ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานที่นำเสนอในวันแรงงานทุกปี ถือเป็นสิทธิแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตประจำวันที่ดีและมั่นคง ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้ให้เห็น 4 ประเด็นสำคัญ ชวนพิจารณาผ่านสื่อมวลชน พร้อมให้ข้อเสนอที่จะช่วยแก้ปัญหาภาคแรงงานไทยในปัจจุบันและระยะยาว
1.ปัญหาใหญ่สังคมสูงอายุ
สถานการณ์แรงงานไทย ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะฝีมือ ด้านไอที เทคโนโลยี ซึ่งเพียงไม่ถึง 20 ปี โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนแปลงส่งสัญญาณเตือนว่า เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีก และการจ้างงานในระยะสั้น อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่จะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ปัญหาใหญ่ คือ การพัฒนาทางด้านการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงาน ที่ภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังแรงงานที่ตรงต่อความต้องการได้
ทั้งนี้ในอนาคตแหล่งงานที่สำคัญ คือ แรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี ด้านไอที โดยเน้นการเตรียมคนที่มีคุณภาพตั้งแต่ระบบการศึกษา จัดการศึกษาแบบบูรณาการ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นพิเศษ และขยายโอกาส อาจมีแรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถพัฒนาได้ ก็ต้องส่งเสริมให้การพัฒนาระบบเกษตรพอเพียง ขณะเดียวกันไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นและได้รับประโยชน์ทดแทนที่ดี ในระหว่างทำงาน และเมื่อเกษียณอายุมีเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน รัฐต้องสนับสนุนแรงงานสามารถทำงานให้ได้อย่างน้อย 60 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาแนวโน้มกำลังแรงงานลดลงและขาดแคลนแรงงาน
2.แรงงานไทยติดกับดัก ‘รายได้ปานกลาง’
ข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานกลุ่มต่างๆ ยังไม่หลุดพ้นจากปัญหาเกี่ยวโยงกับดักรายได้ปานกลาง โดยรายได้ของผู้ประกอบการในประเทศส่วนใหญ่มาจากการทำของ หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้ผู้อื่น ซึ่งยังมีต้นทุนที่สูง ประกอบกับคู่แข่งในตลาดโลกมีมากมาย ทำให้กำไรของผู้ประกอบการมีไม่มากเพียงพอที่จะนำมาจัดสรรเป็นค่าแรงได้มากนัก
ดังนั้นการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และต่อให้รัฐบาลคล้อยตาม แต่คงไม่มีผู้ประกอบการรายได้สามารถขึ้นค่าแรงได้มากนัก และอย่าลืมว่าในตลาดยังมีคู่แข่งอีกมากมายและการส่งออกยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานก็ถือเป็นสิทธิ ที่ต้องการสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตประจำวันที่ดีและมั่นคงแต่ก็ขอให้การเรียกร้องสอดคล้องกับความเป็นไปได้
3.พบแรงงานปริญญาว่างงานเพิ่ม
แม้ระยะนี้การว่างงานที่เกิดขึ้นยังไม่น่าเป็นกังวล แต่ก็ต้องรอดูให้ชัดเจนในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่ได้ อยู่ในระดับดีอย่างชัดเจน แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ พบว่าการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มที่มีการศึกษาสูง คือ แรงงานที่วุฒิตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขึ้นสูง (ปวส.) ไปจนถึงปริญญาตรี และจากการถอนตัวของแรงงานวัยเกษียณ ทำให้ระบบเศรษฐกิจขาดแคลนแรงงาน โดยขณะนี้การลงทุน ก่อสร้าง ปรับโครงสร้าง เปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ ตามนโนบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ยังไม่มีผลต่อการจ้างงานและต้องการเวลาในการเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นช่วงเวลานี้ รัฐบาลควรหาวิธีการฝึกอบรมให้กับแรงงานที่มีการศึกษาสูง เตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการดูดซับแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เชื่อว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับงบประมาณจำนวนไม่น้อย จะสามารถหาแนวทางในการเพิ่มทักษะ ยกระดับความรู้ให้กับแรงงานได้
