‘เขตพื้นที่พัฒนาชุมชนพิเศษ’ ทางเลือกลดความเหลื่อมล้ำ โดยประชาชน

‘เขตพื้นที่พัฒนาชุมชนพิเศษ’ ทางเลือกลดความเหลื่อมล้ำ โดยประชาชน

คมสันติ์ จันทร์อ่อน ชวนมองหาก ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ’ คือการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-สร้างความมั่นใจให้กลุ่มทุน ‘เขตพื้นที่พัฒนาชุมชนพิเศษ’ คือการจัดการที่ดินโดยชุมชน ที่รัฐบาลมองข้าม แต่เป็นทางเลือกลดความเหลื่อมล้ำ โดยประชาชน

คมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค

เวลาก็ผ่านไปจะเข้าครึ่งปีแล้ว โปรโมชั่นที่รัฐบาลได้มอบไว้เมื่อปลายปี 2559 จากการแจกเงิน 1,500 – 3,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อย การช็อปปิ้งช่วยห้างร้านและนำมาลดภาษีตนเอง สำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง มาถึง ณ เวลานี้ ความสุขที่รัฐบาลมอบให้คงหมดไปไม่หลงเหลือกลิ่นไอใด ๆ แล้ว เพราะเปิดศักราชใหม่มาพร้อมกระแสข่าวรัฐบาลถังแตก

จากกระแสข่าวเงินคงคลังลดลงจนเกิดภาวะวิกฤตส่งผลให้ประชาชนเกิดความกังวลขึ้นมาว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาแก้ปัญหานี้ ส่วนรัฐบาลเองยังคงให้การปฏิเสธต่อสังคมว่าไม่ได้เกิดวิกฤตถึงขั้นที่เป็นกระแสข่าว แต่กระนั้นรัฐบาลเริ่มที่จะออกมาตรการรัดเข็มขัดขึ้นมา เช่น การเพิ่มค่าการเก็บขยะมูลฝอยรายครัวเรือน การไม่เพิ่มเพดานสนับสนุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพ การเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินส่งผลต่อสายการบินโลวคอสอาจจะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งการไม่สนับสนุนแบบเรียนในระดับประถมโดยเปลี่ยนเป็นการให้ยืมแทน ตามมาติด ๆ กับการเตรียมขึ้นค่าไฟฟ้า มาตรการดังกล่าวล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อชนชั้นล่าง ชนชั้นรากหญ้า เหมือนกับการ “เอาคืน”

หากอีกมุมหนึ่งขณะอยู่สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่รัฐบาลกลับกล้าหาญที่จะอนุมัติงบประมาณในการสั่งซื้อเรือดำน้ำราคาราว 36,000 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติซื้อรถถังมาให้กับกองทัพรวมสองระยะเป็นงบประมาณราว 7,000 ล้านบาท อ้างถึงความมั่นคงของประเทศต้องมาก่อน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

หากจะเทียบกันกับในส่วนที่รัฐบาลเคยแจก เคยให้ไว้กับกลุ่มคนชั้นล่างคือการแจกเงิน 1,500 – 3,000 บาท นั้น ใช้งบประมาณแล้วอยู่ราว 12,750 ล้านบาท แต่เมื่อมาดูงบประมาณที่สนับสนุนให้กับกองทัพอยู่ที่ราว 43,000 ล้านบาท ยังไม่นับมาตรการที่รัฐบาลออกมา “เอาคืน” กับประชาชนที่กล่าวไว้ข้างต้นอีกจำนวนมาก

สะท้อนให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าน้ำหนักที่คณะรัฐบาลชุดนี้เน้นไปในทิศทางใด????

ยิ่งหนักไปกว่านั้นคล้ายดังเป็นการ “ตบหน้าประชาชน” ฉาดใหญ่ ด้วยการปูนบำเหน็จให้กับคณะทำงาน คสช. 721 คน ด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วไม่สอดคล้องกับการเข้ามาควบคุมอำนาจที่ว่าอาสามาช่วยปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่กลับมาเรียกร้องค่าแรงที่เหนื่อย ที่เสี่ยง ในการยึดอำนาจ ในห้วงสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจที่ยังย่ำแย่

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ มติ ครม. 11 เม.ย. 2560 ที่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพิ่มเติมในอีก 3 จังหวัด ร้อนแรงเป็นอย่างมาก สังคมคัดค้านอย่างวงกว้างพอสมควร แต่ถ้าหากได้ติดตามเส้นทางการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วนี่คือหนึ่งในโรดแมปของคณะรัฐประหารชุดนี้ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากการเข้าคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เพียงเดือนเดียวก็ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ในเดือน มิ.ย. 2557 เพื่อเป็นคณะกรรมการในการขับเคลื่อนโรดแมปเขตเศรษกิจให้เป็นรูปธรรม ซึ่งถัดมาอีกหนึ่งปี กนพ. ได้ประชุม 2 ครั้ง เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ สองระยะ 10 จังหวัด ดังนี้

