ศาลจังหวัดภูเขียวเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ที่นายเด่น คำแหล้-นางสุภาพ คำแหล้ สองสามีภรรยาเป็นจำเลย ไปเป็นวันที่ 27 ก.ค. 2560 เหตุพบหลักฐานอาจเชื่อมโยงกับการหายตัวไปของนายเด่น ด้านชาวบ้านสมาชิก คปอ.มาให้กำลังใจ ก่อนต่อไปส่งไปรษณียบัตรถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ขอให้ชะลอร่างกฎหมายป่าไม้ 2 ฉบับ
15 มิ.ย. 2560 สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กว่า 150 คน พร้อมด้วยทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความ เดินทางไปที่ศาลจังหวัดภูเขียว เพื่อร่วมฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ที่นายเด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และนางสุภาพ คำแหล้ สองสามีภรรยาเป็นจำเลย
ในวันดังกล่าว ศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 ก.ค. 2560 ด้วยเหตุผลจากพยานหลักฐานที่พบเจอล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2560 อาจเชื่อมโยงกับการหายตัวไปของนายเด่น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559 โดยเฉพาะหัวกะโหลกมนุษย์ ศาลจะทำหนังสือติดตามไปทางเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจห้วยยาง ให้เร่งติดตามผลการตรวจพิสูจน์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมีหนังสือถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ให้รีบตรวจพิสูจน์พยานวัตถุ ให้ทราบผลก่อนวันนัด
นายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า วัตถุพยานที่พบเจอล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2560 ในลำดับที่ 1-13 เป็นสัมภาระ และหลักฐานลำดับที่ 14 ที่เป็นหัวกะโหลกมนุษย์ ยังรอทางเอกสารจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังไม่มีมาแสดงผลการตรวจพิสูจน์ทางดีเอ็นเอว่า หัวกะโหลกมนุษย์เป็นของจำเลยที่ 1 ที่สูญหายไปหรือไม่ จึงได้ขอยื่นคำร้องขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไป ศาลจึงได้มีคำสั่งเลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 27 ก.ค.2560 เวลา 09.00 นาฬิกา
นายถนอมศักดิ์ เพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2560 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา และฟังคำสั่งของศาลฎีกากรณีที่นายเด่น คำแหล้ (จำเลยที่ 1) มิได้มาศาลตามกำหนดนัด เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งว่า ไม่มีบุคคลรู้แน่ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย และให้ศาลจังหวัดภูเขียวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งมีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย. 2560
ด้านนางสุภาพ คำแหล้ กล่าวว่า เคารพคำสั่งและการพิจารณาของศาล แต่ที่ผ่านมายืนยันว่าสามีไม่เคยคิดหลบหนีคดี เพราะเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาก็เคยถูกคุมขังในเรือนจำภูเขียวมาด้วยกันเป็นเวลา 16 วัน อีกทั้งสามีเป็นนักต่อสู้สิทธิที่ดินทำกิน กล้าเผชิญหน้าตลอด ถ้าจะหนีก็คงหนีไปกันหมดทั้งชุมชนโคกยาว และที่อยู่กินกันมาตั้งแต่ปี 2525 ไม่เคยทิ้งปล่อยให้ภรรยาอยู่ลำบากอยู่คนเดียวแบบนี้ ทั้งนี้ เธอเชื่อว่าสามีหายไป 1 ปีกว่า เสียชีวิตแล้ว จากหลักฐานหลายอย่างที่ค้นพบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในนัดแรกเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2559 นางสุภาพ ได้แถลงต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2559 จำเลยที่ 1 เข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่าตามปกติ และได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และได้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานยังสถานีตำรวจภูธรห้วย ทนายความจึงขออนุญาตเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปอีกนัดหนึ่ง โดยศาลได้อนุญาตให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 20 ก.ย.2559
เมื่อถึงกำหนดวันนัด (20 ก.ย.2559) นางสุภาพยังอยู่ระหว่างการเข้ารักษาตัวจากอาการป่วยด้วยโรคเนื้องอกในมดลูกที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จังหวัดขอนแก่น โดยแพทย์นัดตรวจรักษาโรคอีกครั้งในวันที่ 26 ก.ย. 2559 ทนายความจึง ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปนัดหนึ่ง ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาเป็นวันที่ 4 พ.ย.2559 ต่อมาศาลเลื่อนมาเป็นวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา และเลื่อนอีกมาเป็นวันที่ 15 มิ.ย.2560 และนัดครั้งล่าสุดเป็นวันที่ 27 ก.ค. 2560
หลังจากฟังคำสั่งศาล สมาชิก คปอ.กว่า 150 คน ที่มาร่วมให้กำลังใจและรอฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ได้เดินทางต่อไปยังที่ทำการไปรษณีย์ภูเขียว ส่งไปรษณียบัตรถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอให้ชะลอการนำ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. … ที่จะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในเขตป่า เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วให้นำกลับมาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77
ทั้งนี้สมาชิก คปอ. ที่ร่วมส่งไปรษณียบัตร ล้วนเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตป่า เช่น ชุมชนบ่อแก้ว ชุมชนโคกยาว ชุมชนดงกลาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ชาวบ้านชุมชนหนองจาน ชุมชนบ้านซำผักหนาม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จาก อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ และชาวบ้านชุมชนวังอีเมียง อ.ภูกระดึง จ.เลย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
เล่าเรื่อง เด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินที่ต้องคดี
นายเด่น คำแหล้ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน และเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ภายหลังจากปี 2528 รัฐเข้ามาดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์” และให้ชาวบ้านโคกยาวอพยพออกจากที่ทำกิน โดยอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำยูคาลิปตัส เข้ามาปลูก ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ทำให้เข้าไปทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้ นายเด่นได้ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องมาโดยตลอด
ต่อมาได้ร่วมกลุ่มชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินทำกินในอำเภอคอนสาร จึงได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ในช่วงปี 2548 โดยมีข้อเสนอให้ “ยกเลิกสวนป่า” แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับผู้เดือดร้อน และร่วมกันผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ กระทั่งรัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้านรวม 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม มีการแยกสำนวนฟ้อง ออกเป็น 4 คดี 10 ราย ดังนี้ คดีที่ 1 นายคำบาง กองทุย และนางสำเนียง กองทุย คดีที่ 2 นายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์ คดีที่ 3 นายสนาม จุลละนันท์ และคดีที่ 4 นายเด่น คำแหล้ นางสุภาพ คำแหล้ นายบุญมี วิยาโรจน์ นางหนูพิศ วิยาโรจน์ และนางเตี้ย ย่ำสันเทียะ
ในส่วนคดีที่ 4 คือนายเด่น คำแหล้ และพวกรวม 5 คน ศาลจังหวัดภูเขียวนัดอ่านฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2556 โดยยืนตามศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4 คือนายเด่น และนางสุภาพ จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี ส่วนจำเลยอีก 3 ราย ศาลยกฟ้อง ส่งผลให้นายเด่นและนางสุภาพถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำภูเขียว เป็นเวลา 16 วัน
ต่อมาในวันที่ 9 พ.ค. 2556 ทางสมาชิก คปอ. และพีมูฟ ได้ชุมนุมที่กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานภาครัฐ และได้ร่วมกันเดินรณรงค์ไปยังศาลฎีกา พร้อมกับยื่นหนังสือขอให้ศาลฎีกาปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ประกอบกับช่วงดังกล่าวทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด ผลการยื่นประกันขอให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 1 และที่ 4 ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 โดยได้เพิ่มหลักทรัพย์จากรายละ 200,0000 บาท เป็นรายละ 300,000 บาท
รายงายโดยศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน