แจ้งข้อกล่าวหา อ.ชยันต์ วรรธนะภูติและผู้ร่วมเวทีไทยศึกษา ชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากติดป้ายว่า เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร อ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านทางการเมือง ด้าน 5 บุคคลรับทราบและปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร
วันที่ 21 ส.ค. 2560 ที่คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการแถลงข่าว กรณีผู้จัดและผู้ร่วมงานประชุมนานาชาติไทยศึกษาถูกหมายเรียกข้อหาชุมนุมทางการเมืองจากการจัดงานและเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา ประกอบด้วย อ.ชยันต์ วรรธนภูมิ นายธีรพล บัวงาม นายนลธวัช มะชัย นายชัยพงษ์ สำเนียง และน.ส.ภควดี วีระภาสพงษ์ ได้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือกอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้
โดยการแถลงข่าวนำโดย รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผศ.ดร.ชูศักดิ์ วิทยาภัค ตัวแทนนักวิชาการ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นายจรูญ คำปันนา ตัวแทนภาคประชาชน ระบุว่า มีองค์กรประชาชนเครือข่ายนักวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้กว่า 10 ฉบับซึ่งผู้ลงนามในแถลงการณ์ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่าจุดร่วมของข้อแถลงการณ์ดังกล่าวคือ 1 ให้ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้ง 5 คนโดยทันที 2 ยุติการสร้างบรรยากาศหวาดกลัวต่อสังคมไทย 3.ยุติการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการ 4 ให้ทบทวนยกเลิกคำสั่งคสช 3/2558 เนื่องจากเป็นคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่มีบรรทัดฐานในการปฏิบัติ ตามหลักนิติธรรม
นายชัชวาล ทองดีเลิศ ตัวแทนภาคประชาชนกล่าวว่าอาจารย์ไชยันต์เป็นประธานมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือเห็นมาตลอดว่ามีจุดยืนทำงานเคียงข้างประชาชนชัดเจนเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและจากที่ตนได้เข้าร่วมงานไทยศึกษาคิดว่าเนื้อหาต่างๆในที่ประชุมสังคมและทหารควรที่จะมาฟังในรายละเอียดจะได้ประโยชน์ และมีข้อเรียกร้องให้ถอนแจ้งความและให้กำลังใจผู้ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน
มีรายงานว่าองค์กรชาวบ้านได้รวมตัวกันบริเวณใกล้สถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเพื่อเตรียมจะให้กำลังใจบุคคลทั้ง 5 ที่กำหนดจะเข้าพบเจ้าหน้าที่ในเวลา 13.00 น
ขณะที่บรรยากาศที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก เป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 13.00 น. ที่ 5 บุคคลซึ่งถูกหมายเรียกข้อหาชุมนุมทางการเมืองจากการจัดงานและเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา ประกอบด้วย อ.ชยันต์ วรรธนภูมิ นายธีรพล บัวงาม นายนลธวัช มะชัย นายชัยพงษ์ สำเนียง และน.ส.ภควดี วีระภาสพงษ์ ได้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือกอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่
บรรยากาศในห้องสอบสวน มีตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษา คุณอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความเข้าร่วมรับฟังการเจรจา และต่อมามี อ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการอาวุโสเดินทางจากกรุงเทพมหานครมาร่วมรับฟังราละเอียดการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย
ขณะที่ด้านล่างชาวบ้าน ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการจำนวนมากต่างรอให้กำลังใจและติดตามการเข้าพบพนักงานสอบสวนอย่างใกล้ชิด
และเมื่อเวลา 15.45 น. อ.ดร.ชยันต์ และผู้ถูกกล่าวหาอีก 4 คน เดินออกจากห้องสอบสวนท่ามกลางเสียงตะโกนให้กำลังใจจากชาวบ้านและผู้มารอ
นายสุมิตรชัย หัตถาสาร ทนายความกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งวันนี้คืออ้างเหตุการณ์วันที่ 18 กรกฎาคม ช่วงเวลา 15.00 น ที่มีการติดป้ายว่า เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร มีการกล่าวหาอาจารย์และ 5 คนว่าร่วมกันในการติดป้าย และชูป้ายนั้น อ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านทางการเมือง
ซึ่งวันนี้ทั้ง 5 คนไม่ได้อธิบายรายละเอียดอะไร เพราะมารับทราบข้อกล่าวหา แต่มีคำถามกับทางเจ้าหน้าที่ ว่าคำนี้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองอย่างไร แต่พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อธิบายอะไรเป็นข้ออ้างของทางฝ่ายความมั่นคง เราเลยขอเวลารวบรวมหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อพนักงานสอบสวนอีกครั้งก่อนวันที่ 1 ก.ย.2569 โดยขอให้การเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง แต่ระหว่างนี้เราสามารถยื่นคำให้การและหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน
