8 เรื่องของ ‘คนไร้บ้าน’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้

8 เรื่องของ ‘คนไร้บ้าน’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้

คนไร้บ้าน (Homeless) เป็นปรากฏการณ์และเป็นประเด็นปัญหาที่ปรากฏในสังคมไทยโดยเฉพาะในเขตเมืองมานานกว่า 3 ทศวรรษ

คนไร้บ้านเป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยสถานะของคนที่จนที่สุดที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ

คนไร้บ้านสะท้อนถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีความไม่เป็นธรรมและนโยบายทางสังคมที่มีประสิทธิภาพต่ำ ในหลายประเทศ ประเด็นและจำนวนคนไร้บ้านเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่งของความสัมฤทธิ์ผลและความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ก่อนถึงงานเสวนาสาธารณะ “Human of Street” ตอน Meet & Read คนไร้บ้าน (คลิกดู) วันเสาร์ที่ 3 มิ.ย. 2560 เวลา 14.30 – 18.00 น. ณ พิพิธบางลำพู ถนนพระอาทิตย์ ริมคลองบางลำพู โดยความร่วมมือของสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมทั้งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครือข่ายคนไร้บ้าน ขอชวนมาทำความรู้จักบางแง่มุมจาก 8 เรื่องของ ‘คนไร้บ้าน’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้

มาร่วมปรับมุมมองและเปลี่ยนโลกความเข้าใจต่อคนไร้บ้าน แล้วเราอาจได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยและสวัสดิการทางสังคม

1. คนไร้บ้านคือใคร?

คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มประชากรที่มักพบเจอตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่าคนไร้บ้านเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของเมืองใหญ่

ปัจจุบันในหลายประเทศ ได้มีการให้นิยาม “คนไร้บ้าน” (Homeless) โดยหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด หากแต่ก็มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน คือ กลุ่มคนที่ไร้ที่อยู่อาศัยอันมั่งคงถาวร ใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนอยู่ในพื้นที่สาธารณะหรือศูนย์พักพิงสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

แม้นิยามของคนไร้บ้านจะอิงอยู่กับเรื่องของที่อยู่อาศัยเป็นหลัก หากแต่งานศึกษาเกี่ยวกับคนไร้บ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นว่าคนไร้บ้านมีสภาพปัญหาและวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับเรื่องของความยากจน ความไม่มั่นคงของชีวิตและรายได้

2. ทำไมจึงมาเป็นคนไร้บ้าน?

สาเหตุของการมาเป็นคนไร้บ้านมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา หากแต่การสำรวจคนไร้บ้านเมื่อปี 2559 พอสรุปได้ว่าการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของคนไร้บ้านมักมีเหตุปัจจัยที่ทับซ้อนกันทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และเชิงสังคม/ครอบครัว รวมถึงปัจจัยทางสุขภาพ ทั้งนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจดูจะเป็นรากฐานหลักสำคัญของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งในแง่ของความยากจน ความไม่มั่นคง/ไม่แน่นอนทางรายได้และการทำงาน การขาดสวัสดิการจากการว่างงาน

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกเช่นกันว่า การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเกินกว่าครึ่งมักปรากฏใน “ช่วงวัยกลางคน” (40-49 ปี) ขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน และเป็นช่วงวัยที่มีประสบการแข่งขันจากตลาดการจ้างงานทั้งกับคนวัยเดียวกันและแรงงานที่อยู่ในช่วงวัยน้อยกว่า

3. อาชีพที่หลากหลายของคนไร้บ้าน

แม้ภาพของคนไร้บ้านมักเป็นกลุ่มคนที่มีอาชีพเก็บของเก่าหรือว่างงาน หากแต่ผลสำรวจคนไร้บ้านฯ กลับพบว่าอาชีพและการทำงานของคนไร้บ้านนั้นมีความแตกต่างหลากหลายและมีอัตราว่างงาน/ไม่มีงานทำที่น้อย คือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

ทั้งนี้ คนไร้บ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป อาทิ การเป็นแม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย และลูกจ้างรายวันตามกิจการต่าง ๆ เป็นต้น

4. มีอาชีพ มีงานทำ แต่รายได้ก็ไม่เพียงพอ

คนไร้บ้านประมาณร้อยละ 90 จะมีงานทำและพยายามแสวงหารายได้ผ่านการทำงาน หากแต่ คนไร้บ้านมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือกว่าร้อยละ 50 รายงานว่ามีรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

