“เหมืองแร่” ของใคร : ฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมีส่วนร่วม 

“เหมืองแร่” ของใคร : ฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมีส่วนร่วม 

รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ชี้ พ.ร.บ.แร่ สำคัญคือต้องผลักดันการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการบริหารจัดการแร่ ‘ดร.อดิศร์’ มองการพัฒนาเหมืองเหมือนกับการมีเงินจะเลือกเอาไปลงทุนหรือออมทรัพย์เอาดอกเบี้ย ส่วน ‘สมพร เพ็งค่ำ’ เน้นชาวบ้านควรมีส่วนในการตัดสินใจเพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560 ศูนย์ศึกษาสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดวงพูดคุย เหมืองแร่ : ฝ่าข้ามความเหลื่อมล้ำด้วยบูรณาการความร่วมมือสู่อนาคต (SDG 17) ในการเสวนา “ยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยวิทยากร

  1. คุณสมหมาย เดชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
  2. ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
  3. คุณสมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระ ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน

ดำเนินรายการโดย ดร.ศยามล เจริญรัตน์ ผู้ช่วยอำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

 

 

คุณสมหมาย เดชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี : ในส่วนของกรมทรัพยากรธรณี ก็พยายามที่จะทำงานตรวจสอบความสมดุลในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ ซึ่งแต่เดิม การทำงานเรื่องเหมืองแร่มีกรมทรัพยากรธรณี กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เคยเป็นกรมเดียวกันมาก่อน ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการสำรวจแหล่งแร่ ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ 2510 จนถึงตอนนี้มี พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ปี 2560 และแยกกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตน

ในปี 2535 เกิดกระแสอนุรักษ์ มีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมขึ้น ทำให้การทำเหมืองในระยะต่อมาก็คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในปี 2540-2543 มีเรื่องการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน

การร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมจริง ๆ แล้ว ข้อมูลวิชาการเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสามารถนำข้อมูลเป็นเครื่องมือยืนยันสิ่งต่าง ๆ ข้อมูลสามารถทำให้เกิดปัญหานำไปสู่ความขัดแย้งและอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันการประกอบกิจการเหมือง เหมืองก็ทำตาม EIA รายการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็โอเค แต่ที่เกิดความขัดแย้งมาก็มีไม่ถึง 5 % ส่วนของผู้ประกอบการ เขาก็เป็นกลไกตัวหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเวลาเดียวกันเขาก็อยู่ภายใต้กฎหมาย

แต่ปัญหาความขัดแย้งส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นเพราะ ภาครัฐใช้ระยะเวลานานในการแสดงความชัดเจนของกระบวนการทำงาน มันก็เลยเป็นปัญหาทุกภาคส่วน

หากลองมองให้กว้างขึ้นจะเห็นว่า มันเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน กรมเหมืองดูเรื่องความคุ้มค่า ป่าไม้ดูเรื่องการชดเชย พอมารวมกัน กรรมการแต่ละท่าน แต่ละภาคส่วน ก็มีบทบาทของตัวเอง ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้เหมาะสมแล้วมาเจอกันตรงกลาง

ที่จริงภาครัฐควรมีเครื่องมือที่จะเป็นกลไกความร่วมมือ ซึ่งมีคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการทำแผนแม่บทในไทย ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วน ที่กำลังทำงานอยู่ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์แร่ เรามองไว้ 5 ปี ว่าเราจะทำแผนแม่บทเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศเรื่องการกำหนดนโยบายแร่ เช่น ซีเมนต์และการก่อสร้าง โปแตซ ควอตซ์ แร่ทองคำ และแร่อื่น ๆ ในวันที่ 25 ก.ย. ที่จะถึงนี้ (เปิดเวทีรับฟังแผนแม่บทแร่ ครั้งแรก) มีงานให้ข้อคิดเห็นแผนแม่บท รับฟังความเห็นเพื่อจะเอาข้อมูลมาทำแผนแม่บท เรื่อง SDGs การพัฒนาที่ยั่งยืน ก็สามารถที่จะตอบสนองได้

เรื่องการส่งเสริมและกำหนดหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วม การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม การกำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการทำงาน และที่สำคัญคือผลักดันการมีส่วนร่วม ก็ต้องมีการคิดหลักเกณฑ์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการแร่อย่างเป็นธรรม

เรื่องการมีส่วนร่วมซึ่งไม่มีใน 2510 ในเรื่องการรับฟังความเห็น ทำให้การพัฒนาแร่สามารถจะลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกส่วนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ภาคเอกชนก็ต้องรับผิดชอบต่อกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด นักวิชาการก็ต้องนำเสนอข้อมูลแบบตรงไปตรงมา เข้าถึงภาคประชาชน ต้องได้รับดูแล ได้รับการปกป้องอย่างเป็นธรรม

ขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องแผนแม่บท ถัดไปคือการดำเนินการตามแผนแม่บท ซึ่งแต่ละภาคส่วนมีบทบาทของตัวเอง ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้เหมาะสมแล้วมาเจอกันตรงกลาง

