คุยกับเดชา คำเบ้าเมือง “ดำนาอย่างไร ไม่เอาเหมืองโปแตช”

คุยกับเดชา คำเบ้าเมือง “ดำนาอย่างไร ไม่เอาเหมืองโปแตช”

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “กินข้าวป่า ดำนารวม ฮ่วมแฮงต้านเหมืองโปแตช ครั้งที่ 14 ประจำปี 2560” ณ บ้านเชียงกรม ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 เพื่อระดมทุนจากเมล็ดข้าวเปลือกที่เป็นผลผลิตจากแปลงนา ซึ่งจะนำไปขายเป็นเงินกองทุนการทำกิจกรรมของกลุ่มฯ หลังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแผนดำเนินโครงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่


ดำนาอย่างไร ไม่เอาเหมืองโปแตช” ฟังดูเหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ทั้งการดำนา และการไม่เอาเหมือง ทีมงานกองบรรณาธิการจึงไม่รอช้าต่อสายโทรศัพท์หา เดชา คำเบ้าเมือง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของกิจกรรมในครั้งนี้

ดำนารวมปีนี้ ครั้งที่ 14 แล้ว ที่มาที่ไปคืออะไร
ย้อนไป 16 ปีที่แล้ว มีโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่จะเข้ามาในชุมชน พื้นที่อําเภอประจักษ์ศิลปาคมและอำเภอเมืองอุดรธานีบางส่วน ทางโครงการเหมืองแร่โปแตชได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ ขออนุญาตประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ 26,400 กว่าไร่ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดการรวมตัว ตรวจสอบโครงการ เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อชุมชน เพราะการทำเหมืองก็จะมีการขุดเอาแร่โปแตชและก็เกลือที่อยู่ปะปนกับแร่โปแตชขึ้นมาด้วย ทำให้ชาวบ้านมีความวิตกกังวลเรื่องปัญหา เนื่องจากเกรงว่าจะมีความเค็ม เรื่องดินทรุด การแย่งน้ำในชุมชน เหมือนอุตสาหกรรมทั่วไปที่ส่งผลกระทบมาแล้วของการทำเหมืองในพื้นที่อื่นๆ

ทำให้เกิดการรวมกลุ่มในนามของกลุ่มอนรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พอรวมกลุ่มกันได้ประมาณ 1 ปี เกิดการวิเคราะห์บทเรียน ถอดบทเรียน ของการต่อสู้ การติดตามเรื่องเหมืองแร่โปแตซของอุดรธานี คงต้องใช้เวลานาน ที่ยืดเยื้อยาวนาน ชาวบ้านจะเอาทุนมาจากไหนที่จะยืนหยัดต่อสู้ที่ต้องยาวนานขนาดนั้น ทำให้ในกลุ่มชาวบ้าน ที่มีตัวแทนของแต่ล่ะหมู่บ้านประมาณ 20 กว่าหมู่บ้าน เกิดการตกลงกันว่าเราลองเริ่มต้น คือ “ทำบุญกุ้มข้าวใหญ่” หมายถึง เอาข้าวมากองรวมกัน ข้าวแต่ละหมู่บ้าน นำข้าวเปลือกที่มากองรวมกันแล้วนำไปขายเป็นกองทุน จัดตั้งเป็นกองทุนสิ่งแวดล้อมอุดรธานีในปีที่ 1

ปีแรกบุญกุ้มข้าวใหญ่ ต่อมาจึงมีดำนารวม
พอเป็นปีที่ 2 ชาวบ้านก็มองว่าถ้าจะระดมข้าวของชาวบ้านอย่างเดียวก็จะลำบากชาวบ้านด้วย เพราะชาวบ้านก็ทำมาหากินเหมือนกัน ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ฯเกิดการทำนารวมซึ่งใช้ที่นาของชาวบ้านหนึ่งแปลง และกลุ่มก็มาร่วมกันลงแรงไม่ว่าจะเป็น ดำนา เกี่ยวข้าว ก็ทำเป็นกระบวนการ จึงมีการตกลงกันว่าจะมีการทำนารวม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีแผนทำเหมืองแร่โปแตชก็เป็นพื้นที่การเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา เพราะส่วนใหญ่แล้วพื้นที่กว่า 70% เป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้าน  พอมีโครงการเหมืองแร่โปแตชมาทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกว่า วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รากเหง้าของการทำมาหากิน การทำนาของชาวบ้านจะได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้ในส่วนนี้เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ว่าชาวบ้านในพื้นที่ตรงนี้ต้องการวิถีชีวิตเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของการทำนา และพยายามที่จะประกาศว่าพื้นที่ตรงนี้กำลังถูกผลักดันไปเป็นพื้นที่เกษตรอินทรี ดังนั้นจึงไม่เอาเหมืองแร่โปแตชที่จะมาขุดขึ้นมาไปทำปุ๋ยเคมี

นารวมที่มีพื้นที่กี่ไร่ ใครจะมาช่วยบ้าง?
พื้นที่ทำนาเกือบ 20 ไร่ และใน 20 ไร่ หากมีการนัดรวมกลุ่มกันวันเดียวก็เสร็จ เพราะชาวบ้านมีจำนวนมากเหมือนกัน ไปช่วยกันทำนาทีละ 300-400 คน ที่จะไปร่วม และมีเครือข่ายข้างนอกมารวมด้วย ส่วนข้าวที่จะได้จากการทำนานี้ก็จะนำไปจัดประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ ที่เราเคยทำทุกปี เพื่อแสดงความเคารพต่อพระแม่โพสพ ก็คือเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าชาวบ้านเองมีความเชื่อมีความศรัทธาในวิถีเกษตรกรรมแบบนี้ด้วย

