กลุ่มสิทธิมนุษยชนจี้ถอนฟ้องคดีกำมะลอ ‘5 นักวิชาการ-น.ศ.’ งานไทยศึกษา เตรียมพบจนท. 21 ส.ค.นี้

กลุ่มสิทธิมนุษยชนจี้ถอนฟ้องคดีกำมะลอ ‘5 นักวิชาการ-น.ศ.’ งานไทยศึกษา เตรียมพบจนท. 21 ส.ค.นี้

ภาพ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และนักวิชาการต่างประเทศ ในงานไทยศึกษาครั้งที่ 13

 

กรณีวานนี้ ปรากฏหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ให้บุคคล 5 ท่าน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นายธีรมล บัวงาม นายนลธวัช มะชัย นายชัยพงษ์ สำเนียง และ น.ส.ภัควดี วีระภาสพงษ์ ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ตลอดทั้งวานนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างแพร่หลาย และวันนี้ เริ่มมีหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ เช่น  Human right Watch เผยแพร่แถลงการณ์เรียกร้องให้ ถอนฟ้องคดีกำมะลอต่อนักวิชาการในงานไทยศึกษา โดยระบุคำกล่าวของแบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า  การเซ็นเซอร์ของรัฐบาลและการสอดแนมข้อมูลของกองทัพ ไม่ควรปรากฏขึ้นในที่ประชุมวิชาการ (อ่านรายละเอียด https://www.hrw.org/th/news/2017/08/15/307887) ขณะที่มีรายงานความเคลื่อนไหวของบุคคลทั้ง 5 ว่า จะเดินทางไปเข้ารับข้อกล่าวหาตามหมายเรียกดังกล่าวในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก

ตามหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหาได้แก่ พันเอกสืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบอำนาจให้ร้อยโทเอกภณ แก้วศิริ มาเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ โดยมีร้อยตำรวจเอกณัฐวัฒน์ เขื่อนแก้ว รองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเป็นผู้ออกหมายเรียก โดยสาเหตุระบุว่าเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยการประชุมวิชาการไทยศึกษาครั้งที่ 13 เป็นการจัดงานที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ จ.เชียงใหม่ เป็นเวทีที่มีนักวิชาการทั้งในและทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติต่างๆ ถือเป็น “พื้นที่ความรู้” เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอ แลกเปลี่ยนและถกเถียง ประเด็นปัญหาต่างๆ รวมทั้งความรู้ทางวิชาการด้านไทยศึกษา (อ่านรายละเอียดข้อมูล ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่)  http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=170704162945

ติดตามเนื้อหางานไทยศึกษาครั้งที่ 13  https://www.facebook.com/icts13/

อย่างไรก็ตามระหว่างการจัดงานในวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” และในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 มีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายมาติดหน้าห้องสัมมนา ปรากฏข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน ซึ่งหลังจากวันนั้นมีรายงานว่า นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ทำหนังสือโทรสารในราชการกรมการปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงความเคลื่อนไหวของนักวิชาการในการประชุมไทยศึกษา และระบุด้วยว่ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จังหวัดเชียงใหม่ จะได้เชิญนักวิชาการเข้ามาพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป (อ่านข่าวเกี่ยวข้อง  https://www.prachatai.com/journal/2017/07/72468  และ http://www.bbc.com/thai/thailand-40652244?SThisFB )

สำหรับผู้ถูกหมายเรียกทั้ง 5 คน ด้วย

1.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เป็นนักวิชาการอาวุโสวัย 73 ปี ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ทำงานอยู่กับคนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ และมีบทบาทด้านการวิชาการระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ดร.ชยันต์ได้รับการยอมรับจากแวดวงวิชาการและนักพัฒนาว่าเป็นผู้จุดประกายให้คนทำงาน ให้แสงสว่างกับขบวนการประชาชน มีความใส่ใจในปัญหาสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม  สำหรับการประชุมวิชาการไทยศึกษา ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุม

2.นายธีรมล บัวงาม  นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันทำหน้าที่บรรณาธิการเว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม รายงานความเคลื่อนไหวประเด็นคนชายขอบ

3.น.ส.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ

4.นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีงานผลงานเขียน เช่น แรงงานข้ามชาติไทใหญ่ : พลเมืองไทยที่ยังไร้สถานะพลเมืองตามกฎหมาย /ความย้อนแย้ง ยอกย้อน สับสน ของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา/คนกลุ่มใหม่ในชนบทกับการเมืองท้องถิ่น

5.นายนลธวัช มะชัย  นักศึกษาปริญญาตรีสาขาการละคร คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้สนใจทำกิจกรรมทางสังคมหลายประเด็นเช่น การศึกษา สิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ สิทธิเด็กและเยาวชน สื่อสารมวลชนที่ส่งผลกระทบต่อวิธีคิดของคนในชุมชน แล้วนำประเด็นเหล่านี้มาสื่อสารให้เป็นประเด็นสาธารณะ

สำหรับ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ระบุความผิดเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5คนขึ้นไป กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามหาก“ผู้กระทำผิด” สมัครใจเข้ารับการอบรมกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกัน
http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order3-2558.pdf

 

ล่าสุดวันนี้ ( 16 สิงหาคม 2560) มีกลุ่มชาวบ้านออกแถลงการณ์ ยืนยัน ดร.ชยันต์ เป็นผู้นำวิชาการมารับใช้สังคมเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยมาโดยตลอด และการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง

 

แถลงการณ์จากชาวบ้าน-องค์กรภาคประชาชน
กรณีการออกหมายเรียกนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

16 สิงหาคม 2560

อาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 สิงหาคม เวลา 10.00 น. ตามที่ได้มีพันเอกสืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ไปแจ้งความกล่าวหาว่า ดร.ชยันต์ และพวกรวม 5 คน มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ระหว่างการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งอีก 4 คน ที่ได้รับหมายเรียกจากกรณีดังกล่าวด้วย คือ นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางภัควดี วีระภาสพงษ์

พวกเราชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย และองค์กรภาคประชาชนขอยืนยันว่า

1. อาจารย์ชยันต์ คือ นักวิชาการที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนคนทุกข์คนยากมาโดยตลอดชีวิตของอาจารย์
2. อาจารย์ชยันต์ เป็นผู้นำวิชาการมารับใช้สังคมเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยมาโดยตลอด
3. การประชุมนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งจัดขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง แต่คือ เวทีวิชาการที่ให้ความเห็นต่อประเด็นทางสังคมของประเทศไทย และประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมและรัฐไทยควรรับฟัง
4. การแสดงออกของอาจารย์ชยันต์และบุคคลตามหมายเรียกดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการ ที่เป็นการแสดงออกทางวิชาการเท่านั้น หาใช่การมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองแต่อย่างใด
5. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและให้สัตยาบันไว้ ได้กำหนดให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีเสรีภาพด้าน ความเห็น การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม นอกจากนี้ คณะกรรมการแห่งสหประชาชาติซึ่งดูแลการปฏิบัติตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและได้ให้สัตยาบันรับรองไว้เช่นกัน ก็ได้เคยเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า เสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสิทธิด้านการศึกษา ครอบคลุมถึง “เสรีภาพของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรี เกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนทำงานอยู่ด้วย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือความหวาดกลัวต่อการปราบปรามจากรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด ความสามารถที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรทางวิชาการหรือหน่วยงานด้านวิชาชีพอื่นใด และการได้รับความคุ้มครองต่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่นเดียวกับบุคคลอื่นที่อยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกัน”

ซึ่งรัฐไทยในฐานะรัฐภาคีและผู้ให้สัตยาบันจะต้องปฏิบัติตามให้สอดคล้องกับกติกาทั้งสองฉบับดังกล่าว

พวกเราขอยืนยันว่า เสรีภาพทางวิชาการเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐจักต้องเคารพและปกป้องสิทธิ นั้น ไม่ใช่ละเมิดสิทธิเสียเอง และเสรีภาพทางวิชาการย่อมหมายถึงเสรีภาพของประชาชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง

เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่ออาจารย์ชยันต์และพวกในทันที และรัฐหรือหน่วยงานใดๆจะต้องไม่ใช้อำนาจแห่งตนในการดำเนินคดีกับบุคคลใดที่ได้ใช้สิทธิในการแสดงออกทางวิชาการและแสดงออกทางความเห็นต่างใดๆอีกต่อไป

 

ลงนามโดย
1. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
2. กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ จ.แพร่
3. กลุ่มอนุรักษ์ต้น้ำท่าแซะ จ.ชุมพร
4. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ
5. สมาพันธ์กะเหรี่ยงแห่งสยาม
6. สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (คสจ.)
7. กลุ่มกะเหรี่ยงภาคเหนือ
8. กลุ่มตะกอนยน จ.แพร่
9. เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน
10. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
11. เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำโขง จ.อุบลราชธานี
12. กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านบุญเรือง จ.เชียงราย
13. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
14. สถาบันอ้อผะหญา (องค์กรสาธารณะประโยชน์)
15. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
16. เครือข่ายชุมชนรักษ์ป่าลุ่มน้ำแจ่มตอนบน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
17. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ
18. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
19. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงล้านนา
20. กลุ่มรักษ์เชียงของ
21. ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง
22. กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลับราชภัฏเชียงราย กลุ่มแอทนอร์ท
23. กลุ่ม The Mekong Butterfly
24. สมัชชา 9 เขื่อน 1แม่น้ำ จ.นครศรีธรรมราช
25. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
26. สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง
27. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
28. มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