นอกจากนี้งานของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเป็นงานที่ไม่มีความมั่นคง ทั้งในแง่ของการจ้างงาน (ลูกจ้างรายวัน, ไม่มีสัญญาจ้าง, ไม่มีสวัสดิการ, หยุดงานไม่ได้เงิน) และรายได้ที่ไม่มีความแน่นอน อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการกลับมาตั้งหลักชีวิตใหม่อีกครั้งของคนไร้บ้าน

5. คนไร้บ้านกับการขับเคลื่อนเมือง

อาชีพและการทำงานของคนไร้บ้านจำนวนมาก มีส่วนอย่างสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองใหญ่ต่าง ๆ ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างที่หลายคนไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่นการเก็บขยะและแยกขยะของคนไร้บ้านมีส่วนช่วยในการรีไซเคิลขยะและลดปริมาณขยะของเมือง และการรับจ้างรายวันของคนไร้บ้านมีส่วนช่วยตอบสนองการขาดกำลังแรงงานของเมือง เป็นต้น

เราจะสนับสนุนเหล่าผู้ช่วยขับเคลื่อนเมืองเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร?

6. ไร้ตัวตน ไม่มีบัตรฯ เข้าไม่ถึงสิทธิ

ในปัจจุบันมีคนไร้บ้านประมาณร้อยละ 25 ไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันสิทธิตัวตนทางทะเบียน ซึ่งต้องประสบปัญหาทางสุขภาพจากอุปสรรคในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐ ทำให้สุขภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากสภาพการใช้ชีวิตมีแนวโน้มตกต่ำลงไปอีก บางรายต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นฟูจากความเจ็บป่วย และหลายรายต้องเสียชีวิตลงจากความเจ็บป่วยที่ยากเกินการเยียวยาวของแพทย์

นอกจากอุปสรรคในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแล้ว การไม่มีบัตรประชาชนของคนไร้บ้านยังส่งผลต่อการเข้าถึงงานที่มีความมั่นคงขึ้นเช่นกัน อาทิ การเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือการทำงานที่มีสัญญาจ้าง เป็นต้น

การไม่มีบัตรประชาชนของคนไร้บ้านส่วนหนึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาการไม่สามารถยืนยันตัวตนได้อันอาจเนื่องมาจากการสูญหายของบัตรประชาชนเป็นเวลานานหรือการไม่เคยทำบัตรประชาชน รวมถึงการไม่มีบุคคลมายืนยันตัวตนทางทะเบียน

การไม่มีบัตรประชาชนทำให้สิทธิความเป็นคนไทยลดลง แม้พวกเขาจะถือกำเนิดเป็นคนไทยเต็มขั้นก็ตาม

7. สูงวัย และไร้บ้าน

ปัจจุบันมีคนไร้บ้านอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงประมาณร้อยละ 22 อันอาจกล่าวได้ว่าสังคมคนไร้บ้านเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged population society, มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20) และมีสัดส่วนประชากรสูงอายุที่มากกว่าสังคมไทยโดยรวมที่กำลังเข้าสูงสังคมสูงวัย (aging population society, มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10)

ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป แต่จำนวนมากเป็นกลุ่มคนที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านตั้งแต่ช่วงวัยกลางคน (40 ปีขึ้นไป)

8. ไร้บ้าน “ภาวะ” หนึ่งของชีวิต ที่หลุดพ้นได้

คนไร้บ้านออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นเวลาประมาณ 9 ปี ซึ่งเป็นเวลาค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับอายุเฉลี่ยของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร (ประมาณ 50 ปี) หรืออาจกล่าวได้ว่าการไร้บ้านเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิต นอกจากนี้ คนเพิ่งไร้บ้านไม่นานมีแนวโน้มที่จะพ้นจากภาวะไร้บ้านได้รวดเร็วกว่าคนไร้บ้านที่อยู่มาเป็นเวลานาน

ในแง่นี้ เมื่อคนไร้บ้านอาจเป็น “ภาวะ” หนึ่งของชีวิต หากสังคมให้โอกาสอย่างเท่าเทียมแก่พวกเขา มีความเข้าใจการเป็นคนไร้บ้าน การสร้างโอกาสการทำงานและรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการทางสังคมและสุขภาพอย่างครอบคลุม ก็จะทำให้คนไร้บ้านกลับมามีชีวิตที่มีคุณภาพได้

……………………………………………

ที่มาของข้อมูล: อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และคณะ, การสำรวจข้อมูลทางประชากรเชิงลึกของคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2559).

ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม: www.penguinhomeless.com
ติดต่อ homelessknow@gmail.com

จัดทำโดย: แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