แอมเนสตี้ฯ เปิดตัวโครงการรณรงค์ ‘กล้า’ เรียกร้องยุติการปราบปราม ข่มขู่ คุกคาม และทำร้าย บรรดาผู้กล้าหาญที่ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย นักข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
000
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
16 พฤษภาคม 2560
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดนคุกคามจนถึงจุดวิกฤตทั่วโลก
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวโครงการรณรงค์ทั่วโลก โดยใช้คำว่า BRAVE (กล้า) เป็นชื่อนำการรณรงค์เพื่อยุติการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ในปี 2559มีผู้ถูกสังหาร 281 คน จากการทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มจากปี 2558 ซึ่งมี 156 คน
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกโดนโจมตีทำร้าย ถูกทำลายชื่อเสียง มีการปราบปรามภาคประชาสังคมและการสอดแนมในวงกว้าง
วันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวโครงการรณรงค์ใหม่ทั่วโลกที่มีชื่อว่า “กล้า” – “BRAVE” เพื่อเรียกร้องให้ยุติการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อผู้กล้าหาญที่ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม โดยเผยว่า ปัจจุบันแกนนำชุมชน นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ทั่วโลกต่างเผชิญกับการปราบปราม การคุกคาม และความรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ซาลิลเช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า สิ่งที่พวกเราเห็นทุกวันนี้คือโจมตีของรัฐบาล กลุ่มติดอาวุธ บรรษัท และผู้มีอำนาจอื่น ๆ ที่ทำกันอย่างเปิดเผย โดยมุ่งทำร้ายสิทธิในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการโจมตีที่เกิดขึ้นทั่วโลก
“จากประธานาธิบดีปตูิน ถึงประธานาธิบดีสี และประธานาธิบดีเอล-ซีซี ผู้นำประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลกกำลังทำลายพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้เกิดสังคมเสรีที่เป็นธรรมและเท่าเทียม การพรากสิทธิในการประท้วง การสอดแนมพวกเขา การพุ่งเป้าโจมตีพวกเขาและชุมชนของพวกเขา ทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าของการคุกคาม การข่มขู่ และการทำร้ายร่างกาย เป็นความพยายามของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่จะขัดขวางการท างานของผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรา”
ในรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน-พื้นที่ภาคประชาสังคมที่ถูกบีบให้เล็กลง” ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้พร้อมกับโครงการรณรงค์โครงการใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยให้เห็นถึงภัยที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีความพยายามพุ่งโจมตีพวกเขาถึงขั้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้น
จากข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Front Line Defenders ระบุว่าในปี 2559 มีผู้ถูกสังหาร 281 คนทั่วโลกจากการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มียอด 156 คน
“ผู้นำในระบอบเผด็จการและประชานิยมพยายามทำให้เราเชื่อว่าพวกเขามุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของพวกเรา แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย อันที่จริงแล้วคนที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของเรา คนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพวกเรา คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งพวกเขาต้องโดนคุกคาม เพียงเพราะมีการยืนหยัดท้าทาย โดยในปี 2560 สถานการณ์กำลังรุนแรงถึงขั้นวิกฤต อันเนื่องมาจากการกระทำอันมิชอบที่รัฐได้นำมาใช้ต่อพวกเขา” ซาลิลกล่าว
มีการใช้เครื่องมือเพื่อปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
ในรายงานได้กล่าวสรุปไว้ว่า ทั้งการสอดแนมในวงกว้าง การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การใช้กฎหมายอย่างมิชอบและการปราบปรามการประท้วงอย่างสงบ ส่งผลให้เกิดอันตรายระดับรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนต่อนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน
แนวโน้มที่เกิดขึ้นรวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการสอดแนมอย่างมีเป้าหมาย รวมทั้งการสอดแนมออนไลน์ เพื่อข่มขู่และปิดปากนักกิจกรรม
นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนชาวบาห์เรนที่ต้องลี้ภัย ถูกเฝ้าติดตามโดยรัฐบาลผ่านการใช้สปายแวร์ และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสั่งการให้บริษัทเปิดเผยกุญแจถอดรหัสข้อมูล และให้ถอดรหัสข้อมูลการสื่อสารส่วนบุคคลผ่านระบบออนไลน์ โดยแทบไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมาเลย ในสหราชอาณาจักร ตำรวจทำการสอดแนมผู้สื่อข่าว ทั้งนี้เพื่อหาทางจำแนกตัวบุคคลที่เป็นแหล่งข่าว
ในประเทศต่าง ๆ อย่างเม็กซิโกและรัสเซีย เครือข่ายของนักเกรียน (troll networks) พยายามอย่างจริงจังมากขึ้นที่จะปล่อยข้อมูลเท็จเพื่อสร้างกระแส ทั้งนี้เพื่อสร้างภาพลบ และสร้างตราบาปให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างผู้สื่อข่าว
แนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปรามให้กับแนวทางเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหาย การปราบปรามสิทธิในการประท้วงอย่างสงบ และการใช้กฎหมายอาญา แพ่ง และปกครองเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
สถิติที่สำคัญเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในปี 2559
– อย่างน้อย 22 ประเทศ มีการสังหารบุคคลที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างสงบ
– ใน 63 ประเทศ มีการสร้างข่าวเท็จเพื่อทำให้ภาพพจน์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสียหาย
– ใน 68 ประเทศ มีการจับกุมหรือควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพียงเพราะการทำงานอย่างสงบ
– ใน 94 ประเทศ มีการคุกคามหรือโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“ในระหว่างที่ไม่ได้ข่มขู่หรือคุกคามพวกเขา แต่รัฐบาลก็ใช้การใส่ร้ายป้ายสีทุกอย่างเพื่อสร้างความเกลียดชังอย่างเปิดเผยต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการใช้วาทกรรมที่สร้างภาพอันชั่วร้าย กล่าวหาว่านักกิจกรรมเปรียบเสมือนผู้ก่อการร้ายหรือเป็นตัวแทนของต่างชาติ ซึ่งห่างไกลจากความเป็นจริงมาก”
“คำถามในตอนนี้ก็คือ เราจะอยู่เฉย ๆ และปล่อยให้ผู้มีอำนาจดำเนินการแบบนี้ต่อไป เพื่อกำจัดนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นด่านสุดท้ายเพื่อปกป้องสังคมที่เสรีและเป็นธรรมหรือ? หรือเราจะร่วมกันยืนหยัดและช่วยกันขัดขวางแนวทางนั้น?” ซาลิลกล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มโครงการรณรงค์ใหม่ทั่วโลกเพื่อ “ปกป้องผู้กล้า”
สืบเนื่องจากภัยที่รุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเริ่มการรณรงค์ใหม่ที่มีชื่อว่า “กล้า”(BRAVE) เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับการกระทำที่ชอบธรรมของคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและสิทธิอันเท่าเทียมของคนทุกคน และประกันเสรีภาพและความปลอดภัยของพวกเขา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการตามที่ให้พันธสัญญาไว้เมื่อครั้งที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Declaration on human rights defenders) ในปี 2541 ปฏิญญานี้เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับบทบาทและคุณูปการอันสำคัญของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และกำหนดมาตรการที่จริงจังเพื่อคุ้มครองพวกเขา
โครงการรณรงค์ระดับโลกครั้งนี้จะแสดงให้เห็นภาพของบุคคลต่างๆ ที่กำลังเผชิญกับอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน และในระหว่างการล็อบบี้กับรัฐบาล และกดดันให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเพิ่มความเข้มแข็งด้านกฎหมายมากขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงสืบสวนการโจมตีที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมต่อไป และจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับชุมชนและนักรณรงค์ในท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมในการรณรงค์
“ตั้งแต่เฟรดเดอริก ดักลาส (Frederick Douglass) มาจนถึงเอมิลีน แพงค์เฮิสต์ (Emiline Pankhurst) โรซา ปาร์กส์ (Rosa Parks) บีอาร์อัมเบดการ์ (B.R. Ambedkar) และเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญ ที่ปฏิเสธระบบที่เป็นอยู่และลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง” ซาลิลกล่าว
“จิตวิญญาณของความกล้าหาญยังคงดำรงอยู่ในปัจจุบัน อย่างที่เห็นจากการกระทำของมาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) หรือเชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) คนเหล่านี้ยังดำรงอยู่และต้องแบกรับความเสี่ยงมหาศาลเพื่อพวกเรา”
“หากปราศจากความกล้าหาญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในโลกเราจะเหลือความเป็นธรรม ความยุติธรรม และเท่าเทียมกันน้อยลง และนี่เป็นเหตุให้ในวันนี้พวกเราเรียกร้องให้ทุกคน ไม่เฉพาะผู้นำโลก ต้องยืนหยัดเคียงข้างและคุ้มครองบุคคลผู้กล้าหาญเหล่านี้”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: แอมเนสตี้ฯ เปิดตัวแคมเปญ “กล้า” ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ – ไทยเตรียมรวมตัว “ผู้กล้า” 23 พ.ค.นี้