ระดมจิตอาสาช่วยเก็บขยะหลังประเพณีเตียวขึ้นดอย สักการะพระธาตุดอยสุเทพ พบมีขยะถูกทิ้งไว้ในชั่วข้ามคืนปริมาณมากถึง 27.6 ตัน จากปีที่แล้วซึ่งมีประมาณ 19 ตัน
ในช่วงเช้าของวานนี้ (10 พ.ค. 2560) มีการระดมจิตอาสาเพื่อช่วยกันทำความสะอาดในปีนี้หลังจากการมาสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ในงาน “ประเพณีเตียวขึ้นดอยสุเทพ ไหว้สาป๋ารมีพระบรมธาตุ” พบว่ามีขยะถูกทิ้งไว้ในชั่วข้ามคืนมีปริมาณถึง 27.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีประมาณ 19 ตัน แม้ว่าจะมีการทิ้งลงถุงในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้มากขึ้น แต่ปริมาณขยะที่มีจำนวนมากเหล่านี้กว่าทางเทศบาลตำบลสุเทพและพื้นที่ใกล้เคียงจะทำการลำเลียงลงมาจากพื้นที่ได้หมดก็ต้องใช้เวลาถึง 15.00 น.
ในคืนก่อนวันวิสาขบูชาของทุกปี (ปีนี้ตรงกับวันที่ 9 พ.ค. 2560) คนล้านนาจะมารวมตัวกันเพื่อร่วมเตียวขึ้นดอยสุเทพ หรือประเพณีขึ้นดอยสุเทพ โดยมารวมตัวกันบริเวณตีนดอยในช่วงค่ำเพื่อเดินเท้าขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จ.เชียงใหม่ ด้วยพลังศรัทธาของผู้คนที่มาร่วมเป็นจำนวนมากที่ได้มาร่วมเดินเท้าขึ้นดอยเป็นระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร ทำให้มีผู้คนใจบุญมาตั้งโรงทาน แจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มตลอดสองข้างทางเป็นจำนวนมาก แต่ปริมาณน้ำดื่มและอาหารทีมีเกินความต้องการทำให้มีขยะถึง 27.6 ตันเกิดขึ้นภายในชั่วระยะเวลาข้ามคืน
หนึ่งในขยะที่พบมากที่สุด คือ น้ำดื่มและน้ำหวานชนิดถ้วย ซึ่งยังไม่ได้มีการเจาะดื่มแต่อย่างใด ไปจนถึงพลาสติก และกล่องโฟม คาดว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากโรงทานย่อยที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และกระจายตัวอยู่ตลอดเส้นทาง โรงทานเหล่านี้อยู่ในลักษณะของรถปิ๊กอัพที่มาร่วมแจกจ่ายของ โดยไม่ได้มีการมาแจ้งต่อทางเจ้าหน้าที่เพื่อฟังคำชี้แจงถึงหลักเกณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่อนุญาตให้ใช้ได้ ทำให้มีปริมาณมากเกิน ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มจำนวนมากถูกทิ้งไปทั้งที่ยังไม่มีการดื่มหรือกินแต่อย่างใด
แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะที่ถูกทิ้งไว้ตลอดเส้นทาง ทั้งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนนำขยะกลับบ้านและนำขยะมาแลกของรางวัล แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือเต็มที่นัก ทางออกสำคัญคือการที่จะต้องร่วมมือกัน ทั้งการนำขวดน้ำมาเอง โดยทางอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จะมีจุดบริการเติมน้ำดื่มตลอดเส้นทาง รวมถึงการจัดระเบียบโรงทาน ลงทะเบียนผู้มาเข้าร่วมจัดโรงทานเพื่อให้มีปริมาณน้ำและอาหารที่เหมาะสม และจำกัดโซนพื้นที่ให้ชัดเจน อีกทั้งงดใช้โฟมอย่างจริงจัง
แต่สิ่งสำคัญคงหนีไม่พ้นส่วนร่วมของศรัทธาผู้มาร่วมกิจกรรมที่จะช่วยกันลดขยะตั้งแต่ต้นทาง นำขวดน้ำ ห่ออาหารมาเอง เก็บลงไปทิ้งเอง ช่วยกันไม่ปล่อยให้ประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ต้องกลายเป็นภาระของคนข้างหลังต่อไป
ข้อมูลจาก: อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย