ชนเผ่ารุ่นใหม่กับในหลวงรัชกาลที่9

ชนเผ่ารุ่นใหม่กับในหลวงรัชกาลที่9

กว่า 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับพสกนิกรชาวไทย ไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนาใด  ทรงเสด็จฯเยี่ยมราษฎรของพระองค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ธุรกันดาร ทรงเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์ ให้สัญชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชนเผ่าและคนไทยให้ดีขึ้น เผ่ารุ่นใหม่จึงน้อมนำแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่9มาใช้เพื่อดำเนินชีวิต      

คำถาม : ภาพจำหรือความประทับใจที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่9 ของแต่ละคนเป็นแบบไหน

อรวรรณ หาญทะเล ชาติพันธุ์มอแกน จ.พังงา  – สิ่งที่จดจำและนำมาเป็นแบบอย่าง คือ การที่สังคมไม่ยอมรับเราและดูถูกเรา เลยรู้สึกท้อและไม่อยากทำอะไรเพื่อสังคมเลย แต่พอนึกถึงพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่9 ที่ว่า “ความดีนั้นทำยาก แต่เราต้องทำต่อไป ทำด้วยกำลังให้เต็มแรง สักวันหนึ่งเขาก็คงเห็น” เลยคิดว่าเราทำวันนี้ วันพรุ่งนี้ไม่ได้ ต้องทำตลอดไป ทำทีละนิด ทำทีละหน่อยสักวันหนึ่งมันจะคืนสนองกลับมาสู่พวกเราเอง ชุมชน และสังคม

เมื่อสิบปีที่แล้วเราได้รับผลกระทบจากสึนามิ เราถูกดูถูกและไม่ได้รับการยอมรับมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ สังคมไม่รู้จักชาวเล ไม่รู้จักมอแกน ไม่รู้จักอุรักลาโว้ย เราเลยเริ่มหาทางทำคามเข้าใจกับสังคม ประเทศในหลายวิธีการ ทั้งการก่อตั้งกลุ่มเยาวชนภายในชุมชนของตัวเอง ต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในที่ดินของตนเอง เชื่อมร้อยเครือข่ายชาวเล และเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าอันดามัน และฟื้นฟูวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ใช้การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ เช่น นักข่าวพลเมือง และ ใช้ Social Media ให้เกิดประโยชน์ และทำฐานข้อมูลชนเผ่าในภาคใต้ 4 ชนเผ่า มอแกน กอแกลน อุรักลาโว้ย และมันนิให้มีความชัดเจน

อรวรรณ หาญทะเล : ชาติพันธุ์มอแกน จ.พังงา  // ภาพโดย โพควา

พัชรินทร์ บุญเสริม ชาติพันธุ์ขมุ จ.เชียงราย – ปัจจุบันทำงานมูลนิธิในการจัดการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง เราพบว่าหากครอบครัวมีความยากจน ไม่มีความพร้อม เด็กจะขาดโอกาสทางการศึกษา เด็กไม่สามารถเข้าสู่การศึกษาในระบบรัฐที่แท้จริง แม้ว่าจะมีมีงบสนับสนุนด้านการศึกษาแต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้งหมด และผู้ปกครองก็ไม่มีความสามารถในตรงนั้น เราเห็นว่าในหลวงท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ว่า “ไม่ว่าเราจะพัฒนาสิ่งใด เราต้องเริมพัฒนาที่คนก่อน เมื่อคนได้รับการพัฒนา ประเทศชาติเราก็จะพัฒนาไปด้วย” เราจึงใช้จุดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้จุดเล็กๆที่เรามีอยู่ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด แม้ว่าจะมีแค่ 30 คน แต่หากเขาได้รับโอกาสจะเป็นผลสะท้อนกลับเข้าไปในชุมชน ทำให้ชุมชนมองเห็นว่าการศึกษามีความสำคัญ เมื่อเด็กกลุ่มนี้ประสบความเสร็จมากขึ้น จะเป็นผลสะท้อนกลับไปว่า เราจะละเลยเรื่องการศึกษาไม่ได้ และเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการศึกษามากขึ้นก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับและพัฒนาคนในประเทศชาติ

ณัฐพล บุญยง  กะเหรี่ยงโพล่ว(โพง) จ.ราชบุรี  – ปกติผมเป็นคนกะเหรี่ยงที่ออกไปทำกิจกรรมของนอกหมู่บ้านบ่อย แต่มีสิ่งที่ได้เรียนรู้จากหมู่บ้านเรา คือ การทำไร่ข้าว ที่ยังมีบางบ้านทำอยู่ บางบ้านก็เลิกทำแล้ว ผมคิดว่าเราควรกลับมารื้อฟื้นวิถีการทำไร่ข้าว ซึ่งหากคิดถึงพระองค์ท่านกับไร่ข้าวของผม ผมคิดถึงที่เคนตรัสว่า “ความมั่นคงทางอาหารสำคัญ เท่ากับความมั่นคงทางชีวิต เปรียบเหมือนกับความพออยู่พอเพียง พออยู่พอกิน” ชาวกระเหรี่ยงส่วนใหญ่จะมีไร่ข้าว แต่บางพื้นที่จะเป็นนาขั้นบันได ซึ่งหมูบ้านผมยังทำไร่ข้าวอยู่ทำเป็นกลุ่มเครือญาติ

วัฒนา ทรงพรไพศาล ชาติพันธุ์ปกากญอ เชียงใหม่ – ตอนนี้ผมเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิดทำหน้าที่ประสานงานเครือข่ายในชุมชนและเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รวมกลุ่มกันในชุมชน กลุ่มทำเกษตรอินทรีย์ห้วยขมิ้น-แม่นาจร จะปลูกพวกพืชเมืองหนาว เช่น พลับ สตรอว์เบอร์รี อโวคาโด้ และกาแฟ ในระบบเกษตรอินทรีย์ เคยเป็นนักส่งเสริมอยู่ในสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สิ่งที่เราจะเห็นตลอด คือ ภาพของในหลวงเสด็จเยี่ยมคนบนดอย ท่านไปทุกที่ “เราเลยกลับมาคิดว่าความยากลำบากของสถานที่ที่ท่านเคยเสด็จ และเราหละ เราไม่กลับไปพัฒนาบ้านตัวเองหรือ เลยทำให้ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านรวมตัวกันทำเกษตรอินทรีย์

วัฒนา ทรงพรไพศาล : ชาติพันธุ์ปกากญอ จ.เชียงใหม่ // ภาพโดย โพควา

สสาร สู่สว่าง ชาติพันธุ์ม้ง จ.เชียงราย – เราเป็นผลผลิตจากโครงการของในหลวง คือ ท่านไปส่งเสริมเรื่องการศึกษาให้กับพี่น้องชนเผ่าบนพื้นที่สูงมาโดยตลอด กว่า 50 ปีที่ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎร หากเทียบกับอายุผม 30 ต้นๆท่านเสด็จไปก่อนที่ผมเกิดอีก เราเติบโตมากจากโครงการที่ในหลวงไปช่วย เราได้เรียนต่อ เรามีการศึกษามากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เราเห็น คือ ในหลวงท่านให้ความสำคัญกับการศึกษามาโดยตลอด พอเราได้อ่านได้ศึกษา เลยเกิดคำถามว่า ทำไมท่านต้องลำบากไปช่วยคนที่อยู่บนดอยสูงด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ไปค้นหาสิ่งที่ท่านทำไว้ ยิ่งค้นหา ยิ่งเรียนรู้ จึงรู้ว่าในหลวงท่านเป็นนักพัฒนาที่เก่งมาก คือ ท่านเก่งในด้านการเรียนรู้ของตนเองด้วย มีพระอัจฉริยภาพในหลายๆด้าน “ท่านเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”  ทำให้หันกลับมามองตัวเองว่าก่อนที่เราจะไปพัฒนา เราต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองก่อน แล้วค่อยไปพัฒนาพื้นที่อื่น นี่คือแรงบันดาลใจ เราก็เลยมาดุว่าเราเก่งอะไร เราอยากจะกลับไปช่วยท้องถิ่น อยากกลับไปพัฒนาชนเผ่าของเรา ค้นหาศักยภาพของเรา คือ เราเป็นคนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการสื่อสาร ใช้ Social Media เลยนำตรงนี้ไปสร้างเครือข่ายของนักศึกษาเพื่อช่วยเหลือกันในการเรียน และกลับไปช่วยเหลือสังคมต่อการสร้างเครือข่ายของกลุ่มหนุ่มสาวและเยาวชน

