ครั้งแรก! ฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับบริษัทเหมือง เรียกค่าเสียหายจากการต้องมาต่อสู้คดี 1,789,190.76 บาท หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ชาวบ้านชนะคดีเหมืองทองฟ้อง 50 ล้าน เหตุติดป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’ ทำเสียชื่อเสียง
วันนี้ (15 พ.ค. 2560) เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเลย ในคดีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 6 คน ฟ้องกลับต่อบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากคดีที่บริษัทฯ ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากชาวบ้าน 50 ล้านบาท กรณีการทำป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” ทีซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย “ปิดเหมืองฟื้นฟู” ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน
เวลา 11.00 น. ศาลนัดไกล่เกลี่ยโจทก์และจำเลย และเปิดให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่ในวันนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลเลื่อนสั่งสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยให้ฝ่ายโจทก์ทำบันทึกคำให้การมา และนัดสืบเฉพาะแค่โจทก์ 6 คน ในวันที่ 20 มิ.ย. 2560
ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความของโจทก์ระบุว่า การที่ทางฝ่ายจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หมายความว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะมาโต้แย้งในภายหลัง
ตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับบริษัท เพราะที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ฟ้องร้องคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อชาวบ้านหลายสิบคดี ซึ่งส่วนใหญ่ฟ้องเสมือนกลั่นแกล้งหรือแกล้งฟ้องให้ชาวบ้านเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียขวัญกำลังใจและเสียความรู้สึก การที่ชาวบ้านฟ้องกลับย่อมมีความหมายที่สำคัญในสิทธิโดยสุจริตใจของชาวบ้านในการปกป้องและรักษาบ้านเจ้าของ
ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ตัดสินใจยื่นฟ้องกลับบริษัททุ่งคำฯ เรียกค่าเสียหายที่ทำให้ชาวบ้านเสียชื่อเสียงและเสียเวลา รวมค่าเสียหายราว 3 ล้านบาท ณ ศาลจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2559
จากนั้น กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นเรื่องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อศาลเพราะในการฟ้องกลับบริษัททุ่งคำฯ เป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย ซึ่งต้องวางทุนทรัพย์ในอัตราร้อยละ 2 (ทุนทรัพย์ที่เรียกร้องเกิน 300,000 แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท) ทำให้ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายคนละ 9,800-12,000 บาท ซึ่งชาวบ้านไม่มีกำลังพอ
แต่ต่อมาศาลได้ไต่สวนและให้ความเห็นว่า ชาวบ้านทั้ง 6 คน ยังไม่เดือดร้อนพอที่จะไม่มีค่าธรรมเนียมศาล ศาลจึงให้เวลา 30 วัน ในการวางเงินค่าธรรมเนียม และให้ชาวบ้านทั้ง 6 สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 7 วัน
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2560 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 6 คน ได้ยื่นคำฟ้องเพื่อฟ้องกลับบริษัททุ่งคำฯ อีกครั้ง เป็นคดีแพ่งในฐานความผิดละเมิด เรียกค่าเสียหาย 1,789,190.76 บาท เป็นคดีดำที่ 603/2559
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2558 ชาวบ้านได้ร่วมกันทำซุ้มประตูหมู่บ้านและได้เขียนข้อความดังกล่าวติดโดยรอบหมู่บ้าน ถือเป็นกิจกรรมรณรงค์ร่วมกันของคนในชุมชน แต่ถูกทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัดกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลย 6 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จงใจละเมิดต่อบริษัทฯ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จากเงินต้น และให้รื้อถอนป้ายดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของชาวบ้านดังกล่าวไม่มีการปิดล้อมเหมือง และไม่ได้ขัดขวางการดำเนินงานของโจทก์ แต่กลับเป็นเพียงข้อเรียกร้องการแก้ปัญหา จึงเป็นการแสดงความเห็นและเสนอไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจแก้ใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน นับได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่เป็นการละเมิดโจทก์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค4 มีคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คนไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้ง 6 คน โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้รวม 300,000 บาท