“ก่อนหน้านี้เรายังไม่ทราบข้อกล่าวหา วันนี้ทราบแล้วจะได้ไปดูว่าเหตุการณ์จริงในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้างจะได้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมด เขาไม่ได้ให้ดูรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมนอกจากเนื้อหาที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาเท่านั้นเอง และไม่ได้มีการขอร้องอะไรว่าห้ามทำอะไร”
อาจารย์ชยันต์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนให้ความกรุณาพวกเรามาก ชี้แจงว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร ตำรวจเป็นเหมือนผู้รับฟังข้อกล่าวหาจากฝ่ายความมั่นคง และอธิบายวิธีทางออกว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่นกลับไปชี้แจงกับฝ่ายความมั่นคง อาจจะมีการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่นั่นหมายถึงว่าเราต้องกลายเป็นผู้ต้องหา ซึ่งพวกเราคิดว่าข้อกล่าวหาฝ่ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกล่าวหานั้น มันไม่มีความชัดเจน และเราไม่ได้ทำอะไรที่เป็นไปตามข้อกล่าวหาและไม่ได้มีความหมายอย่างที่เขาตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับความเป็นจริงมันคนละเรื่อง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นว่าการแสดงออกในระหว่างการจัดประชุมทางวิชาการกลายเป็นถูกตีความไปได้นอกบริบท
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่ามีการให้ลงนามเอ็มโอยูด้วยหรือไม่ อ.ชยันต์กล่าวว่าพนักงานสอบสวนอธิบายว่าคำสั่งคสช.วรรคท้ายมีช่องว่า ฝ่ายความมั่นคงสามารถเรียกมาทำความเข้าใจ สามารถยุติคดีได้ พนักงานสอบสวนเพียงแค่อธิบายไม่ได้ชี้นำว่าจะต้องไปหรือไม่
อาจารย์ชยันต์บอกว่า ขณะนี้เพียงรับทราบข้อกล่าวหาผ่านพนักงานสอบสวนก็จะทำหน้าที่ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นอย่างไร กำลังใจจากเครือข่ายพี่น้องชาวบ้านและนักวิชาการดีมาก เข้าใจว่าพวกเราไม่ได้มีเจตนาแสดงออกทางการเมืองในความหมายนั้น แต่ต้องการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ แต่ข้อกล่าวหาไม่ได้พูดถึงบทความหรือการอภิปรายในห้องเชิงวิชาการเลย เป็นเพียงแค่เรื่องของการชูป้ายและถูกตีความ ว่าอาจเกิดความไม่พอใจหรือกระด้างกระเดื่องเมื่อมีผู้เห็นสื่อหรือป้ายนั้น
อ.ชยันต์กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะมีผลต่อแวดวงวิชาการในระดับหนึ่งเนื่องจาก ถ้าหากเวทีวิชาการถูกจับจ้องและถูกตีความด้วยสายตาของผู้ที่มองเห็นการแสดงออกทางวิชาการว่านำไปสู่ปัญหาทางการเมืองก็จะทําให้คนที่มาร่วมเวทีเกิดความไม่แน่ใจว่าจะพูดอะไรจะคุยกันอะไรก็จะถูกใช้เป็นหลักฐานของการชุมนุมทางการเมืองได้
อ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการที่เดินทางมาให้กำลังใจ อ.ชยันต์ บอกว่า ในวงการวิชาการด้วยกันรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่นักวิชาการจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยเลยต้องมาและอาจารย์เป็นคนที่ตนเองเคารพนับถือมาก จัดงานก็เหนื่อยมากอยู่แล้ว คนมาร่วมเป็น 1000 แล้วยังมาเจอข้อหาซึ่งดูแล้วไม่ค่อยสมเหตุสมผลโดยเฉพาะทำให้บรรยากาศแย่ ทำให้บ้านเมืองที่ผู้ใหญ่พูดว่าอยากสร้างความหวังว่าเราจะเดินทางไปข้างหน้า คิดไปข้างหน้า มาใช้มาตรการแบบนี้ไงบรรยากาศแบบนี้ ตนเห็นว่าสวนทางกับความตั้งใจที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง อยากทำเมืองไทยให้มีความหวังมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ตนเห็นว่าควรที่จะลดบรรยากาศคุกคามและส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศความหวังในสังคมมากกว่านี้
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เนื่องจากกรณีนี้เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการกรรมการ กรรมการสิทธิมนุษยชนร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศูนย์ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ กรณีนี้ส่วนตัวในฐานะที่รับผิดชอบด้านสิทธิพลเมืองและการเมืองมองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการควรได้รับความคุ้มครองและอาจารย์ไชยันต์ก็เป็นอาจารย์อาวุโส
“ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญแล้วมาตรา 24 ให้ความคุ้มครองการชุมนุมอย่างสงบซึ่งสามารถทำได้และกรณีที่ผ่านมาเราก็พบว่าในการจัดการเสวนาทางวิชาการก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ใดที่จะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ ค่อนข้างกังวลว่าถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นแบบนี้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลมีคณะกรรมการปฏิรูปคิดว่ารัฐบาลควรจะต้องรับฟังประชาชนให้มากขึ้น. ถ้ามีการพูดจาให้ความเห็นแล้วถูกแจ้งข้อกล่าวหาถูกจับกุมดำเนินคดีจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและไม่กล้าแสดงความคิดเห็นได้อีกเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก”