[จีนมองเหนือ] สัมภาษณ์พิเศษ เหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่

[จีนมองเหนือ] สัมภาษณ์พิเศษ เหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่

สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งอยู่ริมคูเมืองก่อนถึงโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ มายาวนานกว่า 26 ปีแล้ว ทำหน้าที่ดูแลคนจีนที่เข้ามาในภาคเหนือของไทย 12 จังหวัดอย่างเงียบๆ  กระทั่งไม่นานมานี้  นักท่องเที่ยว นักลงทุนชาวจีนหลั่งไหลเข้าเชียงใหม่และภาคเหนือขึ้นเข้าขั้นบูมที่คนเหนือต้องปรับตัวรับกันยกใหญ่ ล่าสุดขณะนี้ มีความเคลื่อนไหวรวมตัวกันส่งเสริมการศึกษาของลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลในเมืองเหนือเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ รวมถึงการลงทุนแบบรายย่อยไปจนถึงและโครงการพัฒนาระหว่างประเทศเช่นการสำรวจเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือ ขณะที่ฟากคนไทยก็เริ่มให้ความสนในเรียนภาษาจีน ปรับตัวอยู่กับสถานการณ์คนจีนเต็มเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

องศาเหนือ Talk เข้าพูดคุยกับ เหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ ถึงปรากฏการณ์เหล่านี้ เพื่อให้เข้าใจจีน รู้จักจีนในเมืองไทยมากขึ้น..

The North องศาเหนือ : ท่านเพิ่งมาประจำการที่เชียงใหม่ได้ไม่นาน ก่อนหน้านี้มองภาคเหนือของไทยว่าอย่างไร?

เหริน ยี่เซิง : สำหรับคนจีนแล้ว ถ้าคิดจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็จะคิดถึงประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ มาภูเก็ต กรุงเทพ เชียงใหม่ สำหรับผม ตอนทำงานเป็นคณะผู้แทนถาวรสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา มีเพื่อนที่ทำงานเคยทำงานเมืองไทยเล่าให้ฟังว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ เชียงใหม่เป็นเมืองน่าเที่ยวด้วย จนเมื่อรับทราบว่าจะต้องมาประจำอยู่ที่นี่ก็ดีใจ หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมืองไทย ผมก็ดูหนัง Lost in Thailand ก็ได้แรงบันดาลใจอยากมาเชียงใหม่นะ และทราบว่าที่นี่มีนักร้องชาวจีนที่มาเสียชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่คือ เติ้งลี่จวิน ที่หลงเสน่ห์เมืองเชียงใหม่มากๆ ด้วย ดีใจที่ได้มาที่นี่

The North องศาเหนือ :ใครๆ ก็มองว่า นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ?

เหริน ยี่เซิง : สถิติของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ ปี 2016 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวเมืองไทย 13 ล้านคน ส่วนใหญ่จะไปกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต กระบี่ ตามที่จะหาข้อมูลจากสื่อที่มีการเผยแพร่และมากันเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ปัจจุบันการมาไทยของนักท่องเที่ยวจีนมีหลายลักษณะ Backpacker ก็มาก ขับรถมาเองก็เยอะ ปีที่ผ่านมามาเชียงใหม่ 1.5 ล้านคน แล้วเริ่มรู้จักเชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก ปาย ขอนแก่น ก็จะไปตามพื้นที่เหล่านี้เพิ่มขึ้น ผมไปที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย พบว่าก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวขับรถจากประเทศจีนเข้ามากว่า 4,000 คัน แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะมีการจำกัดเรื่องห้ามรถนักท่องเที่ยวจีนเข้าทางชายแดนไทย ลักษณะที่โดดเด่นของภาคเหนือ ผมเห็นว่าเป็นการท่องเที่ยวที่โดดเด่นมาก อากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม ผนวกกับงานหัตถรรมซึ่งมีการต่อยอดเช่น เครื่องเงิน ร่ม นอกจากนั้นคือภาคเกษตรที่เป็นอาชีพพื้นฐาน แม้ว่าจะยังด้อยกว่าภาคใต้และภาคกลาง แต่มีศักยภาพในการเติบโตสามารถส่งออกได้ มีผลิตภัณฑ์ดีดีหลายตัว เช่น ข้าวหอมมะลิ ลำไย สับปะรด กาแฟ ยางพารา ไม้สักที่น่าน ไปจนถึงแม่สายซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกชาอูหลง ซึ่งผมบอกเลยว่าในบรรดาชาอูหลงที่ผมเคยไปดื่มมาจากหลายประเทศรวมถึงในจีนด้วย พบว่าชาอูหลงที่รสชาติที่ดีที่สุดอยู่ที่ประเทศไทย ซึ่งปลูกโดยชนเผ่าหรือชาวจีนโพ้นทะเลที่เขามาปลูกกันเมื่อก่อนจนกลายเป็นอาชีพในปัจจุบัน ส่วนด้านอาหารการกินของไทยมีลักษณะเฉพาะ รสชาติแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เป็นเอกลักษณ์ และเราชอบการใช้ชีวิตช้าๆของคนไทย และสถานที่ท่องเที่ยวแปลกใหม่หลายจุดในไทยที่น่าสนใจแต่ยังไม่มีการโปรโมทให้นักท่องเที่ยวจีนรู้แพร่หลายนัก โอกาสประเทศไทยยังไม่มีการโปรโมตให้นักท่องเที่ยวรู้กันทั่วถึง

