ฟังเสียงประเทศไทย : เมืองแสนสุขกับการมีส่วนร่วมจัดการมรสุมขยะ

ฟังเสียงประเทศไทย : เมืองแสนสุขกับการมีส่วนร่วมจัดการมรสุมขยะ

หาดบางแสน หาดวอนนภา ชายหาดยอดนิยมของอ่าวไทย ที่ได้รับความนิยมจากคนไทย เดินทางมาท่องเที่ยว พักผ่อนตากอากาศ ด้วยความที่เมืองแสนสุขเป็นท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เขาสามมุข แหลมแท่น ตลาดหนองมน เป็นแหล่งที่ตั้งของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ และอยู่บนพื้นที่เส้นทางการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงมีผู้คนมากมายพักอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

มีข้อมูลสำคัญว่าแม้ว่าประชากรของเมืองแสนสุข 4 หมื่นกว่าคน ประชากรแฝง 1 หมื่นคน และนิสิตนักศึกษาราว 3 หมื่นกว่าคน รวม ๆ กันเกือบ 1 แสนคน ทำให้เมืองแสนสุขมีโจทย์ที่ท้าทายด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ปริมาณขยะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปริมาณขยะในแต่ละวันที่เกิดขึ้นในตำบลแสนสุข มาจาก 3 ส่วนหลัก ๆ คือจากเขตครัวเรือนชุมชนที่พักอาศัย จากการประกอบการท่องเที่ยวการค้าขาย และขยะทะเลในหน้ามรสุม

ฟังเสียงประเทศไทย ออกเดินทางไปยังบริเวณอ่าวรูปตัวก อ่าวไทย ณ เมืองแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เมืองที่มุ่งหวังจะสร้างความเป็น เมืองท่องเที่ยวน่าอยู่ ฟื้นเศรษฐกิจชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการบริหารจัดการจัดขยะ อะไรเป็นโจทย์และข้อท้าทายของการจัดการขยะมูลฝอยทั้งส่วนของครัวเรือน ชุมชน ขยะการท่องเที่ยว และขยะทะเล ทีมงานสื่อพลเมืองและรายการฟังเสียงประเทศ ชวนทุกท่านร่วมพิจารณาข้อมูลสำคัญ ฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในพื้นที่ และร่วมกันเลือกภาพอนาคตที่น่าจะเป็นไปพร้อม ๆ กับคนเมืองแสนสุข

เมืองแสนสุขที่เห็นและเป็นอยู่

ย้อนไปก่อนปี พ.ศ.2486 ชุมชนต่างๆ ในเทศบาลเมืองแสนสุข ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอก ยกเว้นชุมชนเขาสามมุข ซึ่งเป็นชุมชนเล็ก ๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบ้านเรือนเพียง 3-4 หลัง เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพทางการประมง เขาสามมุขในสมัยนั้น มีลักษณะคล้ายเกาะริมฝั่งทะเล ตอนกลางเขา เป็นป่าดงดิบ เชิงเขาเป็นป่าแสม ป่าโกงกาง ชายฝั่งทะเลมีลิง และงูชุกชุมมาก ตรงหัวเขาด้านตะวันตก มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใกล้เคียงนับถือคือ “เจ้าแม่สามมุข” ชุมชนเขาสามมุขหนาแน่น และเจริญขึ้นเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาสร้างบ้านพักตากอากาศขึ้นทางด้านตะวันตกของเขา ประมาณปี พ.ศ.2486-2488

นอกจากนั้นยังสร้างบ้านรับรองของรัฐบาล เพื่อใช้รับรองบุคคลสำคัญ และอาคันตุกะจากต่างประเทศ ตลอดจนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสร้างบ้านพักสำหรับข้าราชการอีก 13 หลัง และตัดถนนเชื่อม จากบางแสนไปเขาสามมุขโดยรอบ และได้เวนคืนที่ดินส่วนหนึ่งจากชาวบ้าน รวมพื้นที่จับจองและเวนคืนทั้งสิ้น 113 ไร่

หลังสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2501) เขาสามมุขไม่คึกคักดังแต่ก่อน ปีพ.ศ.2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้สร้างบ้านรับรองของรัฐบาลขึ้นใหม่ที่แหลมแท่น (ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขาสามมุข) บุคคลสำคัญของรัฐบาล ก็ย้ายไปประชุม และพักแรมกันที่บ้านรับรองแหลมแท่น บ้านรับรองของรัฐบาลที่เขาสามมุขก็ถูกละเลย และทรุดโทรมลงตามลำดับ

ต่อมา เทศบาลเมืองแสนสุขได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลแสนสุข ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลแสนสุข เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 พร้อมกันนี้ได้ขยายพื้นที่ความรับผิดชอบจาก 12.5 ตารางกิโลเมตร เป็น 20.268 ตารางกิโลเมตร เทศบาลฯได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2544 และยึดหลัก การบริหารที่เด่นชัด คือ “เทศบาลเมืองแสนสุข เป็นเมืองน่าอยู่พัฒนาการเรียนรู้คู่คุณธรรม แหล่งท่องเที่ยวสวยงามและยั่งยืน รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง ดำรงประชาธิปไตย ภายใต้ระบบการบริการที่ทันสมัยโดยยึดหลักธรรมาภิบาล”

ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองของเทศบาลเมืองแสนสุข อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นเครื่องยนต์หลัก ในการนำรายได้สู่พื้นที่

ความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้ในแต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนไทยหมุนเวียนมาเยี่ยมเยือนปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน แต่ภายใต้โอกาส ยังมีโจทย์ที่ท้าทาย คือเรื่องปริมาณขยะ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ปริมาณขยะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปริมาณขยะในตำบลแสนสุข มาจาก 3 ส่วนหลัก ๆ คือจากเขตชุมชน ที่พักอาศัย 100 ตัน จากการท่องเที่ยว 20 ตัน และยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงลมมรสุม ตั้งแต่เดือนเมษายน – เดือนตุลาคม จะมีขยะจากทางทะเล พัดเข้ามาเกยชายหาดบางแสน หาดวอนนภา ฯลฯ อีก 5 ตัน รวม ๆ แล้วมีขยะที่ต้องจัดการประมาณ 125 ตัน ต่อวัน

ขยะมูลฝอยปัญหาใหญ่ของท้องถิ่น

หากถอยมามองภาพใหญ่ ภาพรวมขยะทั่วประเทศ จะมีค่าเฉลี่ยปริมาณขยะอยู่ที่ 27 ล้านตัน/ปี มากเกือบเท่ากับการผลิตข้าวเปลือกรวมกันทั้งประเทศ กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ส่วนใหญ่ขยะเหล่านี้ถูกจำกัดโดยวิธีการเผา การฝังกลบในบ่อขยะ และยังมีขยะที่ทิ้งไว้ในที่สาธารณะ และแหล่งน้ำที่ไม่ได้รับการจัดการ ทั้งที่มีการประมาณการว่าหากมีการแยกขยะจะสามารถสร้างรายได้คืนไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อตัน

ลองคิดกันเล่น ๆ หากมีการแยกขยะที่ไทยผลิตทั้งหมด จะมีรายได้คืนกลับมากว่า 81,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการขยะมูลฝอยตามกฎหมายก็มีข้อจำกัดในการปรับปรุงระบบเก็บขนและกำจัดขยะ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมหาศาลและใช้ศักยภาพอย่างมากในการดำเนินงาน

