ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ระดมพลจากทั่วประเทศ เดินหน้าเรียกร้องรัฐบาลปัญหานโยบายป่าไม้และที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน-คนจน เผยที่ผ่านมาแก้ปัญหาล่าช้าทำชุมชนถูกคุกคามดำเนินคดี
วันนี้ (11 ก.ย. 2560) เวลาประมาณ 09.30 น. สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ (P-Move) เดินทางจากทั่วประเทศมารวมตัวเข้ายื่นหนังสือให้กับตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานโยบายป่าไม้และที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและคนจน โดยระบุว่าที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามีความล่าช้า และชุมชนถูกคุกคามดำเนินคดีโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของพีมูฟต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มีดังนี้
เปิดการเจรจาการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของพีมูฟ
ข้อเรียกร้องต่อ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขอให้มีการเจรจาการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของพีมูฟ
สืบเนื่องจากการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 216/2557 ที่ผ่านมาแม้มีการประชุมร่วมกับรัฐบาลและได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาในหลายเรื่อง แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัตินั้นเกิดความล่าช้าเนื่องจากการประชุมของอนุกรรมการทุกคณะไม่มีความต่อเนื่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ยึดแนวทางการปฏิบัติตามที่ได้ปรึกษาหารือหรือเป็นมติร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้น
เพื่อให้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ พีมูฟจึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านและทบทวนแนวทางการปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
2.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในชุมชน 5 พื้นที่ ให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ทบทวนหลักการจัดสรรงบประมาณตามมติ ครม. 22 ก.พ. 2554 เพิ่มเติมในส่วนงบอุดหนุนในเกษตรกรผู้มีอัตราหนี้เพิ่ม 230,000 บาท ให้มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับงบประมาณให้เปล่าในการพัฒนาสาธารณูปโภค ตามมติ ครม. ครัวเรือนละ 50,000 บาท รวมทั้งให้มีดอกเบี้ย คงเหลือ 0.50 สตางค์ ในการเช่าซื้อที่ดิน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรับภาระในการเช่าซื้อมากเกินไป อีกทั้งให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินเร่งรัดดำเนินการธนาคารที่ดินในพื้นที่อื่นของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่ได้แสดงเจตจำนงไว้แล้ว
3.กรณีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อ.แม่สอด ให้เร่งการดำเนินการจัดหาที่ดินทดแทนกับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้ง 6 ราย ได้แก่ นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ แปลงที่ 1 จำนวน 9-1-82 ไร่ และ แปลงที่ 2 จำนวน 1-3-52 ไร่ นางน้อย เสนทา จำนวน 8-3-63 ไร่ นางบัวตอง เครือคำวัง แปลงที่ 1 จำนวน 23 ไร่ (ภทบ.5) แปลงที่ 2 จำนวน 17 ไร่ (นส.3) นายแก้ว อินทรักษ์ จำนวน 45 ไร่ นายปานทอง พุทธตรัส จำนวน 25-2-0 ไร่ และ นางนภาภรณ์ มูลเจริญพร จำนวน 27-0-60 ไร่ อีกทั้งยุติการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น
4.กรณีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จะต้องบรรจุระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดโฉนดชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้การดำเนินการของ คทช. ตลอดจนปรับระเบียบของ คทช. ให้สอดคล้องกันในลักษณะการจัดการที่ดินแปลงรวมโดยชุมชน
5.การดำเนินการของคณะอนุกรรมการ เร่งรัดสั่งการให้มีการประชุม ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมของอนุกรรมทุกคณะ ไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ขปส. มีความล่าช้า
ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมกำหนดการติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลในวันที่ 25 ก.ย. 2560 เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป
แก้ปัญหาข้อพิพาทป่าไม้ที่ดิน จี้ยุติทวงคืนผืนป่า-แผนแม่บทป่าไม้
ข้อเรียกร้องต่อ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโครงการและนโยบายของรัฐ กรณีปัญหาที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้และกรมอุทยาน
โดยเฉพาะภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าและดำเนินการตามแผนแม่บทป่าไม้ที่มีเป้าหมายคือการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศภายในระยะเวลา 10 ปี ในปีแรกจะหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงป่าจากผู้ถือครอง หลังจากนั้นภายใน 2ปี จะมีระบบการบริหารการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพและในช่วงระยะเวลา 2 – 10 ปี จะฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วประเทศ
ผลจากการทวงคืนดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ในเครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจำนวน 34 กรณี จำแนกเป็นภาคเหนือ 11 กรณี ภาคใต้ 9 กรณี และภาคอีสาน 14 กรณี ทั้งการถูกตัดฟันอาสิน ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่รวมทั้งถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยความไม่เป็นธรรม
ขณะเดียวกันการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติก็ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งทำให้ชุมชนสูญเสียที่ดินทำกินและพื้นที่ป่าชุมชนดั้งเดิม การที่มีความพยายามในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. … เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่ แต่จะส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อคนจนที่อยู่อาศัยทำกินมายาวนาน
จากเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายโครงการและแผนปฏิบัติการที่ขาดกระบวนการมีส่วนร่วม แม้จะมีกลไกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ระหว่างกระบวนการประชาชนกับกระทรวงทรัพย์ฯ แต่ก็มีการประชุมคณะทำงานชุดดังกล่าวเพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2558 หลังจากนั้นไม่ได้มีการประชุมคณะทำงานชุดดังกล่าวอีกเลย ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกนำมาแก้ไขและเป็นการสะสมปัญหาและผลกระทบเพิ่มทวีคูณ
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขและมีทางเลือกที่เหมาะสมในการเพิ่มพื้นที่ป่าที่ไม่กระทบกับวิถีของคนในชุมชนตามเจตนาของรัฐบาลที่ต้องการคืนความสุขให้กับประชาชน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจึงขอให้
1.ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทป่าไม้
2.สร้างมาตรการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตปกติสุขของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
3.เร่งรัดการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายในวันที่ 29 ก.ย. 2560
คืนความสุขให้ประชาชน เร่งแก้ปัญหา ‘คดีความ’ ของชุมชน
ข้อเรียกร้องต่อ รัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้แก้ไขปัญหาของพีมูฟ ตามที่ได้มีกลไกร่วมในการแก้ไขปัญหากับรัฐบาล แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเกิดความล่าช้าจึงทำให้หลายพื้นที่เกิดความขัดแย้งในการทำงานระหว่างรัฐและประชาชนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
อีกทั้งส่งผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องคดีความหลายกรณีได้แก่
1.กรณีโคกภูพระ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
2.กรณีชุมชนโคกฟันทาใหญ่ จ.ศรีษะเกษ
3.กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง ต.ห้วยแย้ ต.วังตะเฆ่ หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
4.กรณีบ้านตระ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
5.กรณีชุมชนทับเขือปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง
6.กรณีชุมชนนาน้อย จ.น่าน
เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและคืนความสุขให้ประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล จึงขอเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาดังนี้
1.ให้ยุติการดำเนินการใดๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
2.ในกรณีพื้นที่ ที่มีปัญหาเรื่องคดีความขอให้ส่งเรื่องให้อนุฯ คดีความพิจารณา