เริ่มแล้ว! สืบพยาน “คดีชาวบ้านเมืองเลยฟ้องกลับเหมืองทอง” หลังศาลยกฟ้องคดีซุ้มประตู 50 ล้าน

เริ่มแล้ว! สืบพยาน “คดีชาวบ้านเมืองเลยฟ้องกลับเหมืองทอง” หลังศาลยกฟ้องคดีซุ้มประตู 50 ล้าน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านร่วมให้กำลังใจนัดสืบพยานโจทก์ คดี 6 ชาวบ้านฟ้องกลับบริษัทเหมืองทองข้อหาละเมิดทำให้เสียหาย เรียกค่าเสียหาย 2 แสนกว่าบาท หลังศาลชั้นต้น-อุทธรณ์สั่งยกฟ้องคดีซุ้มประตูที่บริษัทฯ ฟ้องเรียก 50 ล้าน อ้างกระทบความน่าเชื่อถือ พรุ่งนี้นัดอีกสืบพยานจำเลย

วันนี้ (21 ก.ย. 2560) เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปศาลจังหวัดเลย เพื่อให้กำลังใจตัวแทนชาวบ้าน 6 คน ในการนัดสืบพยานคดีฟ้องกลับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในฟื้นที่ ในข้อหาละเมิดทำให้เสียหาย โดยชาวบ้านเรียกค่าเสียหายกว่าสองแสนบาท

จากคดีที่บริษัทฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 50 ล้านบาท กรณีการทำป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง”ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย “ปิดเหมืองฟื้นฟู” ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน ซึ่งศาลจังหวัดเลยได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ก.ย. 2560) เป็นนัดสืบพยานโจทก์ ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 22 ก.ย. 2560 โดยในคดีนี้ทางจำเลยไม่มีสิทธิสืบพยานเพราะจำเลยขาดส่งคำให้การ แต่ทางจำเลยมีสิทธิถามค้านได้

ทั้งนี้ ตามคำฟ้องของกลุ่มชาวบ้านระบุถึงลำดับเหตุการณ์ไว้ด้งนี้ ชาวบ้านทั้ง 6 คนมีภูมิลำเนาอยู่หมู่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรและไม่เคยมีปัญหาเรื่องมลพิษแต่อย่างใด ต่อมาปี พ.ศ.2549 จำเลยได้เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ ต.นาหนองบง และพื้นที่ใกล้เคียง โดยบริเวณที่ทำเหมืองห่างจากหมู่บ้านประมาณ 500 เมตร

หลังจากนั้นได้เกิดมลพิษขึ้นในพื้นที่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเจ็บป่วย ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านทั้ง 6 คน และชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” เพื่อปกป้อง คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ชุมชน ตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งหน่วยงานได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ปรากฏว่าพบสารโลหะหนักปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพชาวบ้าน คุณภาพดิน และตะกอนดิน ต่อมาหน่วยงานราชการประกาศให้ประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำเพื่ออุปโภค และบริโภค นอกจากนี้ยังตรวจพบว่าประชาชนมีสารโลหะหนักในร่างกาย และมีสุขภาพไม่เเข็งแรง

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เรียกร้องให้หน่วยงานเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนตลอดมา แต่กลับไม่ได้รับแก้ไขฟื้นฟูแต่อย่างใด กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเห็นว่าผลกระทบดังกล่าวเกิดจากการที่มีการทำเหมืองของจำเลยในพื้นที่ เนื่องจากก่อนมีการทำเหมืองไม่เคยมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น

เมื่อมีการร้องเรียนให้แก้ไขแล้วไม่มีการแก้ไข กลุ่นฅนรักษ์บ้านเกิดจึงได้ร่วมกันจัดทำป้ายเพื่อแสดงให้หน่วยงานเข้าใจถึงเป้าประสงค์ของชาวบ้านว่าต้องการให้มีการฟื้นฟูเยียวยา จึงได้มีการจัดทำซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านนาหนองบง มีข้อความว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” และมีการติดป้ายในหมู่บ้านในลักษณะว่า “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดแก่ชุมชน อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและชุมชน ทั้งต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนในชุมชน

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 บริษัททุ่งคำฯ ได้ฟ้องชาวบ้าน 6 คนต่อศาลจังหวัดเลย ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 574/2558 ในข้อหาร่วมกันก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านนาหนองบง มีข้อความว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” และมีการติดตั้งป้ายประกาศขนาดเล็กอีกหลายป้าย ตลอดถนนทางเข้าหมู่บ้านโดยมีข้อความในลักษณะที่ว่า “ปิดเหมือง ฟื้นฟู” อันเป็นการทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โดยอ้างว่า เนื่องจากบริษัททุ่งคำฯ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ การกระทำของชาวบ้านทั้ง 6 คนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ จึงขอเรียกร้องให้ชาวบ้านทั้ง 6 คนชดใช้เงินแก่บริษัทฯ เป็นเงินจำนวน 50,000,000 บาท

ต่อมาวันที่ 30 มี.ค. 2559 ศาลจังหวัดเลยได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของชาวบ้านดังกล่าวไม่มีการปิดล้อมเหมือง ขัดขวางการดำเนินกิจการงานโดยชอบของบริษัทฯ แต่กลับเป็นเพียงข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหา จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นและเสนอความคิดเห็นไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้านของตน นับได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงไม่เป็นการใข้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่เป็นการละเมิดโจทก์

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของชาวบ้านทั้ง 6 คน ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของบริษัทฯ ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษายืน ให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้ง 6 โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้รวม 300,000 บาท

ต่อมาชาวบ้านกุล่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ปรึกษาหารือกัน และได้มีความเห็นร่วมกันว่า การที่บริษัทฯ ฟ้องคดีดังกล่าวต่อชาวบ้านทั้ง 6 คน ทั้ง ๆ ที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ชาวบ้านทั้ง 6 คนและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้ใช้สิทธิในการติดตั้งซุ้มประตูหรือป้ายในหมู่บ้าน เป็นเพียงการใช้สิทธิในการเรียกร้องหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หาได้มุ่งหมายให้บริษัทฯ เกิดความเสียหายตามฟ้องในคดีดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แต่บริษัทฯ กลับนำความมาฟ้องร้องชาวบ้านต่อทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ อันแสดงถึงการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและมีความมุ่งหมายหรือเจตนาที่จะให้ชาวบ้านทั้ง 6 คนได้รับความเสียหาย อันเป็นการละเมิดต่อชาวบ้านทั้ง 6 คน บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้สินไหมทดแทนแก่ชาวบ้านทั้ง 6 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 298,198.46 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