ปัจจุบันการจัดการขยะมูลฝอยเป็นหน้าที่ตามกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่หากอปท.ทำหน้าที่เฉพาะที่กฎหมายกำหนดให้เก็บขนขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ไปกำจัด การจัดการแบบดั้งเดิมนี้ นอกจากจะทำให้เกิดภาระทางการคลังแล้ว ยังไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น เพราะลำพังที่ท้องถิ่นต้องจ่ายค่าน้ำมันและค่าจ้างคนงานไปเก็บขยะมาจัดการนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนสภาพปัญหาจากกลิ่นเหม็น ทัศนอุจาดและสัตว์รำคาญ ที่เกิดจากกองขยะที่ตกค้างในชุมชน เปลี่ยนมาเป็นมลพิษทางอากาศจากการเผาทำลายขยะ หรือการปนเปื้อนจากน้ำขยะและก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบขยะ

ขยะรายพื้นที่ บวกกับขยะบกที่ลงไปรวมในทะเล

เมื่อจำแนกดูปริมาณขยะในเขตเมืองตามพื้นที่ 5 อันดับแรก พบว่าขยะบริเวณ ม.บูรพา มีจำนวนมากที่สุดถึง 439.86 ตัน/เดือน รองลงมาคือหาดบางแสน 404.27 ตัน/เดือนเลี่ยงหนองมน 328.72 ตัน/เดือน บางเป้ง 320.30 ตัน/เดือน และเปรมใจราษฎร์ 317.87 ตัน/เดือน ขยะทะเล 64.56 ตัน/เดือน

กรณีขยะทะเลเป็นขยะที่ควบคุมไม่ได้ เทศบาลฯ และอาสาสมัคร มีหน้าเก็บขยะออกไปเมื่อขยะเหล่านั้นมาเกยที่ชายหาด โดยเฉพาะช่วงลมมรสุม (เม.ย. – ต.ค.) ส่วนขยะประเภทที่สองคือขยะครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข และขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว ซึ่งมีความพยายามบริหารจัดการและการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมหาด แต่อย่างไรก็ตามขยะจากการท่องเที่ยวมีความน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง เพราะบางแสนกลับมาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวไทย จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวในการร่วมรักษาความสะอาด ขยะจากการท่องเที่ยวจะจัดการในช่วงตี 4 – ตี 5 หรือในช่วงน้ำลง ก่อนที่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวจะเข้ามาใช้พื้นที่

ภาพแสดงขยะทะเลจากปากแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลลงสู่อ่าวไทย

ภาพรวมการจัดการขยะของเทศบาลเมืองแสนสุข

  • ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ มีการคัดแยกจากครัวเรือน และจากพนักงานประจำท้ายรถขยะ ส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  • ขยะทั่วไป และขยะเปียก ปริมาณ 100 ตันต่อวัน จะถูกจัดเก็บโดยการจ้างเหมาบริษัทเอกชน เพื่อนำไปฝังกลบ
  • ขยะอันตราย จะถูกส่งไปกำจัดกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี

แต่ความท้าทายสำคัญของเรื่องขยะของเมืองแสนสุขคือ พื้นที่ฝังกลบ 117 ไร่ บ่อฝังกลบขยะจำนวน 6 บ่อ ที่อยู่ ณ ต.บางพระ อ.ศรีราชา ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร ใกล้จะเต็มความสามารถในการรองรับและหมดอายุใช้งาน แม้จะมีการให้เอกชนเข้ามาร่วมคัดแยกขนย้ายขยะในบ่อขยะออกไปจากพื้นที่ก็ตาม ดังนั้นการลดปริมาณขยะและการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางจึงทวีความสำคัญเฉกเช่นเดียวกับหลายพื้นที่ ขณะที่งบประมาณของเทศบาลเมืองแสนสุขในแต่ละปีอยู่ที่ 418 ล้านบาท

ภาพที่น่าจะเป็น อนาคตการบริหารจัดการมรสุมขยะเมืองแสนสุข

จากการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและงานวิจัย ทีมงานฟังเสียงประเทศไทยสรุปเป็น 3 ภาพอนาคต ภาพที่น่าจะเป็นหรือตัวเลือกฉากทัศน์ของการบริหารจัดการมรสุมขยะอย่างมีส่วนร่วม ดังนี้

