นิทรรศการประวัติศาสตร์แรงงานภาคเหนือซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 เมษายนที่ผ่านมา ได้จัดแสดงเรื่องเล่าทั้งมิติชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ยุคกุลีจีนซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติรุ่นแรก การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน โศกนาฏกรรมหลายครั้งที่คนงานเอาชีวิตไปเซ่นสังเวยกับความไม่เอาไหนของระบบอุตสาหกรรม กระทั่งเรื่องเล่าในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจบ้านเราถูกขับเคลื่อนด้วยพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้าน
ตลอด 3 วันของกิจกรรมมีการแสดงภาพถ่าย เรื่องเล่า ดนตรี เสวนา และมีปาฐกถา “ฅน (งาน) สร้างบ้าน แป๋งเมือง” โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในหัวข้อที่หลายคนเฝ้ารอ
แม้ไม่บ่อยครั้งนักที่นักวิชาการแถวหน้าคนนี้ออกมาพูดเรื่องแรงงานอย่างจำเพาะเจาะจง แต่เมื่อเขาขึ้นไปยืนปาฐกถาต่อหน้าผู้ฟังแห่งนั้น เขาเสนอให้ “รื้อ” นิยามแรงงาน และถกเถียงเรื่องนี้อย่างเท่าทันสอดคล้องกับยุคสมัย
00000
ผมต้องเรียนก่อนว่ารู้สึกขอบคุณมากที่ได้รับเชิญมาวันนี้ แม้จะรู้สึกแปลกๆ เนื่องจากไม่เคยพูดในห้างสรรพสินค้ามาก่อน ทุกครั้งเคยแต่ปลุกม็อบตามสนามหญ้า
สิ่งที่ผมรู้สึกอีกเรื่องหนึ่งคือ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ เราจำเป็นต้องทบทวนเรื่องแรงงานในวันนี้ เพราะมีความซับซ้อนมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงมากมายกับสิ่งที่เรียกว่า “แรงงาน” เราคงต้องคิดกันใหม่ ทบทวนความรู้ความเข้าใจกันใหม่
ผมชอบที่ท่าน อารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพูด คงต้องพูดถึงแรงงานในความหมายคือ “คนทำงาน” ซึ่งรัฐก็มีการใช้คำว่าคนทำงานในหลายที่ซึ่งผมชอบ เราคงต้องคิดถึงการปรับเปลี่ยนความหมายนี้ให้มากขึ้น
วันนี้ผมจะแบ่งหัวข้อที่ต้องทบทวนเป็น 3 หัวข้อ คือ ประการแรกคือทำความเข้าใจสถานการณ์การทำงานในบ้านเราว่าเป็นอย่างไร ประการที่สองเราจะปรับเปลี่ยนความหมายของตัวตนแรงงาน ปรับเปลี่ยนการนิยามเรื่องการทำงานอย่างไร และประการที่สามคือ เราจะสร้างอนาคตร่วมกันอย่างไร
– ความคิดเก่าเอามาอธิบายสิ่งใหม่ไม่ได้ –
ประเด็นแรก สภาพเศรษฐกิจบ้านเราตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ภาคเหนือ หรือประเทศไทยนั้น มีการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานหรือระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆ ที่ซับซ้อนมาก เราไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐศาสตร์แบบเดิมในการตอบคำถามใหม่ๆ หรือทำความเข้าใจสถานการณ์ใหม่ๆ ได้อีกต่อไป ผมอยากจะยกตัวอย่างว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจนกระทั่งผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงความหมายของแรงงานนั้นมีอะไรบ้าง
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้การแบ่งงานกันทำแบบเดิมไม่ได้ดำรงอยู่อีกแล้ว ระบบสายพานแบบเดิมจบไปแล้ว ในขณะเดียวกันไม่เพียงแค่ระบบสายพานที่จบไป ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคืองานถูกซอยย่อยมากขึ้น พร้อมกันนั้นคนถูกบรรจุอยู่ในงานที่ย่อยมากขึ้นตามไปด้วย ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากงานที่ถูกซอยย่อยแล้ว ประเภทลักษณะของงานก็หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ภาคบริการเฉพาะด้านก็มีมากขึ้น เราจะพบว่าลักษณะของงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งพูดเรื่อง New Spirit of Capitalism สิ่งที่เขาชี้ให้เห็นก็คือว่า การซอยย่อยของงานและประเภทของงานมันเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาซึ่งไม่เหมือนเดิม
เราเคยจินตนาการไหมว่าจะมีเปิดร้านนวดฝ่าเท้าที่กระจายทั่วไปในทุกแห่งที่มีนักท่องเที่ยว นี่คือภาคบริการที่ซอยลงมาเยอะมากขึ้น และที่น่าสนใจคือ กระบวนการไหลเวียนของคนจากงานประเภทหนึ่งสู่งานประเภทหนึ่งมีมากขึ้น
สิ่งที่คุณอารักษ์ได้พูดถึง Informal Sector หรือภาคการผลิตไม่เป็นทางการ เราจะพบว่าภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการนั้นด้านหนึ่งมีความมั่นคง กล่าวคือ คุณสามารถเคลื่อนจากการขายลูกชิ้นไปเป็นการขายปลาหมึกหรืออื่นๆ ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงภาคการผลิตแบบนี้ เราต้องคิดต่อไปว่าความสลับซับซ้อนมากขึ้นคือ ทุนของการผลิตมันไม่ใช่ทุนแบบเดิม
ลองนึกถึงคนที่สามารถเปลี่ยนตัวเองจากการขายลูกชิ้นปิ้ง เคลื่อนไปสู่การขายน้ำแข็งใส หรือมีเครือข่ายของการผลิตหาบเร่แผงลอยที่มากขึ้น
จะเห็นได้ว่าทุนของการผลิตไม่ใช่ทุนแบบเดิมอีกแล้ว ที่ผมเน้นตรงนี้เพราะอีกสักพักเราจะคุยกันว่า ถ้าหากเราจะทำให้ภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการเข้มแข็ง เราต้องคิดถึงทุนในมิติอื่นๆ มากขึ้น แต่นี่เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ภาคบริการเฉพาะด้าน ประเภทของงานที่หลากหลาย มันเปลี่ยนไปสู่การใช้ทุนที่หลากหลายตามไปด้วย
– ระบบราชการ ไม่ใช่อาชีพที่มั่นคงอีกต่อไป –
ในทางกลับกันลักษณะงานบางประเภทก็ถูกทำให้ลดความหมายเชิงอุดมคติลงไป ถ้าดูว่าในเอกสาร (กำหนดการเสวนาตลอด 3 วัน – ผู้เรียบเรียง) ว่าจะมีการพูดอะไรบ้าง ตอนบ่ายวันนี้คุณชัยพงษ์ (ชัยพงษ์ สำเนียง แรงงานวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งร่วมเวทีเสวนา “เฮาก่เป๋นฅนงาน” ต่อจากปาฐกถา ศ.ดร.อรรถจักร์ – ผู้เรียบเรียง) จะพูดเรื่องแรงงานวิชาการ พรุ่งนี้อาจารย์ภิญญพันธุ์ (ผศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คนงานวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมเวทีเสวนาล้านนา 4.0 กับฅนงานทุกเวลา สถานที่ – ผู้เรียบเรียง) ก็จะพูดทำนองเดียวกันคือแรงงานวิชาการ เราจะพบว่างานวิชาการถูกดึงความหมายให้ลงมาอยู่ในระนาบเดียวกัน สูญเสียสิ่งที่เรียกว่าอุดมคติบางด้านลงไป นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความยืดหยุ่นและไหลเวียนในการทำงานมีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงก็ทวีมากขึ้นไปด้วย ความมั่นคงในงานบางกลุ่มอาจไม่ได้หมายถึงงานประจำแบบเดิม แต่ความมั่นคงอาจจะหมายถึงโอกาสของการปรับตัวที่มีสูงขึ้น เคลื่อนย้ายตัวเองได้ตลอดเวลา
ในขณะเดียวกันความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกลับไปเพิ่มอยู่ในงานบางประเภทที่เราคิดว่ามั่นคง อย่างเช่นที่คุณชัยพงษ์ หรืออาจารย์ภิญญพันธุ์จะพูดในเรื่องแรงงานวิชาการ รวมทั้งแรงงานในระบบราชการไทย
โดยเฉลี่ยแล้ว 60% ของคนที่ถูกจ้างในระบบราชการไทยตอนนี้เป็นลูกจ้างชั่วคราว นี่คือความเสี่ยงที่อยู่ในระบบที่มั่นคง เราจะพบว่านี่คือความยืดหยุ่น ความแปรเปลี่ยน ความไหลเวียนของงานทั้งหมดเลย