ช่วงสิบปีก่อนหน้านี้เราได้ทำงานในเรื่องของการสื่อสารสื่อ ทั้งเชื่อมต่อการสื่อสาร พัฒนาการทำสื่อ แม้ว่าเราจะไม่ได้อะไรโดยตรงจากตรงนั้น แต่สังคมม้งได้และประเทศชาติก็ได้ตรงนั้น มันเลยเป็นแรงบันดาลใจที่เราจะทำตามในหลวงและช่วยเหลือชนเผ่าเราด้วย

ปัจจุบันเราเริ่มเรียนรู้มากขึ้น พอทำงานไปองค์กรก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เราเองก็มีค่าใช้จ่าย เลยศึกษาเพิ่มพบว่าทำธุรกิจก็ได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจที่คืนกำไรกลับไปช่วยเหลือสังคม ซึ่งเราทำอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องของธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ กำไรที่ได้เราก็นำไปส่งเสริมการศึกษาให้น้องๆในชุมชน และใช้ในการขับเคลื่อนทางสังคมขององค์กรด้วย

สสาร สู่สว่าง : ชาติพันธุ์ม้ง จ.เชียงราย  // ภาพโดย โพควา

การขับเคลื่อนในพื้นที่ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีอะไรบ้าง และคิดว่าอนาคตชาติพันธุ์ของเราจะก้าวต่อไปอย่างไร

อรวรรณ หาญทะเล – ตอนนี้ Social Media และสังคมเปิดกว้างให้กับชาวเลมากขึ้น สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือการปลูกฝังความรู้ให้เยาวชนเพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้าของตนเอง และมีความภาคภูมิใจ ถ้าพวกเขามีสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยสืบทอดสิ่งที่บรรพบุรุษได้มอบมาให้ หากไม่มีตรงนี้คนรุ่นใหม่จะถูกสังคมกลืนไปในที่สุด

ความท้าทาย สังคมหรือรัฐยังให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ชาติพันธุ์น้อยอยู่ แม้ว่าเราพยายามจะสร้างการสืบทอดให้ชาติพันธุ์ต่างๆดำรงอยู่แต่หากรัฐไม่สนับสนุนก็ยากที่จะทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

การกลับไปทำเกษตรอินทรีย์ของคนรุ่นใหม่มีความยากอย่างไร

วัฒนา ทรงพรไพศาล – เราได้รวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบแล้ว กลับมาอยู่บ้าน และที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ตั้งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่มีต้นทุนที่พ่อแม่สร้างไว้ ซึ่งก็มาจากในหลวง คือท่านได้เสด็จมา แล้วก็ได้เห็นสภาพแวดล้อมในพื้นที่ และเริ่มต้นโครงการหลวง พร้อมทั้งส่งนักวิจัยเข้ามาช่วยเหลือในการส่งเสริมปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งตอนนี้พืชผลที่ได้มาก็ให้ผลผลิตดี ไม่ว่าจะเป็นพลับ สตรอว์เบอร์รี และกาแฟ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ชุมชนมีอยู่เดิมแล้ว ในฐานะที่เราเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เราจะจัดระบบอย่างไร ทำอย่างไรให้ผลผลิตมีมูลค่าขึ้น ชุมชนมีตลาดรองรับ เลยมาตั้งเป็นกลุ่มเพื่อจัดการผลผลิตในชุมชน

ตอนกลับมาใหม่ๆเจอปัญหาเยอะมาก เพราะราออกไปเรียนข้างนอก พอกลับมารอบๆทำเกษตรเคมีทั้งหมด อาจจะมียกเว้นไม้ผล ซึ่งพื้นที่ของเราเป็นต้นน้ำ จะทำอย่างไรให้ต้นน้ำของเราสะอาด เพื่อน้ำจะได้ไหลไปหลายๆที่ ตอนกลับมาใหม่ๆไม่มีใครยอมรับ เราต้องทำเอง