  • A ระดมพลังจัดการขยะ ด้วยพลังภายในท้องถิ่น
  • B นวัตกรรมนำ เอกชนร่วมทุนแปรรูปเป็นสินค้าและพลังงาน
  • C ระบบใหม่ กลไกพิเศษ จัดการต้นน้ำ-ปลายน้ำ

จัดการแบบไหน เลือกทางใดให้แสนสุข

เพื่อฟังข้อมูลสำคัญ สถานการณ์ โอกาสและข้อจำกัดตัวแปรสำคัญของการจัดการขยะมูลฝอย มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีก 4 ท่าน มาเติมข้อมูล กับตัวเลือกการบริหารจัดการขยะ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการจัดขยะอย่างไร?

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี กล่าวว่า ชายฝั่งอ่าวไทยแถบจังหวัดชลบุรีจะเจอผลกระทบจากการแสน้ำที่พัดขยะจากอ่าวไทยกลับเข้ามาที่ฝั่ง แต่สาเหตุจริง ๆ ก็เกิดจากขยะบนบก มันจึงเรื่องที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์แต่ทิ้งอย่างไม่เหมาะสมและลงสู่ทะเลในที่สุด ปัญหาจากจิตสำนึกเป็นหลัก

“ผมเห็นขยะแบบนี้มาตลอดเวลา 40 กว่าปี ขยะชุมชน ขยะจากการทำประมงก็มี พอเมืองเปลี่ยน ขยะจากการท่องเที่ยวก็เพิ่มสัดส่วนขึ้นมา ถามว่า 40 กว่าปี มันดีขึ้นไหม ก็ยังไม่เห็นว่าดีขึ้น แต่ทุกวันนี้เทศบาลสามารถเข้าถึงขยะได้ดีขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการจัดการ ที่เห็นว่าดีขึ้นมันมาจากการบริหารจัดการ แต่ก็ยังทำไม่ได้ดีทั้งหมด

“คนมักจะมองว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ไม่ได้มาร่วมด้วยช่วยกัน หรือเข้ามามีส่วนร่วมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว”

เรื่องการคัดแยกขยะของชุมชนก็มีอยู่บ้าง แต่บางคนก็คิดว่าแยกแล้วเจ้าหน้าที่ก็เอาไปทิ้งรวมกันอยู่ดี อาจจะเป็นเพราะเรื่องข้อจำกัดทางการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูล ทำให้เขาไม่เห็นรายละเอียดการจัดการที่ปลายทาง หรือบางคนจะคิดว่าแยกไปทำไมให้วุ่นวาย แยกไปผลประโยชน์ก็ไปตกกับตัวพนักงานเก็บขยะ แต่ไม่ได้เห็นว่าประโยชน์มันเกิดขึ้นกับส่วนรวม อีกเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคตเทศบาลเมืองแสนสุขจะออกเทศบัญญัตเรียกเก็บค่ากำจัดขยะอีกประมาณ 20 – 40 บาท เพิ่มเติมจากการเก็บค่าขนส่งขยะที่เก็บอยู่จำนวน 40 บาท ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่ชาวบ้านก็มองว่าเป็นรายจ่าย

ในเรื่องเทคโนโลยีการจัดการขยะมีอยู่เยอะมาก แต่ทุกวันนี้เรายังใช้เทคโนโลยีเก่าอย่างการฝังกลบ การจะเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ก็ต้องเจอด่าน 7 ข้อของกระทรวงมหาดไทย เช่น บ่อขยะของแสนสุขอยู่ที่ต.บางพระ อ.ศรีราชา สมมติเราจะทำโรงงานใหม่เป็นโรงไฟฟ้าขยะชีวมวล คนที่นั่นเขากลัวไฟไหม้ กลัวระเบิด มันก็ขึ้นได้ยาก อีกส่วนคือถ้าท้องถิ่นได้รับการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการขยะ เราอาจไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานแต่ให้เอกชนมาลงทุน เราก็แค่ป้อนขยะให้เขา แถมยังได้เงินคืนกลับมาจากการซื้อขายขยะ ซึ่งรัฐควรกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีมากกว่าจะมาขีดเส้นไม่ให้ท้องถิ่น

นายกตุ้ย นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข เสริมว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนมันต้องแบบประโยชน์ร่วมกันเป็น mutual benifit ถ้าแปลงขยะให้มีมูลค่าได้ และประชาชนได้ประโยชน์ตรงนี้ อย่างน้อยก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เขามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ซึ่งมันก็จะมีกระบวนการในการประเมินขยะที่เกิดขึ้นรายครัวเรือน กฎหมายมันบังคับให้เทศบาลต้องดำเนินการเรียกเก็บอยู่แล้ว เหมือนกับภาษีสิ่งปลูกสร้างและโรงเรือน แต่ผมมองอีกมุมหนึ่งคือท้องถิ่นต้องไปคิดและออกแบบว่าทำอย่างไรจะให้คนเข้าถึงความรู้ เข้าใจประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการคัดแยกขยะ

นางสมวาส หงษ์ศิริ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านหาดวอนนภา ให้ข้อมูลว่า ในช่วงมรสุมช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคมขยะจากทะเลพัดเข้ามาเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นถุงพลาสติก ไม้ไผ่ ก็มักจะติดกับอวนแหของชาวประมงแทนปู ปลา ต้องคอยเก็บออกใส่ถังขยะให้เทศบาลมาเก็บออกไปทุกวัน ส่วนช่วงหน้าหนาวคนพื้นที่เรียกว่าช่วงลมใน ขยะจากทะเลมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นขยะจากการท่องเที่ยว หรือขยะของชุมชนที่ไม่ทิ้งให้เป็นที่ทาง

“อยากให้แต่ละบ้านคัดแยกขยะ เพื่อให้การจัดการง่าย”

ดร.ชินวัฒน์ หรยางกูร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า การจัดการเรื่องขยะต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นทางของการเกิดขยะ หากจัดการไม่ดีก็จะลงไปที่แม่น้ำ ไหลลงสู่อ่าวไทย และพัดขึ้นมาเกยที่หาดบางแสน แม้ขยะเหล่านั้นจะไม่ได้เกิดจากแสนสุขหรือบางแสนก็ตาม

จากข้อมูลที่นำเสนอเมื่อสักครู่ ขยะที่เกิดขึ้นในเมืองแสนสุขจะเห็นว่าแต่ละชุมชนมีปริมาณขยะที่ต่างกัน และชนิดของขยะก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ขยะชุมชนก็มาจากการใช้ชีวิตประจำวัน ขยะท่องเที่ยวก็จะเป็นอีกแบบ หากจัดการต้นทางให้เหมาะสม การจัดการกลางทาง ปลายทางก็จะง่ายขึ้น ส่วนขยะทะเลจะมาอย่างหลากหลายและควบคุมไม่ค่อยได้

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธาน อ.ก.พ.ร. ส่งเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ปัญหาขยะที่เราเห็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมา แต่สาเหตุที่อยู่ผิวใต้น้ำก็เป็นเรื่องความไม่เข้าใจ จิตสำนึก หรือมองว่าเป็นปัญหาที่ท้องถิ่นต้องจัดการ และกฎระเบียบ งบประมาณในการบริหารจัดการ แต่โอกาสของเรื่องนี้อยู่ที่ข้อมูล ในตอนนี้ขยะบางแสนสามารถรีไซเคิลได้ประมาณ 35% ซึ่งอาจจะทำได้ดีกว่านี้ผ่านการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม

นายกตุ้ย บอกว่า ในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีการเรียกเก็บค่าบริหารกำจัดขยะ ถ้าบ้านไหนแยกขยะอาจจะเก็บค่าจำกัดลดลง เช่น ลดไป 10 บาทเพราะบ้านนั้นช่วยลดต้นทุนการกำจัดดีกว่าการมัดรวม เป็นต้น เพื่อให้ตอบโจทย์คนทั่วไปว่า แยกแล้วได้อะไร