– เมื่อคนสูงวัยไม่อยากตกงาน –
สภาวะของการขาดแคลนแรงงานบางประเภท นำมาซึ่งการจ้างงานของเพื่อนบ้าน ซึ่งก็จะก่อปัญหาวิธีคิดแบบหนึ่งตามมา ลักษณะของสังคมผู้สูงอายุทำให้ต้องการคนทำงานอีกแบบหนึ่ง ในปี 2538 มีผู้สูงอายุประมาณ 10.5 ล้านคน ในปี 2574 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 19 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 28% ของจำนวนประชากร ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ลักษณะงาน รุ่นของคนทำงานก็แตกต่างกันไป
ในจำนวนผู้สูงอายุ 28% ที่จะอยู่อีก 10 กว่าปีข้างหน้า ประมาณกันว่าผู้สูงอายุ 38-40% ต้องการทำงาน เพราะไม่ทำงานจะไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ ดังนั้นนอกจากลักษณะงานที่เปลี่ยน โครงสร้างประชากรก็ทำให้การจ้างงานเปลี่ยนไปด้วย
สภาพการทำงานที่หลากหลายและยืดหยุ่นเหล่านี้ ประกอบกับเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า “เสรีนิยมใหม่” ซึ่งต้องการลดปลดพันธกิจของรัฐในการบริการและดูแลประชาชนลงไป และมุ่งเน้นปล่อยให้ประชาชนล่องลอยในระบบเศรษฐกิจตามลำพัง ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือว่า คนทำงานทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบตนเองมากขึ้น
เราจะพบสองด้านว่าวันนี้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งด้านแรงงานมีความเสี่ยงมากขึ้นขณะที่รัฐก็ลดบทบาทในการบริการลงไป สภาวะแบบนี้เราจะคิดและทำอะไรได้บ้าง
สิ่งแรกที่เราต้องคิดก็คือ เราต้องเปลี่ยนความหมายของพวกเรา ผมนั่งคิดค้นอยู่ว่าเราจะเปลี่ยนตัวตนความหมายของแรงงานอย่างไร ถ้าเรายอมรับกันอย่างตรงไปตรงมา ทันทีที่เราใช้คำว่า “แรงงาน” มันมีนัยของลำดับชั้นทางสังคมอยู่ กลุ่มอาจารย์ที่แทนตัวเองว่า “แรงงานวิชาการ” ด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นการทำลายสถานะ หรือพูดถึงสถานะของตัวเองที่มันต่ำลง รวมทั้งหากเราพูดง่ายๆ ว่า “แรงงาน” เมื่อไรก็ถูกความหมายหนึ่ง แต่ในวันนี้คิดว่าเราต้องเปลี่ยนตัวตนความหมายของเรา
– “แรงงาน” กับ “คนทำงาน” ความเหมือนที่แตกต่าง –
ผมชอบในสิ่งที่คุณอารักษ์พูดและตรงกับความหมายที่ผมคิดคือ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนจากคำว่า “แรงงาน” มาสู่คำว่า “คนทำงาน” นี่ไม่ใช่คำใหม่ของผม ผมไม่ทราบคุณอารักษ์นำมาจากไหน แต่คิดว่าคงคิดเองเพราะในฐานะที่ทำงานในด้านนี้มานาน แต่คำนี้ได้มาจากชาวบ้านที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ผมนำมาจากวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งซึ่งไปสัมภาษณ์ชาวบ้านรอบข้างที่ยังทำนาอยู่ และพบว่าชาวบ้านทั้งหมดพูดว่าชีวิตเขาทุกยาก ให้ดูคนที่ทำงานนิคมอุตสาหกรรมสิ พวกนั้นชีวิตเขาสบายเพราะเป็นคนทำงาน
ผมคิดว่าทันทีที่เราใช้คำว่า “คนทำงาน” มันจะครอบคลุมถึงทุนที่เราพูดถึงเมื่อสักครู่ เพราะทันทีที่พูดถึง “คน” และ “ทำงาน” มี 2 คำ ทุนเรื่องคนกลายเป็นสิ่งสำคัญ ทุนทางสังคมสำคัญ ทุนเครือข่ายสำคัญ ทุนวัฒนธรรมสำคัญ แต่ในขณะที่พูดถึงแรงงาน มันเหลือทุนอย่างเดียวคือ “ทุนแรงงาน” ซึ่งในภาคการผลิตไม่เป็นทางการซึ่งผมอย่างจะเปลี่ยนนั้น ท้ายที่สุดแล้วคนที่เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนตัวเองในภาคไม่เป็นทางการนี้เขาใช้ทุนอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถ้าหากพวกเราจะเริ่มเปลี่ยนความหมายของตัวเองว่า เราไม่ใช่แรงงานธรรมดา แต่เราคือ “คนทำงาน” และเป็นคนทำงานที่เกื้อหนุนให้สังคมไทยเดินอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่พวกเราเรียกันทั่วไปว่า “ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ”
ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการนี้เป็นภาคส่วนที่จ้างแรงงานถึง 65% ของ Labor Force ในประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกด้วยซ้ำไป แม้แต่ SME ของญี่ปุ่นยังจ้างประมาณ 46% ดังนั้นจริงๆ แล้วประเทศไทยอยู่ได้ด้วยแรงงานนอกระบบที่เราหล่อเลี้ยงอยู่
– ความตายของเด็ก มช. และคนตัวเล็กที่แบกโลกไว้ –
ผมเคยพูดกับพี่น้องสลัมที่เชียงใหม่ ว่าหากพี่น้องสลัมหัวฝายหยุดงานหนึ่งสัปดาห์ เชียงใหม่ยุ่งเลย เพราะชีวิตของพี่น้องสลัมตั้งแต่ 12 นาฬิกาวนไปนั้นเขาทำงานทั้งกลุ่ม ดังนั้นที่เราเปลี่ยนความหมายจากแรงงานมาสู่คนทำงานก็คือเปลี่ยนความว่าเราไม่ใช่เพียงผู้ขายแรงงาน แต่เราคือคนทำงานที่เลี้ยงประเทศนี้ทั้งประเทศ
ผมเคยพูดกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ถ้าหาบเร่แผงลอยหน้า ม. และหลัง ม. หยุด นักศึกษา มช. ตาย หรือถ้าไม่ตายก็กินมาม่าอย่างเดียว นี่คือแรงงานที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเขาคือคนทำงานที่หล่อเลี้ยงพวกเรา
พร้อมกันนั้นเอง นอกจากเปลี่ยนคำว่า “แรงงาน” มาสู่คำว่า “คนทำงาน”
พร้อมกันนั้นคำว่า “แรงงานไร้ฝีมือ” และ “แรงงานมีฝีมือ” จำเป็นต้องท้องทบทวนใหม่ ทันทีที่เราพูดถึงแรงงาน Skill Labor หรือ Unskilled Labor เรากำลังโยงความหมายแรงงานอยู่กับระบบเศรษฐกิจการผลิตแบบเดิม
ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน เป็นการนิยามอยู่บนระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นไม่ใช่
ถ้าหากเรานิยาม “คนทำงาน” จะทำให้เราเข้าใจ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือคน และด้านหนึ่งคือการทำงานของคน และขณะเดียวกันจะทำให้เราขยับพ้นจากคำที่ว่า แรงงานไร้มีฝีมือ หรือแรงงานมีฝีมือ
การศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับคนทำงานที่มีการศึกษาน้อยในโรงงานทอผ้าซึ่งกำลังจะเจ๊งอยู่แล้ว ศึกษาโดยคุณพูลทรัพย์ สวนเมือง กับคุณตะวัน วรรณรัตน์ ซึ่งทำเมื่อ 2 ปีก่อน พบว่าสิ่งที่คนงานเหล่านี้แม้ว่าเขาจะเกรงกลัวตกงาน แต่ทันทีที่เขารู้ว่าเขาจะตกงาน เขาจะสามารถเคลื่อนไปสู่งานอื่นๆ ได้ ถ้ามองจากนิยามโรงงานอุตสาหกรรม เขาคือแรงงานไร้ฝีมือ แต่หากมองจากนิยามและหนทางที่เขาเคลื่อนไปได้ เขาก็เป็นแรงงานมีฝีมือในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน
ดังนั้นผมเสนอว่าเรื่องแรงงานมีฝีมือกับแรงงานไร้ฝีมือเราต้องคิดกันใหม่ แน่นอนว่าในทางกฎหมายอาจต้องใช้ แต่การนิยามตัวเราเองเรา เราต้องเปลี่ยน ต้องคิดกันใหม่
พร้อมกันนั้นการนิยามคุณลักษณะของงาน ทั้งในงานในระบบและงานนอกระบบก็จำเป็นต้องคิดกันใหม่อีก
เวลาเราพูดถึง Informal Sector หรือภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ภาคการผลิตนอกระบบ เรากำลังนิยามอยู่บนหลักการว่าผูกพันกับรัฐ หรือไม่ Register กับรัฐเป็นหลัก
คำถามก็คือ เขาไม่เสียภาษีหรือ
