4 ข้อสังเกตุ จาก ศ.ดร.สุภางค์ จันทรวานิช ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560
หลัง พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ประกาศใช้ เกิดปรากฏการณ์แรงงานเพื่อนบ้านหลั่งไหลเดินทางกลับขึ้น
ข้อสังเกตุหลังอ่าน พ.ร.ก.
แม้จะเห็นด้วยกับท่าทางเอาจริงเอาจังของรัฐ ในความพยายามบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ด้วยการประกาศใช้ หลัง พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แบบฟ้าผ่า แต่ ศ.ดร.สุภางค์ จันทรวานิช ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวมีความบกพร่อง หลายส่วน
1.บริษัทนายหน้า คือ จุดเปราะบาง – ส่วนที่ระบุถึงการประกอบธุรกิจนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศไทย หรือ บริษัทนายหน้า มีความเปราะบาง จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์แก้ไขเพิ่มเติม เพราะบริษัทเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวของภาครัฐ แม้ข้อกำหนดใหม่ในกฏหมายจะเขียนให้ บริษัทนายหน้า ดำเนินการยากกว่าอดีต แต่ ศ.ดร.สุภางค์ ไม่มั่นใจว่า บทบัญญัติใหม่ที่เขียนล่าสุด จะมีความสามารถควบคุมบริษัทตัวกลางเหล่านี้ได้ดีแค่ไหน
2.เพิ่มทางเลือกให้ “นายจ้าง” – เพื่อให้นายจ้างมีทางเลือกในการเลือกแรงงาน นวัตกรรมใหม่ที่น่าจะต้องเพิ่มใน กฎหมายนี้ คือ การให้นายจ้างมีช่องจ้างงานผ่านระบบการติดต่อกับรัฐบาลต้นทางโดยตรง
3.ยกระดับความเข้ม – เมื่อ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เปรียบเหมือนยาแรง การควบคุมต้องเข้มข้นตาม แต่ ศ.ดร.สุภางค์ มองว่า ณ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานที่มีราว 1,500 คน อาจไม่สามารถทำให้การตรวจและควบคุมแรงงานต่างด้าวมีความทั่วถึง ดังนั้นการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ และเพิ่มงบประมาณดำเนินการจากฝ่ายบริหารประเทศ สู่กระทรวงแรงงานจึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องพิจารณาเพิ่มเติม
4.EU สำคัญไปไหม – จากการตรวจสอบข้อมูล ศ.ดร.สุภางค์ ชี้ว่า ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะได้รับใบเหลือง และมีข้อกำหนดจาก EU ให้ปรับปรุง ปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ดูเหมือนตัวเลขการส่งออกของไทยไปยุโรป ปรับลดลงเพียงเล็กน้อย เรียกว่าระบบเศรษฐกิจในภาคการส่งออกแทบไม่ได้รับผลกระทบ แต่ที่สร้างผลกระทบมาก คือ การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะรัฐบาลออกมาตรการมากมายในการควบคุมแรงงานและผู้ประกอบการ ตามเงื่อนไขของ EU มากจนกลไกภายในของประเทศติดขัด
มาตรการผ่อนปรนจากภาครัฐ
ด้านพิชิต นิลทองคำ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลว่า ระยะผ่อนปรนจะสิ้นสุดในวันที่ 1 ม.ค. 2561 โดยมีระยะสำรวจความต้องการแรงงานตั้งแต่ 24 ก.ค. – 7 ส.ค. 2560 ซึ่งกรมการจัดหางานจะตั้งศูนย์ทั่วประเทศ เปิดให้นายจ้างไทยเข้ามาแจ้งจำนวนแรงงานที่อยู่ในความดูแล ทั้งที่ผิดกฏหมายและถูกกฏหมาย เพื่อสำรวจความต้องการ และสำรวจแรงงานต่างด้าวในประเทศ
ส่วนระยะจดทะเบียนแรงงานจะเริ่มตั้งแต่ 8 ส.ค. 2560 โดยให้นายจ้างจูงมือแรงงานมาดำเนินการจดทะเบียนตามขั้นตอน เริ่มจากการพิสูจน์ความสัมพันธ์ของแรงงานต่างด้าวกับนายจ้าง จากนั้นขั้นตอนการจดทะเบียนแบบ One stop service จะตามมา
ความพิเศษของการจดทะเบียนครั้งนี้ คือมีการประสานความร่วมมมือจากประเทศต้นทาง ทั้งเมียนมา และกัมพูชา ให้ส่งคนของประเทศต้นทางมาประจำจุด One stop service เพื่อให้กระบวนการจดทะเบียนงานและเร็วขึ้น