“ถ้าท้องถิ่นได้รับการกระจายอำนาจการบริหารจัดการขยะที่แท้จริง ขยะเมืองไทยหายไปนานแล้ว เพราะเทคโนโลยีมันถูกลงและพัฒนาไปข้างหน้าอยู่ตลอด ท้องถิ่นบางแห่งแค่การทำถนนวงงบประมาณ 1 ล้านบาท ยังทำอย่างลำบาก เขาจะมีเงิน 5-10 ล้านมาทำโรงงานจัดการขยะขนาดเล็ก ๆ ได้อย่างไร ทุกวันนี้ท้องถิ่นก็ใช้งบประมาณจ้างเก็บขนไปทิ้งที่อื่น สิ่งที่เราฝังไว้ใต้ดิน หมักหมมรอเกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากน้อยเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้”

ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข

“การให้เอกชนเข้ามาร่วมทำ มีหลายที่ทำอยู่แล้วทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยก็เริ่มพบเห็นบ้างแล้ว เช่น บริษัทปิโตเลียมลงมารับซื้อขยะจากชุมชนแล้วนำไปแปรรูป ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะดูเรื่องความคุ้มค่าทางการลงทุนเป็นหลัก แต่ถ้าไม่มองเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก การคัดแยกขยะอาจจะทำไม่ได้ง่าย หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าลงทุนวางแผนจัดการวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายจะช่วยรักษาความยั่งยืนสภาพแวดล้อมได้ เช่น ขวดพลาสติกเมื่อกินเสร็จก็แยกฝา แยกฉลาก แยกขวด แต่ถ้าทิ้งรวมกันไปเลอะกับอย่างอื่นก็ยิ่งจะเพิ่มต้นทุนของการจัดการ ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์เราจึงพยายามจะจัดการที่ต้นทาง”

ชินวัฒน์ หรยางกูร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์

“ขยะเร่ิมจากต้นถ้าไม่ทิ้งไปเรื่อยมันก็จะไม่เป็นภาระของทางเทศบาลต้องมาตามเก็บ แต่ก็อยากให้เทศบาลเพิ่มความถี่ของการเก็บขยะที่หาดวอนนภา เพราะปริมาณขยะทะเลอาจจะเยอะกว่าจุดอื่น คนทิ้งขยะลงน้ำก็ยังทิ้งอยู่ ขยะมันมาอยู่เรื่อย ๆ เก็บขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่หมด เวลาชาวประมงเจอขยะในทะเลเขาก็เก็บขยะพลาสติกที่ติดอวนติดแหรวมให้เทศบาล อันไหนที่มีประโยชน์กับเขาก็จะเก็บขึ้นมา เช่น เก็บไม้ไผ่ก็เอาไปใช้ต่อ แต่ที่ใช้ไม่ได้เกินความจำเป็นที่จะใช้เขาก็ไม่ได้เก็บขึ้นมา มันอาจมีการส่งต่อหรือรวบรวมให้คนมาใช้ประโยชน์ได้”

