจุดเด่นของย่าน หรือชุมชนป้อมมหากาฬ ที่มีการปกป้องชุมชนไม่ให้กรุงเทพมหานครเข้ารื้อทำลายชุมชนโบราณแห่งนี้ที่มีสถาปัตยกรรมโบราณภายในชุมชน และสิ่งที่ทั้งสองแห่งที่กล่าวมามีเหมือนกันและหากถูกทำลายไปการสร้างขึ้นมาใหม่จะไม่สามารถทำได้อีกนั้นคือ “วิถีชีวิต” ของชุมชนโบราณเหล่านั้น
ภาพเหตุการณ์ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ
ที่มา: ชุมชนป้อมมหากาฬ
อย่างไรก็ตามยังมีชุมชนโบราณที่ไม่คุ้นหู แต่ก่อตั้งมายาวนาน ซึ่งแน่นอนพอเวลาผ่าน สถานที่เริ่มเปลี่ยนแปลง จากเดิมเป็นป่ารกไม่มีความน่าสนใจ ในปัจจุบันกลับเป็นทำเลที่สวยงาม เพราะมีผู้อยู่อาศัยที่ช่วยกันดูแลรักษาตามที่พวกเขาเหล่านั้นจะทำได้
ชุมชนบึงลำไผ่ เขตมีนบุรี ตั้งอยู่ในที่ดินสาธารณะที่กรุงเทพมหานครดูแล เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมบางส่วน แต่เนื่องจากการเข้ามาตั้งรกรากสมัยก่อนยังไม่มีกฎหมายที่ดิน การประกาศเขตพื้นที่สาธารณะทับแนวเขตชุมชนเกิดปัญหามากมายกับหลายชุมชน หลายหมู่บ้านที่เป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน และชุมชนบึงลำไผ่นี้ก็เช่นกัน ชุมชนตั้งมาก่อนการประกาศเขตที่ดินสาธารณะ เริ่มต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนปัจจุบันข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้ข้อยุติ
การสู้เพื่อความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยหลักการคิดเรื่องกรรมสิทธิ์รวมในรูปแบบโฉนดชุมชน ถึงแม้ชาวชุมชนจะอยากสู้ถึงกรรมสิทธิ์ส่วนตัวแต่ละครอบครัว แต่กว่า 20 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปไม่ได้ชุมชนจึงตัดสินใจที่จะละทิ้งกรรมสิทธิ์ส่วนตัว แล้วหันมาสู้เพื่อรักษาผืนดินร่วมกันโดยใช้กรรมสิทธิ์การรวมกลุ่มตาม “นโยบายโฉนดชุมชน”
ชุมชนท่านเลี่ยม (หลังเทคโนลาดกระบัง) เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เก่าแก่โบราณอยู่มาตั้งแต่สมัยที่ดินยังเป็นของท่านผู้หญิงเลี่ยม บุญนาค (บิดาชื่อท่านเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ซึ่งได้แบ่งที่ดินให้ชาวบ้านได้เป็นที่อยู่อาศัย และทำนา อยู่อาศัยกันมาจนกระทั่งท่านเลี่ยมได้ถึงแก่กรรม และได้ทำการยกที่ดินกว่า 1,514 ไร่ ให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อให้หลวงได้ดูแลรักษาที่ดินต่อไป และชาวบ้านยังคงใช้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพทำนากับทางธนารักษ์กันต่อมา
จากนั้นธนารักษ์ได้ยกที่ดินให้กับทางทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อนำมาสร้าง “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” (สจล.) ในปี 2514 และพื้นที่ชุมชนก็ถูกเบียดมาอยู่ในมุมหนึ่งติดทางรถไฟสายตะวันออก ซึ่งใกล้กับสถานีหัวตะเข้
ภาพความเป็นอยู่ของชาวชุมชนท่านเลี่ยมในอดีต
นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนท่านเลี่ยม ในปี พ.ศ. 2545 ชาวชุมชนเริ่มมีความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำประปาและไฟฟ้า จึงได้ขอทำสัญญาเช่ากับทาง สจล. ทางชุมชนก็ได้เช่าที่ดินกับทาง สจล.เรื่อยมา แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 ทาง สจล.ได้หยุดเก็บค่าเช่าที่ดินและแจ้งชาวชุมชนให้ย้ายออกไป เพราะมีเมกะโปรเจกต์ของทาง สจล. ในเนื้อที่ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ตั้งของชุมชนท่านเลี่ยม