The North องศาเหนือ : โอกาสของการท่องเที่ยวของภาคเหนือในสายตานักท่องเที่ยวจีน เป็นอย่างไร ?

เหริน ยี่เซิง : เมื่อผมไปเยี่ยมผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่ง ท่านพูดคล้ายกันเลยว่า ทำไมจังหวัดของตนไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา รู้สึกอิจฉาเชียงใหม่ ทำให้ทราบถึงปัญหาว่า นักท่องเที่ยวไม่กระจายตัว ปัจจัยสำคัญที่เราพบคือ ระบบโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานของไทย เช่นการจะไปที่แม่ฮ่องสอน มีเส้นทางภูเขา คดเคี้ยวมาก ต้องใช้เวลานานในการขับรถไป ผิดกับจีนที่เรามีการเจาะอุโมงค์เป็นเส้นทางตรง ทำสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้การเดินทางพร้อมรับนักท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้นักท่องเที่ยวสนใจ รวมถึงพัฒนาสนามบินที่จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ ขณะนี้มีเฉพาะสนามบินเชียงใหม่ซึ่งพอจะรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวนานาชาติได้แต่ก็พบว่าไม่เพียงพอ และที่จังหวัดเชียงรายเริ่มมีชื่อเสียง คนจีนรู้จักมากขึ้น แต่ก็มีเพียง 3 สายการบินเท่านั้นที่บินตรงไปเมืองจีน ความสะดวกสบายในการเดินทางเป็นเรื่องสำคัญ ลักษณะของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะแนะนำกันถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มักจะปากต่อปา ไปพูด เล่าสู่กันฟัง และมีการทำแผนการท่องเที่ยว เมื่อเขาไปเที่ยวที่ไหนมา ก็จะรีวิว แล้วโพสต์ในอินเตอร์เน็ต ให้คนอื่นรู้ว่า ถ้าฉันไปเที่ยวเชียงใหม่ จะต้องไปที่ไหนก่อนหลัง ไปในช่วงเวลาไหนจะเจออะไร จะไปอย่างไร แต่ถ้าไปแล้วเจอปัญหาอุปสรรคก็จะเอามาบอกเล่าด้วย เช่นขับรถไปเองแล้วเจออุปสรรคอะไร ประสบอุบัติเหตุแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นการสื่อสารเชิงลบ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวในเมืองไทย คือ หน่วยงานรัฐจะต้องทำแบบแผนในเรื่องการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ถูกต้อง และสามารถชักชวนนักท่องเที่ยว และให้เขาทราบถึงรายละเอียดที่ชัดเจน สมบูรณ์ และปัจจัยสำคัญคือควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจากภาคเหนือไปยังภาคอื่นๆ เช่นในเมืองจีนมีรถไฟความเร็วสูง จีนปฎิวัติด้านการก่อสร้างในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจดีขึ้น พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทางรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนปัจจุบันมีระยะทาง 20,000 กิโลเมตร ซึ่งยาวที่สุดในโลก ทางด่วนในประเทศจีนมีระยะทางรวม 120,000 กิโลเมตรแล้ว การคมนาคมที่ดีจะย่นระยะเวลาการเดินทางและส่งผลต่อการท่องเที่ยว

The North องศาเหนือ :ไม่นานมานี้เห็นว่า กงสุลจีนจัดประชุมเครือข่ายคนจีนในไทยเพื่อร่วมกันสนับสนุนด้านการศึกษาจีน ?

เหริน ยี่เซิง : ใช่ครับ การเรียนรู้ภาษาจีนเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราพยายามเชื่อมโยงชาวจีนโพ้นทะเลที่มีลูกหลานในประเทศไทย หรือชาวไทยเชื้อสายจีน จุดนี้เป็นวิถีสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของประเทศบ้านเกิด ชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งไปอยู่ในประเทศต่างๆ จะให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะภาษาพูด ในภาคเหนือมีชาวจีนโพ้นทะเล หรือชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งชาวจีนโพ้นทะเลได้รวมกลุ่มกัน และคิดว่าจะสามารถสืบสานมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษให้ลูกหลานในอนาคต ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการเปิดความสัมพันธ์ของไทยกับจีน คนจีนโพ้นทะเลหรือชาวไทยเชื้อสายจีน จะต้องไปเรียนภาษาจีนที่ชายแดนเมียนมา หรือไม่ก็ต้องเชิญอาจารย์มาสอนที่บ้าน หลังจากที่มีการเชื่อมสัมพันธ์ไทยกับประเทศจีน การเรียนการสอนก็มีการผลักดันให้มีหลักสูตรการใช้ภาษาจีนเข้ามามากขึ้น
ผมเดินทางไป 12 จังหวัดที่รับผิดชอบในภาคเหนือ พบว่า มีโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนมากกว่า 100 แห่ง แต่หลายโรงเรียนยังไม่ได้มาตรฐานหรือยังไม่มีการจดทะเบียนเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ถูกต้องตามที่รัฐบาลไทยกำหนด มีเพียง 20 โรงเรียนเท่านั้นที่จดทะเบียนและได้มาตรฐานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างดี เช่น เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก แต่ยังมีอีก 98 แห่งที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เช่นในพื้นที่บนดอยสูง มีหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายจีน รวมจำนวนนักเรียนกว่า 300,000 คน ซึ่งจะเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะคล้ายกับการฝึกอบรมหรือการสอนพิเศษ ซึ่งไม่ได้อยู่ในระเบียบโรงเรียนของประเทศไทย ที่ต้องมีเรียนเต็มวัน สอนจันทร์ถึงศุกร์ เริ่มเรียน 8โมงถึง4-5โมงเย็น แต่ว่าจะใช้วันเสาร์-อาทิตย์ หรือหลังเลิกงานตั้งแต่18.00น.20.00น.เป็นต้น หรือเรียนเพิ่มเติมในวันหยุด นอกจากนั้นเราพบว่า การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยหลายแห่ง มาตรฐานไม่สอดคล้อง มีความแตกต่างกันมาก ถ้าเป็นโรงเรียนในเมืองก็จะดีไปเลย หรือที่อยู่ตามพื้นที่ห่างไกล ยังขาดทั้งอุปกรณ์การเรียนและบุคลากร
เมื่อวันที่15 ม.ค.60 ทางสถานกงสุลจีนได้จัดการสัมมนาชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งมีการพูดถึงการจะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมจีนรวมถึงความร่วมมือต่างๆ เพื่อให้มีการเรียนการสอนด้านภาษาจีนที่ดีขึ้น มีผู้สนใจมาร่วมกว่า 100 ท่าน หลายท่านมีข้อเสนอต่างๆ จึงทำให้เกิดการวางแผนก่อตั้ง มูลนิธิกองทุนเพื่อการศึกษา ขึ้นมาปัญหาที่เราพบคือหลายโรงเรียนไม่มีการจดทะเบียนตาระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหมายความว่าถ้าโรงเรียนไหนไม่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการจะไม่สามารได้รับการสนับสนุนต่างๆ ได้ ซึ่งทำให้โรงเรียนลำบากมาก เช่น โรงเรียน อี้ซิงจงฉือ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนมัธยมที่ก่อตั้งโดยการระดมทุนของชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในพื้นที่ช่วยกันสร้างโรงเรียนขึ้นมาเอง ไม่มีการช่วยเหลือจากรัฐ และยังไม่ได้รับการจดทะเบียนตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ แต่มีนักเรียนมากกว่า 1,000 คน เลยนอกจากนั้นยังมีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลตามหุบเขา มีนักเรียน 10 -100 คน อีกเป็นจำนวนมาก คิดว่าน่าจะมีหน่วยงานสักหน่วยหนึ่งเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้จึงก่อตั้งมูลนิธิขึ้น
ถ้าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตพื้นฐาน ทำงาน หรือว่าประกอบอาชีพในพื้นที่ห่างไกลเขาก็จะขาดโอกาส เพราะว่าไม่สามารถออกมายังสังคมด้านนอกหรือว่าเข้าเมืองได้ ไม่สามารถสร้างรายได้ที่จะเลี้ยงดูพวกเขาได้ในอนาคตก็จะเสียโอกาสไป เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะฉะนั้นเราน่าจะมาช่วยส่งเสริม ผลักดันในเรื่องนี้ให้เขามีทักษะของภาษา มีความรู้ มีโอกาสที่จะมีงานทำสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเขาเอง
การเรียนภาษาจีนนั้นมีโอกาสสร้างรายได้จริงนะครับ เช่น นักเรียนที่เรียนภาษาจีนแล้วมาเป็นไกด์ในเชียงใหม่ รายรับต่อเดือนเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 5-60,000 บาทหรือบางคนได้ถึง 100,000 บาทหรือมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งหาเขาอยู่ในพื้นที่ หากจบไฮสคูล เป็น High Seasonจะสูงถึงประมาณ 1 แสนบาทหรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ ผมพบว่านอกจากชาวจีนเองแล้วก็ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนภาษาจีนมากเลย และในหลายโรงเรียนปัจจุบันมีมากกว่า 60 % ของนักเรียนในที่เป็นคนไทยแท้ที่มาศึกษาภาษาจีน

