ย้อนรอยผลกระทบที่วังสะพุง ย้ำทำไมต้องยืนยัน “ฟ้องกลับ” เหมืองทอง

ย้อนรอยผลกระทบที่วังสะพุง ย้ำทำไมต้องยืนยัน “ฟ้องกลับ” เหมืองทอง

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ยังมีต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 วันนี้ (26 ก.ค. 2560) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเลยได้นัดชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไกล่เกลี่ยเรื่องผลกระทบจากเหมืองทองคำ

การไกลเกลี่ยดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ตัดสินใจฟ้องกลับบริษัทเหมือง หลังชนะในคดีเหมืองทองฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 50 ล้านบาท เหตุติดป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย ‘ปิดเหมืองฟื้นฟู’ ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน ทำบริษัทเสียชื่อเสียง

จากที่ผ่านมา บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้องคดีความกับชาวบ้านถึง 19 คดี เรียกค่าเสียหายกว่า 300 ล้าน และหน่วยงานรัฐร่วมฟ้องอีก 3 คดี

คดีนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ตัดสินใจฟ้องกลับ และยังคงยืนยันความคิดเดิมนี้แม้จะต้องกลับสู่วังวนความยุ่งยากของกระบวนการทางคดี โดยขอให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำหน้าที่นำมาซึ่งความยุติธรรมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นับจากที่ “เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย” ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใน อ.วังสะพุง จ.เลย ในปี พ.ศ.2549

เพียงต้นปี พ.ศ 2551 ก็เกิดการร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำ ว่าได้รับความเดือดร้อน และขอให้มีการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการทำเหมือง รวมถึงข้อวิตกกังวลถึงสารโลหะหนักและสารอันตรายอื่น ๆ ที่อาจจะแพร่กระจายออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของเหมืองแร่ทองคำ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

ต่อมาเมื่อปี 2552 สสจ.เลย เริ่มต้นประกาศเตือนให้ระมัดระวังการใช้น้ำอุปโภคบริโภค

จากนั้นยังพบว่าการปนเปื้อนยังมีอย่างต่อเนื่อง

ปี 2553 สสจ.เลย ประกาศให้ประชาชนงดบริโภคหอยขมจากลำห้วยเหล็ก

ปี 2557 จังหวัดเลย เตือนห้ามรับประทานปูจากลำน้ำห้วยเหล็ก

ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันกับชาวบ้านว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักและไซยาไนด์ใน ดินและแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งลำห้วยและน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังมีการตรวจพบโลหะหนักและไซยาไนด์ในเลือดของชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ เกินค่ามาตรฐานหลายรายตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งมีชาวบ้านบางส่วนมีอาการเจ็บป่วยจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงและแขนขาลีบด้วย

นอกจากนี้เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2555 คันบ่อเก็บกากไซยาไนด์ได้พังทลาย เสี่ยงต่อการปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดิน

การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของตนเอง ยังโดนการคุกคามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 มีชายสวมชุดดำ สวมหมวกอำพลางใบหน้า ได้เข้ามาทำร้ายชาวบ้านในตอนกลางคืนเพื่อที่จะขนแร่ทองคำออกจากบริษัท ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายราย

ความเรื้อรังของปัญหาในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ได้พัฒนาเป็นความขัดแย้งที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ระหว่างประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนกับฝ่ายผู้ประกอบการ เหมืองทองคำ

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้เกิดความไม่ไว้วางใจ เสื่อมศรัทธาต่อหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะแม้จะมีการตรวจวัดสารปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ก็ยังคงไม่มีข้อสรุปชี้ชัดว่า ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของสารโลหะหนักและสารอันตรายในพื้นที่ใกล้เหมือง รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนความเจ็บป่วยของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบนั้น มีสาเหตุมาจากอะไร?

00000

ความคืบหน้าในวันนี้ คดีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 21-22 ก.ย. 2560

ก่อนแยกย้ายกลับบ้าน พรุ่งนี้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังมีนัดหมายกันอีกครั้งในคดี อบต.เขาหลวงโซนบนฟ้องนางพรทิพย์ หงชัย กับพวก 6 คน ข้อหาข่มขืนใจ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน

ความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