อุทธรณ์ ‘คดีเขื่อนปากแบง’ บนแม่น้ำโขง หวังหน่วยงานรัฐป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดน

อุทธรณ์ ‘คดีเขื่อนปากแบง’ บนแม่น้ำโขง หวังหน่วยงานรัฐป้องกันผลกระทบข้ามพรมแดน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง ชี้หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่-ปล่อยลาวสร้างเขื่อนปากแบง เชื่อก่อผลกระทบข้ามพรมแดน

20 ต.ค.2560 นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีโครงการเขื่อนปากแบง ในประเทศลาวที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยด้าน จ.เชียงราย ต่อศาลปกครองสูงสุด

คดีดังกล่าวมีผู้ฟ้องคดี คือ กลุ่มรักษ์เชียงของ โดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว รวม 4 ราย และผู้ถูกฟ้องคดี คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง

นางสาว ส.รัตนมณีกล่าวว่าในคำอุทธรณ์ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 เป็นประชาชนที่มีภูมิลำเนาและประกอบอาชีพอยู่ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบงมากที่สุด เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวโครงการเพียงประมาณ 97 กิโลเมตร และยังมีจังหวัดที่ติดริมน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวอีก 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

แม่น้ำโขงมีระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่สมบูรณ์ และเป็นสินทรัพย์ธรรมชาติที่มูลค่ามหาศาลต่อประเทศที่ติดลำน้ำโขงทุกประเทศ การมีอยู่ของแม่น้ำโขงก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมาตรฐานการครองชีพของประชาชน หากมีการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงขึ้นบนแม่น้ำโขงย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้รับความเดือดร้อน หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนที่ได้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน และไม่ได้สัดส่วน

ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 จึงเป็นการกระทำที่ถือได้ว่า ก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงทั้ง 8 จังหวัด รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ด้วย

อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 58 และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 58 และมาตรา 59 ได้บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกันว่า การกระทำทางปกครองต่างๆ ที่จะมีผลหรืออาจจะมีผลต่อประชาชน หรือมีผลกระทบกระเทือนต่อประชาชน รัฐต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น จะต้องจัดให้ข้อมูลแก่ประชาชน และจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารได้ แต่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ไม่ได้ดำเนินการใดๆ แม้แต่น้อย

ทั้งๆ ที่ผ่านมาผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ดำเนินการส่งหนังสือร้องเรียนคัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด แต่กลับนิ่งเฉยไม่ได้รับความสนใจและไม่ได้รับคำตอบจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 แต่อย่างใด และในทุกครั้งที่มีการจัดเวทีของกรมทรัพยากรน้ำปรากฏว่า ในทุกเวทีข้อมูลที่ให้ก็ไม่เพียงพอ และได้มีการขอให้มีการบันทึกไว้ทุกครั้ง โดยได้มีการกล่าวถึงผลกระทบทั้งหมด และในทุกเวทีก็ยังมีการยืนยันให้มีการศึกษาก่อนที่จะอนุมัติโครงการ

นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวว่าคณะทำงานเชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดจะให้ความเป็นธรรมและให้ความคุ้มครองผลกระทบข้ามพรมแดน เช่นเดียวกับการที่มีคำสั่งรับฟ้องคดีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงเช่นกัน คดีนี้เป็นคดีที่มีลักษณะของการขอให้มีการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจนในการคุมครองปกป้องแม่น้ำโขง

“เราเพียงขอให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ หลังจากเราพบว่าเขาไม่ทำหน้าที่มานานาแล้ว คดีเขื่อนปากแบงเป็นตัวอย่างที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องแม่นำโขงซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและประชาชนไทย ไม่ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์ เช่น การจัดการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง หรือการไม่ออกกฎระเบียบปฏฺิบัติที่ทำให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นที่เป็นธรรม ที่สำคัญคือ หน่วยงานไม่ได้ให้ความเห็นว่าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งนี้จะมีผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่าโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในประเทศไทย เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคนในชาติ” หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายกล่าว

อนึ่งโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดินเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู

โรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566

ทั้งนี้คณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพยากรน้ำในดิน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

อธิบดีกรมสนธิสัญญาทางกฎหมาย อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเป็นกรรมการและเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่ดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และกรอบความร่วมมือกับองค์กรลุ่มน้ำนานานชาติ ให้ความเห็นชอบต่อแผนพัฒนาลุ่มน้ำ ที่สอดคลองกับกลยุทธ์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และเสนอแนะ แนะแนวทางในกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลุ่มแม่น้ำโขงของไทย และเสนอวิธีแก้ไขปัญหา หรือข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