The North องศาเหนือ : กองทุนก่อตั้งมูลนิธินี้มาจากไหน?

เหริน ยี่เซิง : มูลนิธิกองทุนเพื่อการศึกษา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสัมมนาที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคเหนือช่วยกันระดมทุนบริจาค เฉพาะยอดบริจาคจากแกนนำในเชียงใหม่ 21 ราย มียอดบริจาครวม 8.8 ล้าน สมาคมส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมไทยจีนบริจาคมา 1 ล้านบาท สมาคมชาวไทยเชื้อสายจีนจังหวัดตากบริจาคมา 1ล้านบาท ตอนนี้ยอดโดยรวมทั้งหมดอยู่ที่ 1,008,000 บาท และทะยอยบริจาคเพิ่มเติมเข้ามาช่วยกันส่งเสริม ดูแลในเรื่องของการพัฒนาการศึกษาภาษาจีนในอนาคตต่อไป โดยมูลนิธิมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบกับปัญหาด้านการเรียนการสอนภาษาจีน สนับสนุนนักเรียนที่เป็นลูกหลานของชาวจีนให้มีโอกาสในการเรียน ซึ่งนักเรียนในบางที่ไม่มีเงินค่าเทอม ครูมีค่าตอบแทนน้อย อยากให้กำลังใจ และสร้างจุดยืนให้กับโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนภาษาจีนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และเมื่อเราได้รับการช่วยเหลือจากสังคมหรือว่าได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นก็อยากให้ทางโรงเรียนสามารถนำตรงนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีประโยชน์ต่อทางด้านไทยจีน มีประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์ หรือว่ามีการผลักดันส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยจีนที่ดีในอนาคตต่อไป

The North องศาเหนือ : นอกจากการระดมทุนจากภาคประชาชนแล้ว ทางรัฐบาลจีนมีการสนับสนุนช่วยเหลือลักษณะใดอีกบ้าง ?