ตอนนี้ เราเริ่มประสานแล้ว อย่างเช่น หน่วยงานต่างๆ ทางภาครัฐและเอกชนเราก็เชิญ เพราะงานนี้เป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถมาร่วมได้ เป็นการแสดงถึงความสามัคคีในชุมชน ก็มีการประสานงานในชุมชน ส่วนข้างนอกเราก็มีการส่งข่าว มีการทำป้าย ช่องทางสื่อสารออนไลน์ และเครือข่ายชาวบ้านที่มีการติดตามสถานการ์ต่างๆ เช่น พี่น้องเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดสกลนคร พี่น้องเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย เครือข่ายต่างๆพี่น้องประชาชนพวกเรา เริ่มกระจายข้อมูลไปแล้ว

ส่วนในการทำนาก็จะมีหน่วยงานที่ข้องมาให้ความสนับสนุนในการทำกิจกรรมร่วมกัน ปีนี้จะมีกิจกรรมพิเศษ คือการดำนาแข่งกันระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงาน และทหารเราก็เชิญทหารมา เชิญมาดำนารวมแข่งกับชาวบ้าน เป็นกิจกรรมที่สนุก ชาวบ้านเคร่งเครียดกับการต่อสู้ ติดตามปัญหาต่างๆมามากแล้ว เราต้องการให้ชาวบ้านมาแบบสนุกสนาน เพราะปกติวิถีชีวิตชาวบ้านก็สนุกสนานกันอยู่แล้วตามวิถีเกษตรกรรมแบบนี้

16 ปี แห่งความหลัง โครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นไงบ้าง?
ตอนนี้เหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานียังไม่ได้สร้าง อยู่ในระหว่างการขออนุญาตประทานบัตร ซึ่งย้อนไปในเดือน เมษายน พ.ศ. 2559 กระบวนการประชาพิจารณ์ได้เสร็จสิ้นลงในพื้นที่ ที่โรงเรียนโนนสูงวิทยาคาร อำเภอเมืองอุดรธานี ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ และชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น ในเวทีประชาวิจารณ์ตรงนั้น ว่าในพื้นที่ไม่ต้องการเหมืองแร่ เพราะกลัวจะเกิดผลกระทบต่างๆตามมา และได้ยื่นหนังสือตามกระบวนการต่างๆ

หากนับตามกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นที่ขอประทานบัตร ในปี 2547 จนมาถึงวันนี้ ชาวบ้านก็ยื่นตามขั้นตอนทุกอย่าง ซึ่งข้อมูลที่ยื่นไปทั้งหมดได้รวบรวมส่งไปกระทรวงอุตสาหกรรมหมดแล้ว ตอนนี้ก็รอว่าคณะรัฐมนตรี รัฐบาลจะเอายังไงกับโครงการนี้ กระบวนการได้ไปสิ้นสุดตรงนั้นแล้ว

และเมื่อปี 2556 ชาวบ้านได้ฟ้องศาลปกครอง ในเรื่องการขออนุญาตประทานบัตร ซึ่งชาวบ้านบอกว่า กระบวนการไม่ถูกต้อง ในเรื่องข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องกับสภาพพื้นที่เพราะในพื้นที่เป็นเกษตรกรรม และชาวบ้านส่วนใหญ่มีโฉนดที่ดิน มีเอกสารสิทธิ ที่มีการทำมาหากินตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายแล้ว

บทเรียนและการต่อสู้
คิดว่าสิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญตอนนี้เราได้เห็นว่ากระบวนการของชาวบ้านแต่ละพื้นที่มีการตื่นตัว กับปัญหาผลกระทบต่างๆที่มันจะเกิดขึ้น เราได้เห็นพื้นที่และโอกาสในการสื่อสารของชาวบ้านที่เปิดกว้างมากขึ้น หรือทั้งสื่อหลัก และโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook YouTube ชาวบ้านสามารถสื่อสารออกได้

ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่ากระบวนการการพัฒนาต่างๆที่ผ่านมา มันมีผลกระทบต่อชุมชน แล้วชุมชนเองมีความกล้า มีความรู้ ความเท่าทันมากขึ้น ที่จะมาติดตามโครงการต่างๆ ซึ่งชาวบ้านเองไม่ได้ปฏิเสธโครงการที่จะมาพัฒนาชุมชนของเขา แต่ชาวบ้านลุกขึ้นมาติดตามตรวจสอบว่าถ้ารัฐบาลจะพัฒนา ถ้าเอกชนจะพัฒนา ต้องมองว่าผลกระทบจะเกิดกับชุมชนอย่างไร ต้องมองแนวทางที่จะรับมือกับผลกระทบ เช่น กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เราก็เห็นแล้ว พอได้รับผลกระทบหนักๆเข้า ก็ต้องหยุดไปเอง แต่ทว่าที่ผ่านมามันก็ยืดเยื้อนานมากกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้

เพราะที่ผ่านมาชุมชน ชาวบ้านเองไม่ได้เชื่อมั่นว่ารายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ว่ามันจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาเห็นหลายๆโครงการ EIA ผ่าน แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อชาวบ้านต่อชุมชน อย่างเช่นภาคตะวันออกเราเห็นชัดเจนถึงปัญหา

ส่วนเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นกับชุมชนตอนนี้ คือ เกิดการเรียนรู้ ติดตามตรวจสอบ โดยมีพื้นที่การสื่อสารที่เปิดกว้างมากขึ้นให้พวกเราได้สื่อสาร และกิจกรรมดำนานี้ ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดโครงการก็ตาม การดำนารวมก็จะจัดทุกปี เพื่อร่วมจิต ร่วมใจกันของคนในชุมชน เพราะเราคือชาวนา

ขอบคุณภาพ : กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