‘7 นักสู้ผู้ถูกจองจำ’ ชะตากรรมของผู้บุกเบิก กลายเป็นผู้บุกรุก จากคดีที่ดินบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ก่อนถึงวันที่พวกเขาจะได้อิสระภาพกลับคืน… หลังต้องถูกตัดสินให้ต้องถูกคุมขังมาตั้งแต่ 25 พ.ค. 2559
- 10 พ.ค. 2560 นายสุแก้ว ฟุงฟู อายุ 57 ปี นายพิภพ หารุคำจา อายุ 60 ปี และ นางคำ ซางเลง อายุ 56 ปี 3 ใน 7 นักสู้คดีที่ดินบ้านแพะใต้ จะได้รับอิสรภาพเสียที
- 13 พ.ค. 2560 จะเป็นวันแห่งอิสรภาพของ นายสองเมือง โปยาพันธ์ อายุ 70 ปี
- 30 มิ.ย. 2560 จะเป็นวันของนายวัลลภ ยาวิระ อายุ 54 ปี นายวัลลภ ไววา อายุ 54 ปี และนางบัวไลย์ ซางเลง อายุ 66 ปี
เกิดอะไรขึ้นกับนักต่อสู้ทั้ง 7 คน 1 ปี เป็นวันคืนที่ยาวนานสำหรับการถูกตัดขาดจากอิสรภาพ จำเป็นต้องย้อนรอยรำลึกให้เข้าใจถึงความหลัง
00000
ความเป็นมาและประวัติการตั้งถิ่นฐานของชุมชน
‘บ้านแพะใต้’ เคยเป็นส่วนหนึ่งของบ้านต้นผึ้ง (หมู่ที่ 2 ปัจจุบัน) แต่ตอนหลังได้แยกออกมาเป็นบ้านแพะใต้ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 7 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน
การก่อตั้งของบ้านแพะใต้ เริ่มจากคนกลุ่มแรกอพยพมาจากบ้านดอนตอง ต.แม่แรง อ.ปากบ่อง (อ.ป่าซางปัจจุบัน) ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีคนอพยพมาจากดอนตองใต้ บ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ปากบ่อง (อ.ป่าซางปัจจุบัน) แต่ไม่สามารถระบุข้อมูลได้อย่างแน่นอน
ครั้งแรก ครอบครัวที่อพยพมาทั้งหมด 7 ครัวเรือน ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณใต้ต้นงิ้วใหญ่ คนกลุ่มแรกเข้ามาก็เริ่มทำการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ ใกล้แม่น้ำลี้ และมีผลผลิตที่ดี ทำให้เกิดการชักชวนทยอยเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวมากกว่า 30 ครัวเรือน ปัจจุบันมีจำนวนประชากรทั้งหมด 416 คน หรือ 150 ครัวเรือน
สภาพความเป็นมาของปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น
เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 – 2528 ยุคที่เศรษฐกิจการค้าที่ดินกำลังเป็นที่นิยม จากนโยบายการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนั้น จนมีสโลแกนว่า “เปลี่ยนสนามรบ ให้กลายเป็นสนามการค้า” ธุรกิจการซื้อขายที่ดินในระบบตลาดก็เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ – จ.ลำพูน และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนืออย่างเป็นขบวนการ เช่นเดียวกันกับกรณีบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน
บ้านแพะใต้ นับเป็นหมู่บ้านแรกๆ ที่ริเริ่มปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนภายใต้แนวคิดที่ว่า “ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นที่สาธารณะ ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการทำการเกษตรได้” แต่ในช่วงลงมือปฏิรูปที่ดิน นายทุนได้เข้ามาแสดงความเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ชาวชุมชนบ้านแพะใต้จึงร่วมกันตรวจสอบการถือครองที่ดินดังกล่าวของนายทุน และพบว่ากระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถลำดับปัญหาพอสังเขป ดังนี้
– เมื่อ 18 ม.ค. 2509 รัฐบาลอนุมัติโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่บ้านโฮ่ง หนองปลาสวาย ให้กับราษฎรจำนวนประมาณ 1,600 ครอบครัว ในช่วงเวลาหลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2509 – 2527 ปรากฏว่าได้มีการออกใบจองให้ราษฎรจำนวน 1,391 ราย แต่พบว่าเกิดความผิดพลาดในการจัดสรรแปลงที่ดินและไม่สามารถตรวจสอบตำแหน่งที่ดินตามใบจองที่ถูกต้องได้ เนื่องจากก่อนการดำเนินการจัดที่ดินไม่มีการตรวจสอบสิทธิ ทำให้ผู้ที่ได้รับใบจองที่ได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนแล้วไม่ตรงกับแปลงที่ได้รับใบจอง ในที่สุดก็นำมาซึ่งการเพิกถอนและจำหน่ายใบจอง ตลอดจนสัญญาว่าจะมีการจัดสรรที่ดินใหม่
– จนกระทั่ง วันที่ 11 เม.ย. 2533 ได้มีราษฎรร้องเรียนต่อทางจังหวัดลำพูน จนกระทั่งมีการจัดประชุม และมีมติที่ประชุมว่า “พื้นที่ส่วนราษฎรครอบครองทำประโยชน์อยู่ให้แจ้งจังหวัดดำเนินการออกใบจองตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป”
– หลังจากปี 2533 ทำให้มีกลุ่มนายทุนจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะบริษัทอินทนนท์การเกษตร จำกัด ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินพื้นที่ดังกล่าว ตามโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน และอ้างสิทธิเข้าครอบครองพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านแพะใต้ จำนวนกว่า 600 ไร่ หลังจากมีการไถปรับพื้นที่แล้ว ก็มีการใช้ประโยชน์เพียงบางส่วน ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า
– ต่อมาในช่วงปี 2540 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั้วประเทศ ทำให้ทางเลือกในการออกไปประกอบอาชีพของชาวบ้านนอกชุมชนมีน้อยลง ชาวบ้านหันมาแสวงหาหนทางการทำมาหากินในชุมชนมากขึ้น แต่ทว่าที่ดินที่มีอยู่กลับไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร หลายครอบครัวยากจนและไม่มีที่ดินกิน ชาวบ้านจึงเริ่มปรึกษาหารือการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการปฏิรูปที่ดินที่ปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า และมีการจัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านที่ร่วมบุกเบิกจำนวน 99 ครอบครัว ซึ่งเป็นการจัดการร่วมกันของคนในชุมชนในรูปแบบของกรรมสิทธิ์ร่วม หรือกรรมสิทธิ์หน้าหมู่ ต่อมาได้พัฒนาเป็น “การจัดการที่ดินโดยชุมชน หรือ โฉนดชุมชน” หลังจากที่ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินต่างก็เข้าไปทำประโยชน์ ด้วยการประกอบอาชีพจากที่ดินดังกล่าวและสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
– ต่อมาในปี 2545 เกิดขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนอย่างกว้างขวางในพื้นที่จังหวัดลำพูน ชาวบ้านเข้าบุกเบิกพื้นที่ทำกินในเขตที่ดินรกร้างเพิ่มมากขึ้น ต่อมาเมื่อชาวบ้านใช้ประโยชน์และกินในที่ดินดังกล่าวได้สักระยะหนึ่ง ก็มีคนมาแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน พร้อมแสดงเอกสารสิทธิมีการปักป้ายยึดพื้นที่ นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมสุนัขตำรวจ เข้าล้อมชาวบ้านและแกนนำ ซึ่งตอนหลังตรวจสอบผู้อ้างแสดงความเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว พบว่ามีกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและผู้อ้างแสดงความเป็นเจ้าของที่ดิน กระทั่งชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกรวม จำนวน 109 คน จนนำมาซึ่งการถูกพิพากษาจำคุก 10 คน (3 คนเสียชีวิตแล้ว) เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
การแก้ปัญหา
– ปี พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น มีการตรวจสอบพบว่า มีที่ดินอย่างน้อย 13 แปลงที่ได้มีการออกเอกสารสิทธิ์อย่างผิดกฎหมายจากโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินหนองปลาสวาย
– ปี พ.ศ. 2547 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกไปโดยมิชอบ มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิโดยมิชอบในพื้นที่ชุมชนสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จังหวัดลำพูน วันที่ 8 มีนาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณากรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5หมู่บ้านให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในกรอบวงเงิน 167 ล้านบาท
– ปี พ.ศ. 2554 ประกาศพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 (ให้ไว้ ณ วันที่ 3พฤษภาคม พ.ศ.2554)
– พ.ศ. 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร, ผู้อำนวยการสถาบันและบรรจุพนักงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2558
– วันที่ 21 มิ.ย. 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำเงินงบประมาณ 260 ล้านบาท มอบให้สถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์กรมหาชน) นำเงินไปช่วยเหลือเกษตรกรตามภารกิจ ซึ่งมีพื้นที่บ้านแพะใต้ จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน
– วันที่ 31 ส.ค. 2559 คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เห็นชอบให้สถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์กรมหาชน) ใช้งบประมาณดำเนินงานโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน พื้นที่จังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่
00000
การรับโทษจำคุก
คดีที่1 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2559 ที่ศาลจังหวัดลำพูน ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา โดยยืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 7 จำเลยเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา ในข้อหาร่วมกันบุกรุกยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของของผู้อื่น ได้แก่
- นายสุแก้ว ฟุงฟู อายุ 57 ปี
- นายพิภพ หารุคำจา อายุ 60 ปี
- นายสองเมือง โปยาพันธ์ อายุ 70 ปี
- นายวัลลภ ยาวิระ อายุ 54 ปี
- นายวัลลภ ไววา อายุ 54 ปี
- นางคำ ซางเลง อายุ 56 ปี
- นางบัวไลย์ ซางเลง อายุ 66 ปี
(จำเลยที่ 8,9,10 เสียชีวิตไปแล้ว)
สรุปข้อมูลคดีที่ 1คดีหมายเลขดำที่ 1354/2540 คดีหมายเลขแดงที่ 2219/2541 ศาลจังหวัดลำพูน คดีอาญา ข้อหา บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน
โจทก์ : นายศราวุธ แซ่เตี๋ยว โดย นายเทิดศักดิ์ แซ่เตี๋ยว ผู้รับมอบอำนาจ
จำเลย : นายสุแก้ว ฟุงฟู และพวกรวม 10 คน
ศาลชั้นต้น : ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ : ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ถึง จำเลยที่ 7 กับ จำเลยที่ 9-10 มี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 จำคุกคนละ 1 ปี
ศาลฏีกา : พิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ 1 ปี วันที่ 25 พ.ค. 2559
คดีที่ 2 วันที่ 11 ก.ค. 2559 ที่ศาลจังหวัดลำพูน ศาลฎีกาอ่านคำตัดสินพิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ จำคุก 1 ปี ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน
สรุปข้อมูลคดีที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ 1357/2540คดีหมายเลขแดงที่ 1415/2543 ศาลจังหวัดลำพูน คดีอาญา ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน
โจทก์ : นางสาว นพรัตน์ แซ่เตี๋ยว
จำเลย : นายสุแก้ว ฟุงฟู
ศาลชั้นต้น : มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสิบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์ : วันที่ 11 ก.ค. 2559 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ จำคุก 1 ปี