 

 

สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการอิสระ ด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน : เรากำลังจะมีแผนแม่บทการจัดการแร่แห่งชาติ ฉบับที่ 1 ของประเทศไทย ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ดิฉันจะขอเล่าเรื่องราว ชาวม้งที่แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชุมชนเคยมีเหมืองถ่านหินขนาดเล็ก ตอนที่เดินทางไปที่นั่น คือช่วงที่เหมืองหมดอายุสัมปทานและกำลังจะขอสัมปทานใหม่ ชาวบ้านมีความกังวลใจ บอกว่าไม่อยากได้เหมือง เลยถอดบทเรียนจากเขาว่า 10 ปีที่ผ่านมา เหมืองให้อะไรกับเขาบ้าง เขาบอกว่า

“10 ปีที่แล้วเหมืองมา เขาดีใจมาก เพราะเขาอยู่ป่า ทำการเกษตร หาของป่า เหมืองมาเขาคงจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่หลังจากที่เหมืองเปิด มันไม่ได้เป็นแบบที่เขาคิด ผู้ชายในหมู่บ้านไปเป็นคนงานในเหมือง ผู้หญิงอยู่บ้าน เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ทำไร่ แล้วก็หวังว่าผู้ชายไปทำงานแล้วจะมีรายได้กลับมา แต่งานในเหมืองหนักมาก เขาต้องใช้สารเสพติดในการกระตุ้นให้มีแรงในการทำงาน โดยนายจ้างเป็นคนจำหน่ายให้ พอเงินเดือนออกก็โดนหักค่ายา เหลือเงินน้อยนิดให้เมียที่บ้าน พอทำงานหนักขึ้น ใช้ยาปริมาณมากขึ้น จนไม่เหลือเงินส่งให้ที่บ้าน ผู้หญิงก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น ทะเลาะกันหนักเข้า ผู้ชายไม่กลับบ้าน เกิดปัญหาหย่าร้าง ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับหนึ่งเลย รายได้ที่คิดว่าจะมาทำให้ชีวิตดีขึ้นมามันไม่ใช่”

ตลอดอายุ 10 ปี เขาทุกข์และได้บทเรียนมามากพอแล้ว แล้วเริ่มต้นใหม่ทั้งอาชีพ ครอบครัว  ความเป็นอยู่ บทเรียนจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ตอบคำถามได้ว่า ทำไมชาวบ้านถึงปฏิเสธการทำเหมืองแร่ เป็นปัญหาประเด็นทางด้านสังคม

เราจะก้าวไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไร ?

SDG (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) บอกว่า การพัฒนาจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างทาง ต้องไปด้วยกัน โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ที่มันเสี่ยงมาก

SDG ข้อ 17 พูดถึงเรื่องการให้ความสำคัญของภาคี การมีส่วนร่วม เราจะสร้างหุ้นส่วนการพัฒนา ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนา รัฐ เอกชน นักวิชาการ ประชาชน ทุกคนต้องทำบทบาทหน้าที่ของตัวเอง

แล้วอะไรคือสิ่งสำคัญในการจัดการทรัพยากรแร่

1. ถ้าความรู้คืออำนาจ ในประเด็นเรื่องเหมืองแร่ มีความไม่เท่ากันของความรู้ ของประชาชน ของผู้เชี่ยวชาญ และในระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้วยกันเอง ต้องสร้างความเป็นธรรมในเรื่องความรู้ของการตัดสินใจ ต้องยอมรับและเคารพซึ่งกันและกัน

2. ในพื้นที่ถกเถียง มีเสียงบางเสียงดังกล่าว ในขณะที่บางเสียงพยายามตะโกนเท่าไหร่ก็ไม่ได้ยินการมีส่วนร่วมมากกว่า Engaging consultive จะทำให้ไปด้วยกันอย่างไร

กรณีศึกษาคลิตี้ ไปถึงขณะฟื้นฟู ตอนนี้ก็ยังเถียงกันอีกว่าจะฟื้นฟูอย่างไรอีก มาทำงานร่วมกันทำอย่างไรกรมควบคุมมลพิษ พยายามหาแนวทางการฟื้นฟู ภาษาของนักวิชาการมันสื่อสารไม่เข้าใจ โดยการวาดแผนที่ทางน้ำของรัฐ ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็วาดแผนที่ของตัวเอง เด็ก ๆ เล่นน้ำที่ไหน ใช้แหล่งน้ำส่วนไหน ชาวบ้านทำแผนที่ความเสี่ยงจากการอุปโภคบริโภคน้ำเอง แล้วเอาแผนที่มาซ้อนกัน ทำให้เห็นภาพที่จะไปถึงการฟื้นฟูที่ครอบคลุมและไปถึงผู้ที่โดนผลกระทบชัดเจนขึ้น ชาวบ้าน เชิญผู้เกี่ยวข้องส่วนต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุข รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  มาตั้งวงคุย จากข้อมูลที่ชาวบ้านมี มาเซ็ตระบบดูแลกัน เจอกันครึ่งทาง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้ระยะเวลา 1 ปี