ในหลวงท่านบอกตรัสว่า ให้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่สมัยที่เราเรียน เราจะไม่เข้าใจเลยว่าคืออะไร เรียนแต่ทฤษฎี ผมว่าการจะเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงเราต้องปฏิบัติ แล้วเราจะรู้ว่าคืออะไร ผมก็ใช้การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเข้าใจเรื่องนี้

ตอนกลับไปอยู่บ้านช่วงแรก เราบอกว่าให้คนในชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ ชุมชนไม่รู้เลยว่าเกษตรอินทรีย์ คือ อะไร แต่ถ้าบอกว่าปลูกพืชแบบสมัยก่อน เขาจะรู้ สมัยก่อนไม่ใช้สารเคมี เราจบเกษตรมา เลยมีความรู้มาบ้าง คือ สำหรับเราการทำเกษตรอินทรีย์ การไม่ไปเร่ง ปล่อยให้พืชเจริญเติบโตตามฤดูกาลของเขา แต่เราต้องจัดระบบให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ปีแรกปลูกพืชแจกก่อน แล้วหาเครือข่ายโดยใช้ Social Media ช่วงแรกเน้นแจก ไม่ค่อยได้ขาย แต่ก็ทำให้ชุมชนได้เห็น ว่าเกษตรอินทรีย์มันทำได้ ตอนตั้งกลุ่มแรกๆ ไม่ได้จดทะเบียน มีคนถอยออกไปเกือบครึ่ง จนตอนนี้มีสมาชิก 32 คน เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และมีการเชื่อมเครือข่าย หาความรู้เรื่อยๆ เรื่องการอยู่รอดทางเศรษฐกิจเราอยู่ได้ในระดับกลุ่มของเรา แต่อย่างน้อยครอบครัวเราได้กิน ชุมชนได้กิน

ณัฐพล บุญยง  – อาหารที่เรากินในปัจจุบันมีความปลอดภัยน้อยมาก หากเป็นอาหารที่เราผลิตเอง เราจะมีความภูมิใจมาก และรู้ว่ามีความปลอดภัย ผมจึงกลับไปและได้เรียนรู้วิถีชีวิตการทำไร่ข้าว ซึ่งในไร้ข่าวไม่ได้มีเพียงข้าวอย่างเดียว จะปลูกพืชแซม ทั้ง พริก มะเขือ ข้าวโพด เป็นต้น ก่อนเกี่ยวข้าวเราได้กินผัก ที่ปลอดภัยกว่าในท้องตลาด มันเป็นความภูมิใจมากที่เราได้ปลูกเอง กินเอง

อีกอย่างหนึ่ง คือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของชีวิต เราเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ไม่ต้องซื้อพันธุ์ข้าว แบบในหลายๆที่ รวมถึงพันธุ์ผักที่ปลูกในพื้นที่

ณัฐพล บุญยง : กะเหรี่ยงโพล่ว หรือกะเหรี่ยงโพง จ.ราชบุรี  // ภาพโดย โพควา

โสภา ศรีชาวป่า มลาบรี น่าน –ชุมชนเริ่มให้ความสำคัญเรื่องการทำการเกษตร มีการปลูกผักปลอดสารพิษ แต่ด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เราอยู่ร่วมกับป่าเป็นหลัก ตอนนี้เราก็เริ่มฝึกฝนการทำการเกษตร ปลูกผัก และพัฒนาให้ระบบเกษตรในหมู่บ้านมีความมั่นคงมากขึ้น

 

โสภา ศรีชาวป่า :ชาติพันธุ์มลาบรี จ.น่าน

สสาร สู่สว่าง – ในหลวงท่านได้ให้ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เฉพาะให้ทำเกษตรอย่างเดียว ทำอย่างอื่นก็ได้ คือเอาตามความชอบ ความถนัดของเรา ถ้าเราชอบเรื่องการเกษตรก็ทำได้ ทำได้ทุกอาชีพ ซึ่งในการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะทำอะไรก็เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใน 2 เงื่อนไข คือ ความรู้ และคุณธรรม

