ปล่อยเเล้ว 3 ชาวบ้านลำพูน บุกเบิกปฏิรูปที่ดิน

ปล่อยเเล้ว 3 ชาวบ้านลำพูน บุกเบิกปฏิรูปที่ดิน

รับอิสระภาพกลับคืน 3 ใน 7 นักสู้ผู้ถูกจองจำ ชะตากรรมของผู้บุกเบิกที่กลายเป็นผู้บุกรุก จากคดีที่ดินบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน 

365 วันในห้องขังของนายสุแก้ว ฟุงฟู นายพิภพ หารุคำจา และนางคำ ซางเลง เกษตรกรบ้านแพะใต้สิ้นสุดลง หลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลาประมาณ 08.30 น. วันนี้ (10 พ.ค. 2560) เรือนจำกลางจังหวัดลำพูนได้คืนอิสระภาพให้กับทั้ง 3 คน

ก่อนหน้านี้ เกษตรกรบ้านแพะใต้ 7 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของเอกชนในพื้นที่บ้านแพะใต้ ซึ่งเดิมเป็นที่ดินหน้าหมู่ในชุมชนแล้วถูกเอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ และที่ดินอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเพื่อเข้าโครงการนำร่องธนาคารที่ดินตามนโยบายรัฐบาล

แต่เมื่อวัน 25 พ.ค. 2559 ศาลฎีกาอ่านคำตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกทั้ง 7 คน เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ขณะที่บรรยากาศช่วงเช้าที่ผ่านมาบรรดาญาติพี่น้องของทั้งสามคน ได้เดินทางมารับที่หน้าเรือนจำด้วยการรอคอยเวลานี้กว่า 1 ปี ซึ่ง ตามกำหนดการเดิมนอกจากพวงมาลัยที่มาร่วมแสดงความดีใจแล้ว พวกเขาได้เตรียมบายศรีสู่ขวัญมาเพื่อมาประกอบพิธีรับขวัญตามความเชื่อของคนเหนือด้วย

หลังการปล่อยตัวแกนนำทั้ง 3 แล้ว ชาวบ้านเตรียมจัดพิธีบายศรีและเวทีถอดบทเรียน “อิสรภาพ (ราคาถูก) ของคนจน เซ่นสังเวยความล่าช้านโยบายรัฐ” แต่ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำและเจ้าหน้าที่ทหารได้ขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมในพื้นที่เรือนจำเนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุม แม้ว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านยืนยันว่าเคยอนุญาตไว้แล้ว ทำให้เกิดความวุ่นวายในการเจรจาต่อรองเหตุผลเล็กน้อย แต่สุดท้ายชาวบ้านก็สามารถประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญได้

สำหรับผู้ต้องหาในคดีเดียวกันนี้ มีกำหนดปล่อยตัวอีก 4  คน คือ วันที่ 13 พ.ค. 2560   นายสองเมือง โปยาพันธ์ อายุ 70 ปี  และวันที่ 30 มิ.ย. 2560  นายวัลลภ ยาวิระ อายุ 54 ปี นายวัลลภ ไววา อายุ 54 ปี และนางบัวไลย์ ซางเลง อายุ 66 ปี

ขอบคุณภาพจาก นักข่าวพลเมือง อนุชา  ตาดี
คลิปบรรยากาศการปล่อยตัวช่วงเช้าที่ผ่านมา https://www.facebook.com/1PMThaiPBS/videos/443950312625158/

 

ย้อนรอยเรื่องคดีนี้

วิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ในปี 2540 ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ตกงานจากเมืองกรุงกลับบ้านเกิดเพื่อหวังพลิกฟื้นผืนดินที่ปู่ย่าตายายทิ้งไว้ให้ แต่สิ่งที่พบคือที่ดินของชุมชน กลับถูกนายทุนออกโฉนดทับที่…

ความชอบธรรมในที่ดินของบรรพบุรุษและจำเป็นทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านจึงเข้าไปประโยชน์ในที่ดินที่ทิ้งร้างจนเกิดเหตุความขัดแย้งนำไปสู่การฟ้องร้องและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบสถานะของที่ดิน

ระหว่างปี 2544 – 2545 จังหวัดลำพูน ซึ่งรับทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า ช่วงที่ผ่านมามีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีการปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่ามากมาย เมื่อชาวบ้านได้เปิดการเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเป็นทางการ จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ไขปัญหาที่ดิน ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในจังหวัดลำพูน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน มีที่ดินจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด ป่าไม้จังหวัด นายอำเภอ และมีชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เป็นกรรมการในสัดส่วนที่เท่ากัน

คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิ์ ว่าออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการเข้าไป ใช้ประโยชน์ หรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่และพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา มีอำนาจเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ เรียกเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ เพื่อใช้ประกอบในการตรวจสอบและพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อค้นพบของคณะกรรมการดังกล่าวนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการอีกหลายชุดทั้งระดับชาติ และจังหวัด ซึ่งข้อสรุปสุดท้ายก็พบว่าหลายพื้นที่ออกโฉนดโดยไม่ชอบและปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำประโยชน์

แต่ความล่าช้าในการแก้ปัญหาของรัฐ แม้จะมีความคืบหน้าจนเกิดโครงการนำร่องธนาคารที่ดินโดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ พร้อมงบประมาณแต่คดีความที่ชาวบ้านกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนจังหวัดลำพูนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลชั้นต้นตั้งแต่ปี 2540 สู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา สุดท้ายการไกล่เกลี่ยเพื่อรอการแก้ปัญหาตามแนวทางนี้ไร้ผล

ศาลจังหวัดลำพูนได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในวันที่ 25 พ.ค. 2559 กรณีคดีที่ดินบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ที่บริษัทอินทนนท์การเกษตร โดยนพรัตน์ แซ่เตี๋ยว และยุทธนา แซ่เตี๋ยว เป็นโจทก์ฟ้องคดีชาวบ้านแพะใต้จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1.สุแก้ว ฟุงฟู 2.พิภพ หารุคำจา 3.สองเมือง โปยาพันธ์ 4. วัลลภ ยาวิระ 5.วัลลภ ไววา 6.คำ ซางเลง 7.บัวไร ซางเลง ส่วนจำเลยอีก 3 รายเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของของผู้อื่น ซึ่งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2540

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา จนกว่าจะมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันตามการเสนอของฝ่ายจำเลย เนื่องจากกำลังมีการแก้ไขปัญหาโดยสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) แต่กระบวนการจัดซื้อที่ดินให้ชาวบ้านตามแนวทางของธนาคารที่ดินยังมีความล่าช้า และยังไม่มีการจัดซื้อที่ดินให้ชาวบ้าน “ในวันนั้น” ศาลจังหวัดลำพูนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ตัดสินให้จำเลยทั้ง 7 ราย ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ความล่าช้าของกระบวนการในวันนั้น ทำให้ชาวบ้านทั้ง 7 คนถูกจำคุกในเรือนจำจังหวัดลำพูน

อ่านรายข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://thecitizen.plus/node/19344

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