เหริน ยี่เซิง : รัฐบาลจีนมีหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักงานกิจกรรมชาวจีนโพ้นทะเล สำนักนายกรัฐมนตรี มีงบประมาณสนับสนุนชาวจีนโพ้นทะเลในต่างแดน ปีนี้งบประมาณที่ได้รับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อการขยายงาน นอกจากนั้นก็มีการให้งบประมาณสนับสนุนชุมชนชาวจีนในประเทศไทยโดยเฉพาะด้วยเช่นที่ บ้านอรุโณทัย ก็มีงบประมาณสนับสนุนเฉพาะหลายแสนบาทเป็นประจำทุกปี
เงินกองทุนอีกส่วนหนึ่งคือจากทางสถานกงสุลทำเรื่องขอจากรัฐบาลจีนโดยตรงแต่ว่าจะมาในรูปแบบของอุปกรณ์ ซึ่งโรงเรียนสามารถนำไปใช้ได้เลยในสิ่งที่ตนเองขาดแคลนอยู่ ในส่วนของโต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋า รวมถึงการระดมบริจาค ก่อนหน้านี้เราบริจาคโต๊ะเก้าอี้ 800 ชุด และกระเป๋าเรียน 400-500 ใบให้แก่ 40 โรงเรียน และในปีนี้เราก็ได้บริจาคให้กองทุนที่ได้จัดตั้งขึ้นมา แต่ก็เป็นในรูปแบบเดียวกันนั่นก็คือสิ่งของ โต๊ะเก้าอี้ 200 ชุดเป็นเงิน 6,000,000 บาท กระเป๋า 3,000 ใบเป็นเงิน 1,000,000 บาท และยังมีเงินสบทบช่วยเหลือนักเรียนผู้ขาดแคลน โรงเรียนผู้ยากไร้ ทั้งหมด 500,000 บาทให้แก่ 40 โรงเรียน มูลค่าการบริจาคทั้งหมดของสถานกงศุลใหญ่จีนอยู่ที่ 7,500,000 บาท นอกจากจะมีการบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนและเงินสมทบทุนต่างๆ เรายังมีการบริจาคอย่างอื่นด้วย เช่น ช่วงราคาข้าวตกต่ำ เราก็ซื้อข้าวไปบริจาคจำนวน 1.8 ตัน

The North องศาเหนือ :นอกจากการสนับสนุนลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลในภาคเหนือที่ให้มีการเรียนการสอนภาษาจีน และมีลูกหลานคนไทยเริ่มเรียนภาษาจีนและสนใจประเทศจีนมากขึ้น จุดนี้มีการสนับสนุนหรือมีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง?

เหริน ยี่เซิง : เราพบว่าปัจจุบันมีชาวจีนออกไปต่างประเทศทั้งมาเรียนหรือมาทำการค้าถึง 137 ล้านคนซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ถ้าหากบุคคลากรไทยสามารถพูดภาษาจีนได้ก็จะเป็นโอกาส นอกจากนั้นคนไทยจำนวนมากก็ไปศึกษาที่เมืองจีนมากเช่นกัน ปัจจุบันมีนักเรียนไทยไปเรียนที่ประเทศจีนอยู่ประมาณ 33,000 คน ซึ่งจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรุดหน้า รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดาวเทียม เรือดำน้ำ เครื่องบิน ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ หากเราส่งเสริมให้นักเรียนไทยมีความรู้ หรือมีการเปิดการเรียนการสอนภาษาจีนให้มากขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดีมาก รวมทั้งมีทุนการศึกษา หรือหลายๆช่องทางที่จะผลักดันให้นักเรียนไทยเข้าไปสู่การศึกษาของประเทศจีนได้ ซึ่งการไปเรียนจีน นอกจากเรียนภาษาแล้วยังมีอีกหลายสาขาที่นักศึกษาไทยให้ความสนใจ เช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร ธุรกิจการค้า
ในส่วนของนักศึกษาจีนที่มาศึกษาในประเทศไทย ขณะนี้กว่า 30,000 คน ในภาคเหนือ 6,000 คน เฉพาะในเชียงใหม่ 1,200 คน ซึ่งไม่รวมที่ศึกษามในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวนนักศึกษาจีนสามารถผลักดันในเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ด้วย เช่น การเช่าห้อง การใช้จ่ายซื้อของ เพราะการส่งลูกมาเรียนที่เมืองไทย มีผู้ปกครองชาวจีนจำนวนมากมาอยู่ในเมืองไทยกับลูก เช่าห้องและส่งลูกเรียนหนังสือ

The North องศาเหนือ : สอบถามท่านเรื่องการลงทุนบ้าง ในภาคเหนือมีนักลงทุนจีนมาลงทุนด้านไหนบ้าง แนวโน้มการลงทุนที่มาแรงเป็นด้านใด?

