‘กมล รอดคล้าย’ เผยความร่วมมือกับบริติชเคานซิลฯ พัฒนานโยบายการศึกษาด้านการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม สร้างความเท่าเทียม-ลดความเหลื่อมล้ำ ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ-พิการเรียนร่วมกับเด็กปกติทั่วไป
12 พ.ค. 2560 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เผยแพร่ข้อมูลของ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งระบุว่า ภายหลังจากประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 อย่างเป็นทางการแล้ว สกศ. เร่งสนองนโยบายตามยุทธศาสตร์การศึกษามิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ล่าสุดได้สรุปการดำเนินงานความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สกศ. และบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อพัฒนานโยบายการศึกษาด้านการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) นำเสนอ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ข้อเสนอแนะของ สกศ. มีประเด็นสำคัญหลายประการ เช่น รัฐควรส่งเสริมสนับสนุนนโยบายการศึกษาเรียนรวม ควรมีประกาศยกย่องและให้รางวัลสถานศึกษาที่สามารถจัดการศึกษาเรียนรวม สามารถจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษและพิการได้เรียนร่วมกับเด็กปกติทั่วไปประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ให้จัดการศึกษาเรียนรวมเพิ่มมากขึ้น และควรปรับวิธีการในการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาเรียนรวมให้เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และไม่ยุ่งยากซับซ้อน
อีกทั้งสถานศึกษาเองควรสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และสร้างทัศนคติที่ดีแก่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษและพิการเข้ามามีส่วนร่วมดูแลเอาใจใส่บุตรหลานในการอยู่ร่วมกับเด็กทั่วไปในสถานศึกษาอย่างมีความสุข เป้าหมายสำคัญเน้นผู้เรียนระบบเรียนรวมสามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้อย่างเหมาะสมเมื่อสำเร็จการศึกษา
ดร.กมล กล่าวว่า สกศ.ยังเสนอให้ผู้บริหารหน่วยงานจัดการศึกษาต่าง ๆ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับมีภาวะผู้นำ ความอดทน ความรับผิดชอบ และเห็นความสำคัญของนโยบายการศึกษาเรียนรวมและนำสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ประเด็นนี้สำคัญอย่างยิ่งเพราะรัฐจะเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับโมเดลการศึกษาเรียนรวม
ดังนั้น รัฐควรจัดสรรอัตรากำลังแก่สถานศึกษา มีครูผู้ช่วยสอนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอนและการดูแลผู้ที่มีความต้องการพิเศษและพิการโดยเฉพาะ ควรมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนการศึกษาเรียนรวมที่มีความยืดหยุ่นสามารถนำไปใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพความพร้อมของผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายได้
สำหรับกลไกเครื่องมือการสร้างห้องเรียนแบบเรียนรวม เช่น การประเมินผล การพัฒนาภาวะผู้นำของผู้บริหาร การพัฒนาหลักสูตรและเนื้อหา ฯลฯ รัฐควรส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว รวมทั้งการอบรมเพิ่มพูนความรู้ ความสามารรถ และทักษะให้กับครู เพื่อดูแลและจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้เด็กกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ได้เสนอแนะกระทรวงศึกษาธิการ ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและพิการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานข้อมูลการจัดสรรงบประมาณและการกำหนดอัตรากำลังครูและครูผู้ช่วยสอนให้เหมาะสม
ขณะที่สถาบันผลิตครูคือคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ควรกำหนดหลักสูตรให้ผู้เรียนทุกคนเรียนวิชาพื้นฐานด้านการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งวิธีการวัดและประเมินผลเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นครูทุกคนมีความรู้พื้นฐานสำหรับเด็กที่ต้องการการศึกษาแบบเรียนรวม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาจะได้พิจารณากำหนดนโยบายและสั่งการปฏิบัติต่อไป