‘มองข้ามความหลากหลาย’ กับดักทำลายความยั่งยืนของสังคมไทย

‘มองข้ามความหลากหลาย’ กับดักทำลายความยั่งยืนของสังคมไทย

“สังคมไทยต้องระมัดระวังกับดักทางความคิด เรื่องการสร้างคู่ตรงข้าม ทำลาย หรือมองข้ามความหลากหลาย และการใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติ”

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่สอง (ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘)

ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และรัฐธรรมนูญไทยกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองไทย” โดย นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่สอง (ปี ๒๕๕๒-๒๕๕๘) เนื่องในงาน 10 ปีปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนพื้นเมือง บทเรียน ข้อท้าทาย และอนาคตชนเผ่าพื้นเมืองไทย วันที่ 8-9 ส.ค.60 ณ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่

“ภายใต้สถานการณ์ที่ผันผวนระดับโลก ความซับซ้อนของเหตุการณ์ทั้งด้านการเมือง และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความไม่ชัดเจนต่างๆ การอยู่ในภาวะที่คลุมเครือมายาวนาน กระบวนการเคลื่อนไหว ต่อสู้ มีการดำเนินการที่ต้องจัดการด้วยตนเอง การที่จะข้ามผ่านวิกฤติการณ์ทั้งความไม่แน่นอน ความผันผวนดังกล่าวต้องใช้ความอุตสาหพยายาม

เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ๑๗ เป้าหมาย โดยเป็นผลจากการประชุมประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ จำนวน ๑๙๒ ประเทศ และรับรองเป้าหมายดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๘

กระบวนเคลื่อนไหว ต่อสู้ใน ๑๗ เป้าหมาย ครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความยากจน การจัดการทรัพยากร มนุษย์ สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม การทำมาหากิน ซึ่งมีเป้าหมายความเป็นธรรม หรือการเป็นหุ้นส่วน ซึ่งพี่น้องชนเผ่าทุกคน คือ เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว เนื่องจากทรัพยากรทุกอย่างเป็นของสาธารณะ ไม่มีการถือครองเป็นเจ้าของ การที่เรามีมุมมองใหม่ในการพัฒนาเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม และนำสู่การปฏิรูปสังคมไทย เช่น ประเทศไทย ๔.๐ เป้าหมายหลัก คือ การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ไม่ได้รวยกระจุก และจนกระจาย มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน หรือปัจจัยขั้นพื้นฐานการดำรงชีวิตอย่างเป็นธรรม

การพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมีกระบวนการที่ดี มิได้เน้นที่เป้าหมายเท่านั้น กระบวนการต้องมีความยุติธรรม การซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา การที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย (เนื้อหาตามการพัฒนาที่ยั่งยืนริโอ)

ในส่วนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีแง่มุมที่เห็นความถดถอย ได้แก่ (๑) การตัด “สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” ออก (มาตรา ๔๓) (๒) การตัด “แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน” ออก (๓) การเพิ่ม “หน้าที่ของรัฐ” เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน (มาตรา ๕๑) โดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม การเยียวยา การดำเนินให้มีการศึกษา EHIA การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (๔) สิทธิการเข้าถึงข้อมูล/การแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจำกัดเพียงกรณีผลกระทบอย่างรุนแรง (มาตรา ๕๘) และ (๕) การตัดไกลตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม”

ข้อเสนอ คือ รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายมิใช่ข้อจำกัดในการใช้สิทธิ โดยให้มองสิทธิที่ข้ามพ้นข้อจำกัดของมิติทางกฎหมาย โดยสิทธิเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นในทางสังคม และบังเกิดขึ้นจากสถาบันของประชาสังคม (ไมเคิล พูซียฺ ปี ๒๕๔๑) ซึ่งในส่วนนี้เป็นการยืนยันการทำหน้าที่ ผู้ทรงสิทธิ (Rights-holder) ซึ่งคือพวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของสิทธิ ในขณะที่รัฐมีหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่ (Duty-bearer)

การขับเคลื่อน SDGs แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ (๑) ระดับโลก มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ตลอดจนตราสารระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รวมถึง Global Compact และ UNGPs ด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (๒) ระดับภูมิภาค มีกลไกประชาอาเซียน และปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ (๒) ระดับประเทศ มีกลไกทั้งรัฐบาล และ กสม.

SDGs เชื่อมโยง และสร้างความสัมพันธ์ใน ๓ ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ (๑) รัฐทำหน้าที่ควบคุม/ตรวจสอบธุรกิจ (๒) ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การกำหนดมาตรการ หรือนโยบายต่างๆ ของรัฐ และ (๓) ภาคเอกชนดูแล ให้ข้อมูลด้านการการสื่อสาร ด้านวิชาการ และอื่นๆ โดยมีกรอบกำกับความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องของทั้ง ๓ ภาคส่วน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) การดำเนินการดังกล่าว อาศัยหลักการบริหารจัดการที่สร้างความเป็นธรรม

การเชื่อมโยงกับภาควิชาการ และวิชาชีพอื่นๆ ในการทำงานร่วมกันถือว่ามีความสำคัญ ในการขับเคลื่อน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง และใช้สื่อเทคโนโลยี ตลอดจนกลไกต่างๆ อาทิ กลไก Universal Periodic Review (UPR) หรือกลไกตามตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งตามกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และกลไกสิทธิอื่นๆ ในการปฏิบัติงาน

แผนงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งขบวนชนเผ่าพื้นเมือง ครอบคลุมจากการปฏิบัติฐานกว้างไปจนถึงระดับนโยบาย ใน ๕ ส่วนสำคัญ คือ (๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนและเครือข่าย (๒) การสร้างความตระหนักในอัตลักษณ์/คุณค่าทางวัฒนธรรม (๓) การเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วม (๔) นโยบายสาธารณะ และ (๕) สุขภาวะชุมชน

สรุป : (๑) สิทธิมนุษยชน เป็นมากกว่าพันธกรณี หรือข้อผูกมัดทางกฎหมาย และไม่ใช้สิ่งที่จะเลือกที่จะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ (๒) รัฐ รัฐใดไม่ยอมรับคุณค่าสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นรัฐที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ย่อมเป็นรัฐที่ต่อต้านประชาชน ทำร้ายประชาชน และทำลายสังคม และ (๓) การพัฒนา การพัฒนาที่ไม่ยอมรับคุณค่าสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมเป็นการพัฒนาที่ทำลายประชาชน ทำลายสังคมด้วยเช่นกัน

สังคมไทยต้องระมัดระวังกับดักทางความคิดเรื่องการสร้างคู่ตรงข้าม ทำลาย หรือมองข้ามความหลากหลาย และการใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติ

ขอบคุณการบันทึกเรื่องราวจาก คุณ EKACHAI PINKAEW

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