ระยะที่ 1 คือ จังหวัดตาก , สระแก้ว , ตราด , มุกดาหาร และ สงขลา

ระยะที่ 2 คือ จังหวัดเชียงราย , หนองคาย , นครพนม , นราธิวาส และ กาญจนบุรี

สำทับตามมาด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 17/2558 เรื่องการจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตอกย้ำการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ เพื่อพยายามสร้างความมั่นใจให้กลุ่มทุนที่จะมาลงทุน

เครือข่ายสลัม 4 ภาค และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move เป็นกลุ่มประชาชนที่รวมกลุ่มกันเพื่อจะสร้างนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม กิจกรรมที่เห็นเด่นชัดนั้นจะเป็นเรื่องการผลักดันให้เกิดนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินที่พยายามเสนอแนวทางเลือกของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินโดยกลุ่มองค์กรชุมชนเอง ได้เริ่มปฏิบัติกันเองโดยประชาชน เช่น

พื้นที่บ้านไร่ดง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน รวมกลุ่มกันจัดการที่ดินเอกชนที่ปล่อยทิ้งรกร้าง เข้ามาทำประโยชน์ภายใต้ปรัชญาที่ดินควรต้องเป็นของผู้ถือคันไถ และนี่คือจุดเริ่มต้นโฉนดชุมชน ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำอย่างง่ายๆ แต่มีคุณค่าความหมายยิ่งสำหรับ ชาวบ้านไร่ดง มีการจัดทำระบุข้อมูล ชื่อ-นามสกุลผู้ถือครอง จำนวน 1 ไร่ 1 งาน พร้อมด้วยแผนที่แบ่งกั้นอาณาเขตอย่างชัดเจน ที่น่าสนใจก็คือ ในแผ่นโฉนดที่ดินชุมชนแต่ละฉบับนั้น จะมีลายมือชื่อของผู้ถือครอง กรรมการและพยานกำกับ พร้อมข้อระเบียบให้รับรู้อย่างชัดเจน ซึ่งสิทธิในที่ดินมีดังนี้

  1. เป็นมรดกตกทอด ห้ามซื้อขายที่ดิน
  2. ปฏิบัติตามกฎระเบียบของคณะกรรมการและชุมชน
  3. ขอให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตลอดไป

ข้อความสั้น ๆ ชัดเจน เข้าใจง่าย แต่ครอบคลุมถึงชีวิตและวิถีการดำรงอยู่ของชาวบ้านทั้งหมด ทั้งชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต

ชุมชนคลองไทรพัฒนา อยู่ที่ หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี จัดตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านเข้าตรวจสอบพื้นที่ซึ่งบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ครอบครองปลูกปาล์มน้ำมันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐนำที่ดินมาจัดสรรให้กับเกษตรกร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้และต่อมาทางกรมป่าไม้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม มีชาวบ้านที่ร่วมกันตรวจสอบและตั้งชุมชน มาตั้งแต่ปี 2546-2551 ดำเนินการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ สปก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล แต่กลับถูกกดดันข่มขู่ คุกคาม ลอบสังหาร จากกลุ่มอิทธิพลที่ดูแลจัดการผลประโยชน์ให้บริษัทฯ ตลอดมา

ชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู เขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า จ.ตรังและพัทลุง โดยบ้านทับเขือ ตั้งอยู่บริเวณ หมู่1 ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และบ้านปลักหมู ตั้งอยู่บริเวณ หมู่1 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง มีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวน 38 ครัวเรือน สมาชิก 193 คน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เป็นชุมชนจัดการทรัพยากรที่ดินโดยประชาชนเอง ที่นี่อยู่อาศัยกันมาอย่างยาวนาน จนเกิด “ธรรมนูญชุมชน” ขึ้นมา

ชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ผลักดันมติคณะกรรมการรถไฟฯ เพื่อขอเช่าที่ดินมาแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกว่า 50 ชุมชน ทั่วประเทศ บ้างได้เช่าระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปีต่อครั้ง บ้างได้เช่าระยะยาว 30 ปี ที่สำคัญเป็นการเช่าแบบแปลงรวม การจัดการที่ดินโดยชุมชน มีระบบระเบียบชุมชนเพื่อดูแลรักษาที่ดินไม่ให้หลุดมือ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างชุมชนที่มีการจัดการที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ตรงข้ามรัฐบาลกลับมีนโยบายซ้ำเติมลงมายังกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่เน้นทวงคืนกับชาวบ้านคนจน บุกกวาดจับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในผืนป่ามายาวนาน