เหริน ยี่เซิง : ในเชียงใหม่ตอนนี้มีหน่วยงาน องค์กรและบริษัทจากประเทศจีนมาอยู่กว่า 200 แห่ง เช่น Bank of China นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม หมู่บ้าน รวมถึงการท่องเที่ยว การเกษตรและผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร การแปรรูป เช่น หมอนยางพารา แต่ลงทุนของนักธุรกิจจีนก็มีข้อจำกัดหลายๆอย่าง เช่น ในการระดมทุนต้องมีหุ้นส่วนไทยในสัดส่วน 51% ต่อทุนจีน49% ดังนั้นนักลงทุนจีนต้องมีความเข้าใจในด้านกฎหมาย และเคารพในระเบียบกฎหมายของประเทศไทย การลงทุนไม่ได้มองแค่ตลาดใหญ่ การได้ผลตอบแทนเร็ว ต้องทำความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ หลายอย่างที่นักลงทุนจีนยังไม่เข้าใจ ยังเข้าถึงข้อมูลที่แท้จริงโดยเฉพาะด้านธุรกิจโรงแรม ที่พัก ขณะที่แนวโน้มการลงทุนของนักท่องเที่ยวจีนในภาคเหนือ จะเป็นด้าน1. การเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ลำไยอบแห้ง การแปรูปยางพารา 2.การก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ทั้งการสร้างถนน การสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะนักลงทุนจีนได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนและประสบการณ์ อย่างในเชียงใหม่ที่มีกว่า 200 หน่วยงานเข้ามาเช่น Bank of China ,ACBC, Huawei , สายการบินไหหนาน แล้วที่จะเข้ามาในปีนี้มีบริษัทด้านระบบการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ 2 บริษัทใหญ่มากของจีน คือ 1.Extract Group เซียเถิง (Ctrip) และ2.ชูหนาน ที่ให้บริกานจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเครื่องบิน และซื้อของออนไลน์ ผ่าน APP ได้ ในปีนี้เขาจะมาทดลองใช้ทั่วประเทศไทยแล้ว รวมถึงมีการทดลองเปิดโรงแรมด้วย

The North องศาเหนือ : นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว นักลงทุนจีนยังมีข้อจำกัดหรือข้อสงสัยอะไร ต่อการลงทุนในไทยอีกบ้าง?

เหริน ยี่เซิง : นักลงทุนจีนควรต้องเข้าใจกฎหมาย กลไกตลาด สังคม ประเพณีวัฒนธรรม และภาษา แต่ในทางกลับกันนักลงทุนจีนขาดความรู้ในด้านนี้ทั้งหมดเลย คือ ไม่เข้าใจในเรื่องกฎหมายที่ชัดเจน ไม่เข้าใจเรื่องกลไกตลาดของไทยว่าวิธีการเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจในเรื่องของวัฒนธรรมและสังคมของประเทศไทย ไม่เข้าใจ ภาษา และที่สำคัญก็คือกฎหมาย ในการลงทุนมีการพูดถึงที่มาของเงิน การบริหารงาน ที่หลายครั้งไม่เข้าใจขั้นตอนกฏหมายทำให้การลงทุนของเขาไม่ค่อยราบรื่น ไม่ประสบความสำเร็จ เสียผลประโยชน์ ต้องย้ำให้นักลงทุนต้องเคารพกับกฎหมายในประเทศที่เราไปลงทุน ศึกษาให้มีความรู้ที่ชัดเจนก่อนถึงจะลงทุน ผมคิดว่าเราต้องให้ความรู้กับทางผู้มาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ควรมีการเผยแพร่ การโปรโมตให้นักลงทุนทราบและเข้าใจในหลายๆด้านให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้ง BOI สภาอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม น่าจะมีบทบาทสำคัญในการประกาศให้ทางต่างชาติหรือนักลงทุนต่างชาติรับรู้เป็นที่ทั่วถึงว่าประเทศไทยหรือทางภาคเหนือต้องการการลงทุนแบบไหน หรือหากคุณมาลงทุนในด้านนั้นๆแล้วทางรัฐบาลไทยมีนโยบายในรูปแบบไหน สนับสนุนหรือ นักลงทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิพิเศษอย่างไร และควรมีข้อชี้แนะว่าประเภทการลงทุนแบบไหนที่ไม่สมควรลงทุนหรือมีความเสี่ยงสูงไม่แนะนำให้ลงทุน รวมถึงศึกษาลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่นบางครั้งประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่นี่อาจค่อนข้างช้า แต่ยุคปัจจุบันเป็นยุคการสื่อสาร ทุกอย่างรวดเร็ว การดึงเวลาจะทำให้เราสูญเสียผลประโยชน์ อยากให้มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการทำงานว่าจะต้องเร็ว กระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ขณะที่คนจีนให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก อยากจะให้เวลาหนึ่งวันสามารถทำงานสองวันเลย คนจีนจะเร็ว แต่หากเร็วเกินไป การผิดพลาดทางเทคนิคก็จะมีปัญหาตามมาได้เหมือนกัน

