ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep south watch) ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์หลังเหตุระเบิดคาร์บอมบ์บิ๊กซี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 61 ราย โดยหนึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กอายุ 2 ขวบ และมีทรัพย์สินเสียหายจากเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก
คาดการณ์ใครคือผู้ก่อเหตุ ?
ผศ.ดร.ศรีสมภพ : กลุ่มที่ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ BRN (แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุยสันติสุข มีข้อเสนอ ข้อเรียกร้องใหม่ของตัวเองขึ้นมา เพื่อที่จะเข้าร่วมได้ในอนาคต แต่ตอนนี้ติดเงือนไขใหม่ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เสนอมาเมื่อเดือนที่ผ่านมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลาย ๆ เหตุการณ์ ในเดือนเมษายน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมุ่งไปที่ Hard Target (เป้าหมายที่มีการระวังป้องกันเป็นอย่างดี) ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าใจว่าข้อเสนอเรียกร้องทางฝ่าย BRN กลุ่มนี้ในแง่มาตรการสนองตอบทางฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายมาราปาตานีเอง จากข้อเสนอตอนนี้ก็ยังไม่ออกมาชัดเจนอะไร
ในส่วนของ BRN กลุ่มนี้อาจจะยังไม่มีประเด็นที่ชัดเจนหรือการสนองตอบที่ชัดเจนของฝ่ายรัฐเองหรือเวทีสันติสุข ทำให้อาจจะมีการเคลื่อนกระแสเพื่อใช้แรงกดดันทางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้มีการทำงานในเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือ safety zone เชื่อว่าเป็นแรงบวกที่ทำให้เกิดกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในการพูดคุย ย้ำว่าพื้นที่ปลอดภัยไม่น่าจะทำได้ หากทุก ๆ กลุ่มที่คิดต่างไม่ได้เข้าร่วม
คิดว่านี่คือตัวแปรที่สำคัญน่าจะเป็นไปได้ว่าผู้ก่อเหตุเมื่อวานนี้เป็นการทำงานของกลุ่ม BRN
ลักษณะการก่อเหตุบ่งชี้ถึงอะไร ?
ผศ.ดร.ศรีสมภพ : ลักษณะการก่อเหตุไม่ได้แตกต่างจากการเกิดเหตุที่ผ่านมาในแง่การพยายามที่ก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น จุดตรวจ จุดที่ตั้งของทหาร ตำรวจ หรือเสาไฟฟ้าเป็นการทำลายสถานที่ การก่อเหตุในจุดเมืองส่วนใหญ่ อย่างการระเบิดในจุดที่เป็นชุมชนจะมีไม่มาก แต่ถ้าเกิดขึ้นจะเป็นจุดที่สร้างผลสะเทือน สร้างความเดือนร้อน ไม่ว่าจะเป็นตลาด ศูนย์การค้า โรงแรม ลักษณะการก่อเหตุแบบนี้จะเป็นช่วง ๆแต่ไม่ถี่
แต่ครั้งนี้ค่อนข้างมีความรุนแรงในแง่ของเป้าหมายและวิธีการที่ใช้รถบรรจุถังระเบิดไปจอดที่จุดกลางของศูนย์การค้าที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมา แต่ครั้งนี้มีมาตรการการป้องกันที่ดี เห็นว่ามีรถจอดอยู่ได้มีการเคลียร์พื้นที่ ทำให้มีแต่ผู้ที่ได้รับาดเจ็บ แต่มีไม่มีผู้เสียชีวิต เจตนาผู้ก่อเหตุทำให้เกิดผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การทำลายประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นผลด้านลบต่อฝ่ายขบวนการเองที่จะได้รับการต่อต้านคัดค้าน
การเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะทำให้ ‘การพูดคุยสันติสุข’ หยุดชะงักหรือไม่?
ผศ.ดร.ศรีสมภพ : การพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับทางมาราปาตานียังมีการทำเนินการต่อไป และการสร้างพื้นที่ปลอยภัยก็ยังดำเนินการอยู่ต่อไป แต่จะมีปัญหา อาจเกิดการก่อเหตุแบบนี้เรื่อยๆ ที่มีการต่อต้าน และมีผลอยู่ในแง่ที่ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาให้ได้อย่างแท้จริงและไม่มีการเสียชีวิต
เมื่อกลุ่มก่อเหตุไม่ใช่กลุ่มร่วมเจรจา แล้วจะไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างไร?
ผศ.ดร.ศรีสมภพ : ทุก ๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมในการหาทางออกโดยสันติ ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ทางฝ่ายรัฐบาลไทยซึ่งไปสอดคล้องกับนโยบายในการแก้ปัญหาโดยการหาทางออก การเปิดโอกาสหรือการพยายามดึงให้กลุ่ม BRN ที่ไม่เห็นด้วย เข้าร่วมกับการพูดคุยได้ อาทิ เวทีที่เป็นพื้นที่เดิมของมาราปาตานีเอง หรือสร้างเวทีการพูดคุยอีกเวทีหนึ่งขึ้นมา แต่เงื่อนไขตอนนี้คิดว่าน่าจะเป็นจุดที่สำคัญ คือกลุ่มที่ก่อเหตุในครั้งนี้หรือก่อนหน้านี้จะต้องออกมาแถลงหรือประกาศตัวอย่างชัดเจน ว่าตัวเองคือใคร? ไม่ควรที่จะก่อให้เกิดความคุมเครือ
ถ้าหากว่านี่เป็นการส่งสัญญาณจริง ในแง่ความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ กลุ่มที่ก่อเหตุจะต้องแถลงตัวและประกาศออกมาให้ชัดเจนว่า เขาเป็นใคร? ต้องการทำอะไร? หากมีสิ่งนี้เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในขั้นต่อไปได้
สถานการณ์ ‘รอมฎอน’ ปีนี้ จะเป็นอย่างไร?
ผศ.ดร.ศรีสมภพ : ปัจจัยที่สำคัญ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ทางออกในแง่ข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้จริงๆ ให้มากที่สุดในทุกฝ่าย รวมถึงภาคประชาสังคม และเสียงเรียกร้องของทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่เป็นพลัง โดยไม่ใช้ความรุนแรง ยิ่งในช่วงเดือนรอมฎอน
ทำให้เหมือนการเกิดขึ้นในปี 2556 ตอนนั้นเสียงเรียกร้องของทุกฝ่ายในพื้นที่สอดคล้องกัน ต้องการให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความสงบสันติอย่างแท้จริง ปีนั้นเหตุการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนสงบลง มีเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่ภาพรวมแล้วถือว่าน้อยมาก
เหตุการณ์ในเดือนรอมฎอนจะลดลงได้ อยู่ที่เสียงเรียงร้องของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ที่จะช่วยกันสร้างกระแสแรงกดดันเพื่อถ่วงดุล โดยเฉพาะสันติภาพที่ต้องหาทางออกในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยรวมกัน