สื่อสารอย่างไรให้มีพลัง?!? ความท้าทายของ ‘แรงงานยุคดิจิทัล’

สื่อสารอย่างไรให้มีพลัง?!? ความท้าทายของ ‘แรงงานยุคดิจิทัล’

เสวนา “สื่อสารอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในยุค Digital” ภายใต้โครงการเสวนา “การสร้างเสริมพลังการสื่อสารขององค์กรแรงงาน” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเสริมสร้างให้เกิดระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในบริบทของการสื่อสารสมัยใหม่ องค์กรแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างใช้ช่องทางสื่อใหม่อย่างเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ ในการเผยแพร่งานข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง แต่ข่าวสารในประเด็นแรงงานกลับยังไม่เป็นกระแสมากนักในสังคม

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดการเสวนา “สื่อสารอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในยุค Digital” ภายใต้โครงการเสวนาเรื่อง “การสร้างเสริมพลังการสื่อสารขององค์กรแรงงาน” ณ ห้องประชุม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมุ่งหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจในบริบทของการสื่อสารสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเสริมสร้างให้เกิดระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิทยากร
สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อํานวยการสํานักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส
เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com
ศักดิ์รพี รินสาร Creative Content writer อิสระ

ดำเนินรายการโดย
วาสนา ลำดี พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

00000

 

“คอนเทนท์ดีแล้ว คอนเนคต้องดีด้วย”

สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อํานวยการสํานักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

การสื่อสารถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีสูตรสำเร็จ ทั้งนี้ต้องมองว่าการเสพสื่อต้องมีความเท่าทันสื่อ แต่ในแง่การสื่อสารไทยพีบีเอสไม่ใช่แค่โทรทัศน์ โทรทัศน์ถือเป็นแค่ช่องทางในการเข้าถึงสื่อเท่านั้น ถ้าหากพูดถึงการสื่อสารในปัจจุบัน เราต้องออกแบบแนวคิดของเนื้อหาและช่องทางในการสื่อสาร

ในปัจจุบันถือเป็นยุคการสื่อสารที่เกิดกลุ่มสังคม และเป็นยุคที่คนรับสื่อสนใจรายละเอียดเฉพาะตัวมากขึ้น ที่สำคัญจะต้องเห็นความสำคัญของคนกับคนในเรื่องของการสื่อสาร และการมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้รับสื่อ อีกทั้งในปัจจุบันประชาชนไม่ได้เป็นแค่ผู้รับสื่อแต่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาด้วย ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้างชุมชน

ในสายแรงงานถือเป็นชุมชนออฟไลน์กลุ่มใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง และสิ่งที่เราตั้งคำถามคือ ณ ตอนนี้เขาเชื่อมต่อกันหรือยัง

ลักษณะของการทำงานของ social media มันไม่มีสูตรสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าเราเองสนใจอะไร สิ่งที่สำคัญในการสื่อสาร คือเราต้องชัดเจนว่าเรากำลังสื่อสารกับใคร สิ่งที่จับต้องได้ และสัมพันธ์กับคน การสื่อสารยุคใหม่มันคือแง่มุมของบุคคล และเราต้องรู้จักกลุ่มคนที่เราสื่อสารคือคนกลุ่มไหน และต้องการที่จะสะท้อนแง่มุมอะไร

สื่อกระแสหลักไม่ได้หายไปแต่ไม่ได้มีอำนาจเหมือนเดิม ฉะนั้นต้องลงมือทำแล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลง เราพบว่าการทำงานสื่อสารนั้นเปลี่ยนวิธีคิดของคนทำงาน โจทย์ไม่ได้อยู่ที่ว่าเอาหรือไม่เอา แต่โจทย์คือทำไมสังคมจะต้องรักษาทะเลหรือชุมชนนี้ไว้ ชุมชนนี้สร้างอะไรให้กับสังคมใหญ่ ถ้าเราอธิบายอย่างเป็นรูปธรรม ส่งแมสเสจตัวนี้ลงไป ตรงนี้จึงถือเป็นส่วนที่สำคัญ

ถ้าพูดถึงค่าแรงขั้นต่ำ คนในสังคอาจจำไม่ได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้คือเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ตัวเลขใหม่ที่คนรับรู้คือค่าแรงวันละ 700 บาท ตรงนี้น่าสนใจ ไม่ได้ล้มเหลว แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคืออะไร เราต้องคิดต่อ

แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่เวลาเรานิยามเราจะไม่เห็นเขา เราต้องปรับสายตาว่าเขาเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ทุกคนหรืออาจเรียกว่าคนส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ฉะนั้นเราจะอธิบายอย่างไรให้เห็นความเชื่อมโยง เช่น ถ้าเล่นประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท ใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ยกตัวอย่างว่าถ้าให้คนมายืนรวมกัน เราเชื่อว่าจะมีคนจำนวนมากที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่นั่นคือส่วนของคอนเทนท์ ในส่วนช่องทางนั้นขึ้นอยู่กับการออกแบบว่าเราจะพามันไปอย่างไร นั่นคือการตกกระทบที่จะทำให้คนหันมามอง