The North องศาเหนือ :คงจะไม่ถามท่านไม่ได้ เรื่องเส้นทางคมนาคมในแม่น้ำโขง ที่มีเรือสำรวจของบริษัทจีนเข้ามาปรับปรุงร่องน้ำโขง ซึ่งมีคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ท่านอยากจะบอกอะไรคนไทย ?

เหริน ยี่เซิง : ผมได้เจอกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ พูดคุยว่า แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขนส่ง มีต้นทุนต่ำที่สุด ถ้าเราสามารถพัฒนาแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางการคมนาคมสามารถให้ประโยชน์ได้สองอย่างคือ1.เรื่องการขนส่งทั้งในไทย ลาว เมียนมา จีน ในระยะทาง 360 กิโลเมตรใช้เวลาแค่ 3 วัน และอีกอย่างคือ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ก่อนหน้านี้มีเรือท่องเที่ยวจากสิบสองปันนามีนักท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยคน มาถึงด่านเชียงแสน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ เพราะนักท่องเที่ยวสามารถจับจ่ายใช้สอยทุกอย่างในเรือได้เลย แม้ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2011 มีการก่ออาชญากรรมในแม่น้ำโขงซึ่งกระทบกับความปลอดภัยในแม่น้ำโขงตอนบน แต่ในตอนนี้ได้มีการร่วมมือกันของรัฐบาลไทย จีน เมียนมา ลาว ได้มีการผลัดเปลี่ยนกันในการตระเวนตรวจตราความเรียบร้อยในแม่น้ำโขง ตอนนี้สามารถยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัยสูง
แล้วทำไมมีข้อเสนอให้ขุดลอก เพราะแม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลากมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่เราไม่รู้เลยว่าใต้น้ำมีอะไร อาจเป็นหินก้อนใหญ่ หรือพื้นที่ซึ่งเป็นดินโคลน ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ประสบอุบัติเหตุทางเรือในช่วงหน้าแล้ง และทางตอนบนจีนได้ทำการขุดลอกเรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถเดินเรือขนาด 5 ตันได้ตลอดทั้งปี แต่ว่าในช่วงล่าง ไทย ลาว หลวงพระบาง เชียงแสน ซึ่งมีระยะทาง 96 กิโลเมตร ในช่วงนี้ยังไม่ได้มีการขุดลอก หรือยังไม่มีการกำจัดก้อนหินตรงนี้ ก็เลยเป็นข้อจำกัดเรื่องการคมนาคม ที่ทำได้ไม่ทั้งปี โดยเฉพาะหน้าแล้ง ถ้าตรงนี้ทำได้ก็น่าจะส่งผลประโยชน์ทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมาและจีน
แต่ผมก็ทราบว่ามีกลุ่มคน มีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจจะกังวลว่าในการสำรวจจะทำลายระบบนิเวศ แต่ผมเชื่อมั่นต่อวิธีการปฎิบัติของจีน และจะขอเล่าแนวคิดของบริษัทสำรวจและรัฐบาลไทยว่าไม่น่ากังวลเพราะมีแนวการทำงาน 2 ข้อคือ 1. การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจเฉยๆ เป็นการสำรวจแนวทางการเดินเรือว่าในตรงไหน มีก้อนหิน ตรงไหนมีอะไร 2.ถ้าเราจะต้องขุดลอกหรือกำจัดสิ่งกีดขวางลำน้ำจะมีแผนการปฎิบัติอย่างไร แล้วจะมีกระบวนการในการปฎิบัติรูปแบบไหน ซึ่งหลังจากนั้นจะต้องเสนอให้รัฐบาลไทยเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรไหม ผ่านหรือเปล่าอีกครั้ง

The North องศาเหนือ :เส้นทางถนน R3A มีการพัฒนาขึ้นมากแล้ว การระเบิดแก่งแม่น้ำโขงตอนบนก็10 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันเส้นทางทางบกก็พัฒนาแล้ว หลายคนบอกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะระเบิดในตอนท้ายแล้ว ?