ปัจจุบันชุมชนท่านเลี่ยมมีจำนวน 132 หลังคาเรือน ราว 500 คน จากที่เคยอยู่ในสถานะผู้เช่าได้กลายเป็นผู้บุกรุก หลังจากที่ สจล. ไม่ต่อสัญญาเช่าและไม่มาเก็บค่าเช่าอย่างที่เคยเป็นทุกปี จากนั้นได้มีหนังสือแจ้งให้ชาวชุมชนย้ายออกจากพื้นที่ สร้างความกังวลใจต่อพี่น้องชาวชุมชนท่านเลี่ยมเป็นอย่างมาก
เจตนารมณ์การใช้ที่ดินผืนนี้ถูกเปลี่ยนไป จากการให้ชาวบ้านอยู่อาศัย ก็กลับกลายเป็นธุรกิจการศึกษา และที่สำคัญแผนการไล่รื้อชาวชุมชนท่านเลี่ยมไม่มีมาตรการช่วยเหลือแต่อย่างใด
สจล. เป็นสถาบันการศึกษาอีกแห่งที่ได้รับความไว้วางใจของหน่วยงานรัฐให้เป็นองค์กรต้นแบบและศึกษาผลกระทบในหลายโครงการ ซึ่งแต่ละโครงการล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของคนจนทั้งสิ้น อาทิ โครงการก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหาคร หรือโครงการเขตเศรษฐกิจใหม่ย่านสถานีแม่น้ำบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เขตยานนาวา ทั้ง 2 โครงการใช้งบประมาณในการลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์ และที่เหมือนกันอีกอย่างคือทั้ง 2 โปรเจกต์ใหญ่ชุมชนต้องถูกรื้อออกไป
ชุมชนท่านเลี่ยมเป็นหนึ่งในชุมชนหลายแห่งที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางการกระจุกตัวของที่ดินมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกระทั่งมีสถานะที่ดินเป็นของรัฐ ขณะที่หน่วยงานรัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เช่นกัน
จากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 25 กันยาน พ.ศ. 2558 เกิดพันธกิจร่วมของประเทศ 193 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ร่วมลงนาม คือ Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ 17 เป้าหมาย แต่เป้าหมายที่ตรงกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองใน 17 ข้อนั้น มีเป้าหมายข้อ 11 ที่กล่าวไว้คือ ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน สจล.เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับสากล จึงควรคำนึงถึงพันธกิจร่วมกันของสังคมโลกด้วย
อีกมุมหนึ่ง สจล. ที่ยังอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ ได้รับการสนับสนุนพัฒนาจากเงินภาษีของประชาชน รัฐบาลปัจจุบันพยายามสร้างยุทธศาสตร์ชาติ เป้าระยะยาวถึง 20 ปี ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัยอยู่ด้วย ข้อเสนอของชาวชุมชนไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงของ สจล. ที่จะรับข้อเสนอนำไปปฎิบัติ
พี่น้องชุมชนท่านเลี่ยมเพียงต้องการแบ่งปันพื้นที่บางส่วนแล้วจัดเป็นโซนที่อยู่อาศัย ส่วนที่เหลือทาง สจล. ก็ดำเนินโครงการไป (Land Sharing) แบบนี้จึงจะได้รับชัยชนะกันทุกฝ่าย (Win Win) การคงอยู่ของ สจล. จึงจะดำรงไปด้วยความภาคภูมิที่เป็นสถาบันสร้างคนมาเพื่อช่วยเหลือคน