ทั้งนี้ การว่างงานที่เกิดขึ้นก็ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังมีลักษณะที่เกิดจากวัฏจักรตามฤดูกาล คือ ช่วงฤดูแล้ง ของเดือน ก.พ.-เม.ย. อยู่ในช่วงโลว์ซีซันของเศรษฐกิจ ซึ่งมีแรงงานภาคเกษตรที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกประมาณ 2 ล้านคน เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ไปรับจ้าง หรือยังคงหางานเสริมในพื้นที่ เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อถึงฤดูทำนาในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. หรือหลังเข้าพรรษาไปแล้ว แรงงานกลุ่มนี้จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร
4.‘สิทธิ-สวัสดิการ’ แรงงานนอกระบบ
ที่ผ่านมา เราต้องเข้าใจว่ากระทรวงแรงงานเกือบจะไม่ได้ทำงานในด้านการดูแลแรงงานนอกระบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะคนไม่เพียงพอ งบประมาณที่จัดให้เป็นไปตามยถากรรม ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จนเป็นเหตุให้การเดินตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับก่อนหน้านี้ไม่เป็นไปตามเป้า
แม้กระทั่งปัจจุบันกลุ่มงานด้านแรงงานนอกระบบจะถูกยกระดับเป็นกองหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานแล้ว แต่ปัญหาเดิมคือเรื่องคน เรื่องเงิน ก็ยังไม่เพียงพอ ปัญหาของผู้บริหารระดับสูงที่เข้ามาใหม่แม้จะเข้าใจภาระของแรงงานนอกระบบที่ต้องแก้ไขแต่ก็ต้องท้อใจ คือมันสะท้อนถึงการบริหารจัดการที่ไม่พร้อม วนอยู่กับแต่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงถือว่ามีการจัดการทรัพยากรที่ไม่พอ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าเรามีเป้าหมายเรื่องงบประมาณและศักยภาพของบุคลากรค่อนข้างชัดเจน สอดคล้องยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ มีการจัดงบยกระดับฝีมือแรงงาน แอคทีฟจริง แผนแม่บทฉบับล่าสุดปี 2560-2564 มีความเข้มข้นขึ้น ส่วนสำคัญคือแรงงาน 60% ยังเป็นคนที่ไม่มีความพร้อมมากพอที่จะไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ตรงนี้ครูช่างก็สำคัญต้องยกระดับให้ก้าวทันนวัตกรรมใหม่ แต่ปัญหาจริง ๆ เลยในการปรับระบบการดูแลแรงงานนอกระบบ สิทธิ สวัสดิการต่าง ๆ ยังเรียกว่าไม่เพียงพอ
แรงงานนอกระบบถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่กลับยังมีศักยภาพไม่พอ สิทธิสวัสดิการไม่เอื้อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต จะกระทบกับความมั่นคงทางด้านสังคม และเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่
“มีนักวิจัยระดับโลกวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของประเทศไทยจะถดถอยลงอีก 5 จุด เพราะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นถ้าคนในวัยแรงงานยังมีปัญหาความเชื่อมั่นก็จะยิ่งถดถอย และแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาไม่สูง รายได้ไม่สูง ซึ่งในจำนวนแรงงานนอกระบบกว่า 21 ล้านคนนั้น มีคนที่มีรายได้สูงอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงเพียงแค่ประมาณล้านคนเศษ ปัจจุบันปัญหาอยู่ที่การคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ นั้นยังถือว่าด้อยมาก แม้จะเปิดให้สามารถประกันตนเองได้ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 แต่เป็นแบบสมัครใจ เมื่อความรู้น้อย รายได้ก็น้อย คนเลยประกันตนเองน้อยตามไปด้วย อนาคตก็ไม่มั่นคง ดังนั้นต้องกระตุ้นให้มาก และต้องมีการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพควบไปด้วย โดยถ้าเป็นชาวนาก็ต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์คู่กับการส่งเสริมสวัสดิการที่เพียงพอ”