คดีที่ 3 คดีหมายเลขดำที่ 1353/2540 คดีหมายเลขแดงที่ 1816/2541 ศาลจังหวัดลำพูน คดีอาญา ข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน
โจทก์ : บริษัทอินทนทท์การเกษตรจำกัด
จำเลย : นายสุแก้ว ฟุงฟู
ศาลชั้นต้น : พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 365(2)
ศาลอุทธรณ์ : ยกฟ้อง
โจทย์ขอฎีกา : มีการเจรจาให้ไกล่เกลี่ย เนื่องจากการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินในการจีดซ้อที่ดินข้อพิพาทเริ่มมีความชัดเจนและโจทก์ยินยอม ศาลจึงอนุญาตให้ถอนฎีกาดังกล่าวและจำหน่ายคดี
00000
ความพยายามช่วยเหลือด้านคดีความและการถูกคุมขัง
1) การช่วยเหลือด้านการลดโทษ พักโทษ ฯลฯ ในกรณีสองคดีที่พิพากษาสิ้นสุดไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ทัน เนื่องจากระเบียบทางราชการมีการปรับเปลี่ยน ซับซ้อน เพิ่มขั้นตอนและใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่าปกติ
2) การช่วยเหลือในกระบวนการเจรจาขอไกล่เกลี่ยในชั้นการพิจารณาฎีกาในคดีหมายเลขดำที่ 1353/540, คดีหมายเลขแดงที่ 1816/2541 ที่โจทก์ บริษัทอินทนทท์การเกษตรจำกัด ฟ้องจำเลยนายสุแก้ว ฟุงฟู ในข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นในเวลากลางคืน
3) การทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบการเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังเนื่องจากมีการจำกัดการเข้าเยี่ยมได้เพียง 5รายต่อผู้ถูกคุมขัง 1 คน ถือเป็นการจำกัดสิทธิ์ของผู้ที่ต้องการเข้าเยี่ยม โดยควรเปิดโอกาสให้ญาติ เพื่อนฝูงและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมได้มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจ มากกว่าที่จะกำหนดบุคคลที่เป็นญาติสนิทเพียง 5คนเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ อย่างน้อยในกรณีของหน่วยงานหรืองค์กรต่างๆ ควรมีกระบวนการหรือช่องทางการติดต่อเพื่อขอเข้าเยี่ยมอย่างเป็นทางการได้
4) การให้ความสำคัญเป็นกรณีเร่งด่วนกับการดูแล รักษาสุขภาพ โรคประจำตัวของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงและผู้ต้องขังสูงอายุ
การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเร่งด่วน ได้แก่
1.ค่าใช้จ่ายประจำในการเยี่ยมผู้ต้องขังทั้ง 7 คน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำจำนวน 14,000 บาท ต่อ เดือน (เฉลี่ยครอบครัวละ 2,000 บาท ต่อเดือน) โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่าย 3 หมวด ได้แก่
- ค่าเดินทางจากชุมชนไปยังเรือนจำของครอบครัว (ใช้รถ 1 คันเดินทางไปพร้อมกัน)
- ค่าเงินฝากให้กับ 7ผู้ต้องขังนำไปเบิกใช้จ่ายภายในเรือนจำ (คูปองเงินสด)
- ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว อาหารแห้ง ยารักษาโรคของ 7 ผู้ต้องขัง (ญาติซื้อฝากเข้าไป)
2.ค่าเล่าเรียน ทุนการศึกษาลูกหลานที่ทั้ง 7 ผู้ต้องขังมีภาระเลี้ยงดู จำนวน 7 คน (ชั้นประถมศึกษา 5คน, มัธยมศึกษาตอนปลาย 1 คน, อุดมศึกษา 1 คน (ปริญญาตรี)
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้ขอให้ 7 ครอบครัวเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้ในการระดมทุนช่วยเหลือได้แก่ บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาจอมทอง เลขบัญชี 526-0-57703-5 (ชื่อบัญชี นายศราวุฒิ ปินกันทา, นางสายทอง เรือนมี, นางจันฟอง ไววาง และได้ขอรับการช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ เครือข่ายนักวิชาการ ฯลฯ
และได้ร่วมจัดงานผ้าป่าระดมทุนช่วยเหลือ ในวันที่ 30 พ.ย.2559 ณ บ้านแพะใต้ โดยมียอดเงินสนับสนุน ณ วันที่ 1 ธ.ค. 2559 เป็นจำนวนเงิน 177,343 บาท