ความรู้ที่ไม่เท่ากัน การเข้าถึงหรือโอกาสของการเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เข้าไปรับรู้จริงหรือเปล่า ตั้งแต่การสื่อสาร การเก็บข้อมูลสำคัญ ใครเก็บ ใช้วิธีอะไรในการเก็บ และสำคัญที่สุดคือ พยายามจะโฟกัสกลุ่มที่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องเหมืองแร่ เราคุยกันอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่เหมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เราไม่ได้คุยกับชาวบ้าน คนในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่แร่ แล้วทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้ว่าในแผ่นดินตัวเองมีแร่ทรัพยากรที่เป็นมูลค่า

ชาวบ้านควรมีส่วนในการตัดสินใจ รับฟังชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีพื้นที่มากขึ้น เพราะเรามีการวางแผนร่วมกันแล้ว แต่ตอนนี้มันมีปัญหา เพราะในพื้นที่มันไม่เคลียร์ ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการแผนตั้งแต่ต้น

 

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) : ความคุ้มค่า ในการพัฒนาเหมืองเราจะให้เหตุผลว่า “คุ้ม มีมูลค่า” แนวคิดแบบนี้ใช้ได้ในแนวคิดปกติทั่วไป แต่ใช้กับเหมืองแร่ไม่ได้ เช่น  ธุรกิจธรรมดา ดูค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ถ้าดีเราก็จะทำต่อ แต่กรณีแร่ทำแบบนี้ไม่ได้

กรณีแร่เราจะต้องคำนึงถึงลักษณะพิเศษของแร่ มีความเชื่อมโยงระหว่างปี ไม่เหมือนธุรกิจอื่น

สมมุติถ้าปี 2560 เราขุดแร่มาเยอะมันจะคุ้ม แต่ปี 2570 แร่เราจะน้อยลงเพราะทรัพยากรถูกใช้ไปแล้ว ไม่เหมือนกับการปลูกข้าวและถ้าไปดูปี 2580 ราคาดีมากแต่เราทำไม่ได้ เพราะฐานทรัพยากรแร่เหลือน้อย เพราะปี 2560 แร่ถูกขุดไปเยอะแล้ว หลังจากนั้นเกิดความขาดทุนทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าดูแค่ปี 2560 เราจะคิดว่าเราได้กำไร แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่

ฉะนั้นคนที่ตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ต้องมีความชำนานในการทำนายทรัพยากรแร่ที่ดี

การพัฒนาเหมือง เหมือนกับการมีเงินแล้วพยายามลงทุน การออมทรัพย์เอาดอกเบี้ย หรือเอาไปซื้อหุ้น เราจะมีทรัพย์สินอยู่ 2 กอง แร่อยู่ในดิน มันจะทำให้ได้ของราคาสูงขึ้นทุกวัน แต่แร่ที่อยู่บนดินเราจะได้เงินสด เราต้องเอามาเปรียบเทียบกัน

เมื่อไรที่ราคาแร่ดีอย่าเพิ่งขุด แต่ถ้าราคาคงที่ควรเร่งขุดขึ้นมาแล้วนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ ฉะนั้น ต้องมีการควบคุมโดยภาครัฐเพื่อตักตวง หากปล่อยให้ใครขุดก็ได้ จะเป็นการขุดเกินความจำเป็น

การค้าระหว่างประเทศ การส่งออกนำเข้าเหมือนประตูบ้าน ถ้าแร่ตัวไหนไม่พัฒนา เช่น ทอง เราไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีทองใส่เพราะเรานำเข้าได้ ใช้กรณีแร่เยอะให้ส่งออก ถ้าน้อยให้นำเข้า นอกจากนี้เรายังนำเข้าผู้ประกอบการได้ แร่บางชนิดเราไม่มีทักษะในการขุดเราก็ทำร่วมมือกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ได้

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองก็เช่นกัน เวลาทำเหมืองต้องระมัดระวัง รัฐเก็บข้อมูลให้เยอะ เพราะหากเก็บไม่พอจะไปพิสูจน์ว่าเหมืองผิดก็จะยาก ความปนเปื้อนมาจากเหมืองไม่ได้มาจากธรรมชาติ พิสูจน์ว่าการที่สุขภาพคนแย่เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมที่มาจากเหมือง ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ต้องเก็บ เพราะเป็นประโยชน์

การควบคุมปริมาณการผลิต เช่น การกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง การกำหนดค่าภาคหลวง กำหนดอัตราภาษีศุลกากร การควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น มีเงินมัดจำความเสียหายเมื่อประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพ กรมทัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ จนถึงการควบคุมการหารายได้เข้ารัฐ เหมือนกับที่ กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ ถ้าในเรื่องของแร่ อาจจะมีการประเปิดประมูลพื้นที่แหล่งแร่ ให้สถานประกอบการเข้ามาประมูลก็ได้ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการแร่ได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