ความรู้ คือ การใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ไม่ว่าคุณทำอาชีพใดก็ตาม ต้องใฝ่เรียนรู้ตลอด ซึ่งสิ่งที่ผมทำก็คือ เรื่องของ Se (social enterprise) หรือธุรกิจเพื่อสังคม เรื่องธุรกิจคือเรื่องที่เราถนัด เราอยากให้ตรงนี้ไปช่วยสังคม ช่วยเด็กในชุมชนได้ด้วย

ผมมองเห็นต้นทุนของพี่น้องชนเผ่า  คือ อย่างชนเผ่าม้งทำการเกษตรเยอะมาก ก็ต้องใช้ปัจจัยการเกษตรจำนวนมาก มันมีการสนับสนุนให้ทำเกษตรเคมีมานาน ตรงนี้รัฐและนักวิชาการซึ่งเป็นคนสนับสนุนต้องกลับไปเปลี่ยน ผมก็พยายามช่วยเปลี่ยนในเรื่องของทัศนคติ วิธีการและรูปแบบ จึงไปนำปัจจัยการผลิตในรูปแบบอินทรีย์เข้าไปเติม และเข้าไปเสริมในการตลาด เพราะเรามีในตรงนี้

เราส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มา 8 ปี แต่ยังไม่เปลี่ยนเป็นอินทรีย์ทั้งหมด เพราะพลังมันยังไม่มากพอ ทุนไม่มากพอ เราทำตรงนี้สองสามคน มันต้องทำกันเป็นกลุ่มและหน่วยงานรัฐก็ต้องเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงต้องทำให้ได้จริงด้วย ไม่ใช่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วยังไปส่งเสริมเกษตรเคมีอยู่อีก

ทำไปแล้วเห็นว่าความคิด ทัศนคติของเขาเริ่มเปลี่ยน ผู้ผลิตเห็นว่าใช้เคมีแล้วผู้บริโภคเริ่มป่วย ตัวเขาเองก็เริ่มป่วย เงินที่ได้มาก็ไปรักษาสุขภาพ และผลผลิตเปลี่ยนจากใช้เคมีล้วนมาทำอินทรีย์มากขึ้น อันนี้เราภาคภูมิใจ เราเห็นเขามีความสุข มีชีวิตที่ดีขึ้นเราก็ภูมิใจกับเขา

การสร้างชนเผ่ารุ่นใหม่เพื่อมาขับเคลื่อนอนาคตในของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

พัชรินทร์ บุญเสริม – ตัวเราเองตอนเรียนจบมัธยม จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา แม้รัฐมีทุนให้กู้ยืม แต่อาจจะไม่เพียงพอ ต้องอาศัยครอบครัว หรือหางานทำ เราโชคดีที่มีคนให้โอกาสเรา เราจึงอยากหยิบยื่นโอกาสแบบนี้ให้น้องๆขมุในชนเผ่าเรา หรือชาติพันธุ์อื่นๆล้วนต้องการการศึกษา ในหลวงท่านยังเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นรากเหง้าของการพัฒนาในทุกด้าน เราจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาตรงนี้ มีการจัดกิจกรรมให้เด็กทำด้วย เรื่องเกษตรด้วย มีทีมทำงาน และนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อลดรายจ่าย การศึกษาเป็นตัวจุดประกายความคิดที่ทำให้เราอยากเห็นชาติพันธุ์ คนรุ่นหลังก้าวตามมากับเรา และต่อยอดอนาคตให้กลุ่มชาติพันธุ์ทุกลุ่มได้