ฉะนั้นรัฐบาลไม่ต้องแปลกใจทำไมประชาชนรากหญ้าถึงมีความรู้สึกรับไม่ได้กับการออกกฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี ทั้ง ๆ ที่การจัดการที่ดินของชุมชนนี่คือ “เขตพื้นที่พัฒนาชุมชนพิเศษ” ที่รัฐบาลมองข้าม

เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ P-move ยังคงต้องผลักดันนโยบายเพื่อให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งในพื้นที่ชุมชนดังที่กล่าวข้างต้น และระดับนโยบายที่ยังคงต้องผลักดัน ติดตาม กันอย่างใกล้ชิด

กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ต้องกระจายการถือครองที่ดินโดยใช้ระบบภาษี ถือครองที่ดินมากจ่ายภาษีมากในอัตราที่ก้าวหน้า เพื่อให้เหล่าเจ้าที่ดินทั้งหลายได้ปล่อยที่ดินมา

ธนาคารที่ดิน ที่คาดหวังจะให้เป็นที่เก็บที่ดินไว้สำหรับให้คนจนไร้ที่ดินได้มาหาที่ดินเพื่อไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการทำกิน หรือที่อยู่อาศัย การได้มาของที่ดินส่วนหนึ่งจะเชื่อมโยงจากการกระจายการถือครองที่ดินโดยภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อเป็นที่รองรับสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะครองที่ดินไว้จำนวนมาก รวมถึงการได้มาของที่ดินจากที่ดินที่เป็น NPL ตามบรรษัทต่าง ๆ หรือกรมบังคับคดี เป็น Land Bank ชั้นยอดสำหรับผู้ยากไร้

การจัดการที่ดินโดยชุมชน หรือ “โฉนดชุมชน” สร้างเขตพื้นที่ชุมชนเป็น เขตพื้นที่พัฒนาชุมชนพิเศษ ขึ้นมาเพื่อการบริหารจัดการที่ดินเป็นกลุ่มองค์กรชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดที่ดินหลุดมือออกไปอยู่กับกลุ่มทุนอีก สร้างระบบรักษาที่ดินโดยชุมชน

กองทุนยุติธรรม การพิพาทที่ดินจำนวนมากไม่ว่ารัฐกับประชาชน หรือ กลุ่มทุนกับชนชั้นรากหญ้า สร้างคดีมากมายให้กับประชาชน การที่ประชาชนคนจนมีกองทุนไว้เพื่อประกันตัวมาสู้คดีนอกคุก สร้างการมีศักดิ์ศรีในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกับรัฐ หรือกลุ่มทุนได้

นี่คือนโยบายสำคัญที่ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นคือ ‘ไม่ถูกให้ความสำคัญจากรัฐบาล’ มีการปรับแก้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเล็กน้อย เพื่อลดกระแสการเคลื่อนไหวภาษีที่ดินแบบอัตราก้าวหน้าลง มีการปรับแก้เจตนารมณ์ธนาคารที่ดินจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ การเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก เกิดการตัดสินตั้งแต่กระบวนการขอการสนับสนุนเงินประกันตัว

ส่วนโฉนดชุมชนที่กลุ่มชาวบ้านคาดหวังจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ สร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอีกทางหนึ่ง นอกจากรัฐบาลนี้จะไม่ให้ความสำคัญโดยการไม่แต่งตั้งประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ซ้ำเติมด้วยการดำเนินปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี กับชาวบ้านที่อยู่ใน “เขตพื้นที่พัฒนาชุมชนพิเศษ” ในรูปแบบโฉนดชุมชน

ดังนั้น มาตรการต่าง ๆ ที่เพิ่มภาระให้กับประชาชน รัฐบาลควรทบทวนยกเลิกไปเสีย อย่าได้สร้างแรงกดดันประชาชนจนหลังพิงฝาหมดทางเลือก แล้วต้องลุกฮือขึ้นมาทวงสิทธิ เสรีภาพ ที่หายไป! และให้หยิบแนวทางการพัฒนาโดยชุมชน ที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพัฒนาประเทศขึ้นมาพิจารณา จึงจะเป็นทิศทาง ยุทธศาสตร์ของประชาชนโดยแท้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