คำนิยามที่ว่าไม่ Register กับรัฐ หรือไม่อื่นๆ นี้ เป็นคำนิยามแบบเก่า ที่เกิดขึ้นบนกระแสของความคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมซึ่งทั้งหมดจะผลักไปสู่ Formal แต่มันไม่จริง ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นแบบนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย และผมยืนยันว่า ในหลายประเทศการผลิตที่หล่อเลี้ยงคนทั้งหมดอยู่ในภาคการผลิตที่เราเรียกว่า Informal แต่เขาไม่ได้ Informal จริงๆ เพราะเขาเสีย Vax เท่ากับเรา และถ้าเทียบกับเราแล้ว เขาเสียภาษีทางอ้อมสูงกว่าเศรษฐีทั้งหลายทั้งสิ้น
ดังนั้นเราคงต้องคิด ผมเสนอว่า เราคงต้องคิดเรื่องแรงงานนอกระบบด้วยนิยามใหม่ ผมเสนอว่าเป็นคนทำงานที่ยืดหยุ่น Flexible Worker หรือ Flexible Working People เพื่อทำให้เราเปลี่ยนความหมายของเรา การนิยามตัวตนคนทำงาน การทำงานที่ยืดหยุ่นจะทำให้เข้าใจความหมาย และพลังในของพวกเรามากขึ้น
ผมเดาว่าพวกเราที่นั่งอยู่นี้เกินครึ่งก็เป็นคนทำงาน พวกเราต่างหากที่ทำงาน พวกเราต่างหากที่อยู่ในระบบที่มีการจ้างงานสูงที่สุด และถ้าหากคำนวณรายได้ที่พวกเราสร้าง ต่อมูลค่าการผลิตของประเทศในรอบ 1 ปี ถ้าคิดกันดีๆ ผมคิดว่ารายได้และสิ่งที่เราผลิตให้กับประเทศสูงมากทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ไม่มีคนศึกษาตรงนี้อย่างแท้จริง
– คนขายข้าวมันไก่ ไทใหญ่ และเราๆ ท่านๆ –
สิ่งที่ผมกล่าวทั้งหมดคือการทบทวนพวกเรา ทบทวนความรู้ และหวังว่าการทบทวนนี้จะนำไปสู่การสร้างคำนิยามเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างพวกเรากับสังคมเสียใหม่ เราต้องก้าวไปข้างหน้าในจังหวะที่เปลี่ยนแปลง พร้อมๆ กับรู้ว่าเราคือใคร เราไม่ใช่คนแบบเดิม และวันนี้เราเป็นคนแบบเดิมไม่ได้
การสร้างอนาคตคืออะไร
คนทำงานจากนี้ไปเราจะต้องคิดว่าเราไม่ได้ทำงานเพื่อเรา ลองเชื่อมงานของเราเข้ากับระบบทั้งหลาย เราคงไม่สามารถคิดถึงเราในฐานะคนขายข้าวมันไก่คนเดียวอยู่ริมถนน แต่เราต้องคิดถึงเราในฐานะคนขายอาหารราคาปานกลางให้คนที่มีรายได้ระดับหนึ่งมีชีวิตและทำงานอยู่ได้ นั่นคือการเปลี่ยนความหมายเข้ากับสังคมทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นว่า แม้เราจะเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ในระบบการผลิตของคนทำงานอย่างเราต่างหากที่จะเป็นตัวผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าต่อไปได้
พร้อมกันนั้นเองกันนั้นผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ เราทั้งหมดจะต้องร่วมสร้างอนาคตร่วมกัน ด้วยความหมายว่า เราคงต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาค ที่จะกระจายความรู้สึกว่าเราได้ร่วมชะตากรรมร่วมกันกระจายทั่วไปในคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เราเรียกว่า คนที่ทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ แรงงานต่างชาติ และอื่นๆ
ถ้าเราเริ่มต้นจากคำว่า “คนทำงาน” เราจะเข้าใจถึงพี่น้องไทใหญ่ที่ทำความสะอาดตามที่ต่างๆ ถ้าหากเขาไม่ช่วยดูแลความสะอาดบ้านเมืองจะสรกปรกภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ทำนองเดียวกัน เขามีความหมายกับเรา เรามีความหมายกับเขา พวกเราทั้งหมด คือ “คนทำงาน” ในจังหวะการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ เราต้องเปลี่ยนความหมายของแรงงาน เราจำเป็นต้องสู้เพื่อให้สังคมเห็นความหมายของเราว่า คนสำคัญกับสังคมไม่ใช่เจ้าของธุรกิจใหญ่ คนรวยๆ ก็สูบเลือดจากพวกเราไป เราต่างหากคือผู้สร้างพื้นฐานให้กับสังคมอย่างแท้จริง