พัชรินทร์ บุญเสริม : ชาติพันธุ์ขมุ จ.เชียงราย

สสาร สู่สว่าง – แรงบันดาลใจเรื่องกรทำเกษตรอินทรีย์ถือเป็นเรืองที่ดีมาก ผมเห็นในหลวงท่านเสียสละ ท่านมอบทุนให้พวกเรา เสียสละสุขภาพมาทุ่มเทให้พี่น้องชนเผ่าเรา เรามาทำไม่กี่ปีนี่ถือว่าเล็กน้อยมาก ในเรื่องการเกษตรผมอยากให้อดทน และต่อยอดการเรียนรู้ เมื่อเราไม่หยุดพัฒนาจะนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ผมต่อยอดตรงนี้ แล้วนำกำไรกลับคืนไปให้ชุมชน อยู่กันแบบสมดุลให้เราอยู่ได้ และเขาก็อยู่ได้เช่นกัน และทุกคนมีความสุข ใช้ความรู้ที่เราเรียนมา แนวคิดที่ในหลวงท่านให้ไว้ เป็นต้นทุนและพัฒนาต่อ เพื่อช่วยเหลือสังคม และชนเผ่า ในหลวงท่านทำงานอย่างมีความสุข แม้จะขาดทุน ท่านไม่ได้มองตรงนี้ อย่างผมได้ต่อยอดตรงนี้ผมก็มีความสุข

ณัฐพล บุญยง  กะเหรี่ยงเราจะมีการคัดพันธุ์ข้าวโดยแม่ หรือผู้หญิง โดยจะเลือกรวงที่ใหญ่มีคุณภาพ รวมทั้งข้าวโพด นอกจากนี้เรายังพาเด็กและเยาวชนไปเรียนรู้ ทั้งเด็กในเมืองและชนเผ่า พวกเขาตื่นเต้นมากที่ได้เรียนรู้ตรงนี้ เด็กเหล่านี้จะเป็นคนสืบสานต่อ รวมถึงเรียนรู้เรื่องของธรรมชาติด้วย

ความท้าทายของชนเผ่าพื้นเมืองต่อชุมชนของตัวเอง

สสาร สู่สว่าง – ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่ามีเป้าหมายเดียวกัน คือ อยากจะได้สังคมที่สมดุล มีความสุข ไม่ละทิ้งรากเหง้าวัฒนธรรม ผมมองว่ากระบวนการเรียนรู้และหาทางมาแก้ไข ต้องเข้าใจทุกวัย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก มันต้องมีความเข้าใจกันถึงจะเกิดพลัง ต้องมีเวทีให้เด็กแสดงออกตามความสามารถที่มีอยู่ ให้พื้นที่ รวมตัวกัน แล้วใช้พลังของคนหนุ่มสาวไปเชื่อมกับผู้ใหญ่ เช่น ผมพยายามสร้างการรวมกลุ่มกันของคนรุ่นใหม่ แล้วค่อยไปร่วมกิจกรรมกับคนรุ่นเก่า โดยให้คนรุ่นใหม่ใช้สื่อเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของคนรุ่นเก่า เพื่อใช้พลังสื่อทำงาน

พัชรินทร์ บุญเสริม– โลกสื่อสารรวดเร็ว กว้างไกล เป็นทางพวกที่ไม่ต้องเรียนในห้องอย่างเดียว เด็กสามารถใช้ Social Media ในการเปิดโอกาสทางการศึกษา และการสื่อสาร แต่ต้องมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ รวมถึงใช้ให้ถูกวิธี 9voouhการศึกษาของชาติพันธุ์มีการใช้ Social Media มากขึ้น ปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อ เพราะครูไม่พอ อยากให้มีคนคอยควบคุมดูแล ให้คำแนะนำด้วย

โสภา ศรีชาวป่า – คนในพื้นที่ตอนนี้ไม่มีความรู้เรื่องศัตรูพืชเท่าไหร่ เราเพิ่งปรับมาทำเกษตร ส่วนตัวก็ได้มาเรียนข้างนอก มาเรียนรู้เรื่องโรค ศัตรูพืช เราต้องหาข้อมูล คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านพยายามเรียนรู้และปรับตัว

ณัฐพล บุญยง   – ตอนนี้การทำไร่ข้าว เหลืออยู่เพียงไม่กี่ชุมชน เราจะทำอย่างไรให้ชนเผ่าเดียวกับเราเห็นว่าไร่ข้าวสำคัญ แล้วช่วยกันอนุรักษ์ ตรงนี้เรามีพันธุ์ข้าวให้นะครับ และอีกอย่างที่ดินเปลี่ยนมี คนที่สนใจไม่มีที่ดิน เราจะจัดการอย่างไร แล้วเราจะให้รัฐและชุมชนมาสนใจแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

