WWF แนะ “กลุ่มธนาคารในอาเซียน” เพิ่มบทบาทด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

WWF แนะ “กลุ่มธนาคารในอาเซียน” เพิ่มบทบาทด้านการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยข้อมูลรายงาน “การธนาคารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค” เก็บข้อมูลธนาคาร 6 ประเทศของอาเซียน พบธนาคาร 21 แห่ง จาก 34 แห่งรู้ว่าให้ทุนกับกิจการที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ไม่ยอมเปิดเผยมาตรการจัดการความเสี่ยง ชี้ธนาคารควรมีแนวทางการบริหารและจัดการด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน เพื่อป้องกันวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

3 ต.ต. 2556 กรุงเทพมหานคร – ภาคการธนาคารของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้รัฐบาลในประเทศของตน สามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกและเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามที่ได้ให้สัตยาบันร่วมกันไว้ก่อนหน้า ซึ่งจากรายงานล่าสุดขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่เปิดเผยในวันนี้ เน้นย้ำว่า ธนาคารควรมีแนวทางการบริหารและจัดการด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน เพื่อป้องกันวิกฤติการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

จากรายงาน เรื่อง “การธนาคารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค” ซึ่ง WWF ร่วมกับศูนย์การศึกษาด้านธรรมภิบาล, สถาบัน และองค์กรเพื่อความยั่งยืน (Centre for Governance, Institutions and Organisations – CGIO) ภายใต้สำนักวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ (NUS Business School) จัดทำขึ้น พบว่า แนวทางปฏิบัติของธนาคารต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ไม่สะท้อนคำมั่นสัญญาที่คณะกรรมการของชาติต่างๆ ให้ไว้ว่าจะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะพยามยามดำเนินนโยบายเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่หากธนาคารยังไม่มีกรอบการทำงานเพื่อจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน ในระยะยาวก็จะส่งกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและลูกค้าของธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด

WWF ยังร้องขอให้ธนาคารผนวกรวมแนวคิด เรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) ลงในแผนยุทธศาสตร์การทำงานระยะยาวของธนาคาร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ธนาคาร ควรมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Paris Agreement) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาชาติรวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีธนาคาร 21 แห่ง จาก 34 แห่งในอาเซียน ที่รับทราบว่าธุรกิจที่ตนให้เงินสนับสนุน ลงทุนในกิจการที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ไม่มีธนาคารใดยอมเปิดเผยว่า ทางธนาคารจะมีมาตรการจัดการความเสี่ยงของผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับพอร์ตการลงทุนอย่างไร นอกจากนี้ แม้ว่าจะมี ธนาคาร 26 แห่ง ระบุถึงความการสร้างความยั่งยืนในแผนยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ของธนาคาร แต่มีเพียง 12 แห่งเท่านั้น ที่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศต่อภาคธุรกิจและภาคสังคมอย่างจริงจัง ที่สำคัญมีธนาคารเพียงแห่งเดียวที่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ให้ดูแลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ โดยผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ต่างคาดหวังให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูล การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในผลการรายงานประจำปีของธนาคารมากขึ้นกว่านี้

Jeanne Stampe หัวหน้าฝ่ายการเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ของ WWF กล่าวว่า “ประเทศต่างๆ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และข้อตกลงปารีส ที่พยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้น้อยลง จนต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้ หากธนาคารพาณิชย์ไม่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในตอนนี้ และวางพัฒนาแนวทางการธนาคารอย่างยั่งยืนให้ได้ภายใน 12 เดือนข้างหน้า”

WWF พร้อมที่จะทำงานร่วมกับธนาคารต่างๆ ในอาเซียน เพื่อช่วยเสริมศักยภาพการทำงานด้าน ESG และ พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญด้านต่างๆ ของ ESG ให้กับธนาคาร นอกจากนี้ WWF ยังเสนอให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลของอาเซียนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการเงินที่ยั่งยืนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าภาคการธนาคารจะสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งไว้ได้จริง โดยปัจจุบัน มีเพียง 6 ประเทศที่สนับสนุนการผนวกรวมเรื่อง ESG ลงในหลักการ และในหลายประเทศก็ยังไม่หลักการปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการธนาคารอย่างยั่งยืน

ยิ่งยง วิทยานานันท์ ผู้จัดการโครงการการลงทุนอย่างยั่งยืน ประจำ WWF-ประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ จะช่วยให้ธนาคารในประเทศไทยเห็นแนวโน้มและพัฒนาด้าน ESG ของธุรกิจธนาคารในภูมิภาคได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยให้ธนาคารสามารถกำหนดแผนการพัฒนา ESG ของตนเองให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืน โดย WWF ประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับธนาคารทุกแห่ง ในการสนับสนุนแผนงานด้าน ESG ในประเทศ”

ผลการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุชัดเจนว่า ภายในปี 2643 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อปีเท่ากับร้อยละ 6.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียน สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.6% ภาคการธนาคารของอาเซียนต้องเข้ามามีบทบาทในการป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของอาเซียน จากการเพิ่มการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล การเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าพลังน้ำ

เกี่ยวกับรายงาน

รายงาน เรื่อง “การธนาคารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน: ปัญหาและอุปสรรค” ที่จัดทำขึ้นโดย WWF เนื้อหาหลักการทบทวนกฎระเบียบด้านการกำกับดูแลด้านการเงินในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับความคืบหน้าเรื่องการผนวกเรื่อง ESG ของธนาคารและการปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในรายงานจะประกอบด้วยข้อมูลของธนาคารต่างๆ ใน 6 ประเทศของอาเซียนต่อตัวชี้วัด ซึ่งเป็นปัจจัยหลักพื้นฐานในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเสาหลักในการบูรณาการ ESG ที่แข็งแกร่ง

รายงานฉบับนี้จัดพิมพ์และเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ในรูปแบบของรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืนหรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร

ลิงค์รายงาน: http://d2ouvy59p0dg6k.cloudfront.net/downloads/wwf_sustainable_finance_report_2017_v3.pdf

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