กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ เดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครองโคราช ให้มีคำสั่งเพิกถอนอีไอเอเหมืองแร่โปแตชพ่วงโรงไฟฟ้าถ่านหินสอดไส้กะลาปาล์ม อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ 25 ก.ย.นี้
24 ก.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 25 ก.ย. 25960 เวลา 09.00 น. ที่ศาลปกครองนครราชสีมา ต.หนองกระทุ่ม อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จะเดินทางเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินดังกล่าว ทั้ง 2 ฉบับ
จากกรณีที่บริษัทอาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อ.บำเหน็จณรงค์ และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหินดังกล่าว โดยมีบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาผู้จัดการทำรายงานอีไอเอทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ระบุว่ารายงานอีไอเอทั้ง 2 ฉบับมีปัญหาไร้ความชอบธรรมให้หลายประเด็น ดังนี้
1) รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน
• ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ในการขออนุญาตและการจัดเวทีประชาคม
• มีการลัดขั้นตอนการยื่นขอใช้ประโยชน์แหล่งน้ำสาธารณะบึงทะเลสีดอ/การใช้น้ำเขื่อนลำคันฉู
• ฯลฯ
2) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชและเกลือหิน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ
• มีการจัดส่งรายงานฯ ที่ขัดกับมติ สผ.และ คชก.ตามมาตรา 48 และ 49 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ในการประชุมครั้งที่ 39/2559 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2559 ที่ให้บริษัทฯ กลับไปเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ทั้งหมดจึงจะนำกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน แต่บริษัทฯ ยังดึงดันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งด้วยการกลับไปเริ่มเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานใหม่ทั้งหมดตามมติ ไม่มีการชี้แจงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภายใน 30 วัน และไม่มีการเริ่มกระบวนการ ค.1, ค.2 ใหม่ เป็นต้น
ซ้ำร้ายทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ยังรับรายงานฯ ดังกล่าวเข้าสู่การประชุม คชก.เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 และ 21 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมาเข้าสู่การพิจารณาอีกด้วยนั้น จึงเสมือนเป็นการขัดคำสั่งมติที่ประชุมตามมาตรา 48 และ 49 ทั้ง สผ. และ คชก. จึงมีความผิดโดยสำเร็จตั้งแต่การรับรายงานฯ เข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 20 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่กลุ่มฯ ได้มีหนังสือขอให้ยกเลิกและไม่รับพิจารณารายงานดังกล่าว
• ภายหลัง สผ.และ คชก.มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรายงานฯ อีกครั้งในวันที่ 20 เม.ย. 2560 บริษัทอาเซียนโปแตชฯ และบริษัทฯ ที่ปรึกษา จึงมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงจากถ่านหินมาเป็นชีวมวลกะลาปาล์ม เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา แต่กลับเป็นเวทีกีดกันไม่รับฟังความคิดเห็นมีการนำกำลังทหาร ตำรวจมาปิดกั้น มีการคล้องโซ่ปิดประตูไม่ให้ประชาชนผู้คัดค้านเข้าร่วมเวที เพราะกลุ่มฯ มีความกังวลว่าจะมีการกลับมาใช้ถ่านหินอีกครั้งจึงต้องการเข้าร่วมเวทีเพื่อขอคำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรและขอให้ยกเลิกอีไอเอฉบับถ่านหินแล้วเริ่มต้นจัดทำอีไอเอฉบับชีวมวลกะลาปาล์มขึ้นใหม่ แต่กลับถูกกีดกันขัดขว้าง ซ้ำร้าย สผ. และ คชก. ยังรับรายงานอีไอเอฉบับนี้เข้าสู่การประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา
ดังนั้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จึงต้องเดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา เพื่อให้ศาลมีคำสั่ง 1.เพิกถอนใบอนุญาตการใช้น้ำ 2.เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้ง 2 ฉบับ 3.ถอนการพิจารณารายงานฯ ครั้งที่ 4 ฉบับชีวมวล ที่ใช้ข้อมูลวันที่ 24 ก.ค. 2560 ออกจากการประชุม สผ. และ คชก. เป็นต้น