ตอนนี้อาจจะมีไม่กี่คนที่ขึ้นมาเรียนรู้ อย่างการปลูกข้าวแบบแทงหลุมข้าวไร เพราะตอนนี้คนที่ทำได้ส่วนใหญ่เป็นคนแก่  อย่างตอนนี้ผมก็เรียนรู้อยู่ และน้องๆเขาเริ่มเห็นว่าทำอย่างไร เราต้องหาพื้นที่ให้เขาด้วย เราอาจจะเชื่อมกับคนที่มีพื้นที่ไม่ได้ใช้ รวมถึงเราทำกับเยาวชนด้วย ที่ต้องมองหาพื้นที่ให้เขาปฏิบัติได้จริง

วัฒนา ทรงพรไพศาล – คนรุ่นใหม่กับชุมชนมีช่องว่างระหว่างกันพอสมควรจะทำอย่างไรให้ช่องว่างนั้นแคบลง เราต้องสร้างพลังคนรุ่นใหม่ แล้วคนที่ออกมาศึกษาแล้วกลับไปต้องเป็นตัวแทนที่จะไปประสานกับหน่วยงานอื่นๆในการพัฒนา รวมถึงประสานกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้กลับบ้านให้ได้รู้สถานการณ์ด้วย

สสาร สู่สว่าง – การสร้างพื้นที่ และดึงให้หนุ่มสาวเครือข่ายชนเผ่า ที่มีความเข้าใจ มีเวลา มีความสามารถเป็นตัวสื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ คอยบอกคอยสื่อสาร ขณะเดียวกันถ้ากลุ่มนี้กิจกรรมแล้วผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนก็จะเป็นพลังของเครือข่ายชนเผ่า พลังของคนรุ่นใหม่ โดยที่แต่ละเผ่าไม่ได้แบ่งแยก ในหลวงท่านก็ไม่ได้แบ่งแยก ท่านทรงเมตตา มองเห็นความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ชนผ่าเราก็เช่นกัน

ผมอยากจะขอพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ของบประมาณให้ได้ทำงานด้วย เพราะบางทีคิดกิจกรรมดีๆ แต่ไม่มีงบประมาณ ไม่มีเวทีให้ อยากเห็นผู้ใหญ่สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยง เป็นต้นแบบให้กับเครือข่ายเราเอง และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กัน นี่คือผลลัพธ์ของการศึกษา เป็นความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน

พัชรินทร์ บุญเสริม – ความแตกต่างมันมีอยู่ทุกที่ เมื่อมีคนแตกต่างมันก็ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เลยคิดถึงหลักของในหลวง หลักการในการทำงานที่ดี คือ คิดอย่างมีเหตุผลและรับฟังซึ่งกันและกัน นำส่วนดีของแต่ละคนมาเรียงร้อยต่อกัน เพื่อให้เป็นผลสำเร็จที่ดี

โสภา ศรีชาวป่า – ในชุมชนมีการตั้งกลุ่ม ทั้งเด็กและเยาวชน แม่บ้าน และจะทำงานร่วมกันต่อไป

วัฒนา ทรงพรไพศาล – คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีการศึกษา นอกจากเราจะไปศึกษาข้างนอกแล้ว เราต้องมาศึกษาในพื้นที่ของเราเอง คนรุ่นใหม่สมัยนี้ออกไปนอกชุมชน เขาไปแล้วไม่ค่อยกลับมา เราต้องกลับมาดูชุมชนของเราบ้าง ชุมชนของเราเป็นอย่างไร ชุมชนของเราขาดเหลืออะไร แล้วเอาสิ่งเหล่านั้นมาแก้ไข เราจำเป็นต้องศึกษาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมของเรา เราอย่าทิ้งผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่าเรา คนรุ่นใหม่ต้องศึกษาทุกฝ่าย ศึกษาตัวเอง ศึกษาชุมชน ออกไปศึกษาข้างนอก แล้วกลับมาพัฒนาหมู่บ้าน

บันทึกเรื่องราว จากงาน งานวันชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2560 ณ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ วันที่ 8 สิงหาคม 2560

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