สุดท้ายแล้ว ข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องเข้าถึงและต้องทำให้เข้าถึงอย่างง่าย จะทำอย่างไรให้เข้าสนใจและหันมามอง

ยุคนี้คนเล็กๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมใหญ่ได้ เราอยู่ในยุคสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีเข้ามา มันอาจจะเป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจริงๆ ก็ได้ ประชาธิปไตยในรูปแบบเดิมยังคงอยู่ แต่มันทำให้เกิดช่องทางในการเชื่อมต่อทางตรง

00000

 

“การประสบความสำเร็จของการสื่อสารคือ ต้องกัดไม่ปล่อย”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com

ทำอย่างไรที่จะให้ประสบความสำเร็จในการสื่อสาร ในปัจจุบันข้อมูลของเราอยู่กับเทคโนโลยีและดิจิทัล ผู้คนทุกคนสามารถผลิตข้อมูลข่าวสารได้ด้วยต้นเองโดยมีต้นทุนที่ต่ำ และถ้าผลิตข่าวสารมาก เราก็จะรับข้อมูลข่าวสารมากกว่าแต่ก่อน สิ่งที่เผชิญคือเราก็จะมีคู่แข่งมากขึ้นด้วย จนเราไม่สามารถจำกัดข้อมูลข่าวสารได้

การเปิดเฟซบุ๊กมักจะเจอข้อมูลเดิมๆ เพราะระบบของเฟซบุ๊กมีอัลกอริทึม และเราจะเห็นโพสลักษณะเดิมๆ และกลุ่มคนที่โพสเดิมๆ นอกจากนั้นการที่เราจะเข้าถึงผู้ส่งสาร เราอาจไม่ได้เข้าถึงเว็บไซต์ข่าวโดยตรง แต่เราค้นหาคอนเทนท์ที่น่าสนใจจากเสิร์ชเอนจิน และเราจะเลือกดูจากยอดที่มีผู้ชมบ่อยสุด

ปัจจุบันการสื่อสารถ้าเรามีกำลังจ่ายเราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ว่าจะเป็นคนกลุ่มใด เราจะต้องรู้กลุ่มเป้าหมายที่เราจะสื่อ และเราต้องรู้ตัวตนของเราเองว่าเราคือใคร และจะสื่อสารกับใคร ความสำเร็จของการสื่อสาร มองได้ในหลากหลายระดับ

ระดับที่ 1 คือ ข่าวนั้นถ้ามีคนเห็นถือว่าประสบความสำเร็จ

ระดับที่ 2 คือ มีคนอ่านเนื้อหา

ระดับที่ 3 คือ อ่านและเข้าใจในเนื้อหาตรงกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ ทั้งนี้ แต่ละชนชั้นแต่ละสถานะภาพจะมีความเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการใช้คำถือเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารให้เข้าใจ เช่นคำว่า “ความมั่นคง” ในความเข้าใจของรัฐบาลกับประชาชนอาจมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน

ระดับที่ 4 คือ สื่อแล้วเข้าใจและนำไปสู่ปฏิบัติการอะไร เช่น การที่ดำเนินการเรียกร้องใดๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน หลายคนเห็นด้วยและมีกำลังคนที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ระดับที่ 5 คือ เข้าใจตรงกันและนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่างๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงตามจุดประสงค์
การสื่อสาร ตรงนี้เพียงแค่เข้าใจไม่เพียงพ่อ แต่ต้องนำไปสร้างการเปลี่ยนคุณค่า

สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการที่จะประสบความสำเร็จในการทำสื่อเพื่อที่จะให้อยู่ในกระแส คือ การกัดไม่ปล่อย การสื่อสารคือการพยายามเชื่อมโยงเรากับโลก

ถ้าพูดถึงเพลง เพลงคือการสื่อสารที่สร้างคุณค่าได้ดีที่สุด โดยเฉพาะท่อนฮุกของเพลง เช่น เพลงลูกทุ่ง ถ้าท่อนฮุกนั้นสื่อถึงเนื้อหาของคนชนชั้นแรงงานว่าคิดถึงบ้าน เนื้อหานั้นกินใจเรา มีความใกล้เคียงกับตัวเรา เราจะรู้สึกและเพลงจะทำให้เราเชื่อในสิ่งนั้น

เรื่องการสื่อสารเราต้องอย่ายึดติดว่าการสื่อสารเป็นเพียงแค่ข่าว แต่รวมถึงเพลงและหนัง เรื่องเหล่านี้จะกล่อมเกลาเรา ทำให้เรามีความคิดในแบบที่เป็นอยู่ เฟซบุ๊กก็เช่นกัน มันเป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ

ข่าวสารคือสินค้าอย่างหนึ่ง ต้องมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ถ้ากลุ่มเป้าหมายไม่ตรงกับตัวสินค้าหรือช่องทางการนำเสนอสินค้าก็จะไม่ตอบโจทย์ แต่ข้อมูลเหล่านี้เมื่อกระจายไปจะมีประโยชน์แน่ๆ กับผู้ทำสื่อ เพราะถือเป็นฐานข้อมูลหลัก แต่อย่าลืมว่าเฟซบุ๊กมีอัลกอริทึม ทำให้เราเจอแต่สิ่งที่เราชอบ กลายเป็นว่าเราจะสื่อสารแต่กับคนคอเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงพอ เราอาจจะต้องกระจายไปในช่องทางต่างๆ ด้วย

อีกสิ่งที่สำคัญคือการใช้ ‘คำ’ เพราะ คำนั้นจะมีผลต่อความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมายที่เราจะสื่อ และเวลา ถือเป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้ว่าคนส่วนใหญ่เสพสื่อในช่วงเวลาใด มีการเข้าถึงมากที่สุดในช่วงใด

กิจกรรมก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ คนส่วนใหญ่ไม่ออกมาชุมนุม การใช้เฟซบุ๊กนั้นเป็นช่องทางที่ทำให้รู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น แต่ในการเปลี่ยนแปลงนั้นเพียงการแสดงความคิดเห็นไม่เพียงพอ เราจะต้องมีคนที่จะมาขับเคลื่อน มาร่วมกันชุมนุม แต่การแสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊กก็ถือว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ ในรูปแบบล่ารายชื่อจะทำให้ได้จำนวนของกลุ่มคนที่เห็นด้วย

00000

 

“คุณเข้าใจตนเองหรือยังว่าคุณคือใคร? และกำลังคุยกับใคร?”

ศักดิ์รพี รินสาร Creative Content writer อิสระ

จะสื่อสารอย่างไรให้คนเข้าใจในคุณภาพชีวิตของแรงงาน มองในฐานะคนทำสื่อ ไม่ว่าใครก็ตาม เราต้องรู้ว่าเราคือใคร เราพูดอะไร และกำลังคุยกับใครอยู่ อย่างแรกต้องเข้าใจตนเองและกลุ่มเป้าหมาย ถ้าจะทำเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 700 บาท มองว่าทุกคนเข้าสู่ระบบดิจิทัลแล้ว แต่เราต้องถามว่าเรากำลังคุยกับใคร ถ้าเราจะให้ทุกคนเข้าใจ เพราะอะไร จะต้องมีรายละเอียดอื่นแจกแจง

ไม่อยากให้มองว่าเราเรียกร้องเพื่อปากท้องทุกคน แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า 700 บาท มันควรจะได้มาซึ่งอะไรบ้าง เราต้องทำให้ทุกคนพูดถึงเรื่องนี้ ทำให้เขารู้สึกว่าเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขา

หลายคนอาจมองว่าการทำเพจคือการสร้าง Community (ชุมชน) แต่การทำเพจสำหรับผมมองว่าคือการประชาสัมพันธ์ คุณต้องการให้เกิดการพูดคุยแบบไหน สุดท้ายต้องตอบตัวเองว่าเราต้องทำอะไร และทำเพื่ออะไร และอีกอย่าง สิ่งที่เฟซบุ๊กทำคือ สิ่งไหนคุณอยากเห็น เฟซบุ๊กจะทำให้คุณเห็น ฉะนั้นการแท็ก ว่าจุดมุ่งหมายคุณต้องการจะสื่อสารอะไร นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

การที่คนเราจะเสพข้อมูล เราไม่สนใจข้อมูลที่เป็นตัวเลขเยอะๆ ถ้าหากเรามองจากตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่เจาะจงเป็นตัวบุคคลหรืออาจสมมุติเป็นบุคคลขึ้นมาจะดูน่าสนใจ คนชอบสิ่งที่มีชีวิตจับต้องได้ และดูใกล้ตัว

การพูดถึงถือเป็นสิ่งสำคัญ การจะเกิดความสำเร็จนั้นควรให้มีการพูดถึงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำให้ประเด็นที่คุณทำเป็นที่สนใจของคนที่เป็นกลุ่มหลักในการใช้สื่อ

อีกเรื่องคือเรื่องของความจริงใจ ในปัจจุบันคนชอบสิ่งที่ชัดเจน ตรง และง่ายกับความเข้าใจ

ส่วนในการทำสื่อวีดีโอ เราควรจะมี Subtitle หรือคำแปล คำอธิบายประกอบ เพราะในบางทีเราดูข้อมูลแบบผ่านๆ เราเห็นวีดีโอแต่ถ้าไม่ได้คลิกเข้าไปดูเนื้อหา เราก็อาจจะพลาดสิ่งที่เขาอยากจะสื่อ สิ่งที่ตั้งใจทำ

สิ่งที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงเรื่อยๆ และสรุปบทเรียนตลอด

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