เหริน ยี่เซิง : อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการขนส่งทางเรือ1.ต้นทุนต่ำ 2.ปริมาณมาก และเส้นทางเดินเรือเป็นเส้นทางที่ไม่ต้องมีการก่อสร้าง แต่เส้นทางถนนจำเป็นต้องขุดเจาะ ปรับหน้าดิน ลาดยาง มีการทำหลายอย่าง ทำให้เสียเวลาและเสียทรัพยากรอีกเยอะเมื่อเทียบกัน และในขั้นตอนของการขนส่งทางบก มีวิธีเดียว คือ ขับรถแล้วส่ง เป็นข้อจำกัดที่ไม่หลากหลาย แต่ถ้าเราเปิดแม่น้ำโขงสามารถเดินเรือได้ นอกจากขนส่งสินค้าแล้ว ยังสามารถผลักดันการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ได้ นักท่องเที่ยวไทยสามารถไปท่องเที่ยวเมืองจีน หรือสิบสองปันนา เช่นเดียวกันนักท่องเที่ยวจีนก็สามารถล่องแม่น้ำโขง แล้วมาท่องเที่ยวในไทยได้ ในรูปแบบนี้ ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ผลประโยชน์อย่างหนึ่งที่สามารถสร้างประสิทธิภาพ และประโยชน์ที่ตามมา อย่างในแม่น้ำโขงตอนบนซึ่งได้มีการขุดลอกไปเรียบร้อยแล้ว ผลกระทบต่อระบบนิเวศมีแต่น้อยมาก แต่ผลประโยชน์ที่จะตามมาคือด้านธุรกิจ ในด้านการค้าจะตามมามหาศาล

The North องศาเหนือ : โครงการนี้ 10 กว่าปีก่อนที่ทำไป เมื่อมาถึงประเทศไทยก็ทำไม่ได้ มีการประท้วง และยุติโดยรัฐบาลในปี2547 ครั้งนี้เป็นการเริมทำใหม่ ในสังคมไทยมีกระแสไม่เห็นด้วย ถ้ากระแสเป็นอย่างนี้ โครงการเดินหน้าไม่ได้ 4 ประเทศจะมีโอกาสทบทวนหรือไม่ว่าจะเอาอย่างไรกับแม่น้ำโขง?

เหริน ยี่เซิง : การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการสำรวจ แต่จะดำเนินหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยต่อมา ซึ่งแนวทางน่าจะมีผล 2 อย่าง คือ ให้แม่น้ำโขงในบริเวณของประเทศไทยคงเป็นเหมือนปัจจุบัน ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย ในฤดูแล้งบริเวณของประเทศไทยก็จะเดินเรือขนาดใหญ่ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรือที่บรรจุสินค้าหรือว่าท่องเที่ยว หรือเดินเรือขนาด 500 ตันไม่ได้แล้ว แบบนี้ก็จะส่งผลต่อโอกาสของประชาชนชาวไทย หรือประชาชนริมแม่น้ำโขง ที่ลาว เมียนมา จีน ที่ผ่านมาแม่น้ำโขงตอนบนบริเวณจีน ลาว ประชาชนที่ประกอบอาชีพริมน้ำโขงก็มีรายได้สูง เราก็หวังว่าประชาชนที่ไม่เห็นชอบถ้าทราบว่าเขามีรายได้สูง เขาก็อาจจะเปลี่ยนความคิดเห็นเอง เราหวังว่าเราอยากจะปรับแม่น้ำโขงให้ดีที่สุด เรารู้สึกเสียดายในส่วนของประเทศไทยถ้าจะไม่ได้พัฒนาร่วมกัน

และทั้งหมดนี้ คือTheNorthองศาเหนือ Talk ชวนผู้อ่านปรับทิศและคิดต่อ

 

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