สมวาส หงษ์ศิริ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านหาดวอนนภา

“เราอาจเริ่มต้นเรื่องขยะตั้งแต่บริษัทที่ผลิตออกมาเพื่อจะให้เป็นขยะน้อยที่สุด หรือเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดที่มีต่อขยะถ้ามองว่ามันเป็นขยะเราก็จะผลักมันออกไป แต่เรียกว่าวัสดุที่สามารถทำประโยชน์ เช่น ไม้ไผ่ที่ลอยในทะเลอาจจะเป็นไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุสำหรับทำเล้าไก่ได้ เราจะจัดการมันอีกแบบหนึ่ง ถ้ามองว่าเป็นวัตถุดิบ วัสดุที่จะนำไปเป็นรายได้ แต่ถ้าเป็นระดับใหญ่เทศบาลนำสิ่งนั้นขนส่งไปให้โรงงานที่คัดแยกแปรรูป ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากโรงงานนั้นทำการแบ่งปันผลประโยชน์กัน และแบ่งไปถึงประชาชนที่เป็นต้นกำเนิด ตอนนี้ไม่ใช่แค่ลดค่าการกำจัดขยะ แต่ประชาชนยังจะได้เงินเพิ่มขึ้นด้วย โมเดลแบบนี้อาจจะต้องทดลองทำกันและชวนกันคิดออกแบบกัน อย่างม.บูรพามีนิสิตราว 3 หมื่น ผลิตขยะเดือนละเกือบ 400 ตัน ตามข้อมูลก็บอกว่าถ้าคัดแยกขยะได้ดีสามารถเป็นรายได้ตันละ 3,000 บาท มันน่าคิดต่อ”

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธาน อ.ก.พ.ร. ส่งเสริมภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ก.พ.ร.

ร่วมโหวตทางเลือกต่อภาพที่น่าจะเป็นของการบริหารจัดการขยะของเมืองแสนสุข

น้องต้า ผู้เข้าร่วมฟังเสียงประเทศไทยรายหนึ่ง บอกว่าตนเป็นประชากรแฝง ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า แม้ขะเห็นด้วยกับทั้งสามตัวเลือกที่ให้มา ตั้งแต่ข้อแรกที่ให้น้ำหนักกับการทำงานอาสาของคนในพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือค่อนข้างสูง ยังไม่รวมว่าเราเป็นพื้นที่สูงอายุโดยสมบูรณ์ด้วย แต่ทางเลือกสองซึ่งให้เอกชนเข้ามาดำเนินการก็มีข้อห่วงกังวลทางสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการมีเตาเผาขยะอยู่ในเขตบางแสน หรือพื้นที่อื่นก็ตาม ย่อมต้องมีการทำประชามติ และป้องกันไม่เกิดผลกระทบทางลบ

สำหรับข้อที่ 3 คิดว่าเห็นด้วยแม้จะใช้ระยะเวลานาน และต้องทำกับร่วมกับพื้นที่อื่น ๆ ด้วย ถึงว่าเราจะทำให้ภาพลักษณ์ของบางแสนเป็นที่น่าจดจำว่าการเป็นพื้นที่ปลอดขยะ มันต้องใช้ทั้ง 3 ตัวเลือกในการทำ ไม่ใช่มีเพียงแค่เอกชน เพราะถึงที่สุดแม้จะมีเอกชน คนก็ยังไม่เลิกทิ้งขยะบนพื้น หรือการมีพ่อ ๆ แม่ ๆ จิตอาสาออกมาเก็บขยะ ก็ไม่ได้รับประกันว่านักท่องเที่ยวที่พบเห็น ให้ความร่วมกับการจัดการขยะบางแสนอย่างถูกวิธี เลยคิดว่ามันต้องทำควบคู่กันไป

น้องสนุกเกอร์ ผู้เข้าร่วมอีกหนึ่งท่านร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ตามกระบวนการทั่วไปจะมีการทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA หรือ EHIA โรงไฟฟ้า โรงงานขยะชีวมวลมันก็สร้างได้ ถ้าคนในพื้นที่เห็นด้วย และผ่านการเวทีการรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ไม่ใช่เวทีเล็ก ๆ เกณฑ์คนเข้ามาร่วม แต่ต้องเป็นเวทีสาธารณะที่เปิดอย่างกว้างขวางให้คนเข้าไปพูดถึงข้อห่วงกังวลอย่างเต็มที่ มีกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

นอกเหนือจากการร่วมโหวตภาพที่น่าจะเป็นแล้ว หากมีความเห็นเพิ่มเติมต่อทางเลือกที่ปรากฏหรือมีข้อเสนออื่น ๆ ชวนผู้อ่านทุกท่านสร้างสรรค์ข้อเสนอได้ที่ your priority C-Site

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